ตามรอย อกเกือบหักแอบรักคุณสามี ไหว้พระขอพร มัณฑะเลย์ พุกาม EP 2

ต่อจาก EP1 ที่ได้พาไปตามรอยน้องเมย และพี่เธียร ไหว้พระขอพรกันแล้วนั้น 
ติดตามกระทู้ จาก EP1 ได้ที่  ตามรอย อกเกือบหักหลงรักคุณสามี ไหว้พระขอพร มัณฑะเลย์ พุกาม EP 1

ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหา เรามารู้ภาษาพม่า พื้นฐาน กันก่อนดีกว่า เผื่อใครจะไปใช้ทักทาย ชาวพม่า ก็ได้นะคะ 

มิงกะลาบา : สวัสดี (ใช้ได้ตลอดวัน)
เจซูติน บาแด : ขอบคุณมาก
ควินโละ บ่าหน่อ : ขอโทษ (Excuse me)
หม่อง (Maung) : ใช้เรียกเด็กผู้ชายและคนหนุ่มโสด
อู (U) : กระเด๊าะ 
ดอว์ (Daw) : ใช้เรียกสตรีที่มีการศึกษา  
โยเดีย : คนไทย
เหมี่ยนหม่า : ชาวพม่า
ล่ะเด่,ช้อเด่ : สวยมาก, น่ารักมาก
ยิ้มจี : ผู้หญิงสวย ( ตอนแรกที่ออกเสียง ก็จะเขิน ๆ หน่อย 555 )
ค้านเด่ : หล่อมาก
ตาตา : ลาก่อน
อะยาต่าชิเดะ : อร่อยมาก
บ่าล่อวเหล่ : เท่าไหร่

การนับเลข
ติท = 1
หนิท = 2
โตง = 3
เล = 4
งา = 5
ชัก = 6
คูนิ = 7
ชิท = 8
โก = 9
ติทเซ = 10
ติทยาร์ = 100
ติทท็อง = 1000


วันนี้เราจะตามไปดู เครื่องเขิน  ภาชนะที่เป็นศิลปะ และภูมิปัญญาของชาวพม่า
         เครื่องเขิน คือหนึ่งในงานหัตถกรรมที่แพร่หลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือเอเชียอาคเนย์ ในอดีตเครื่องเขินมีสถานภาพเป็นทั้งของใช้ในครัวเรือน เครื่องใช้ในพิธีกรรม ตลอดจนรูปเคารพและงานศิลปกรรม เครื่องเขินมีโครงสร้างจากไม้และที่นิยมมากที่สุดคือ โครงสร้างจากไม้ไผ่ ซึ่งช่วยให้ของใช้นั้นมีน้ำหนักเบา หลักการของเครื่องเขินคือนำเครื่องจักสานมาเคลือบด้วยยางไม้ชนิดหนึ่งที่มีสีดำ ซึ่งเรียกกันว่า ยางรัก ภาชนะใช้สอยเมื่อเคลือบยางรักและตกแต่งผิวให้สวยงามด้วยวิธีการต่างๆ เสร็จแล้วจึงเรียกว่า เครื่องเขิน


เครื่องเขิน ที่นำมาทำเป็นภาชนะรูปทรงต่าง ๆ  กว่าจะได้เครื่องเขินหนึ่งชิ้น ใช้เวลาในการทำ เกือบ 4 เดือนเลยทีเดียว

การทำเครื่องเขิน เริ่มต้นจาก การนำไม้ไผ่มาทำเป็นเส้นบาง ๆ แล้วสานขัดไปมา จนเป็นรูปทรงต่าง ๆ 


แล้วนำมาขึ้นรูป ให้เป็นทรงภาชนะที่ต้องการ 


ไม้ไผ่ที่นำมาขดและสานต่อๆ กัน จนเป็นรูปร่างที่ต้องการ 

การทำเครื่องเขิน เป็นงานที่ใช้สมาธิสูงมาก เพราะ ต้องลงรัก (สีดำ) ทีละชั้น และลงสีทีละสี แล้วค่อย ๆ แกะสลักให้เป็นลวดลายต่าง ๆ ทีละชั้น 

