JJNY : ลอบยิงผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ตากใบ│“อหิวาตกโรค”เป็นภาวะฉุกเฉิน│สี่วันอันตรายดับ 175│ฝุ่นฟุ้งข้ามปี คาดอีก 4 วันเพิ่ม

เกิดเหตุลอบยิงผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เสียชีวิต
https://prachatai.com/journal/2024/12/111882

เกิดเหตุคนร้ายไม่ทราบชื่อและจำนวน ลอบยิงผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เสียชีวิต
 
31 ธ.ค. 2567 NBT Connext รายงานว่า ว่าที่ร้อยโท สรรพศิริ  ศิริสวัสดิ์ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ จังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือเยียวยาฯ อำเภอตากใบ เมื่อช่วงกลางดึกวานนี้ (30 ธ.ค.67) เกิดเหตุคนร้ายไม่ทราบชื่อและจำนวน ใช้อาวุธปืนไม่ทราบชนิดและขนาดลอบยิงนายมะอารารี เว๊าะ  ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 ตำบลเกาะสะท้อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส  เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ บริเวณถนนภายในหมู่บ้าน หมู่ที่ 9 ตำบลเกาะสะท้อน ส่วนสาเหตุอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
 
และในวันนี้ (31 ธ.ค. 67) เวลา 11.30 น. จะมีพิธีฝังศพ ที่กูโบร์บ้านกำปงสูเหรา (ชุมบก) หมู่ที่ 9 ตำบลเกาะสะท้อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส



องค์การอนามัยโลก ประกาศให้ “อหิวาตกโรค” เป็น “ภาวะฉุกเฉินครั้งใหญ่”
https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_4979068

องค์การอนามัยโลก ประกาศให้ “อหิวาตกโรค” เป็น “ภาวะฉุกเฉินครั้งใหญ่”
 
เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สำหรับสถานการณ์การระบาดของอหิวาตกโรคในระดับโลกนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ “อหิวาตกโรค” เป็น “ภาวะฉุกเฉินครั้งใหญ่” หรือ Major Emergency ซึ่งจะต่างจากการประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of 
International Concern : PHEIC) อย่างเช่นโรคโควิด-19 โรคฝีดาษวานร ดังนั้น การประกาศให้อหิวาตกโรคเป็นภาวะฉุกเฉินครั้งใหญ่จะเป็นคนละนัยยะกับโรคโควิด-19 ที่เมื่อประกาศแล้วจะต้องดำเนินมาตรการอย่างเข้มงวด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอหิวาตกโรค เป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยการกินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือ แต่องค์การอนามัยโลกระบุว่ามีการพบผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นและพบในหลายประเทศมากขึ้นจากเดิมที่มีการรายงาน 44 ประเทศในปี 2565 จากนั้นก็พบมากขึ้นในหลายประเทศอย่างต่อเนื่องมากจนถึงปี 2567 ซึ่งการเพิ่มขึ้นนี้เป็นความกังวล แต่หากทุกประเทศร่วมกันป้องกัน ก็จะช่วยควบคุมการแพร่เชื้อได้ เพราะอหิวาตกโรค ไม่ใช่โรคใหม่ เป็นโรคที่เรารู้จักกันอยู่
 
อหิวาต์เป็น 1 ในโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังในประเทศไทยลำดับที่ 53 จากทั้งหมด 57 โรค แต่ไม่ใช่โรคติดต่ออันตรายที่มีอยู่ทั้งหมด 13 โรค การป้องกันอหิวาตกโรค สามารถทำได้ด้วยการรักษาสุขอนามัย การกินของร้อน ใช้ช้อนกลางและหมั่นล้างมือ น้ำที่ใช้ก็จะต้องผ่านการเติมคลอรีน ส่วนถ้าพบว่ามีอาการป่วย ท้องร่วงก็ต้องรีบไปพบแพทย์ ดังนั้นการที่องค์การอนามัยโลกออกมาประกาศให้อหิวาตกโรคเป็น Major Emergency ก็เพื่อให้แต่ละประเทศเกิดความตระหนักมากขึ้น” นพ.โสภณ กล่าว
 
