เมื่อนักประสาทวิทยาเริ่มออกหาคำตอบ สาเหตุของความเหงา

เหตุเกิดจากความเหงา หรือความเหงาเกิดจากเหตุใดกันแน่?



"เหงา" คำนี้เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนคงได้เคยสัมผัสเสี้ยวเวลาหนึ่งของความรู้สึกนี้
 
ตั้งแต่เริ่มวิกฤต Covid-19 เราเรียนรู้ที่จะต้องอยู่ห่างกันสักพัก ต้องเจอกับการปิดเมืองการLockdown หลายคนต้องอยู่อย่างเหงาหงอย
เคยรู้สึกโหยหากลับไปใช้ชีวิตแบบช่วงก่อน Lockdown กันบ้างไหม? กลับมาเจอกันหลังปลดล๊อคเฟส 1, 2, 3, . . . รู้สึกอย่างไรกันบ้าง?
เรานิยาม "ความเหงา" ไว้ว่ายังไง? ถ้ามีคนมาถามคุณว่า ความเหงา คืออะไรคุณอธิบายมันได้ไหม? หรือถามว่า "เหงา" มันรู้สึกอย่างไร ผมว่าคน 99% คงตอบว่า "รู้"

แต่ในมุมของนักประสาทวิทยานั้นพวกเขาพยายามสังเกตและหาคำตอบว่าเวลาเรารู้สึกเหงานั้น มันจะเหมือนกับที่เราโหยหาอยากกินอาหารเวลาหิวหรือไม่?
ซึ่งในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ได้มีงานวิจัยมากมายที่บ่งชี้ว่า ความเหงา นั้นมีความสัมพันธ์กับอาการของโรคซึมเศร้า อาการขี้วิตกกังวล ติดเหล้า หรือแม้แต่การติดยาเสพติด
 
และยังมีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่ายิ่งเหงามากยิ่งป่วยง่าย!! ซึ่งสาเหตุเกี่ยวพันกับฮอร์โมนบางชนิดที่หลั่งออกมาหากเราเหงามากและมันกระทบการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีในร่างกายอันเกิดจากภาวะ "เหงา" นี้ยังเพิ่มโอกาสการเกิดโรคหัวใจ โรคมะเร็ง หรือแม้แต่อัลไซล์เมอร์

ดังนั้นถ้าหากเราสามารถตรวจจับ ตรวจวัดดัชนี "ความเหงา" นี้ได้แล้วละก็ มันก็อาจช่วยป้องกันอาการป่วยต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ได้
ทั้งนี้หากวิกฤติ Covid-19 ยังหาจุดจบไม่ได้ไปเรื่อย ๆ ผู้คนคงเริ่มได้รับผลกระทบทางจิตใจจากภาวะที่ไม่ปกติอย่างต่อเนื่องยาวนานอย่างที่ไม่เคยเจอมาในช่วงชีวิตของเรา จิตแพทย์จึงเริ่มกังวลว่าอัตราการฆ่าตัวตายอาจเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้การจะหาวิธีการวัดความเหงา วิธีคลายเหงานั้น หรือทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเหงานั้นมันเป็นเรื่องยากมาก เพราะมันเป็นเรื่องที่แตกต่างกันตามแต่ละบุคคล ซึ่งจนถึงปัจจุบันนี้แทบจะหางานวิจัยที่จำเพาะเจาะจงลงไปว่ากลุ่มเซลล์ประสาทส่วนไหนในสมองที่ทำหน้าที่หรือมีผลกระทบต่อความรู้สึก "เหงา" นั้นหาแทบไม่มีเลย

ประเด็นคือเราจะตรวจจับตอนที่เรารู้สึก "เหงา" ได้อย่างไร เพราะมันไม่ได้ชัดเจนเหมือนอารมณ์ โกรธ เสียใจ ดีใจ ที่เราสามารถสแกนสมองหาดูส่วนที่สมองเราทำงานสอดคล้องกับอารมณ์เหล่านั้นได้


