แสงสรวงสัชชนาไลย : ตอนที่ ๕

ตอนที่ 5 : เพื่อนเก่า

 ร่างสูงโปร่ง สวมเสื้อแขนกุดผ้าป่านลินินสีขาว กางเกงขายาวกรอมเท้า สีเขียวมะกอก แม้จะดูซีด แต่ก็แสดงบุคลิกผู้สวมใส่ ดูมีความมั่นใจ เป็นตัวเอง 

“สวัสดีครับ” เสียงขรึม เอ่ยขึ้น 

จันนวล หันมา พร้อมส่งยิ้มให้ “นัยน์ ยังจำกันได้ใช่ไหม” 

“นวล นี่ ความจำผมไม่ได้เสื่อมนะ นวลยังสวยสง่า เหมือนเดิมเลยนะ” ดร. นัยน์ ผู้เชี่ยวชาญ โบราณคดี แห่งกรมศิลปากร สหายเก่าแก่ นับแต่เรียนคณะอักษรศาสตร จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยมาด้วยกัน 

“ขอบใจจ้ะ  นัยน์ดูภูมิฐานขึ้นนะ” 

“จะว่าแก่ ล่ะสิ แล้วนี่กลับมานานหรือยัง จะอยู่สักกี่วัน กี่เดือน หรือกลับมาอยู่เลย” 

“เรื่องยาว เอาเป็นว่า อยู่นานพอ และมีงานพ่วงมาด้วย นี่ก็จะมาขอคำแนะนำ จากนัยน์ นี่ล่ะ” 

ในสวนกลางตึกอย่างยุโรป อาคารเก่าแก่สีเหลืองอย่างมัสตาร์ด หอสมุดวชิรญาณ ยืนเด่นสง่า จันนวลคุยกับ ดร. นัยน์ อยู่พักใหญ่ 

“ดร. เคลาส์ ท่านนี้ ผมเคยพบครั้งหนึ่ง ตอนไปประชุมที่เมือง เยนา ท่านเก่งทีเดียว นวลได้ทำงานกับท่านนี่ แสดงว่าท่านไว้ใจนวลมาก” 

“เป็นเรื่องบังเอิญมากกว่า อาจารย์คงเห็นว่าฉันเป็นไทยกระมัง เพราะท่านเชี่ยวทาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ งานนี้ คงจะต้องลงพื้นที่นาน และเข้าไปเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ทาง UNESCO ไม่อยากให้สถานที่ซึ่งประกาศเป็น มรดกโลก เป็นแค่แหล่งท่องเที่ยว จ่ายเงินเข้าไปดู ถ่ายรูปจบ” 

“ผมว่า ผมเห็นบันทึกอยู่นะ หนังสือเวียนมาที่หน่วยงาน ต้นเรื่อง น่าจะมาจากกระทรวงวัฒนธรรม รู้สึกผมจะต้องเข้าประชุมด้วย” 

จันนวลใจชื้น เมื่อได้รู้ว่า ดร. นัยน์เป็น ๑ ในคณะกรรมการฝ่ายไทยในโครงการ “หวนเยือนมรดกโลก” หรือเรียกกันถนัดปากกว่าว่า The World Heritage Revisited 

“สุโขทัย ศรีสัชนาลัย ของถนัดอยู่แล้ว ผมก็เพิ่งรู้นะ ว่า นวลมีเชื้อสายมาทางสุโขทัย เอ่อ นี่นะ ก็ไม่สังเกตดูนามสกุลนวลเลย ชัดเสียขนาดนี้ จันนวล สวรรคโยธิน” 

“ยังไง ทำไม” จันนวล ถามอย่างพาซื่อ 

“อ้าว สวรรคโลก ก็​ศรีสัชนาลัย คือกัน นั่นล่ะ เรียกกันต่างยุค ต่างสมัย สวรรคโลก นี่เรียกกันใน สมัยอยุธยา ศรีสัชนาลัย เรียกมาแต่เดิมในแคว้นสุโขทัย ย้อนกลับไปอีก สมัยเขมรนครธม เรียกกันว่า เมือง เชลียง” 

“อ้อ ลืมไปอีกชื่อ ตอนเชียงใหม่มาตีไปได้ เรียก เชียงชื่น”

“สวรรคโลก มีเรื่องราวที่มา ไม่น้อยนะ นวล” 

