JJNY : กท.โพลวิตกแล้ง ไม่เชื่อรบ.ดูแลน้ำ/ติดกับดักรายได้ปานกลางอีก 30ปี พบคนจนเพิ่มกว่าปี58/'ศก.พัง ประเทศไร้ความหวัง'

กท.โพลคนวิตกภัยแล้ง-ไม่เชื่อรบ.ดูแลน้ำพอใช้ตลอดปี
https://www.innnews.co.th/social/news_577910/
 
 

“กรุงเทพโพลล์” ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ประชาชนกับวิกฤตภัยแล้ง 2020”  โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาค
 
ทั่วประเทศจำนวน 1,182  คน ระหว่างวันที่ 14-15 ม.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 50.5 กังวลเรื่องการทำเกษตร รายได้เกษตรกร พืชผลเกษตรเสียหายมากที่สุด หากเกิดสถานการณ์ภัยแล้ง รองลงมา ร้อยละ 49.1 กังวลไม่มีน้ำดื่มน้ำใช้ และ ร้อยละ 48.6 กลัวข้าวของราคาแพงขึ้น ราคาสินค้าเกษตรแพงขึ้น
 
ทั้งนี้ เมื่อถามว่าวิตกกังวลมากน้อยเพียงใดกับสถานการณ์ภัยแล้งที่คาดว่าจะมีความรุนแรงมากเป็นอันดับ 2 ในรอบ 40 ปี ร้อยละ 72.5 กังวลค่อนข้างมากถึงมากที่สุด
 
ขณะที่ร้อยละ 27.5 กังวลค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ส่วนการเตรียมรับมือกับภัยแล้ง ร้อยละ 81.5 มีการเตรียมรับมือ โดยในจำนวนนี้ ร้อยละ 67.8 ใช้น้ำอย่างประหยัดขึ้น ร้อยละ 19.5 กักตุนน้ำดื่ม และร้อยละ 18.0 ซื้อถังเก็บน้ำ ขณะที่ร้อยละ 18.5 ไม่มีการเตรียมรับมือ เพราะน่าจะมีน้ำใช้เพียงพอ
 
นอกจากนี้ ร้อยละ 53.3 มีความเห็นต่อสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นว่าจะมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและอาชีพของตนเอง ค่อนข้างมากถึงมากที่สุด แต่ร้อยละ 46.7 เห็นว่ามีผลค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อการเปิดกองอำนวยการน้ำแห่งชาติของหน่วยงานรัฐ จะสามารถแก้ปัญหาภัยแล้งและทำให้คนไทยมีน้ำใช้ตลอดทั้งปีได้ หรือไม่ กลับพบว่า ร้อยละ 57.0 เชื่อมั่นค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด และร้อยละ 43.0 เชื่อมั่นค่อนข้างมากถึงมากที่สุด
 

 
คาดไทยติดกับดัก 'รายได้ปานกลาง' อีก 30 ปี - พบ 'คนจน' เพิ่มกว่าปี 58
https://voicetv.co.th/read/jDJt4vr3f
 
ธนาคารโลกชี้ ถ้า จีดีพียังโตต่ำกว่า 3% ไทยจะติดอยู่กับประเทศรายได้ปานกลางไปจนถึงปี 2593 และไม่สามารถเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้ นักเศรษฐศาสตร์ เผยคนจนเพิ่มมากขึ้นกว่าปี 2558
 
รายงานชิ้นล่าสุดจากธนาคารโลก ภายใต้ชื่อ "จับตาเศรษฐกิจไทย ผลิตภาพเพื่อความรุ่งเรือง" สะท้อนว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงไตรมาสที่ 3/2562 ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลมาจากการส่งออกที่ลดลงและอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัวเป็นหลัก
 
'ราฟ วาน ดอร์น' นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ชี้ว่า ตัวเลขการส่งออกของไทยลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2562 ที่ติดลบร้อยละ 6.1 และลงไปติดลบร้อยละ 7.9 ก่อนจะปรับตัวขึ้นมาติดลบร้อยละ 1 ในไตรมาสที่ 3
 
