Digestible Dhamma: "สมมติ" ที่ไม่ได้แปลว่า เรื่องเหลวไหล

"สมมติ" ไม่ได้แปลว่า เรื่องเหลวไหล
และสังคมมนุษย์จะล่มสลาย ถ้าขาด"เรื่องสมมติ"
 ____________________________

"สมมติ ถ้าวันหนึ่งฉันรวย..."
"สมมติว่าเราเป็นแฟนกัน..."
"สมมติว่าขอพรได้ 3 อย่าง..."

ประโยคสมมติๆที่เราใช้กันเป็นประจำเหล่านี้ ใช้คำว่าสมมติในภาษาไทย ที่แปลว่า นึกเอาว่า,คิดเอาว่า
จนเราอาจจะเคยชินเข้าใจไปว่าคำคำนี้หมายถึงสิ่งที่คิดขึ้นมาเอง ทึกทักกันเอาเองขึ้นมาจากเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เป็นเรื่องเหลวไหล ไร้สาระ

แต่จริงๆแล้ว ตามบาลีเดิม ความหมายของ "สมมติ" นั้น ไม่ใช่เรื่องเหลวไหลเลย
และมันกลับสำคัญมากจนถึงขั้นที่ว่า ถ้าเราขาด"สมมติ"แล้ว โลกมนุษย์จะถึงการล่มสลายลงไปอย่างแน่นอน!!!



จริงๆแล้วคำว่า "สมมติ" - (บาลี: สมฺมติ) แปลว่า ยอมรับร่วมกัน รับรู้ร่วมกัน มี"มติ"ร่วมกัน
 
> "สมมติว่าเธอกับฉันเป็นแฟนกัน" ก็หมายความว่า เรากับคู่สนทนายอมรับร่วมกันว่าเป็นแฟนกัน นั่นเอง
 
> ในทางวิชาการเราจะเห็นคำว่า สมมติฐาน(Hypothesis) ก็แปลว่า ฐาน หรือข้อคิดหลักที่ยอมรับร่วมกันก่อน เพื่อหาเหตุผล/ทดลอง/วิจัย
 
> หรือการปกครองในประวัติศาสตร์เราก็มีคำว่า สมมติเทพ(Demigod/ Godlike) ก็แปลว่า ผู้ที่สังคมยอมรับร่วมกันว่าเป็นเทพ มีเทวสิทธิ์ คือพระเจ้าแผ่นดิน นั่นเอง

_________________________________________________

เริ่มเห็นความสำคัญของการ สมมติ หรือยังครับ?
 
จริงๆแล้วอารยธรรมมนุษย์เจริญขึ้นมาได้ก็เพราะการสมมตินั่นเองครับ
 
ยกตัวอย่างเช่น ในอดีตสมัยที่มนุษย์ Homo Sapiens ยังเร่ร่อน หาของป่า ล่าสัตว์ เราก็เริ่มเรียนรู้ที่จะใช้เสียงออกจากลำคอ/ออกจากปากที่แตกต่างกัน เพื่อเรียกสิ่งต่างๆรอบตัว เริ่มตั้งชื่อให้มนุษย์ที่อยู่ข้างๆเรา
 
เริ่ม"ยอมรับร่วมกัน"ว่าเสียง A หมายถึง นาย A
เสียง B หมายถึง ก้อนหิน
เสียง C หมายถึง หมูป่า
เมื่อเราพูด "A B C (พร้อมทำท่าทาง)" นาย A ก็อาจเข้าใจว่า ให้เขาไปขว้างก้อนหินใส่หมูป่า นั่นเองครับ
 
เราเริ่มเข้าใจการใช้"สมมติ" จนเกิดเป็นภาษา และพัฒนาต่อมาจนเป็นการใช้อักษร(เริ่มยุคประวัติศาสตร์)
 
เราได้พัฒนาการใช้"สมมติ"จนอารยธรรมมนุษย์ของเราเต็มไปด้วยสิ่งสมมติ จนกระทั่งเราอาจขาดสิ่งสมมติไปไม่ได้แล้ว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็เช่น "เงิน"ที่เรายอมรับร่วมกันว่าเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสิ่งต่างๆ นั่นเอง

_______________________________________________

เป็นไงครับ?
ถ้าขาด"สมมติ"ไปแล้ว มนุษย์ก็อาจจะไม่ต่างจากหมู หมา กา ไก่ เลยใช่มั้ย?
 
Digestible Dhamma ขอฝากคำว่า "สมมติ" ไว้ให้ผู้อ่านก่อนนะครับบ
 
เมื่อมีโอกาสจะขอขยายความไปสู่ "สมมติสัจจะ และ ปรมัตถสัจจะ" ในทางพุทธศาสนาครับบ

________________________________________________

อ้างอิง: http://dhamma.serichon.us/2018/12/23/สมมติ-หรือ-สมมุติ-ใช้คำไหนถูก
 
“สมมติ”
 
บาลีเป็น “สมมติ” (มีจุดใต้ มฺ ตัวแรก) อ่านว่า สำ-มะ-ติ รากศัพท์มาจาก สํ + มติ
 
(1) “สํ” (สัง) เป็นคำอุปสรรค ตำราบาลีไทยแปลว่า “พร้อม, กับ, ดี” หมายถึง พร้อมกัน, ร่วมกัน (together)
 
(2) “มติ” (มะ-ติ) รากศัพท์มาจาก มนฺ (ธาตุ = รู้) + ติ ปัจจัย, ลบ น ที่สุดธาตุ (มนฺ > ม)
 
: มนฺ + ติ = มนติ > มติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่รู้” (คำหลักคือ “รู้” และมองว่า การรู้นั้นเป็น “ธรรมชาติ” อย่างหนึ่ง) หมายถึง ความรู้, ญาณ, ปัญญา, ความคิด
 
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ให้ความหมายคำว่า “มติ” ว่า mind, opinion, thought; thinking of, hankering after, love or wish for (จิตใจ, ความเห็น, ความคิด; การคิดถึง, ความอยาก, ความอยากได้หรือปรารถนา)
 
สํ + มติ แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ)
 
: สํ + มติ = สํมติ > สมฺมติ แปลว่า “การรู้พร้อมกัน” คือ รับรู้ร่วมกัน, ยอมรับร่วมกัน
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่