จันนวลไม่ค่อยได้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับ “บ้านเกิด” ตัวเองสักเท่าไร เพราะ อาศัย “เกิด” เท่านั้น จริงๆ จำความไม่ทันได้ ก็เข้ากรุงเทพฯ มาเรียนหนังสือ จำได้เพียงเลาๆ ลางๆ ว่า เคยนั่งรถไฟ และมีเพื่อน 2-3 คน ทั้งชื่อและหน้าตา ก็เลือนหมดแล้ว 

แสงแดดค่อยอ่อนลง ด้วยบ่ายคล้อยมากแล้ว บ้านในคลองชักพระ ยังคงร่มรื่นด้วยไม้นานาพรรณ 

“จะเบื่อก็แต่ ตัวเงินตัวทองนี่ล่ะค่ะ เยอะเสียจริง” ยายอ่อน คนเก่าแก่ของแม่บ่น 

บ้าน ที่พี่น้องไม่ค่อยอยากจะได้กันนัก ซ่อนตัวจาก ถนนชักพระ แม้จะใกล้ถนนแต่กลับไม่มีทางออก ต้องอาศัยเข้าออกผ่านวัดตลิ่งชัน สมัยก่อนบ้านทุกครัวเรือนล้วนหันหน้าเข้าหาคลองกันทั้งนั้น เรือนริมคลองมีชานยื่นออกไป “สมัยคุณตาทวด คุณตาของคุณหนู เคยเปิดเป็นร้านชำ และค้าส่งผลไม้ค่ะ เลิกไปตอนคุณตาทวดเสีย คุณตาท่านรับราชการ พระศรีศุลกรักษ อยู่หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในวังหลวง คุณยายดูแลคนเดียวไม่ไหว คุณหอมเองก็ลงเรือหน้าบ้านไปเรียนหนังสือที่ฝั่งพระนคร เย็นก็นั่งเรือกลับ” ยายอ่อนเล่า 

สะพานปูนโค้งข้ามคลองตลิ่งชันตัดเข้าท้ายสวน “แม่” ขอทางวัดตลิ่งชันทำ ให้เดินทางเข้าออกสะดวก “บ้านเรากับวัดนี้ สนิทชอบพอกันมาหลายรุ่น นำ้พึ่งเรือ เสือพึ่งป่า อัฐิคุณตาทวด คุณยาย คุณหอมส่วนหนึ่งก็บรรจุไว้ที่นี่ค่ะ” 

แม่รักบ้านคลองชักพระไม่น้อยกว่าบ้านที่สวรรคโลก “ธนบุรีเป็นบ้านเกิด สวรรคโลกเป็นเรือนตาย” แม่พูดเสมอ จันนวลชอบฟังเสียงตามสาย คงจากวิทยุชาวบ้าน รายการพระเทศน์ชาดก นิทานต่างๆ “สนุกดีคะ ยายอ่อน คิดถึงสมัยเรียน”  

“วันนี้ คุณแจ้งตวันให้คนเอา รถ มาให้คุณหนูไว้ใช้ค่ะ” ยายอ่อนเอ่ย 

“ดีจริง จะได้ไปไหนมาไหนสะดวก พี่ศุขจะได้ไม่ต้องลำบากรับส่ง” 

“ไม่ลำบากหรอกค่ะ คุณหนูจำถนนหนทางได้หรือคะ ไม่อยู่เสียนาน” 

“ไม่น่ายากนะคะ ถนนส่วนใหญ่เหมือนเดิม ที่ใหม่ก็มีเส้นราชพฤกษ์ นี่กระมัง” 

เข้ามาฝั่งคลองนี่ พลบค่ำ ก็แทบจะไม่ยินเสียงรถรา

“ฝั่งนั้น เลยวัดไปหน่อย ก็ที่ทางคุณหอมค่ะ ๒ ฝั่งบ้านเราหมด” ยายอ่อนเล่า 

จันนวลพอคลับคล้ายว่าเมื่อเด็กๆ พี่ๆ มักเล่นหลอกผีกัน ด้วยมีวัดอยู่ข้างๆ บ้าน จันนวลร้องไห้กลัวจนต้องไปนอนกับยายอ่อน อยู่บ่อยๆ  

“ต้มส้มปลากระบอกค่ะ และนี่ก็ยำก้านคะน้า ไข่ต้ม เห็นว่าเข้าหน้าร้อนแล้ว แกงกะทิกินไม่ดี คุณหนูไม่ทานหนักมื้อเย็นด้วย” ยายอ่อนว่า 

