MTC ข่าวร้ายทุบหุ้น...อันไหนเจ็บจริง อันไหนคิดกันไปเอง?


ตั้งแต่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ประกาศแผนช่วยเหลือลูกหนี้ที่จะเริ่มใช้วันที่ 1 เม.ย.นี้ หุ้นกลุ่มการเงินก็พากันร่วงระเนระนาด ไม่เว้นแม้แต่นอนแบงก์ อย่าง MTC เพราะแต่ละมาตรการเรียกว่าจัดเต็มสำหรับลูกหนี้ จนนักลงทุนผวาว่าจะทำให้หุ้นกลุ่มนี้ยอมเฉือนเนื้อตัวเอง จนผลประกอบการได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่อันไหนกระทบจริง อันไหนแค่คิดไปเองต้องดู!
*** MTC ดิ่งหนัก หลังธปท.ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้-ลือ!เสี่ยงผิดนัดชำระคืนหุ้นกู้
ก่อนหน้านี้ราคาหุ้นของ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC ถือว่าได้รับผลกระทบจากภาวะตลาดน้อยมาก เพราะหลังจากที่ขึ้นไปทำจุดสูงสุดตลอดกาลที่ 69.25 บาทในวันที่ 14 ก.พ. 63 ราคาหุ้นก็ลงมาทำจุดต่ำสุดไปที่ 53.25 บาทเท่านั้น ขณะที่หุ้นกลุ่มการเงินตัวอื่นๆ พากันปรับตัวลดลงแรงกว่านี้มาก 
ต่อมาในวันที่ 12 มี.ค.63 ราคาหุ้นกลายเป็นหนังคนละม้วน ลงมาซื้อขายหลุด 50 บาท เป็นครั้งแรกในรอบเกือบปี หลังจากที่มีกระแสข่าวว่าบริษัทอาจไม่มีสภาพคล่องเพียงพอ ในการชำระคืนหนี้หุ้นกู้ระยะสั้น
ประกอบกับเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 63 ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงและ โควิด-19 เพิ่มเติม มีผลบังคับใช้ 1 เม.ย.63 โดยมีประเด็นหลักดังนี้
 
1) ให้มีการปรับลดการผ่อนชำระค่างวดขั้นต่ำของบัตรเครดิต, เลื่อนการชำระเงินต้น และ/หรือ พักชำระหนี้ สินเชื่อส่วนบุคคล/สินเชื่อจำนำทะเบียน/รถสินเชื่อเช่าซื้อ เป็นระยะเวลา3-6 เดือนเป็นหลัก ทั้งนี้ ณ ปัจจุบันยังไม่มีมาตรการลดเพดานอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อส่วนบุคคล และจำนำทะเบียนรถจาก 28% เป็น 22% ตามที่ตลาดกังวล 
2) จัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้บริษัทเอกชน (BSF) ที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง

ซึ่งหากรวมๆผลกระทบแล้วจากวันที่ 14 ก.พ.63 มาถึงราคาปิดทำการวันล่าสุด(30 มี.ค.63)ซึ่งปิดตลาดไปที่ 34 บาท ลดลง 2 บาท หรือ -5.56% นั้น ถือว่าว่าราคาหุ้นลดลงไปแล้วถึง -50.90% แต่จริงๆแล้วประเด็นเหล่านี้กระทบผลงานจริงแค่ไหนกันแน่ ? 

*** ประเด็นแรกไม่มีสภาพคล่อง : ไม่จริง
บล.เคจีไอ ระบุไว้ว่า ความกังวลเกี่ยวกับการรีไฟแนนซ์ หนี้ระยะสั้น ที่บริษัทต้องชำระคืนหรือรีไฟแนนซ์ภายในปี 63 ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะครบกำหนดในไตรมาส 3/63 และ 4/63 ประมาณ 6 พันล้านบาท จนทำให้เกิดแรงเทขายหุ้นออกมาอย่างหนักนั้น เพื่อเตรียมรีไฟแนนซ์หุ้นกู้ล็อตดังกล่าว MTC ได้ออกหุ้นกู้ระยะสั้น 3 พันล้านบาทไปแล้วในเดือนมีนาคม 2563 และได้ขออนุมัติเครดิตไลน์จากธนาคารอีก 1.1 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ MTC มีข้อจำกัด (debt covenant) กับผู้ถือหุ้นกู้ในการรักษา D/E ที่ 7.0 เท่า และกับธนาคารที่ D/E 4.5 เท่า แต่  D/E ในปัจจุบันอของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 3.4 เท่า ดังนั้นจึงยังไม่ตึงเกินไปสำหรับจะออกหุ้นกู้ใหม่ และ รีไฟแนนซ์หุ้นกู้เดิม 

ส่วนกรณีความกังวลว่า MTC จะออกตราสารหนี้ทางการเงินล็อตใหม่ด้วยอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นนั้น แม้จะปรับเพิ่มสมมติฐาน credit spread ให้สูงขึ้นสำหรับการออกหุ้นกู้ใหม่แล้ว ต้นทุนในการรีไฟแนนซ์ จะได้ดอกเบี้ยประมาณ 3.1 - 3.2% เท่านั้น (เทียบกับหุ้นกู้เดิมจะหมดอายุมีต้นทุน 3.5 - 4%) ในขณะที่ความเสี่ยงด้านเรตติ้งยังคงต่ำจากความสามารถในการชำระคืน/รีไฟแนนซ์ หนี้ระยะสั้น และการกระจายพอร์ตสินเชื่อลูกค้ารายย่อยผ่านบริการไมโครไฟแนนซ์

