JJNY : พิชัยห่วงมาตรการกระตุ้นศก.ใหม่ฯ/สมชัยสอนมวยปชป.ไม่เสนอมาร์คฯ/อ.ไชยณรงค์ถาม ถ้าเป็นชาวบ้านได้รับโอกาสมั้ยฯ

“พิชัย”ห่วงมาตรการกระตุ้นศก.ใหม่แค่ยาแก้ปวดรักษาอาการป่วยหนักไม่ได้
https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1770222
 
 
“พิชัย”ห่วงมาตรการกระตุ้นศก.ใหม่เป็นแค่ยาแก้ปวดรักษาอาการป่วยหนักไม่ได้ แนะ 7 เรื่องต้องรีบทำเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ ลดราคาน้ำมัน ลดค่าเดินทาง บาทอ่อน เร่งเจรจาการค้า เตือนภาคเอกชนต้องเร่งปรับตัวรับมือคลื่นการเปลี่ยนแปลงใหญ่
 
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยที่กำลังทรุดหนัก แต่ดูเหมือนว่ามาตรการดังกล่าวจะเป็นเพียงมาตราการระยะสั้น อีกทั้งเกรงว่าจะไม่เพียงพอที่จะฟื้นสภาวะเศรษฐกิจของไทยที่กำลังย่ำแย่ในปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะเศรษฐกิจไทยที่ทรุดหนัก เป็นผลมาจากการบริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาดมาตลอด 5 ปี และยังมีแนวโน้มที่จะทรุดหนักลงไปอีก จากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่จะมาซ้ำเติม ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่ได้มีการรับมือเตรียมพร้อมให้ดี คิดเพียงการแจกเงิน แม้จะถูกท้วงติงว่าจะไม่เกิดประโยชน์ แต่รัฐบาลยังคงดื้อรั้น ซึ่งผลจากจีดีพีที่ตกต่ำแสดงชัดเจนถึงความล้มเหลวของการแจกเงินสะเปะสะปะโดยประเทศไม่ได้พัฒนา และเมื่อรัฐบาลแจกเงินจนหมดกระสุนแล้ว ก็ยังไม่มีแนวทางที่จะพัฒนาต่อ ขนาดประชุม ครม. เศรษฐกิจ ยังไม่มีนโยบายแก้ไขปัญหาใดๆ ออกมา แถมยังต้องไปถามข้าราชการประจำ ซึ่งแสดงว่า ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลได้หมดสภาพแล้ว การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดดังกล่าว จึงดูเหมือนจะเป็นแนวคิดของข้าราชการประจำ เป็นเสมือนยาแก้ปวดที่บรรเทาอาการชั่วคราว แต่ไม่สามารถจะรักษาอาการป่วยหนักของประเทศได้
 
ดังนั้น เมื่อทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลคิดอะไรไม่ออกแล้ว จึงอยากขอเสนอแนวทางการแก้ไขเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน 7 แนวทางดังนี้ 
 
1. รัฐบาลต้องยอมรับความจริงว่าเศรษฐกิจย่ำแย่ และเลิกโกหกประชาชน ยิ่งรัฐบาลปฏิเสธความจริงก็จะยิ่งแก้ปัญหาไม่ได้ การยอมรับปัญหาจะช่วยให้รัฐบาลหาทางแก้ไข และควรชี้แจงกับประชาชนเรื่อยๆว่าได้แก้ไขเรื่องอะไรบ้าง เพราะปัจจุบันประชาชนไม่ทราบเลยว่าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลทำอะไรบ้าง นอกจากแจกเงินสะเปะสะปะไปวันๆแล้วไม่ได้ผลอะไรเท่านั้น การโกหกยังทำให้คนที่เชื่อรัฐบาลต้องประสบปัญหาทางเศรษฐกิจถึงขั้นล้มละลายเพราะไม่ได้เตรียมรับมือเศรษฐกิจที่ย่ำแย่
 