แต่ละอารมณ์นั้นจะกระตุ้นการทำงานของกลุ่มเซลล์ประสาทในสมองแตกต่างกัน

และสำคัญที่สุด เหงา ของแต่ละคนมันไม่เท่ากัน มันไม่เหมือนกัน นี่แหละจะวัดกันยังไง
มาวันนี้ Kay Tye นักประสาทวิทยาจากสถาบัน Salk Institute of Biological Sciences กำลังมองหาว่าเซลล์ประสาทกลุ่มไหนที่ทำงานหรือมีผลต่อการสร้างความรู้สึก "เหงา" นี้

เธอได้ใช้เทคนิคที่พัฒนาขึ้นมาสมัยทำงานอยู่มหาวิทยาลัย Stanford ที่เรียกว่า optogenetics
โดยอาศัยโปรตีนที่ได้จากการตัดแต่งพันธุกรรมที่จะตอบสนองต่อแสง ซึ่งทำให้นักวิจัยสามารถสั่ง เปิด-ปิด การทำงานของกลุ่มเซลล์ประสาทที่ต้องการได้


โดยขั้นตอนการทำ optogenetics คร่าว ๆ มีดังนี้
1. ตัดแต่งรหัสพันธุกรรมเพื่อให้เซลล์ประสาทสร้างโปรตีนจำเพาะเมื่อได้รับการกระตุ้นด้วยแสง
2. ใส่รหัสพันธุกรรมเข้าไปในไวรัสนำส่ง
3. ฉีดไวรัสเข้าไปในสมองหนูและทำให้เซลล์ประสาทติดเชื้อ ซึ่งอาการก็คือเมื่อได้รับการกระตุ้นด้วยแสงเซลล์ประสาทจะผลิตโปรตีนที่ไปปิดการทำงานของเซลล์ประสาทนั้น
4. เจาะกะโหลกหนูแล้วต่อสายใยแก้วนำแสงเพื่อใช้ฉายแสงไปยังบริเวณเป้าหมาย
5. ส่องแสงไปยังบริเวณกลุ่มเซลล์ประสาทเป้าหมายเพื่อสั่ง เปิด-ปิด การทำงาน


แง๊ง กลายเป็นหนูโรบอทไปแล้ว!!

ที่นี่ Tye ได้ใช้เทคนิคนี้ในการสืบหากลุ่มเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงใยกันในการสร้างความทรงจำ
ซึ่งก็ได้มีงานวิจัยที่แสงให้เห็นว่าการกระตุ้นเซลล์ประสาทในบริเวณจำเพาะนั้นยังให้ผลเหมือนกับการสร้างความทรงจำปลอมให้กับหนูทดลองด้วย
หลังจากนั้นในปี 2012 เธอก็ได้มาร่วมงานในการก่อตั้ง Picower Institute ของ MIT ที่ศึกษาด้านการเรียนรู้และความจำ

ซึ่งที่นี่เธอได้ศึกษาถึงความเชื่อมโยงของกลุ่มเซลล์ประสาทในสมองที่ทำหน้าที่ในการทำความเข้าใจกับเหตุการณ์และตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยเกิดจากการทำงานร่วมกันของกลุ่มเซลล์ประสาทในสมองส่วน amygdala กับกลีบสมองส่วนหน้าและสมองส่วน hippocampus

หลังจากนั้นจึงได้เริ่มทำการศึกษาถึงกระบวนการแห่งความเหงาในแง่ของประสาทวิทยา โดยหลังจากที่ทำการค้นคว้างานวิจัยต่าง ๆ ก็ได้พบกับงานวิจัยหนึ่งของ Gillian Matthews จาก Imperial College London ซึ่ง Matthews ได้ค้นพบโดยบังเอิญว่าถ้าหากทำการแยกหนูทดลองออกมาให้อยู่โดยเดี่ยวลำพังเป็นเวลานาน ๆ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มเซลล์ประสาทในสมองของหนูในบริเวณที่เรียกว่ากลุ่มเซลล์ประสาท DRN

