ปริศนาไทรบุรี 2

กระทู้ที่แล้ว พูดไปเรื่องการเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามของชาวมลายูเกดะห์กันแล้ว ก่อนอื่นจะมาพูดถึงชื่อที่มาของคำว่าเกดะห์และไทรบุรี
คำว่า เกดะห์ ข้อสันนิษฐานแรก ระบุไว้ว่า มาจากชื่อในภาษาทมิฬโบราณหรือสันสกฤตโบราณว่า Kataram หรือ Kadar (कदर) แปลว่า เหล็ก
อย่างที่สอง มาจากคำว่า Khedda หรือการคล้องช้าง หรือเพนียดช้าง แต่ความหมายตรงๆ คือ ล้อมรอบ จึงอาจจะเป็นความหมายอื่นๆ มากกว่า
อย่างสุดท้าย มาจากภาษาอาหรับว่า Qalah มาจากภูมิประเทศของเกดะห์ ที่มีลักษณะเป็นหุบเขามีแม่น้ำ คล้ายกับชามที่ลึกลงไปจากขอบถึงก้น
ไม่ว่าชื่อเกดะห์นั้น จะเป็นอย่างไร แต่มีระบุหลักฐานทั้งของทมิฬ จีน และอาหรับ ที่ระบุชื่อที่ใกล้เคียงตรงกันว่า Kataram, Kedah หรือ Qadah

สำหรับชื่อไทรบุรีนั้น ข้อสันนิษฐานแรก ระบุไว้เลยว่า ไทรบุรี จริงๆ มีชื่อว่า เมืองชัยบุรี แต่แผลงเป็นเมืองไซบุรี เพราะอพยพมาจากหัวเมืองเหนือ
ข้อสันนิษฐานที่ 2 จากจดหมายเหตุฯ รัชกาลที่ 6 ได้ระบุว่า มาจากคำว่า Khedda (ล้อมรอบ) เอง ทำให้คนไทยนึกถึงไซดักปลา เลยเรียกไทรบุรี
อย่างไรก็ตาม คำว่า ไทรบุรี ที่มาจาก ไซดักปลา น่าจะตกไป เพราะไม่มีอะไรที่บ่งบอกความเกี่ยวข้องระหว่างเกดะห์กับไซดักปลาโดยตรงได้เลย
ส่วนไทรบุรี ที่มาจากต้นไทรนั้น ยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดความเกี่ยวข้องใดๆ ระหว่างต้นไทรและเมืองเกดะห์ อาจจะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันจริงๆ
ข้อสันนิษฐานเรื่อง ไซบุรี เป็น ไทรบุรี มีโอกาสลำดับหนึ่ง เพราะในต้นรัตนโกสินทร์ มีชื่อเขียนว่า ไซบุรี ซึ่งอาจจะมาจาก ไชยบุรี ก็เป็นไปได้

สำหรับคำถามที่ว่า เหตุใด จึงมีการเรียกว่า ไซบุรี จาก ไชยบุรี มีเรื่องเล่าว่า สมัยอยุธยา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงยกกำลังทหารไปมะละกา
ทรงให้ตั้งเมืองไชยบุรีขึ้น เพื่อเป็นหน้าด่านสำหรับป้องกันมะละกา แต่ต่อมา เพราะการติดต่อกับโลกมลายูและการรุกรานจากทั้งมะละกาและอาเจะห์
ทำให้ในเวลาต่อมา ไทรบุรี กลายเป็นเมืองอิสลาม เข้ารีตเป็นมุสลิม แต่ต่อมา กรุงศรีอยุธยาก็ได้เข้าตีเมืองคืน และเป็นประเทศราชจนยุครัตนโกสินทร์
แม้อาจจะมีความเป็นไปได้ต่ำ แต่หากพิจารณาที่เกดะห์เป็นไม่กี่รัฐในมาเลเซียที่มีชื่อไทย (อีกรัฐคือปีนัง หรือเกาะหมาก ซึ่งมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน)
ก็อาจจะมีความเป็นไปได้ระดับหนึ่ง ที่แท้ที่จริงแล้ว ชาวเกดะห์ จะมีเชื้อสายไทย แต่เวลาที่ผ่านไปทำให้พวกเขาเป็นชาวมลายูไปโดยสมบูรณ์แล้ว

นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงอิทธิพลของไทย หรือสยาม ที่อยู่ในทั่วทุกทิศของรัฐเกดะห์แล้ว อาจจะมีความเป็นไปได้ว่าเคยเป็นเมืองไทยเช่นเดียวกัน
ตัวอย่างเช่น บาลิง (Baling) ที่มีตำนานราชาเขี้ยว ซึ่งโปรดการเสวยเลือดมนุษย์ แล้วถูกเสนาบดียึดอำนาจ และได้ถอดเขี้ยวและขว้างทิ้งลงไป
มีข้อสันนิษฐานว่า ชื่อบาลิง อาจจะเพี้ยนจากชื่อ บ้านลิง หรือ บ่าตลิ่ง เนื่องจากเมืองตั้งอยู่ในภูเขาที่เต็มไปด้วยป่าไม้สัตว์ป่า และตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำ
หรือแม้แต่เมือง จังหลุน ใกล้กับด่านนอก ก็เพี้ยนมาจากคำว่า ช้างหล่น เนื่องจากเป็นเมืองที่มีภูเขาสูงชัน และทำให้ช้างพลัดตกลงไปจากเขา
ไม่แน่ใจว่ารัฐอื่น เมืองอื่นใกล้ชายแดนไทย จะมีชื่อเมืองภาษาไทยด้วยหรือเปล่า แต่เกดะห์ ถือว่ามีเมืองอยู่ 2 รัฐและอาจจะมีชื่ออื่นๆ อยู่ด้วย

สำหรับข้อสันนิษฐานว่า คนเกดะห์เป็นคนไทยหรือไม่ อาจจะตอบยาก เหมือนที่ถามว่า คนไทยที่ถูกกวาดต้อนไปพม่านั้น ยังเป็นคนไทยอยู่หรือไม่
กรณีของคนไทยที่ถูกกวาดต้อนไปนั้น เข้าใจว่า อาจจะถูกกลืนเป็นพม่าไปแล้ว รับวัฒนธรรม ประเพณี ชื่อแบบพม่าไปแล้ว แต่ของเกดะห์ ยากกว่า
ชาวเกดะห์ เป็นมุสลิมไปแล้ว ทั้งยังมีชาวมลายูจากรัฐอื่น หรือแม้แต่คนจากที่อื่นทั้งในโลกมลายูและจากต่างแดน เข้ามาอาศัยในรัฐกันมากแล้ว
แต่ถ้าถามว่า ราชวงศ์เกดะห์ มีเชื้อสายไทยมั้ย ตอบว่ามีแน่นอน แต่ถ้าจะไปให้ลึกถึงขั้นว่าบรรพบุรุษเป็นคนไทยหรือเปล่า ก็ต้องดูอีกทีหนึ่ง
แต่หลักฐานที่อ้างไปถึงปี 1136 คงไม่ใช่หลักฐานที่ดีนัก เพราะมันพิสูจน์อะไรบางอย่างได้ ซึ่งจะขอพูดในกระทู้ที่ 3 ในวันพรุ่งนี้ครับ
----
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่