เงินตราในสมัยสุโขทัย

อาณาจักรสุโขทัยก่อตั้งขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่18 หลังจากที่พ่อขุนผาเมืองและพ่อขุนบางกลางหาวรวมกำลังพลขับไล่ขอมสบาดโขลญลำพงได้สำเร็จ และได้สถาปนาเอกราชให้รัฐสุโขทัยเป็นอาณาจักรสุโขทัย โดยพ่อขุนบางกลางหาว(พ่อขุนศรีอินทราทิตย์)เป็นกษัตริย์ผู้ปกครองอาณาจักร อาณาจักรสุโขทัยได้ขยายอำนาจและพัฒนาบ้านเมือง ศิลปะรวมถึงวัฒนธรรมจนมีความเจริญรุ่งเรืองเพิ่มขึ้นตามลำดับกระทั่งถึงขีดสุดในรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ( พ.ศ.1822 - พ.ศ.1842) ได้ขยายอาณาเขตลงไปทางตอนใต้ มีการสร้างสถาปัตยกรรมและประติมากรรม ที่สำคัญได้มีการประดิษฐ์ลายสือไทยซึ่งแสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมและเป็นเอกลักษณ์ของชนชาติไทยสืบจนถึงปัจจุบัน
     
     นอกจากนั้นแล้วอาณาจักรสุโขทัยยังเป็นศูนย์กลางทางการค้า เพราะพ่อขุนเมืองสุโขทัยได้สนับสนุนการค้าในเขตเมืองกับราษฎร ให้ทำการค้าโดยยกเว้นภาษีอากร เป็นการค้าเปิดการค้าเสรีโดยไม่จำกัดชนิดสินค้า ทำให้มีการค้าขายมากขึ้น ดังจารึกหลักที่ 1 “เจ้าเมืองบ่เอาจังกอบในไพร่ ลู่ทาง เพื่อนจูงวัวมาค้าขี่ม้ามาขาย ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทองค้า” ส่วนพ่อค้าจากต่างเมืองก็สามารถเข้ามาทำการค้าได้อย่างสะดวกสบาย เนื่องจากเมืองสุโขทัยมีทั้งเส้นทางทางบกและเส้นทางเดินเรือ
     
     ด้วยเหตุข้างต้น ในสมัยสุโขทัยจึงมีการกำหนดเงินตราเพื่อเป็นมาตรฐานในการซื้อขายสินค้าและเป็นสื่อกลางที่ใช้ในมาตราการแลกเปลี่ยน ดังปรากฎในจดหมายเหตุจีนเจินละฟุงถู่จี้ของโจวต้ากวานซึ่งเดินทางผ่านอาณาจักรสุโขทัย ราวพ.ศ.1839 - 1840 ความว่า “การค้าเล็กน้อยจ่ายกันเป็นข้าวหรือพืชผลอื่นๆ หรือสิ่งของที่มาจากเมืองจีน ถัดมาก็ใช้ผ้า ส่วนการค้าใหญ่ ๆ ใช้ทองและเงิน” และจารึกหลักที่4 วัดป่ามะม่วง ที่จารึกว่า  “คิดพระราชทานทรัพย์ที่พระราชทานคือทองหมื่นหนึ่ง เงินหมื่นหนึ่ง เบี้ยสิบล้าน”
     
