เดิน กิน ชิม เที่ยว ถนนคนเดินวิถีคนตราด 26 ธันวาคม 2563

ที่จริงกิจกรรม เดิน กิน ชิม เที่ยว ถนนคนเดินวิถีคนตราด นี้ เราได้เคยไปเดินอยู่หลายครั้งช่วงก่อนหน้าโควิด-19 หนักๆ ที่หลังจากเจอพิษโควิดเข้าไปทางจังหวัดจึงให้หยุดกิจกรรมนี้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 จนมาถึงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาจึงได้เริ่มกิจกรรมขึ้นมาอีกครั้ง และยังคงดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แต่ก็อยู่ภายใต้การควบคุมให้อยู่ในมาตรการป้องกันโรคติดต่อโควิด-19 ที่ค่อนข้างเคร่งครัด
จากประสบการณ์ของเราต่อความเอาจริงเอาจังต่อมาตรการป้องกันโควิด-19 ของจังหวัดตราด โดยที่เราเจอแล้วจำได้และเมื่อเอามาเล่าให้เพื่อนๆฟังต่างก็ชื่นชมในความจริงจังของเหล่า อสม. และบรรดาอาสาสมัครหลายๆท่าน  คือมีอยู่วันนึงในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อนเราลงมาเที่ยวโดยตั้งใจกันว่าจะทำอาหารทานเองที่บ้าน ก่อนเข้าบ้านจึงแวะตลาดนัดใหญ่แห่งหนึ่งที่มีของขายมาก รวมทั้งอาหารทะเลสดๆด้วย พอลงรถได้ก็พากันเดินตัวปลิว (แบบไม่มีหน้ากากอนามัยติดไปด้วย) ถึงทางเข้า (ที่เขาจำกัดให้เข้าทางเดียว) ทางเจ้าหน้าที่ก็ถามหาหน้ากากอนามัยโดยบอกว่าจะไม่ให้เข้าไปในตลาดถ้าไม่มีหน้ากากอนามัย เรานี่ต่างเดินกลับไปที่รถหลังจากต่อรองกับพี่อาสาสมัครที่ผลที่ได้คืออย่างไรก็ต้องมีหน้ากากอนามัย ใส่หน้ากากอนามัยเรียบร้อยแล้วจึงได้ผ่านพิธีการตรวจคัดกรองถึงจะเข้าไปซื้อของในตลาดได้ และในตลาดเดียวกันนี้ เราเห็นเหตุการณ์ที่อาสาฯ (ไม่ก็ อสม.) ดุแม่ค้าคนที่ขายของให้กับลูกค้าที่ไม่สวมหน้ากากอนามัยแบบเห็นคาตา “ขายของให้เขาได้ยังไง เห็นมั้ยน่ะ เขาไม่สวมหน้ากากฯ” แม่ค้าก็ทำหน้าเจื่อนๆ ในขณะที่ลูกค้าคนนั้นเดินจากไปสักพักหนึ่งแล้ว เราว่าเป็นกุสโลบายที่ดี ... ดุแม่ค้า แทนที่จะดุคนซื้อ
ที่ถนนคนเดินเมื่อวันก่อนก็มีมาตรการค่อนข้างเคร่งครัดเช่นกัน อาจเป็นเพราะช่วงนี้มีเหตุการณ์กระจายของโควิด-19 มากขึ้น และค่อนข้างรวดเร็ว รวมทั้งคงเป็นนโยบายของจังหวัดโดยการรับนโยบายจากส่วนกลาง ถนนคนเดินวิถีคนตราด จัดบนถนนหลักเมืองเริ่มตั้งแต่แยกวิทยาลัยสารพัดช่างตราดจนถึงสี่แยกตัดถนนสุขุมวิท ซึ่งถนนหลักเมืองเส้นนี้ รวมถึงเส้นที่ตัดเลียบคลองบางพระที่เป็นถนนขนานกัน จัดเป็นถนนประวัติศาสตร์และทางจังหวัดมักจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อยู่เนืองๆ โดยบริเวณชุมชนเก่าแห่งนี้ในอดีตเคยเป็นท่าเรือเพื่อรับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 5 ช่วงปลายรัชสมัยซึ่งมีเหตุขัดแย้งกับฝรั่งเศสอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะบางช่วงที่ตราดเคยตกอยู่ใต้อาณัติของฝรั่งเศส ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงมีการอนุรักษ์ท่าเรือและศาลาที่พักซึ่งเป็นประวัติศาสตร์นั้นไว้ สามารถเดินเข้าไปชมได้
    
บ้านเรือนในย่านนี้ส่วนหนึ่งจะเป็นบ้านไม้แบบดั้งเดิมที่บางส่วนได้รับการอนุรักษ์ไว้ แต่บางส่วนก็ถูกสร้างทดแทนด้วยอาคารคอนกรีต ถนนหลักเมืองเส้นนี้ยังเป็นที่ตั้งของอาคาร เรซิดังกัมปอร์ต
... หลังจากนั่นฝ่ายฝรั่งเศสได้ใช้ จวนเรสิดังกัมปอร์ต อาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ 3 ชั้น บริเวณชุมชนคลองบางพระ  เป็นสถานที่ว่าราชการในช่างเวลาที่ปกครองเมืองตราด ต่อมาเมื่อรัฐบาลไทยได้ตกลงกับฝ่ายฝรั่งเศสในการขอคืนเมืองตราดสำเร็จ ทำให้ฝ่ายฝรั่งเศสได้ถอนกำลังทหารออกจากเมืองตราด ทำให้จวนเรซิดังกัมปอร์ดถูกทิ้งร้างไป...
.
...จวนเรสิดังกัมปอร์ตนั้น แต่เดิม เป็นของคุณพระปราณีจีนประชา ซึ่งเป็นปลัดฝ่ายจีนเมืองตราด สร้างเป็นเรือนหอให้กับบุตรสาว ชื่อ สุด ก่อนที่ฝรั่งเศสจะเข้ายึดครองเมืองตราดในปี พ.ศ. 2447 และพระยานรเชษฐวุฒิไวย เจ้าเมืองตราด ได้เข้าไปพักอาศัยอยู่กับคุณสุดหลังจากที่ท่านเกษียณอายุราชการแล้ว อยู่ได้ระยะหนึ่งบ้านเมืองก็ถูกยึด ท่านก็อพยพจากที่แห่งนี้ไปอยู่จังหวัดจันทบุรี บ้านหลังนี้ก็ร้าง ฝรั่งเศสจึงยึดเป็นที่ทำการของเรสิดัง กัมปอร์ต ซึ่งเป็นข้าหลวงของฝรั่งเศสใช้เป็นที่ว่าราชการ และหลังจากสิ้นสุดยุคของฝรั่งเศส เจ้าเมืองตราดก็เข้าไปใช้สถานที่แห่งนี้ต่อเนื่องมาจนถึงปี พ.ศ. 2471 จึงเปลี่ยนแปลงเป็นสุขศาลา เป็นหน่วยกามโรค  ปัจจุบันใช้เป็นสำนักพุทธศาสนาประจำจังหวัดตราด...
(ข้อมูลบางส่วนจาก
ตามบิลบอร์ดโฆษณาระบุเวลาของถนนคนเดินคือทุกวันเสาร์ บ่ายสามถึงสามทุ่ม (15.00-21.00 น.) ฤดูหนาวลมเย็น ถึงแม้เมืองตราดจะไม่ใช่เมืองที่อากาศเย็นสบายมากเหมือนทางภาคเหนือ แต่ก็จัดได้ว่าเดินสบายและไม่มีฝน มีทั้งของกินเล่น กินจริง ของใช้ ของเล่น ปิ้งย่าง ผลไม้ ทั้งผลิตภัณฑ์มาตรฐานระดับประเทศและผลิตภัณฑ์สไตร์เมืองตราดที่หาดูหาทานที่อื่นไม่ได้ มีนักเรียนมาเล่นดนตรี ร้องเพลงและแสดงความสามารถกันหลายกลุ่ม แต่ถ้าจะถามว่ามาถนนคนเดินจังหวัดตราดย่านชุมชนคลองบางพระ เราซื้ออะไร
.