จันนวลเอ่ยขอบใจ นานมากแล้วที่ ไม่ได้เห็น กิน กับข้าวอย่างไทย ต้มส้ม ออกเปรี้ยวน้ำมะขาม ซดได้คล่องคอ เผ็ดพริกไท หน่อยเดียว หอมแดงช่วยให้จมูกโล่งดีจริง ปลาก็ไม่หนักเกินไป ในตอนค่ำ ด้วยช่วงกลางวันไม่มีเวลาจะกินอะไรได้ ยำก้านคะน้า ก็เป็นผักที่ปลูกกันเองในท้องร่องหลังบ้านไปไม่ไกล 

“อะไรนะจ๊ะ นี่ยังปลูกผักกันเองอีกหรือ พี่ศุข” จันนวลเอ่ย 

“ครับผม น้ำในคลองชักพระนี่ สะอาดอยู่นะครับ คลองแถบนี้แล่นถึงกันตลอด น้ำไม่นิ่ง อีกอย่างคนแถบนี้รักที่ทาง ไม่ยอมขายกัน บางบ้านเป็นที่ตาบอดก็ยังไม่ยอมย้ายกันไปไหน ลำบากลำบน อาศัยที่ทางวัดเข้าออกเสียก็มาก” นายศุขเล่า 

ก้านคะน้ายอดอ่อนแทนสลัดผักที่กินประจำได้อย่างดี จันนวลชอบเต้าหู้ขาวคลุกมาในจาน ไม่นิ่ม ไม่กระด้างเกินไป พลางนึก ‘เหลือคนทำกับข้าวไทยๆ เป็นจริงๆ สักกี่คนกัน’ 

‘จันทร์นวลตา’ ค่ำนี้คงเป็นวันพระ ด้วยมีเสียงพระธรรมเทศนา เรื่องต่างๆ ดังมาจากปากคลองบางระมาดเลยไปไม่ไกล จันนวลนั่งฟังพอเพลิน นึกขึ้นได้ว่ายังไม่ได้กราบพระสักที ตั่งแต่กลับมาที่บ้านคลองชักพระ นี่! 

หอพระเป็นเรือนไทย เชื่อมต่อไปอีกหลัง มีทางเชื่อมจากเรือนนอน เดินต่อไปได้ พลางได้กลิ่นดอกไม้หอม 
‘ใช่สิน่า วันพระแน่ๆ กลิ่นดอกไม้หอมอวลทั่วอย่างนี้’ จันนวลคิดพลาง 

ทุกวันพระ ยายอ่อนจะร้อยมาลัยถวายพระอยู่ตลอด เพราะทั้งแม่และพ่อจะต้องสวดพระพุทธมนต์อยู่เนือง แลทำต่อเนื่องมาตลอดแม้ว่าทั้ง ๒ ท่านจะลาลับ กรอบบานหน้าต่างๆ เรือนไทย ขับให้ “หน้าช้าง” เครื่องแขวนดูงามเด่น ล้อลมโชยอ่อน 

กลางเครื่องหมู่บูชา มีพระพุทธรูปใหญ่ประดิษฐานอยู่ ๔ องค์ องค์กลางนั้น งามจับตา สำริดอย่างโบราณไม่ขึ้นเงา ทำให้องค์พระดูสง่า ‘พระพุทธชินราช’ เห็นเพียงซุ้มเรือนแก้ว ก็รู้ทันที ถัดไปทางซ้าย องค์งามไม่แพ้กัน เห็นเพียงตัวอักษรสลักดูลางๆ “พระร่วง วัดมหรรพณ์” ด้านขวาองค์ใหญ่พอกัน “พระศรีศากยมุณี” และองค์ด้านหน้าเป็น พระยืน ‘ปางลีลา’ จันนวลพยายามทบทวนความรู้ที่เคยเล่าเรียนมาเกี่ยวกับพระพุทธรูปปางต่างๆ แต่ก็จำได้ไม่ติดต่อกันนัก 

“ท่านนายพล เช่ามาทั้งนั้นค่ะ ยายเห็นตั้งแต่คุณหนูยังเล็กๆ” กลิ่นหอมดอกไม้ไทยอ่อนๆ ลอยนวลอวลในห้อง ยายอ่อนยังใช้แป้งร่ำ น้ำอบอย่างโบราณ 