แล้วก็ถึงเวลาต้องลาจากเมือง พุกาม เพื่อจะได้กลัยมาเที่ยวที่มัณฑะเลย์กันบ้างค่ะ เดินทางกลับโดยรถตู้ ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง หลับยาว ๆ มาเลยค่ะ 
มาถึงมัณฑะเลย์ ก็เป็นเวลาค่ำพอดี เช็คอินเข้าโรงแรม และเริ่มต้นทริปมัณฑะเลย์ในวันต่อมา

วันต่อมา เราเริ่มต้นทริปมัณฑะเลย์แต่เช้าตรู่ มุ่งหน้าสู่พระราชวังมัณฑะเลย์ 

พระราชวังมัณฑะเลย์ 

              พระเจ้ามินดงทรงสุบินเห็นภูเขามัณฑะเลย์ โหรหลวงได้ทำนายว่าต้องสร้างราชธานีใหม่ ณ ที่แห่งนี้ พระองค์จึงได้ทำการย้ายเมืองหลวงจากอมรปุระมายังเมืองมัณฑะเลย์ โดยรื้อพระราชวังเดิมนำมาสร้างใหม่ สร้างขึ้นตามผังภูมิจักรวาลแบบพราหมณ์ปนพุทธ โดยสมมุติให้เป็นศูนย์กลางของโลก (เขาพระสุเมรุ) แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีกำแพงล้อมรอบทั้ง 4 ทิศ แต่ละทิศมีประตูทางเข้า 3 ประตู รวมทั้งสิ้น 12 ประตู กำแพงวังยาวเกือบ 2 กม. มีคูน้ำล้อมรอบ พระราชวังส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้สัก มีความสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย
            ในสมัยสงครามมหาบูรพา (สงครามโลกครั้งที่ 2) วันที่ 20 มีนาคม 2488 เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรโดยกองทัพอังกฤษ ได้ทิ้งระเบิดจำนวนมากมาย ถล่มพระราชวังมัณฑะเลย์ของประพม่า จนไฟลุกไหม้เป็นจุล ด้วยอังกฤษให้เหตุผลว่า พระราชวังนี้เป็นแหล่งซ่องสุมกำลังของกองทัพญี่ปุ่น พระราชวังมัณฑะเลย์ซึ่งเป็นพระราชวังไม้สัก ก็ถูกไฟไหม้เป็นจุล เผาราบเป็นหน้ากลอง หลงเหลือก็แต่ป้อมปราการ และคูน้ำรอบพระราชวัง


ถ่ายรูปด้านหน้าพระราชวัง ไม้สักทองที่ สวยที่ชุดของเอเชีย เป็นที่ระลึก ก่อนจะเข้าไปชมด้านใน วันนี้พ่อ นุ่งโสร่งตามแบบชาวพม่าบ้าง 


พระราชวังมัณฑะเลย์ เป็นที่ประทับสุดท้ายของกษัตริย์พม่า  ที่ปกครองแบบสมบูรณญาสิทธิราช พระราชวังปัจจุบัน เป็นองค์จำลอง ที่สร้างขึ้นมาใหม่  ส่วนพระราชวังเดิมที่แกะสลักจากไม้สักทองทั้งหลัง ได้ถูกทหารอังกฤษ ทำลายไปอย่างสิ้นซาก ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 


ด้านหน้ากำแพงพระราชวังมัณฑะเลย์ ซึ่งในปัจจุบัน บริเวณรอบกำแพงพระราชวัง กลายเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ของชาวมัณฑะเลย์  เช้าและเย็นจะเห็นหนุ่ม - สาว ออกมาเดินเล่น ออกกำลังกาย และถ่ายรูป พรีเวดดิ้งกันที่ด้านหน้ากำแพง อย่างมากมาย  ถ่ายรูปกับพี่คนขับรถ โดยเราเรียกติดปาก ว่า โก หมายถึง พี่ชาย  (จริง ๆ คือ จำชื่อพม่าของพี่เค้าไม่ได้ 555 )

พระราชวังเป็นไม้สักแกะสลักทั้งหลัง ซึ่งไม่มีการใช้ตะปูเลยแม้แต่นิดเดียว  เป็นการทำเดือย หรือ สลัก ที่ยึดชิ้นงานต่อชิ้นงาน