เมื่อรู้จุดที่กลุ่มเซลล์ประสาทเกิดการเปลี่ยนแปลงจากภาวะที่ต้องอยู่โดดเดี่ยวแล้ว ด้วยการใช้เทคนิค optogenetics นั้นจะสามารถสืบเสาะไปยังเซลล์ประสาทส่วนอื่น ๆ ที่ทำหน้าที่สัมพันธ์กับกลุ่ม DRN ในภาวะของ "ความเหงา" นี้

เทคนิค optogenetics สามารถใช้สืบเสาะหากลุ่มเซลล์ที่ทำงานร่วมกันในการเกิดกิจกรรมต่าง ๆ ในสมอง

Tye และ Matthews ร่วมกันวิจัยและพบว่า หากกระตุ้นเซลล์กลุ่ม DRN แล้วหนูทดลองจะมีพฤติกรรมกระตือรือล้นในการเข้าสังคมมากขึ้น
และจากการทดลองแยกหนูให้อยู่โดดเดี่ยวเป็นเวลา 24 ชั่วโมงแล้วค่อยปล่อยให้หนูทดลองได้ออกมาเจอกัน พวกมันจะง่วนอยู่กับการทักทายและมีปฏิสัมพันธ์มากกว่าปกติ นั่นแสดงถึงอาการ "เหงา" ของพวกมันนั่นเอง

แต่เมื่อทำการทดลองแยกโดดเดี่ยวอีกครั้ง แต่คราวนี้ใช้การกระตุ้นด้วยแสงเพื่อปิดการทำงานของเซลล์ประสาทกลุ่ม DRN และเมื่อปล่อยให้พวกมันกลับมาเจอกัน คราวนี้พวกมันกลับไม่ได้แสดงอาการอยากทักทายและมีปฏิสัมพันธ์ราวกับว่าพวกมันไม่เคยได้ถูกจับโดดเดี่ยวเลย

ฝังการโยงใยของกลุ่มเซลล์ประสาท DRN ในหนูทดลองที่ Tye และ Matthews ตรวจพบ

นั่นอาจหมายความว่าพวกเขาอาจเริ่มเจอเค้ารางของกระบวนการเกิด "ความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว" ในสมองแล้ว??

* * การทดสอบในมนุษย์?? * *

การจะฉีดไวรัสเพื่อนำยีนตัดต่อพันธุกรรมเข้าไปในสมองของอาสาสมัครและทำการเจาะกะโหลกใส่สายใยแก้วนำแสงเข้าไปนั้นเป็นไปไม่ได้แน่นอน
ดังนั้นพวกเขาจึงได้ออกแบบการทดลองขึ้นมาใหม่ด้วยการใช้เทคนิคการสแกนสมองด้วยเครื่อง fMRI ซึ่งจากการทดลองก่อนหน้านี้ทำให้ทีมวิจัยพอจะมีเบาะแสแล้วว่าควรจะสังเกตบริเวณไหนของสมอง โดยการสังเกตนี้ใช้การสังเกตปริมาณการไหลของเลือดที่ไปเลี้ยงสมองส่วนต่าง ๆ แทน

โดยทีมวิจัยได้คัดเลือกอาสาสมัครจำนวน 40 คนที่ระบุว่าตนเองนั้นเป็นคนมีสังคมกว้างขวางและไม่เคยมีปัญหาเรื่องการรู้สึกเหงามาก่อนเข้าทำการทดสอบ หลังจากนั้นทีมวิจัยแบ่งกลุ่มทดลองเป็นสองกลุ่มควบคุม กลุ่มแรกให้อยู่คนเดียว 10 ชั่วโมง อีกกลุ่มอยู่พบปะผู้คนตามปกติ แต่ต้องอดอาหารตลอด 10 ชั่วโมงนั้น


ชุดการควบคุมปัจจัยในการทดลองประกอบด้วยกลุ่มทดสอบ 2 กลุ่ม (โดดเดี่ยวและอดอาหาร) กับกลุ่ม Baseline ซึ่งใช้ชีวิตปกติ