“หอมจังคะ ยายอ่อน แป้งอะไร ดูสิแขนขาวไปหมด” จันนวลหยอกยายอ่อน 

“แป้งร่ำน่ะค่ะ พรรคพวกในวัง เขาทำมาเผื่อ น้ำอบนี่ก็กลิ่นไม่แรง อ่อนๆ คุณหนูอยากได้ไหม เดี๋ยวยายแบ่งให้” 

จันนวลเอ่ยขอบใจ 

เสียงสวดบทสรรเสริญพระรัตนไตร และอิติปิโส ดังแทรกผ่านความเงียบในคลองชักพระ ยายอ่อนสวดนำ จันนวลสวดตาม ทั้งชินบัญชรคาถา 

“คุณหนูเอามุ้งลงด้วยนะคะ ในสวนนี่ ค่ำลงชื้นมาก จะป่วยเอาง่าย” ยายอ่อนกำชับ 

มุ้งเม็ดพริกไทยลายตารางอย่างโบราณ เก็บรักษาไว้อย่างดี นำออกมาใช้อีกครั้ง กลิ่นหอมสะอาด ทว่าสีออกขาวหม่นด้วยความเก่าทำให้คิดถึงวัยเด็กที่ต้องนอนให้ยายกล่อมจนหลับไป นิทาน จันทร์เจ้าขอข้าวขอแกง ลักษณวงศ์ เล่าซ้ำไปวนมา จนหลับไป 

ลมพัดอ่อน ชื้น จนต้องคลุมไหล่ เก้าอี้หวายเอนหลังที่ริมหน้าต่างดูสบาย จันนวลหยิบ บันทึกของพระยาสวรรครักษราชโยธา ขึ้นอ่านต่อ 

“ที่วัดสุทัศนฯ วันหนึ่งๆ มีคนมาพบสมเด็จเจ้าประคุณท่านเสมอมิได้ขาด ไม่ว่าจะเจ้านายใหญ่โต คนสามัญ ฉันเลยพลอยได้รู้จักด้วย แม่พรรณ ฉันก็ได้พบที่นี่ แต่จะเกบไว้เล่าสู่ฟังวันหลัง 

วันหนึ่ง ท่านเสนาบดีกลาโหม มาทำบุญฉลองอายุที่วัด แลทูลสมเด็จเจ้าประคุณท่านว่า พระวรพุฒิโภคัยทูลสมเด็จกรมหมื่นดำรงฯ ขอให้พิจารณาฝากฝัง นายสรวง จึ่งอยากมาเหนตัว สมเดจเจ้าประคุณท่าน จึ่งกำชับฝากฉันให้ได้หัดทหาร สัก ๓ วันได้กระมัง มีนายทหารมาขอรับตัวฉันไป เหนว่าที่ชอบปีนป่ายขึ้นลงตลิ่งน้ำยมจะเกิดประโยชน์ก็คราวนี้ ฝึกปีแรก วิ่ง ปีน จะท่าอะไรๆ แต้มฉันนำลิ่ว ยังกระหยิ่มนี่ คงได้ไปออกรบแถวหัวเมืองสักแห่ง เกงอยู่ว่า น่าจะได้ไปเมืองพระพิษณุโลกย ด้วยติดหัวเมืองทางล้านนา มีเรื่องยุ่งกับคนบังคับในอังกฤษทั้งหลายทั้งปวง ดีใจแน่เทียว ด้วยใกล้สวรรคโลก ฉวยฉันจะได้กลับไปเยี่ยมบ้าน คิดถึงเตมประดาแล้ว วันหนึ่งท่านเสนาบดีเอ่ยถาม “สนใจงานช่างไหม พ่อสรวง สยามคงจะต้องสร้างทางรถไฟเองเร็วๆ นี้ นายช่างฝรั่งให้ข้าคัดคนไปดูว่าหน่วยก้านคนไหนพอจะส่งไปเรียนงานช่างเมืองฝรั่ง แล้วไม่เหลว” ฉันนี้ ปากคอสั่นทีเดียว ที่สุด เขาก็คัดให้ฉันไปเยอรมนี ก่อนไปฉันตามนายช่างเกียรส ไปที่ต่างๆ บ้าง นายช่างก็สอนให้ฉัน รู้ภาษา แรกก็จะตายเสียทีเดียว ยากเสียเหลือเกิน ภาษาเยอรมัน นี่”
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่