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์อหิวาตกโรคในประเทศไทย ขณะนี้ยังพบผู้ป่วยอยู่ใน อ.แม่สอด จ.ตาก ส่วนผู้ป่วยในประเทศเพื่อนบ้านก็เริ่มลดลงแล้ว ซึ่งการที่มีการระบาดของโรคก็จะสร้างภูมิคุ้มกันชั่วคราวให้กับผู้ที่หายป่วย ดังนั้นโอกาสที่จะกลับมาระบาดซ้ำก็จะไม่มาก แต่อย่างไรก็ตาม ต้องมีมาตรการป้องกันที่เข้มงวด เช่น การปรับปรุงสุขาภิบาลน้ำ ใช้น้ำสะอาดที่เติมคลอรีน อาหารก็ต้องปรุงสุก ทั้งนี้ การป้องกันบริเวณชายแดนไทยมีความเข้มงวดมาก เพราะหากมีคนข้ามแดนกันไปมา ก็มีโอกาสที่จะเจอผู้ป่วยในประเทศได้มากขึ้น
 


สี่วันอันตรายดับ 175 เจ็บ 1.1 พันคน เหตุเมาแล้วขับ อยุธา อุบัติเหตุรวมสะสมสูงสุด ศปถ.คุมเข้มวันส่งท้ายปี
https://www.matichon.co.th/politics/news_4979164

4 วันอันตรายดับ 175 เจ็บ 1.1 พันคน เหตุเมาแล้วขับ อยุธา อุบัติเหตุรวมสะสมสูงสุด ศปถ.คุมเข้มวันส่งท้ายปีเก่ารับปีใหม่
 
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 31 ธันวาคม ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เพื่อรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2568
 
นายภาสกร กล่าวว่า สำหรับข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ประจำวันที่ 30 ธ.ค.ซึ่งเป็นวันที่สี่ของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2568 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนน โดยเกิดอุบัติเหตุ 261 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 267 คน ผู้เสียชีวิต 32 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 43.30 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 22.61 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 21.07 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.77 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 77.78 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 37.93 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 33.33 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 16.01 – 17.00 น. ร้อยละ 9.58 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20 – 29 ปี ร้อยละ 18.06 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,777 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 50,408 คน
 
นายภาสกร กล่าวต่อว่า โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ลำปาง (12 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ลำปาง (จังหวัดละ 13 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นนทบุรี (6 ราย) สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 4 วันของการรณรงค์ (27 – 30 ธ.ค.) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,134 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,109 คน ผู้เสียชีวิต รวม 175 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 14 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ 
พระนครศรีอยุธยา (42 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา (39 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และนนทบุรี (จังหวัดละ 9 ราย)
 
นายภาสกร กล่าวว่า วันนี้การสัญจรจากถนนสายหลักจะเข้าไปอยู่ในพื้นที่มากขึ้น ประกอบกับในหลายพื้นที่มีการจัดงานเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่กับครอบครัวและเพื่อนฝูง รวมถึงเฉลิมฉลองกันตามสถานที่จัดงานปีใหม่ ซึ่งอาจเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจากการดื่มแล้วขับ โดยเฉพาะเส้นทางชุมชนเข้าออกหมู่บ้าน เพื่อเข้าสู่ถนนสายหลัก ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จึงได้เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำชับเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจ ทั้งจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย เพิ่มความเข้มข้น ในการตรวจตราความปลอดภัยอุบัติเหตุทางถนน เพื่อควบคุมและลดอุบัติเหตุในคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ โดยประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายตาม “มาตรการ 10 ข้อหาหลัก” อย่างเข้มงวด จริงจัง โดยพิจารณาดำเนินการเพิ่มจุดตรวจ จุดสกัด ด่านตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในถนนสายรอง/ชุมชนที่มีการจัดงานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ และสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง จิตอาสา อาสาสมัครต่างๆ เพื่อตรวจตรา ดูแลความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชนและนักท่องเที่ยวในบริเวณจัดงานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
 