นอกจากนี้ เมื่อจำแนกตามประเทศที่ไทยส่งออกตัวเลขยังติดลบแทบทั้งหมดยกเว้นแค่สหรัฐฯ เท่านั้น ฝั่ง CLMV หรือ กัมพูชา-ลาว-เมียนมา-เวียดนาม ติดลบร้อยละ 8.4 ขณะที่ประเทศในอาเซียนที่ไม่นับรวม CLMV ติดลบร้อยละ 11.5 ตามมาด้วยสหภาพยุโรปและจีน ที่ติดลบอย่างละร้อยละ 7.7 และ 7.6 ตามลำดับ ด้านญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ติดลบเท่ากันที่ร้อยละ 2.5 ขณะที่สหรัฐฯ โตในอัตราร้อยละ 11.7
 
ฝั่งการบริโภคภาคเอกชนของไทยก็ตกลงมาอยู่ที่ร้อยละ 4.2 ในไตรมาสที่ 3/2562 จากที่อยู่ที่ร้อยละ 4.9 ในไตรมาส 1/2562 สะท้อนความอ่อนแอที่ชัดเจน ภาพสะท้อนดังกล่าว มาจากดัชนีรายได้เกษตรกรที่ต่ำลงจากราคาสินค้าเกษตรและผลิตผลทางการเกษตรที่คงที่และมีแนวโน้มลดลงจากสถานการณ์ความแล้ง ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็ตกลงมาต่ำกว่าร้อยละ 50 ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2562
 
โชคดีท่องเที่ยวโต
 
อย่างไรก็ตาม 'ราฟ' ชี้ว่า เศรษฐกิจไทยยังได้รับอานิสงค์ที่ดีจากภาคบริการ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวทะลุไปถึง 9.7 ล้านคน ในไตรมาส 3/2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีนและอินเดีย
 
สำหรับแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2563 ธนาคารโลกมองไว้ที่ร้อยละ 2.5 ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวหลังเหตุการณ์สงครามการค้าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ขณะที่คาดการณ์ตัวเลขการเติบโตของจีนไว้ที่ร้อยละ 5.9 และมองจีดีพีของไทยไว้ที่ร้อยละ 2.7 ในปี 2563 และร้อยละ 2.8 ในปี 2564 โดยให้น้ำหนักจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออกตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก
 
หลุดไม่พ้นรายได้ปานกลาง
 
'นครินทร์ อมเรศ' ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้ว่า หากประเทศไทยยังไม่มีฐานการลงทุนเพิ่มเติมอย่างมีนัยสำคัญ หรือมีการเติบโตของผลิตภาพ อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะต่ำกว่าร้อยละ 3 ต่อปี ซึ่งหมายความว่า ไทยจะยังเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปจนถึงปี 2593 และไม่สามารถขยับขึ้นไปเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้
 
นายนครินทร์ ชี้ว่า หากไทยอยากจะหลุดพ้นกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง แปลว่าจีดีพีจะต้องโตสูงกว่าร้อยละ 5 ต่อปี ต่อเนื่องไปจนถึง 2568 ซึ่งจะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่มีรายได้สูงในปี 2580 แต่การจะทำเช่นนั้นได้ ต้องมีการปฏิรูปและปรับปรุงการเติบโตของผลิตภาพการผลิตรวมและเพิ่มการลงทุนของประเทศ
 
ผอ.ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.สรุปเงื่อนไขในการเพิ่มผลิตภาพของไทยว่า รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในการเปิดเสรีด้านการลงทุน เพิ่มการแข่งขันในตลาดภายในประเทศ และส่งเสริมทักษะแรงงานประกอบกับการวิจัยและพัฒนา
 
ขณะที่ 'เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา' นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย เสนอข้อแนะนำทางนโยบาย ให้รัฐบาลคงความต่อเนื่องในการลงทุนภาครัฐและโครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership - PPP) ที่จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจและเพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง
 
นอกจากนี้ เกียรติพงศ์ ยังสะท้อนความกังวลถึงภาคครัวเรือนที่มีความเปราะบาง และแนะนำให้ภาครัฐเพิ่มความคุ้มครองทางสังคมให้ตรงตามกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เนื่องจากตัวเลขประชากรที่ยากจนของไทยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 2 จากปี 2558 ที่อยู่ที่ร้อยละ 7.2 ขึ้นมาเป็นร้อยละ 9.9 ในปี 2561
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่