     ในเมืองสุโขทัยนั้นมีการใช้เงินพดด้วงที่ทำด้วยเงินหรือโลหะผสม โดยนำไปหล่อเป็นแท่งยาวในแม่พิมพ์ตามน้ำหนัก แล้วบากตรงกลาง งอปลายเข้าหากัน ทำให้มีลักษณะเป็นก้อนที่มีปลายชนเข้าหากันคล้ายตัวด้วง จึงถือได้ว่าเป็นเงินที่มีรูปร่างเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนเงินตราประเภทใดในโลก นิยมเรียกกันว่าเงินคุปหรือเงินคุด(น่าจะมาจากคำว่า คด) เมื่อรวมลักษณะคดและตัวด้วงจึงเรียกรวมกันเป็นพดด้วง แต่ชาวต่างชาติเรียกว่า เงินลูกปืน (BULLET MONEY) โดยพระเจ้าแผ่นดินจะเป็นผู้ผลิตแต่ก็เปิดโอกาสให้ประชาชนผลิตได้ ทำให้เงินพดด้วงไม่มีมาตรฐานแน่นอนในเรื่องขนาดและน้ำหนัก แต่ก็ยังคงมีกฎเกณฑ์บางอย่างอยู่ ตามที่ในจดหมายเหตุจีนกล่าวว่า “ขุนนางและราษฎร ที่มีเงินจะใช้จ่ายแต่ลำพังไม่ได้ ต้องเอาเงินส่งไปเมืองหลวงให้เจ้าพนักงานหล่อเป็นเม็ด เอาตราเหล็กตีอักษรอยู่ด้านบน แล้วจึงใช้จ่ายได้เงินร้อยตำลึงต้องเสียภาษีให้หลวงหกสลึง” และมีกฎหมายลงโทษว่า ถ้าใครทำเงินตราปลอม ถ้าหากจับได้ครั้งแรกจะต้องถูกตัดนิ้วมือขวาถ้าถูกจับครั้งที่สองต้องถูกตัดนิ้วมือซ้ายนี้ ถ้าถูกจับได้อีกครั้งที่สามจะถูกลงโทษประหารชีวิต
     
     ตัวเงินมีน้ำหนักตั้งแต่ 1 บาทจนถึง 4 บาทและประทับตราของแผ่นดินอย่างใดอย่างหนึ่งคือตราช้าง ตราราชสีห์ ตราราชวัตร  สัตว์ชั้นสูง ฯลฯ ในบางครั้งสามารถพบเห็นเงินพดด้วงที่มีตราประทับมากกว่า 1 ดวงได้ เช่นเงินพดด้วง 7 ตรา หรือเงินพดด้วง 9 ตรา ที่นิยมให้เป็นของขลังในเวลาต่อมา
     
     ส่วนมาตราเงินในสมัยสุโขทัยน่าจะใช้ 1 ชั่ง เป็น 40 ตำลึง, 1 ตำลึง เป็น 4 บาท, 1 บาท เป็น 4 สลึง และ 1 สลึง เป็น 2 เฟื้อง ส่วนหน่วยย่อยลงไปนั้นจะใช้เงินเบี้ย ในตอนแรกสันนิษฐานว่าใช้หอยเบี้ยจากแม่น้ำโขง ต่อมาเป็นหอยทะเลที่หายากในหมู่เกาะมัลดีฟส์ เป็นหอยทะเลกาบเดี่ยวเรียกว่า COWRIE SHELL มีลักษณะตัวเล็ก สีเหลืองนวล นำเข้ามาโดยพ่อค้าชาวต่างชาติที่นำมาขายและถูกนำมาใช้แทนค่าของเงินต่ำสุด 3 เบี้ย หรือ 5 เบี้ย ใช้สำหรับซื้อของเล็กๆน้อยๆ โดยเบี้ยแบ่งออกเป็น 8 ประเภทต่อไปนี้ เบี้ยโพล้ง เบี้ยแก้ เบี้ยจั่น เบี้ยบาง เบี้ยหมู เบี้ยกลม เบี้ยบัว และเบี้ยตุ้ม

     เมื่อสิ้นรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช อาณาจักรสุโขทัยก็เริ่มเสื่อมอำนาจลงเรื่อยๆ และแล้วอาณาจักรสุโขทัยที่เจริญรุ่งเรืองมากว่า 200 ปีก็ถูกผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยา จึงถือได้ว่าเป็นการสิ้นสุดของอาณาจักรสุโขทัยตั้งแต่นั้นมา
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่