คุยไปเรื่อยกับภาษาญี่ปุ่น#2 ว่าด้วยกริยาในภาษาญี่ปุ่น (1) คำว่า "ต้อง" ภาษาญี่ปุ่นพูดว่ายังไง

พบกันเป็นครั้งที่ ๒ นะครับ (จะเขียนไปได้สักกี่ตอนกันหนอเรา ๕๕๕)

เปิดเรื่องใหม่ครับ วันนี้มาว่ากันด้วยเรื่องของกริยาในภาษาญี่ปุ่น

รูปประโยคหรือไวยากรณ์ที่ทำให้กริยาอยู่ในรูปหรือความหมายว่า "ต้อง" เช่น "ต้องทำ" "ต้องไป" ฯลฯ นั้น ถ้าเป็นภาษาไทย ก็ง่ายมาก แค่เติมคำว่า "ต้อง" หน้าคำกริยา หรือภาษาอังกฤษ ก็ง่ายเช่นกัน เติมคำว่า must หรือ have to หน้า verb ก็เป็นอันเรียบร้อย

แต่ภาษาญี่ปุ่นล่ะ... คนที่เรียนภาษานี้จะพบว่ามันไม่ง่ายแบบนั้นแฮะ

ถ้าอิงตามหนังสือมินนะ กว่าจะได้เรียนรูปประโยคที่มีความหมายว่า "ต้องทำ" ก็ปาเข้าไปเล่มสอง โดยอยู่ที่บทที่ 17 ซึ่งต้องเรียนพร้อมกับการผันกริยาเป็นรูปปฏิเสธ คือรูป ない (ない形 nai-form)

เหตุที่รูป "ต้องทำ" มาพร้อมรูปปฏิเสธ เพราะการพูดคำว่าต้องในภาษานี้ ต้องใช้เป็นรูปเงื่อนไขว่า ถ้าไม่ทำจะไม่ได้การ (ดังนั้น จึงต้องทำ นั่นเอง)

ซึ่งก็คือรูปประโยค V-なければなりません (V คือ คำกริยา)

โดยที่ V-なければ เป็นรูปเงื่อนไขที่ซ้อนเข้าไปกับรูปปฏิเสธของคำกริยา ดังนั้นแค่ท่อนนี้จะแปลว่า ถ้าไม่ทำ V
ส่วน なりません แปลว่า ไม่ได้ หรือ ไม่ได้การ 
รวมแล้ว จึงแปลว่า ต้องทำ V

นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบที่ต่างออกไปอีกสองรูปคือ
V-ないといけません
V-なくてはいけません
ทั้งสามรูปเหมือนกันคือ อยู่ในโครงสร้างประโยคว่า ถ้าไม่ทำ จะไม่ได้ รวมแล้วแปลว่า ต้องทำ

เช่น ฉันต้องไปแล้ว จะพูดว่า もう行かなければなりません。 ยาวมาก ๕๕๕
แต่ในการพูดกันจริง ๆ ก็นิยมละท่อนหลังไว้ในฐานที่เข้าใจ ก็เลยเหลือแค่ もう行かなければ。
ซึ่งเวลาแปล จะมาเต็ม หรือมาแบบละท่อนหลังเอาไว้ ก็ควรจะต้องแปลเหมือนกันว่า ฉันต้องไปแล้ว
(เคยดูซีรีส์หนึ่ง นานมาแล้ว พอตัวละครตัวหนึ่งพูดว่า もう行かなければ、… คนแปลดันพาซื่อแปลตรงตัวว่า "ถ้าไม่ไปแล้วล่ะก็..." ซะงั้น คนดูก็งงกันไปสิ ว่าพี่แกพูดอะไรอะ)

ดังนั้น "ฉันต้องไปแล้ว" ถ้าพูดแบบย่อก็จะเป็น
もう行かなければ。
もう行かないと。
もう行かなくては。
ได้ทั้งสามแบบ

แอดวานซ์อีกนิด ในภาษาพูดจริง ๆ คนญี่ปุ่นมักจะพูดแบบรวบพยางค์ หรือ กร่อนเสียง เป็นดังนี้
もう行かなければ。⇒もう行かなきゃ。
もう行かなくては。⇒もう行かなくちゃ。

ประมาณนี้ครับ สามรูปข้างบนนี้ คือ "ต้อง" แบบเบสิก

แบบแอดวานซ์ล่ะ...