นายภาสกร กล่าวอีกว่า รวมถึงดำเนินมาตรการเชิงรุกโดยใช้กลไกฝ่ายปกครองร่วมกับ อสม. “เคาะประตูบ้าน” ตรวจเยี่ยมประชาชนตามบ้านเรือนที่มีการจัดเลี้ยงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เพื่อให้คำแนะนำ ตักเตือนผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง และใช้กลไกด่านชุมชน ด่านครอบครัวเพื่อตักเตือน ป้องปราม ยับยั้งผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ดื่มแล้วขับ และไม่สวมหมวกนิรภัย ทั้งนี้ จังหวัดที่มีผู้ใช้แรงงานจำนวนมาก ให้สถานประกอบการดูแลแรงงานไม่ให้มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ พร้อมให้จังหวัดบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมความพร้อมของหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน และระบบการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน เพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุได้อย่างทันท่วงที ตลอดจนบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการป้องกันและใช้ความระมัดระวังในการจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยเป็นพิเศษ โดยเฉพาะสถานที่จัดงานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่มีการจุดพลุและดอกไม้ไฟ ให้มีการควบคุมดูแลจำนวนผู้ใช้บริการให้เหมาะสม
 
นายภาสกร กล่าวว่า นอกจากนี้ ศปถ.ยังได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คุมเข้มเส้นทางโดยรอบแหล่งท่องเที่ยว ศาสนสถาน สถานบันเทิง และสถานที่จัดงานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ให้สอดคล้องกับช่วงเวลาที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยพิจารณาเพิ่มจุดตรวจ จุดสกัด ด่านตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ ในถนนสายรองและชุมชนที่มีการจัดงานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เพื่อป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว รวมถึงเข้มงวดร้านค้าในการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และการจำหน่ายเร่ขายในบริเวณสถานที่จัดงาน รวมถึงประชาสัมพันธ์มาตรการลดอุบัติเหตุทางถนนและการได้โทษตามกฎหมายที่กำหนด เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินส่งผลให้ประชาชนมีความปลอดภัยและมีความสุขในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 สำหรับประชาชนที่ประสบหรือพบเห็นอุบัติเหตุสามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วน 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง และไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
 
พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้บูรณาการการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2568 ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้กับประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในวันนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เพิ่มการดูแลอุบัติเหตุทางถนนที่มีสาเหตุจากการไม่สวมหมวกนิรภัย โดยใช้กลยุทธ์ “การเปลี่ยนจุดจับเป็นจุดแจก” ซึ่งจะแจกจ่ายหมวกนิรภัยให้กับกลุ่มเยาวชน เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ ทั้งนี้ ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เตรียมพร้อมกำลังพลและชุดเคลื่อนที่เร็วทั่วประเทศกว่า 40,000 นาย มีการตั้งจุดตรวจจุดสกัด รวม 4,068 จุดทั่วประเทศ เพื่อดูแลพี่น้องประชาชนอย่างเต็มกำลัง
 
พล.ต.อ.ไกรบุญ กล่าวว่า สำหรับการดูแลความปลอดภัยบริเวณสถานที่จัดงานเคาท์ดาวน์ขนาดใหญ่ 49 แห่งทั่วประเทศ มีการบริหารจัดการพื้นที่ให้เหมาะสม ซึ่งจัดให้มีการคัดกรองบุคคล เส้นทางฉุกเฉิน การเข้าระงับเหตุในพื้นที่ ควบคุมปริมาณคนให้เหมาะสมกับพื้นที่จัดงาน โดยกองบัญชาการตำรวจนครบาล และตำรวจภูธรภาค 1 – 9 พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เตรียมความพร้อมในการดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกด้านการจราจรในทุกจุด โดยจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศกว่า 20,000 นายในการปฏิบัติหน้าที่ รวมเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปฏิบัติทุกมิติในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ทุกพื้นที่ทั่วประเทศกว่า 60,000 นาย ตลอดจนมีการตรวจสอบเส้นทาง ปริมาณรถ และปรับแผนการปฏิบัติให้สอดคล้องกับข้อมูลและแผนในภาพรวม โดยพิจารณาเส้นทางหลัก เส้นทางรอง การเกิดอุบัติเหตุ สภาพพื้นที่หรือการจัดงาน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่