2. การเร่งการเจรจาการค้า ทั้งทวิภาคี และ พหุภาคี โดยนับเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้วที่รัฐบาลจากการปฏิวัติไม่สามารถเจรจาเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆได้ เพราะกฏหมายของหลายประเทศบังคับไม่ให้เจรจากับประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่เมื่อเลือกตั้งแล้ว แม้รัฐบาลจะมาแบบแปลกๆ แต่ก็ควรใช้โอกาสนึ้ในการเร่งเจรจาเขตการค้าเสรี ทั้งทวิภาคี และ พหุภาคี จะไปรอเพียง RCEP อย่างเดียวไม่ได้ การเจรจาเขตการค้าเสรีจะช่วยทำให้การส่งออกและการลงทุนของไทยดีขึ้น มิเช่นนั้นปีหน้าเมื่อสหรัฐตัดจีเอสพีไทยจะเริ่มถูกนำมาใช้ การส่งออกไทยจะยิ่งลดลงอีก และ เรื่องจีเอสพีนี้ก็เช่นกัน อยากให้รัฐบาลไทยเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส เมื่อสหรัฐตัดจีเอสพีไทย แทนที่ไทยจะร้องครวญคราง หรือ แก้ตัวว่าเพราะไทยพัฒนาแล้ว ทั้งๆที่คนจะจนตายกันหมดแล้ว รัฐบาลควรถือโอกาสนี้เปิดเจรจาเขตการค้าเสรีทวิภาคี (FTA) กับสหรัฐเลย จะแลกเปลี่ยนหรือจะขออะไรก็ทำกันทีเดียว จะได้ไม่ต้องมาเป็นปัญหากันอีกเมื่อจะถูกตัดจีเอสพี การเจรจาทวิภาคีสามารถทำได้ทันทีกับประเทศคู่ค้าสำคัญทุกประเทศ และควรต้องเร่งดำเนินการ แทนที่จะปล่อยเฉยหลังจากเจรจาไม่ได้มา 5 ปีของการปฏิวัติ
 
3. ทำเงินบาทให้อ่อนค่าลง เพื่อให้ราคาสินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ อีกทั้งยังช่วยการท่องเที่ยวของไทยที่เริ่มเหี่ยวเฉาจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า ในขณะที่ค่าเงินของนักท่องเที่ยวอ่อนค่าลง ทำให้การมาเที่ยวไทยแพงขึ้นมากถึงสองเด้ง ซึ่งรัฐบาลต้องกำชับแบงก์ชาติให้ดำเนินการโดยด่วน หากทำไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ หากปล่อยค่าเงินบาทให้แข็งค่า ทั้งๆที่เศรษฐกิจไทยย่ำแย่ เติบโตต่ำ ไม่สมเหตุสมผล โดยไทยสามารถอธิบายเหตุผลกับประเทศต่างๆถึงการที่บาทจะอ่อนค่าได้ ขนาดประธานาธิบดีสหรัฐยังตำหนิ ประธานธนาคารกลางของสหรัฐถึงขนาดเรียกว่าเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของสหรัฐเลย เมื่อธนาคารกลางของสหรัฐไม่ลดดอกเบี้ยและค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐแข็งค่าเกินไป ซึ่งรัฐบาลควรดูเป็นตัวอย่าง ไม่ใช่ปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งค่าแบบยาวนานเหมือนคนไม่รู้เรื่องเช่นนี้
 
4. รัฐบาลต้องเร่งทุ่มเงินจำนวนมากในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของไทยที่เริ่มถดถอยมาตลอด ทั้งนี้ไม่ใช่แจกเงินสะเปะสะปะเหมือนในปัจจุบัน ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไร แม้ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจของไทยจะย่ำแย่ การค้าขายฝืดเคือง ประชาชนลำบากกันอย่างมาก แต่ฐานะการเงินการคลังของประเทศไทยยังแข็งแกร่ง มีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในระดับสูง และยังคงมีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในระดับต่ำเพียง 40% กว่าเท่านั้น การทุ่มงบประมาณจำนวนมากของภาครัฐเพื่อพัฒนาประเทศในภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่เป็นเรื่องที่ควรทำและต้องทำ แต่ต้องพัฒนาความคิดให้มีการลงทุนในโครงการที่เกิดประโยชน์จริงๆ โดยจะต้องมุ่งเน้นการนำไปสู่การสร้างงาน และ การจ้างงานที่ถาวรในอนาคต เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการว่างงานอย่างมากในปีหน้า
 