พระตำหนักต่าง ๆ ก็สร้างด้วยไม้สักแกะสลัก  ซึ่งเป็นที่ประทับของพระมเหสี พระสนม และ ข้าราชการฝ่ายใน 


ความสวยงาม อลังการของพระราชวังมัณฑะเลย์ ที่กลายเป็นอดีตไปแล้ว เหลือไว้แต่พระราชวังจำลองที่สร้างขึ้นมาทดแทน พระราชวังเดิมที่โดนทิ้งระเบิด ตอนสมัยสงครามโลก 

เดินทางจากพระราชวังมัณฑะเลย์ประมาณ 10 นาที ก็มาถึง พระราชวังไม้สักชเวนานจอง  (Golden  Palace  Monastry)
      พระราชวังไม้สักชเวนานจอง วังที่สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง  งดงาตามแบบศิลปะ พม่าแท้ๆ  วิจิตรตระการด้วยลวดลายแกะสลักประณีตอ่อนช้อย  ทั้งหลังคา  บานประตู  และหน้าต่าง โดยเน้นรายละเอียดเกี่ยวกับพุทธประวัติและทศชาติของพระพุทธเจ้า  วังหลังนี้สร้างโดยพระเจ้ามินดงในปี พ.ศ. 2400 ซึ่งเป็นปีที่พระองค์ย้ายราชธานีจากอมรปุระมาอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์เพื่อเป็นตำหนักที่ประทับยามแปรพระราชฐาน  แต่หลังจากที่พระเจ้ามินดงสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2421 พระเจ้าธีบอหรือสีป่อ  พระโอรสก็ทรงยกวังหลังนี้ถวายเป็นวัด โดยมีเจ้าอาวาสวัดข้างๆเป็นผู้ดูแล  ซึ่งก็ทำการบูรณะแต่เพียงภายนอกบางส่วนเท่านั้น   แต่ภายในยังคงเดิมทุกประการ  สังเกตไม้กระดานและเสาแต่ละต้นล้วนขนาดใหญ่โต  พบเห็นได้ไม่บ่อยนัก  ลายสลักบนแผ่นไม้สักและลายประดับกระจก  ถือได้ว่าเป็นงานฝีมือที่ประณีตของช่างหลวงชาวมัณฑะเลย์อย่างแท้จริง

ข้างนอกยังงดงามวิจิตร ขนาดนี้ ข้างในจะงามขนาดไหน 

ด้านในประดิษฐาน พระพุทธรูป ปางมารวิชัย ศิลปะพม่า 

 
น้องเมย พี่เธียร (รุ่นใหญ่) ถ่ายรูปคู่ ที่ตำหนักไม้แกะสลัก  ไกด์พม่าแซวว่า เหมือนถ่ายพรีเวดดิ้ง อีกรอบ 555

ไม่ไกลจากพระราชวังไม้สักชเวนานจอง เราก็เดินทางมาถึงวัดกุโสดอ
         วัดกุโสดอว์  (Kuthodaw Temple)หรือ วัดมหากุศล  สร้างโดยพระเจ้ามินดงในปี 2400 ซึ่งเป็นปีที่พระองค์ย้ายราชธานีของพม่าจากอมรปุระมายังมัณฑะเลย์ สร้างขึ้นพร้อมๆ กับการสร้างเมืองหลวงใหม่และสร้างพระราชวังมัณฑะเลย์ ด้วยมีพระประสงค์จะสืบทอดพุทธศาสนาให้ยืนยาว จึงโปรดให้มีการสังคายนาพระไตรปิฏกขึ้นเป็นครั้งที่ 5 ของโลก และให้ช่างสลักข้อความในพระไตรปิฏกเป็นภาษาพม่า ถอดมาจากภาษาบาลี แบ่งออกเป็นพระธรรมขันธ์ 84,000 ข้อ ลงบนแผ่นหินอ่อนขนาดใหญ่มาก 729 แผ่น อีก 1 แผ่นสลักประวัติและเรื่องราวการทำสังคยานา รวมทั้งสิ้น 730 แผ่น ใช้เวลา 8 ปี ในการแกะสลัก แผ่นพระไตรปิฏกใหญ่ที่สุดในโลก หินอ่อนแต่ละแผ่นมีความสูง 5 ฟุต กว้าง 3.6 ฟุตเรียงกัน 3 ชั้น มีมณฑปครอบเอาไว้ก่อด้วยอิฐถือปูนทาสีขาว ยอดเป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ


พระไตรปิฎกภาษาพม่า  ที่แกะสลักลงบนหินอ่อนแผ่นใหญ่ จำนวน 729 แผ่น ประดิษฐานไว้โดยรอบพระอุโบสถ 


พระเจดีย์สีทองอร่าม มีรูปร่างศิลปะเหมือนเจดีย์ชเวชิกองที่พุกามสง่างามน่าเลื่อมใสมาก ส่วนทางด้านซ้ายมือ จะพบกับต้นพิกุล ขนาดยักษ์ อายุประมาณ 250 ปี ชาวพม่ามีความเชื่อว่า ถ้านำไม้ไปค้ำกิ่งของต้นพิกุลยักษ์ต้นนี้ จะช่วยสะเดาะเคราะห์ต่ออายุให้ยืนยาว เหมือนไม้ค้ำโชคชะตาราศีของคนไทยในภาคเหนือ


หน้าวัดมีร้านจำหน่ายผ้าซิ่น ลายพม่า อยู่หลายร้าน ราคาไม่แพงมาก และสามารถต่อราคาได้ 

แล้วเราก็มาล่อง ลุ่มน้ำอิระวดี เพื่อ จะข้ามไปเที่ยวเมืองมิงกุน
           แม่น้ำอิรวดี ซึ่งชาวพม่าเรียกว่า “เอยาวดี” แปลว่า “มหานที” นั้น ทั้งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำหล่อเลี้ยงชีวิตและอู่อารยธรรมหล่อเลี้ยงนับพันปี มีต้นกำเนิดมาจากขุนเขาในรัฐกะฉิ่น ทางตอนเหนือสุดของพม่าไหลผ่านใจกลางพม่าไปออกทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย ที่เขตอิรวดีใกล้กรุงย่างกุ้ง คิดเป็นระยะทางรวม 2,170 กิโลเมตร มีจุดล่องเรือชมความงามของแม่น้ำอิรวดีหลายจุด แต่ที่ได้รับความนิยมจุดหนึ่งคือล่องจากชานเมืองมัณฑะเลย์ หรือจากท่าเรือใกล้เจดีย์ชเวไจยัต เขตเมืองอมรปุระ ทวนน้ำไปหมู่บ้านมิงกุน ซึ้งเป็นส่วนหนึ่งของอมรปุระ แต่อยู่บนเกาะกลางลำน้ำอิรวดีและไปได้ด้วยเส้นทางเรือเท่านั้นทว่ามีอนุสรณ์สถานที่แสดงความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าปดุง อันควรแค่แก่การไปเที่ยวชม โดยใช้เวลาล่องประมาณชั่วโมงครึ่ง รวมเวลาเที่ยวแล้วล่องกลับใช้เวลาไม่ต่ำกว่าสามชั่วโมงครึ่ง
      ระหว่างทางจะได้เห็นหมู่บ้านอิรวดีที่มีลักษณะเป็น “กึ่งบ้านกึ่งแพ” เนื่องจากระดับน้ำอิรวดีในแต่ละฤดูกาลจะมีความแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะฤดูน้ำหลาก ระดับน้ำจะขึ้นสูงกว่าฤดูแล้วกว่า 10 เมตร ชาวพม่าจึงนิยมสร้างบ้านกึ่งแพ คือถ้าน้ำขึ้นสูงก็ร่วมแรงกันยกบ้านขึ้นที่ดอน ครั้นน้ำลงมากก็ยกบ้านมาตั้งใกล้น้ำ เพื่อความสะดวกสบายในการใช้แม่น้ำในชีวิตประจำวัน


เดี๋ยวไปติดตาม เมืองมิงกุน กันต่อในกระทู้หน้าจ้า
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่