JJNY : ปธ.วิปรัฐบาลจี้จนท. ฝ่ายค้านสวนเสื้อเหลืองเข้าได้/จอนนำทีมเสนอร่างแก้รธน./ผู้ชุมนุมคณะราษฎรหัวแตก/โรมโดนละอองแก๊ส

ปธ.วิปรัฐบาลจี้ จนท.ต้องเฉียบขาด หากม็อบเข้าเขต 50 เมตร ฝ่ายค้านลุกสวน ทำไม ‘เสื้อเหลือง’ เข้ามาได้
https://www.matichon.co.th/politics/news_2446349

 
โต้วุ่น! ปธ.วิปรัฐบาล จี้ จนท.ต้องเฉียบขาด หากม็อบเข้าเขต 50 เมตรรอบรัฐสภา ด้านฝ่ายค้านลุกสวน ทำไมเสื้อเหลืองเข้ามาได้ ไม่โดนฉีดน้ำ ‘พรเพชร’ สั่งเลขาฯ ขอ ตร.อย่ารุนแรง
 
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภา นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อจบการพิจารณารายงานของคณะ กมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนรับหลักการ รัฐสภา นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นหารือว่า ขณะนี้โดยรอบรัฐสภามีการฉีดน้ำผู้ชุมนุมหลายครั้งแล้ว แล้วยังปรากฏภาพที่เจ้าหน้าที่บรรจุกระสุนยางแล้ว ทั้งๆ ที่รัฐสภาเป็นของประชาชน ประชาชนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะมาชุมนุมได้ จึงขอวิงวอนให้ประธานรัฐสภาช่วยประสานงานกับเจ้าหน้าที่ไม่ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุนนุม และต้องประสานงานเพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บด้วย
 
ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานวุฒิสภา ในฐานะผู้ทำหน้าที่ประธานการประชุม เห็นด้วยกับนายวิโรจน์ โดยสั่งให้ทางเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้วิธีการละมุนละม่อมกับผู้ชุมนุม อธิบายด้วยความเข้าใจ เพื่อไม่ให้มีความรุนแรงขึ้น
 
ต่อมา นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ลุกขึ้นหารือว่า แม้การชุมนุมจะเป็นไปสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็ต้องใช้สิทธิที่ชอบด้วยกฎหมายด้วย สมาชิกรัฐสภาต้องทำหน้าที่ และอยากทำงานกันอย่างเต็มที่ ตัดสินใจโดยอิสระ ไม่มีแรงกดดันจากผู้ชุมนุมไม่ว่าจะกลุ่มใดก็ตาม อย่ามากดดันการทำงานของพวกเรา จึงขอให้เจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของสมาชิกรัฐสภาเพื่อให้เราทำงานกันอย่างเต็มที่
 
ขณะที่นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ผู้ชุมนุมทุกฝ่ายต้องรักษากฎ โดยต้องอยู่นอกเขต 50 เมตรรอบรัฐสภา หากมีผู้ชุมนุมเข้ามาในเขต 50 เมตรเพื่อกดดันรัฐสภา เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยเฉียบขาด
 
จากนั้นได้มี ส.ส.ฝ่ายค้านหลายคนลุกขึ้นสวนนายวิรัชทันที อาทิ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สิ่งที่นายวิรัชพูดจะทำให้คนเข้าใจผิด เพราะเหมือนเป็นการให้ใช้ความรุนแรง ถ้าผู้ชุมนุมเข้ามาในเขต 50 เมตร สมาชิกรัฐสภาคือตัวแทนประชาชน พื้นที่นี้เป็นของประชาชน ถ้าจะเข้ามาชุมนุมอย่างสงบก็น่าจะอะลุ่มอล่วย แม้จะมีสมาชิกรัฐสภาเป็นห่วงว่าหากมีผู้ชุมนุมจะเข้ามาโดยรอบแล้วจะมากดดันการทำงานนั้น แต่ตนก็ต้องถามไปยังประธานรัฐสภาว่า เหตุใดการต้อนรับผู้ชุมนุม 2 ฝ่ายถึงแตกต่างกัน ทำไมผู้สนับสนุนรัฐบาลเข้ามาด้านในเขต 50 เมตรได้ เดินผ่านรัฐสภาได้ ขณะที่อีกกลุ่มเดินเฉียดผ่าน เจอรถน้ำฉีดใส่
 
ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนเป็นห่วง โดยเฉพาะมาตรการ 50 เมตรรอบรัฐสภา ที่มีแบริเออร์ มีกองกำลังเป็นพันๆ เอารถเมล์ รถน้ำ ทำไมไม่เจรจา ทำไมต้องฉีดน้ำ เตรียมกระสุนยาง ขอให้ใช้มาตรการที่เป็นไปตามกฎหมาย การฉีดน้ำเพื่อกั้นไม่ให้คนเข้ามามันอันตราย ขณะนี้ใน กมธ.ของรัฐสภาก็สอบสวนกันยังไม่จบ จึงให้เจรจาผ่อนหนักผ่อนเบา ผู้ชุมนุมไม่ได้มาทำร้าย ต้องคุ้มครองทั้ง 2 ฝ่าย ถ้าเราไม่คุ้มครองทั้ง 2 ฝ่ายรัฐสภาจะไม่มีที่อยู่ ถ้าทำแบบนี้ก็ไม่ควรอยู่ อยากให้ผู้มีอำนาจยุบสภาเลย
 