5. ลดค่าใช้จ่ายของประชาชน เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพ โดยการลดราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาท จากการลดการเก็บภาษึสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่เก็บอยู่ถึงลิตรละ 5.99 บาทในปัจจุบัน ที่ในอดีตไม่ได้เก็บ และลดราคาเบนซินลิตรละ 2 บาท จากการลดการเก็บภาษีสรรพสามิตเช่นกัน การลดราคาดีเซลจะช่วยทำให้ค่าขนส่งสินค้าลดลงด้วย นอกจากนี้ จากรัฐบาลควรช่วยลดค่าเดินทางของประชาชน โดยลดค่าบริการขนส่งสาธารณะลง ซึ่งผลสำรวจบอกค่าเดินทางเป็นค่าใช่จ่ายหลักของประชาชน ดังนั้นการลดค่าเดินทางจะช่วยได้มาก อีกทั้ง การให้ใช้น้ำประปาฟรี ไฟฟ้าฟรี ในปริมาณที่จำกัดเพื่อให้ประหยัดการใช้ ก็ควรถูกนำมาช่วยเหลือประชาชนอีกครั้งในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้
 
6. เพิ่มรายได้ประชาชน จากการเร่งสร้างธุรกิจด้านเทคโนโลยีขนาดใหญ่ระดับยูนิคอร์น โดยสนับสนุนและเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้สร้างธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากเพื่อเพิ่มรายได้ บริษัทเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วในประเทศกลุ่มอาเซียนเกือบทุกประเทศยกเว้นไทย ซึ่งทำให้มีการจ้างงานและช่วยประชาชนให้มีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้มีการต่อยอดทางธุรกิจในอนาคตด้วย การแก้กฏหมายที่เป็นอุปสรรคต้องเร่งดำเนินการ 
 
และ 7. เร่งสร้างความมั่นใจของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้วยการมี Rule of Law ที่ชัดเจน อะไรที่เคยทำในสมัย [เผล่ะจัง] แล้วไม่เป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก ก็ต้องเลิกทำอย่างเด็ดขาดแล้ว รัฐมนตรึคนไหนมีปัญหาภาพลักษณ์ในสายตาของประชาชนและในสายตาของนานาชาติ ก็ควรจะต้องปรับเปลี่ยนออกไป การบังคับใช้กฏหมายต้องเป็นธรรม ทั่วถึง และ โปร่งใส ทั้งนี้ต้องรวมถึงการบังคับใช้กฏหมายขององค์กรอิสระด้วย
 
“นี่เป็นเพียง 7 เรื่องแรกที่รัฐบาลควรต้องเร่งดำเนินการเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ และแก้ไขจุดอ่อนของรัฐบาลตั้งแต่ในอดีต ซึ่งยังคงมีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำ และหวังว่ารัฐบาลจะเข้าใจและเร่งดำเนินการ” นายพิชัยกล่าว
 