หลายคนอาจจะนึกไม่ถึงว่า รูปประโยค ~ことになっています ที่เรียนตอนท้ายๆ ของระดับ N4 (อยู่บทท้าย ๆ ในมินนะ- ถ้าจำไม่ผิดนะ) นี่ ในหลายบริบทก็แปลว่า "ต้อง"

ตามคำอธิบายไวยากรณ์ เรามักได้เรียนมาว่า รูปประโยค ~ことになっています หมายถึง เป็นที่กำหนดไว้แล้ว หรือ มีการตัดสินใจไว้แล้ว หรือ มีการออกคำสั่งไว้แล้ว ว่าต้องทำเรื่องนั้น
ดังนั้น แปลง่าย ๆ ว่า "ต้องทำ" นั่นเอง
เช่น 来週、日本へ行くことになっています。 แปลว่า ต้องไปญี่ปุ่นสัปดาห์หน้า (ถูกกำหนดไว้แล้ว แผนการ/กำหนดการต่าง ๆ จัดไว้แล้ว)

แต่ต้องระวังด้วย เพราะรูปประโยคนี้ ไม่ได้แปลว่า "ต้อง" ได้เสมอไป ต้องดูบริบทด้วย
เช่น わたしたち、来年結婚することになっています。จะแปลว่า พวกเราได้กำหนดกันไว้แล้วว่าจะแต่งงานกันปีหน้า ตรงนี้ ถ้าแปลเป็น พวกเราต้องแต่งงานกันปีหน้า ก็จะแปลก ๆ
รวมทั้ง ถ้าใช้เป็นรูป ~ことになります。~ことになりました。 คือ ใช้รูปกาล-Tense ของตัว なりますต่างกันไป ความหมายก็จะต่างกันออกไปอีก ซึ่งจะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้

อีกรูปหนึ่ง ที่แปลว่า "ต้อง" ก็คือรูป V-ないわけにはいきません。ซึ่งอยู่ในระดับ N3
รูปนี้ จะให้ความหมายแฝงว่า "ไอ้ครั้นจะไม่ทำ ก็คงไม่ได้ (ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ด้านมารยาท กฎ กติกาสังคม ฯลฯ)" คือ ประมาณว่า ไม่ได้อยากทำ แต่ก็ต้องทำ ไม่ทำไม่ได้
เช่น 招待状をもらったからには、行かないわけにもいきません。ในเมื่อได้รับจดหมายเชิญมาแล้ว ก็ต้องไปล่ะนะ (ประมาณว่า จะไม่ไป ก็คงไม่ได้ มันเสียมารยาท หรือจะเสียน้ำใจเจ้าภาพที่อุตส่าห์เชิญมา อะไรทำนองนั้น)

งงไหมเอ่ย ๕๕๕

รูปประโยคสุดท้ายที่จะแนะนำในที่นี้ เป็นระดับ N2 (หรือ N1 นี่แหละ จำไม่ได้แล้ว) คือ
V-ざるを得ない (V ต้องอยู่ในรูป ない แต่ถ้าเป็น します ก็จะเป็น せざるを得ない)
得ない อ่านว่า えない มาจากกริยา 得る (แปลว่า รับ หรือ ได้รับ)
ความหมายเหมือนกับสำนวน V-ないわけにはいかない ทุกประการ เพียงแต่สำนวนนี้จะฟังเป็นทางการสุด ๆ

ประมาณนี้ครับ น่าจะครบนะ

แถม รูป V-dictべき ไม่ได้แปลว่า ต้องทำ (must do) แต่แปลว่า ควรทำ (should do) ตรงนี้บอกไว้ก่อน เพราะเคยพบบางคนเข้าใจผิดว่ารูปนี้แปลว่า ต้อง
เช่น ถ้าพูดว่า 行くべきです。 แปลว่า (คุณ) ควรจะไป ยังไม่ได้ถึงขนาดว่า ต้องไป
(แถมในแถม するべきです。มักใช้เป็น すべきです。)

จบจริง ๆ ล่ะครับ พบกันใหม่ตอนหน้า ท่านใดหลงเข้ามาอ่านแล้ว ก็รบกวนช่วยแสดงความคิดเห็นกันหน่อยนะครับ หรือเห็นด้วยไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาตรงไหนก็มาทักท้วง/อภิปรายกันได้ครับ ผมเองก็เป็นแค่ผู้เรียนรูปและผู้ใช้ภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น ไม่ได้จบเอกภาษาญี่ปุ่นโดยตรงแต่อย่างใดครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่