เมื่อครบเวลาก็ให้อาสาสมัครทั้งสองกลุ่มเข้าเครื่องสแกน fMRI โดยกลุ่มโดดเดี่ยวนั้นจะให้ดูรูปที่แสดงถึงการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เช่น ภาพถ่ายของคนใกล้ชิดและครอบครัวที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม ส่วนกลุ่มที่อดอาหารก็ให้ดูภาพอาหารแทน

ซึ่งแน่นอนว่าวิธีนี้ไม่อาจระบุเจาะจงไปถึงกลุ่มเซลล์ประสาทที่มีการเปลี่ยนแปลงจากสภาวะที่ทำการทดสอบได้เหมือนการใช้เทคนิค optogenetics แต่ทีมก็สามารถระบุถึงบริเวณในสมองที่มีอัตราการไหลของเลือดเปลี่ยนไป


ผลการสแกนสมองของกลุ่มทดสอบทั้ง 2 กลุ่ม

ซึ่งผลการสแกนพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดมากในบริเวณสมองส่วนกลาง ซึ่งเป็นส่วนที่กระตุ้นให้เกิดความอยาก อย่างเช่น ความอยากอาหารเมื่อเราอดอาหารนาน ๆ หรืออาการอยากยาของผู้ติดยาเสพติด และเป็นบริเวณที่มีการหลั่งสารโดปามีนสารสื่อประสาทสำคัญในสมอง

ทั้งนี้กระบวนการกระตุ้นให้เกิดความอยากนี้เป็นสัญชาตญาณรูปแบบหนึ่งของสมองที่เกิดขึ้นเพื่อให้เราพยายามรักษาสภาพที่เหมาะสมภายในร่างกายหรือที่เรียกว่า homeostatic ทั้งการหิวข้าว หิวน้ำ หรือง่วงนอน

ผลการทดลองนี้แสดงให้เห็นว่ากระบวนการกระตุ้นให้เราเหงา รู้สึกอยากพบเจอผู้คนนั้น อาจไม่แตกต่างจากที่สมองสั่งให้เราอยากอาหารนั้นเอง
 
ความเข้าใจถึงกระบวนการที่เกิดขึ้นในสมองที่ก่อให้เกิดความรู้สึก "เหงา" นี้ไม่เพียงทำให้เราเข้าใจถึงสาเหตุแห่งความเหงา แต่มันยังอาจช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าก็ได้ อย่างเช่นคำถามว่าอะไรเกิดก่อนกันระหว่าง "เพราะเหงาจึงซึมเศร้า หรือเพราะซึมเศร้าเราเลยรู้สึกเหงาขึ้นมา" ถ้าเราเข้าใจได้ก็อาจจะหาวิธีรับมือและป้องกันสาเหตุของโรคซึมเศร้าได้ด้วยการตรวจวัดระดับความเหงา

และอาจช่วยในการพัฒนาการรักษาโรคซึมเศร้า เช่น ควรใช้วิธีการเข้าสังคมช่วยบำบัดบรรเทาอาการหรือไม่ ควรใช้ช่วงไหนของโรคถึงจะให้ผลดี
รวมถึงอาจช่วยทำความเข้าใจถึงกลไกการติดสารเสพติดและพัฒนาวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต
********************************************************************************** 
เรื่องของความเหงานั้นก่อนหน้านี้เคยเป็นเรื่องของจิตวิทยา 
แต่มาวันนี้เราอาจเข้าใจมันมากขึ้นไปถึงระดับเซลล์ประสาทที่อาจเป็นตัวการของความเหงานี้ก็เป็นได้
**********************************************************************************
Source:
https://www.technologyreview.com/2020/09/04/1008008/neuroscience-loneliness-pandemic-covid-neurons-brain/
https://www.biorxiv.org/content/10.1101/2020.03.25.006643v1.full.pdf
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่