จากนั้น น.ส.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นเสนอให้ประธานอนุญาตให้ตัวแทนผู้ชุมนุมเข้าฟังการอภิปรายของที่ประชุมรัฐสภาได้ แต่นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ลุกขึ้นคัดค้านว่า ตามข้อตกลง การชี้แจงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จะมีแค่ตัวแทนเท่านั้น โดยไม่อนุญาตให้ตัวแทนประชาชนเข้ามา พร้อมเรียกร้องให้เดินหน้าตามระเบียบวาระประชุมเพื่อไม่ให้เสียเวลา จากนั้นได้มีการโต้เถียงกันไปมา กระทั่งนายพรเพชรได้ไกล่เกลี่ย โดยระบุว่า การชุมนุม ขออย่าใช้วิธีรุนแรง และอธิบายให้เข้าใจ ผู้สนใจติดตามจากข่าววิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา เป็นเพียงการศึกษา ยังไม่ลงมติ ส่วนการดูแลพื้นที่ภายนอกรัฐสภาเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากนั้นได้ตัดบทเพื่อเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมทันที



'จอน' นำทีมไอลอว์ เสนอร่างแก้ รธน.ฉบับประชาชน ขอรัฐสภา อย่าปฏิเสธตั้งแต่แรก
https://www.matichon.co.th/politics/news_2446459

‘จอน’ นำทีมไอลอว์ เสนอร่างแก้ รธน.ฉบับประชาชน ขอรัฐสภา อย่าปฏิเสธตั้งแต่แรก
 
เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 17 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภา นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ได้เข้าสู่การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 98,041 คน เข้าชื่อเสนอร่วมกับโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ โดยนายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการไอลอว์ ผู้แทนภาคประชาชน ในฐานะผู้ริเริ่มเสนอกฎหมาย ชี้แจงหลักการต่อที่ประชุม ตอนหนึ่งว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ไม่ใช่ของไอลอว์ แต่เป็นของประชาชน 1 แสนคนที่ร่วมลงชื่อภายในเวลา 1 เดือน ซึ่งได้รับรอง 98,824 ชื่อ เหตุที่ประชาชนจำนวนมากกระตือรือร้นที่จะลงชื่อก็เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะประชาชนอยากเห็นประเทศเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ปัญหาใหญ่ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบเพื่อให้ คสช.ยังคงอำนาจอยู่ แม้หลังจากการเลือกตั้งแล้วก็ตาม เห็นได้ชัดว่า ผู้นำ คสช.เป็นรัฐมนตรีหลายคน แม้รัฐธรรมนูญนี้เขียนไว้ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่เป็นเรื่องโกหก ถือเป็นโมฆะ เพราะความจริงไม่ใช่ ประชาชนมีสิทธิแค่เลือกผู้แทนราษฎร แต่ไม่มีโอกาสกำหนดว่า ใครจะมาตั้งรัฐบาล ใครจะมาเป็นนายกฯ เพราะมีองค์ประกอบส่วนอื่นที่ไม่ได้มาจากประชาชนเข้ามาเป็นตัวกำหนด
 
“เริ่มแรก พวกเราต้องการรณรงค์รัฐธรรมนูญ แต่ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จึงตัดสินใจว่าจะช่วยกันลงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ถอนพิษของระบบ [เผล่ะจัง] ออก แล้วเปิดโอกาสให้มี ส.ส.ร.ที่จะมาร่างรัฐธรรมนูญต่อไป เราร่างไม่นานก็เกิดเหตุการณ์ที่ประชาชนจำนวนมากออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยตามท้องถนน ซึ่งคนจำนวนมากเป็นคนรุ่นใหม่ ทำให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไป คนรุ่นใหม่รอไม่ได้แล้ว อยากเห็นประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย เราจึงนำร่างของเราตั้งโต๊ะให้ประชาชนมาลงชื่อ ปรากฏว่า ประชาชนกระตื้อรือร้นมาก ถือเป็นความตั้งใจของประชาชนจำนวนมาก
 
“จึงหวังว่า สมาชิกรัฐสภาจะให้ความสำคัญกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชน ไม่ใช่ปฏิเสธตั้งแต่วาระแรก แต่ควรให้ข้อดีๆ หลายอย่าง ได้เข้าไปร่วมพิจารณากับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองต่างๆ แล้วที่สำคัญ ถ้าประเทศไทยจะพ้นวิกฤต และมีพัฒนาการใกล้เคียงกับอารยะประเทศได้ เราจำเป็นต้องพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยให้เร็วที่สุด ผมเชื่อว่า สมาชิกรัฐสภาทราบดีว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหา ถึงมีร่างแก้ไขมากมายเกิดขึ้นในสภานี้” นายจอนกล่าว
 
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
 
– ‘ไอลอว์’ ถึงรัฐสภาแล้ว เตรียมชี้แจงญัตติร่างแก้ไข รธน.ฉบับประชาชน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่