นิยามและความหมายของคำว่า 'เจ้านายฝ่ายใต้'

พอดี แน่นอนว่าสถานการณ์แบบนี้ คงไม่ค่อยมีใครจะออกนอกบ้านหรือไปทำอะไรกันเท่าไร เลยมีโอกาสได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับเจ้านายฝ่ายเหนือขึ้นมา
หนังสือที่อ่านส่วนหนึ่ง เป็นของอาจารย์ วรชาติ มีชูบท ซึ่งเพิ่งทราบข่าวว่าถึงแก่กรรมไปตั้งแต่ปีที่แล้วแล้ว จึงขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวด้วย
กลับมาที่เรื่องราวของเจ้านายฝ่ายเหนือ เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมความสามารถของพระมหากษัตริย์สยามและเจ้าเมืองบางท่าน ที่พยายามไม่เข้ากับอังกฤษ
ในสมัยนั้น ทั้งหลวงพระบาง จำปาสัก กัมพูชา ไทใหญ่ รวมไปถึงหัวเมืองมลายูเอง ต่างก็ต้องถูกแยกไปจากสยาม เข้ากับอาณานิคมในแหลมสุวรรณภูมิ
แต่ด้วยสายสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายฝ่ายเหนือกับราชสำนักของกรุงสยาม ทำให้ยังรักษาแผ่นดินเหนือไว้แต่เดิมได้จนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะกับเชียงใหม่

ประเด็นหลักของคนขี้สงสัยบางท่าน อาจจะสงสัยว่า ถ้ามีเจ้านายฝ่ายเหนือแล้ว เหตุใดจึงไม่มีเจ้านายฝ่ายใต้ คือกลุ่มเจ้าเมืองในหัวเมืองภาคใต้กันบ้าง
แน่นอนว่า ในแง่ของทั้งยุทธศาสตร์และในแง่ของสายสัมพันธ์ ภาคใต้เองก็มีไม่ด้อยไปกว่าภาคเหนือหรือล้านนาไทยในปัจจุบัน แต่ทำไมจึงไม่มีเจ้านาย
เหตุผลจากที่ได้อ่านมา ภาคเหนือนั้น แต่เดิมไม่ใช่ส่วนหนึ่งของสยาม แทบจะเป็นรัฐกันชนระหว่างสยามและกลุ่มหัวเมืองทั้งไทใหญ่และพม่าเองอีกด้วย
ถ้านับช่วงเวลาที่เพิ่งเข้ามาเป็นประเทศราชของสยาม ก็เพิ่งประมาณในช่วงธนบุรี-รัตนโกสินทร์ โดยกลุ่มของพระยาวชิรปราการ-พระยาลำปาง (กาวิละ)
นอกจากนี้ สายสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์ และความจงรักภักดีของหัวเมืองเหนือ ก็มีอยู่ค่อนข้างมาก แม้ว่าอาจจะมีการกระทบกระทั่งกันในหลายเรื่องก็ตาม

ส่วนทางภาคใต้นั้น แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มหัวเมืองไทยพุทธ และ กลุ่มหัวเมืองมลายูมุสลิม ซึ่งมีสตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ที่อยู่กับไทยในปัจจุบัน
หัวเมืองไทยพุทธ มีนครศรีธรรมราชเป็นเมืองใหญ่ที่สุด เคยมีพระเจ้าประเทศราชปกครองหัวเมืองใต้ แต่ไม่ได้มีอำนาจปกครองชัดเจนเท่ากับฝ่ายเหนือ
อีกทั้งไม่ได้มีสายสัมพันธ์ใดๆ ระหว่างราชวงศ์ในปัจจุบัน มีเพียงแต่สายสัมพันธ์ต่อกรุงธนบุรีในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น ซึ่งแทบไม่ได้เกี่ยวข้องกับยุคถัดมา
ที่สำคัญคือ หัวเมืองไทยพุทธส่วนใหญ่ ล้วนเป็นหัวเมืองชั้นนอกมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จึงไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะทัดเทียมกับราชสำนักสยามได้เลย
ส่วนหัวเมืองมลายูมุสลิม ด้วยความแตกต่างทางด้านภาษา ศาสนา จึงค่อนข้างที่จะเป็นประเทศราชที่ดื้อรั้นห่างเหินมากกว่าประเทศราชอื่นๆ ของสยาม

สำหรับเมืองสงขลานั้น แม้ว่าจะเคยมีฐานะเป็นเมืองมลายูมุสลิม แต่ในช่วงยุครัตนโกสินทร์ ได้มีเจ้าเมืองเชื้อสายจีนปกครองแทน เป็นเมืองไทยพุทธไป
ส่วนสตูล เป็นเมืองใหม่ที่ถูกแบ่งแยกจากไทรบุรี จึงมีฐานะเป็นเมืองมลายูมุสลิม แต่ไม่ได้มีบทบาทใดๆ มากมายนักเพราะอยู่ในการปกครองของสยาม
หลังกบฏไทรบุรี ได้มีการแบ่งไทรบุรีแยกเป็นปะลิส สตูล กุบังปาสุ โดยสนธิสัญญาปี 1909 ระบุให้ปะลิสกับกุบังปาสุเป็นส่วนหนึ่งของอังกฤษในรัฐมลายู
ปะลิส ได้กลายเป็นรัฐส่วนหนึ่งของบริติชมาลายาต่อ ส่วนสตูล ได้แยกขาดจากไทรบุรีและเป็นส่วนหนึ่งของสยาม ส่วนกุบังปาสุ ถูกยุบรวมกับไทรบุรีไป
หัวเมืองทั้งหมดของมลายู แม้ว่าโดยส่วนใหญ่จะมีความจงรักภักดี แต่เนื่องจากสถานการณ์และเวลา ทำให้อยู่คนละเขตแดน ที่อยู่ในไทยก็ถูกยุบไปแล้ว

สรุปโดยรวมก็คือ ความสำคัญระหว่างหัวเมืองเหนือและหัวเมืองใต้ ค่อนข้างแตกต่างกันโดยชัดเจน เนื่องจากส่วนใหญ่นั้นเป็นหัวเมืองมาตั้งแต่แรกก่อน
หากนับที่ใกล้เคียงกับคำว่าเจ้านายฝ่ายใต้ของไทยพุทธมากที่สุด ก็คงจะไม่พ้นสกุล ณ นคร ที่มีเชื้อสายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีอยู่ทางเจ้าพระยานครฯ
ส่วนหัวเมืองมลายู ก็ไม่ได้ต้องการจะสานสัมพันธ์หรือต้องการจะเป็นญาติมิตรกับทางสยาม เพราะความแตกต่างทางด้านศาสนาและภาษา เชื้อชาติ ด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเจ้านายฝ่ายใต้ โดยเฉพาะในกลุ่มลูกหลานเจ้าเมืองมลายูนั้น ไม่มีบทบาทใดๆ ในไทย แต่ในมาเลเซียก็พอมีบทบาทอยู่พอสมควร
ตวนกู ซีราจุดดิน อดีตยังดีประตวนอากงองค์ที่ 12 มีเชื้อสายจากเมืองปัตตานี ขณะที่สุลต่านมูฮัมหมัดที่ 5 ก็เคยทรงอภิเษกสมรสกับเชื้อสายรามัน

*อนึ่ง คำว่าเจ้านายฝ่ายใต้ ในความหมายของหลายๆ ที่ มักหมายถึงราชสำนักสยามมากกว่าจะเป็นหัวเมืองทางปักษ์ใต้หรือหัวเมืองมลายู*
----
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่