1.พลาดไม่ได้ต้องเป็นซีฟู้ด เราซื้อปลาหมึกย่างน้ำจิ้มรสจัด (อันนี้ลืมถ่ายรูป กินหมดซะก่อน) (ร้านนี้รับคนละครึ่ง)
.
2.กระเพาะปลา ที่ร้านเดียวกันกับหอยทอดซึ่งอร่อยทั้ง 2 เมนู รวมทั้งราคาก็แสนจะเป็นมิตร ใครรักหอยทอดเชิญชิมหอยทอด แต่ถ้าไม่อยากทานของทอดลองมองกระเพาะปลา รับรองว่าน้ำลายสอคู่ (รับคนละครึ่ง)
3.ถ้าให้นึกถึงผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัดตราด นอกจากผลไม้ระดับส่งออกแบบทุเรียน มังคุด และเงาะโรงเรียนแล้ว ก็คงไม่พ้นสัปปะรดตราดสีทอง (คนตราดออกสำเนียงว่า สั่ม-มะ-หรด) เราไม่ได้เสนอสัปปะรดตราดสีทองสดครับ แต่เราเสนอสัปปะรดตราดสีทองกวน โดยถ้าอ้างอิงถึงความชอบส่วนตัวในการทานสัปปะรดกวนแล้ว สัปปะรดตราดสีทองกวนจะต่างจากสัปปะรดพันธุ์อื่นๆกวนตรงรสชาติจี๊ดจ๊าดได้ใจกว่า ไม่หวานจัดแต่อร่อย เนื้อไม่เหลว ไม่แฉะ และลักษณะเนื้อสัปปะรดกวนจะมีเส้นใยมากทานหนุบหนึบอร่อยกว่าเป็นไหนๆ ถุงละ 85 บาท (ร้านนี้รับคนละครึ่ง ยกเว้นสัปปะรดกวน!)
4.เรียกเมนูอะไรจำไม่ได้ แต่หลักจากแวะเข้าไปชิมตามคำเชิญชวนของแม่ค้าแล้ว รสชาติไม่เหมือนใคร จะว่าเป็นข้าวเกรียบปากหม้อก็ไม่เชิง ก๊วยเตี๋ยวลุยสวนก็ไม่ใช่ คล้ายๆขนมกุ้ยช่ายด้วยซ้ำ ต้องลองครับ (รับคนละครึ่ง) 
5.มาทางเมนูแกงและกับข้าวสักหน่อย เอาเป็นว่าถ้าจะให้ได้ชื่อว่ามาถึงเมืองตราดแบบไม่อายใคร ต้องไม่พลาดที่จะชิมแกงเผ็ดสไตร์ตราด มันคือความต่างจากแกงเผ็ดของคนอื่นตรงพริกแกงเฉพาะที่เราเคยไปหาซื้อที่อื่นก็ซื้อไม่ได้ แถมพริกแกง (ที่เขาเรียกว่าพริกแกงแสนตุ้ง) มันต้องมาแบบควบคุมอุณหภูมิ (แช่เย็น) มีพริกสดผสมพร้อมสมุนไพรพื้นถิ่นบางอย่าง  หาซื้อที่อื่นไม่ได้จริงๆ (ถ้าหาซื้อได้ มันก็ไม่เหมือน) อย่าลืมครับ แกงเผ็ดเมืองตราด (ปล.แต่ขอเป็นภาพปลาทอดของร้านเดียวกันประกอบครับ เนื่องจากภาพแกงเผ็ด .. เบลอ!)
มีร้านแคคตัสหลายร้านเลยครับ ขนุน กล้วยน้ำว้า ขนมครก น้ำปั่น สาคูใส้ปูรางวัลที่ 1 คุณบุญมี ไอศกรีม ใส้กรอก หมูสะเต๊ะ และอีกมากมายสาธยายไม่หมดไม่เหมือนมาเดินเอง
.
       
ทุกวันเสาร์ 15.00-21.00 น. ... เชิญครับที่ถนนหลักเมืองชุมชนบ้านเก่าริมคลองบางพระ จังหวัดตราด
--------------
คุณหมูยอ
เดิน 26 ธันวาคม 2563
บันทึก 28 ธันวาคม 2563
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่