บล.เคทีบี ระบุเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด ที่ MTC จะต้องให้ BSF ช่วยเหลือ (บริษัทมี Rating เป็น BBB+ สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดที่ BBB- และมีความตั้งใจที่จะ Rollover หุ้นกู้ที่ครบกำหนด) เราคาดว่าบริษัทจะมีความสามารถในการชำระคืนหุ้นกู้ได้นาน 2 ปี (ปี 63 - 64) ภายใต้สมมติฐานที่บริษัทมีวงเงินกู้ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนที่บริษัทจะสามารถระดมได้ ทั้งหมด 50% ของมูลค่าหุ้นกู้ที่จะครบกำหนด และ Rollover ที่ 2.2 หมื่นล้านบาท

*** รายได้ดอกเบี้ยลดลง : ไม่จริง
บล.เคทีบี ระบุว่า จากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของธปท. จะไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยรับ เนื่องจากบริษัทจะยังสามารถรับรู้รายได้ดอกเบี้ยได้เท่ากับ EIR เดิม แต่ได้ขยายระยะเวลาการรับรู้เพิ่มขึ้นจากเดิม 1 - 2 ปี เป็น 2 - 3 ปี ซึ่งเป็นผลของมาตรการ Revolving credit line เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ลูกหนี้, ลดค่างวด และ พักชำระหนี้เงินต้น

*** สินเชื่อโตน้อยลง : จริง
บล.เคทีบี ระบุถึงกรณีการเติบโตของสินเชื่อว่า ได้ปรับลดอัตราการขยายตัวของสินเชื่อปี 63 เหลือ +10% จากเดิม +19% ตามเศรษฐกิจที่ชะลอตัวถึงถดถอย ทำให้ประชาชนลดการใช้จ่ายลง ขณะที่มาตรการช่วยเหลือโดยเฉพาะการชดเชยรายได้ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com จะทำให้ความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่ลดลง

*** NPL อาจขยับขึ้น : จริง
บล.เคจีไอ มองว่าจากเศรษฐกิจเกิดเหตุไม่คาดหมายขึ้นทำให้อุปสงค์สินเชื่อใน 1/63 พุ่งขึ้นเป็น 25% ในขณะที่สัดส่วน NPL ยังทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 1% แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสน่าจะส่งผลกระทบทางลบต่อภาวะเศรษฐกิจในช่วงปลายไตรมาส 1/63 ทำให้เกิดความเสี่ยงที่ NPL จะเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2/63 ดังนั้นเราจึงใช้สมมติฐานว่า NPL จะเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัวในไตรมาส 2/63 ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการตั้งสำรองหนี้เสีย (Credit cost) ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 120bps (จากประมาณการเดิมที่ 85bps)

บล.เคทีบี ปรับเพิ่มประมาณการ NPLs มาอยู่ที่ 1.5% จากเดิม 1.0% จากสภาพเศรษฐกิจที่หดตัว และผลกระทบ COVID-19 ที่ทำให้ความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ลดลง ทั้งนี้คาดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จะมีระยะเวลา 6 เดือน ทำให้ NPLs ปรับตัวลงในช่วงไตรมาส 2 - 3/63 และจะทยอยเพิ่มขึ้นใน 4/63 ตามระยะเวลาผิดนัดชำระหนี้ 3 เดือน

*** หลายเหตุผลทำให้นักวิเคราะห์ปรับลดประมาณการกำไร
แม้จะมีทั้งประเด็นที่กระทบจริง และไม่จริงปะปนกันอยู่ แต่รวมๆแล้วจากผลกระทบของเศรษฐกิจที่หนักหนาก็ทำให้นักวิเคราะห์ตัดสินใจปรับลดประมาณการกำไรลง

บล.เคจีไอ ปรับลดประมาณการกำไรปี 63 - 64 ลง -10% และ -7% ตามลำดับ มาอยู่ที่ 4.79 พันล้านบาท และ 5.94 พันล้านบาทตามลำดับ และปรับลดราคาเป้าหมายลงมาอยู่ที่ 49 บาท

ส่วนบล.เคทีบี ปรับลดประมาณการกำไรปี 63 - 64 ลง -16% และ -17% มาอยู่ที่ 4.55 พันล้านบาท และ 5.41 พันล้านบาทตามลำดับ และปรับลดราคาเป้าหมายมาอยู่ที่ 52 บาท จากเดิม 75 บาท มีความเสี่ยงที่ ธปท. จะเข้ามาควบคุมเพิ่มขึ้นในอนาคต หากสภาพเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น จึงเชื่อว่า MTC ควรซื้อขายที่ราคาถูกกว่าเดิม

ในภาวะตลาดหุ้นและเศรษฐกิจเช่นนี้ เป็นธรรมดาที่นักลงทุนจะเทขายหุ้นที่ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบได้แน่นอนออกมาเพื่อคว้ากำไรเอาไว้ก่อน แต่หลังจากที่ศึกษาผลกระทบข้างต้นไปแล้ว จะมองว่าเป็นโอกาสเก็บหุ้น หรือรอดูเฉยๆ เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจอาจยังแย่ได้อีก ก็ต้องพิจารณากันให้ดี!
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่