นอกจากนี้ยังอยากขอแนะนำ ธุรกิจในภาคเอกชนว่าจะต้องรีบปรับตัวรองรับคลื่นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังจะถาโถมเข้ามา แม้ว่าธุรกิจปัจจุบันยังดีและมั่นคง แต่อาจจะถูก disrupt ได้ง่ายๆเลยจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ดังนั้นจึงอยากให้เปิดหูเปิดตาให้กว้างเพื่อปรับเปลี่ยนธุรกิจให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลก และต้องเปลี่ยนก่อนที่จำเป็น (Change before you have to)เพราะถ้าหากรอถึงคราวจำเป็นอาจจะสายไปแล้ว และหากธุรกิจใดคิดว่ากำลังจะถูก disrupt ก็ต้องเปลี่ยนตัวเองก่อนโดน disrupt โดยหากธุรกิจใดเริ่มย่ำแย่แล้วก็ควรจะเลิกกิจการเลย แล้วหาช่องทางทำธุรกิจใหม่ อย่าทู่ซี้ เพราะโลกยุคใหม่ไม่เหมือนยุคเก่าแล้ว การประคองเพื่อหวังฟื้นอาจจะเป็นไปได้ยาก การเริ่มต้นธุรกิจใหม่อาจจะมีอนาคตมากกว่า ทั้งนี้ต้องประเมินธุรกิจของตนให้ชัดเจน
 
ทั้งนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับคลื่นของการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของโลกที่กำลังถาโถมาเข้ามาตามที่ได้เคยเตือนล่วงหน้ามานานแล้ว ประชาชนทุกฝ่ายต้องเตรียมตัวให้พร้อม โดยเฉพาะรัฐบาล หากรู้ว่าตัวเองไม่พร้อมก็ต้องเร่งปรับปรุงตัว หรือไม่ก็ต้องหาคนที่มีความพร้อมมากกว่าเข้ามาทำงานแทน เพื่อให้ประเทศไทยปรับตัวและพัฒนาต่อไปได้ ไม่ตกยุค หรือ ถูก disrupt ในระยะเวลาอันรวดเร็วนี้



"สมชัย" สอนมวย ปชป. ไม่เสนอ"มาร์ค"เป็น กมธ.แก้ รธน.สะท้อนอำนาจต่อรอง
https://www.thairath.co.th/news/politic/1712893
 
"สมชัย" สอนเชิงพรรคประชาธิปัตย์ กรณีไม่เสนอชื่อ "อภิสิทธิ์" เป็น กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ ดูแปลกๆ ชี้อยู่เป็นต้องต่อรองเป็นเพื่อส่วนรวม เหตุเพราะเคยลั่นกับ ปชช.จุดยืนชัดเจน
 
เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 27 พ.ย.62 นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.และอดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีพรรคประชาธิปัตย์ไม่เสนอชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญ ศึกษาแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า 
 
ตนมีความเห็นว่า 1. กมธ.วิสามัญ พลาดโอกาสที่จะดึงคนที่เห็นปัญหาของรัฐธรรมนูญอย่างเป็นระบบในทางปฏิบัติไปอีกคนหนึ่ง และคนคนนี้มีเวลาเพียงพอที่จะทุ่มเทการทำงานในเรื่องนี้ได้อย่างเต็มที่ โดยไม่มีเก้าอี้ ส.ส. หรือ เก้าอี้ กมธ.ชุดอื่นๆ นั่งทับซ้อน 
 
2. การแค่กล่าวอ้างว่า ถึงเสนอนายอภิสิทธิ์ ก็คงไม่ได้มีโอกาสเป็นประธาน กมธ. จึงไม่เสนอชื่อเป็น กมธ. เป็นเหตุผลที่แปลก ราวกับว่าถ้าเข้ามาต้องเป็นประธานเท่านั้น เมื่อไม่ได้เป็นประธาน ก็ไม่ต้องเข้า ตนไม่คิดว่านายอภิสิทธิ์จะคิดเช่นนั้น เชื่อว่าท่านพร้อมจะทำงานในทุกหน้าที่เพื่อให้บ้านเมืองดีขึ้น

3. การกล่าวอ้างว่า เกรงว่าจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาล สะท้อนถึงอำนาจในการต่อรองและความสามารถในการเจรจาของพรรคประชาธิปัตย์น้อยมากหรืออย่างไร พรรคควรใช้โอกาสจากการเป็นพรรคที่มีจุดยืนที่ชัดเจนและเคยประกาศต่อประชาชน รวมถึงเป็นพรรคหลักที่ต่อรองจนประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญอยู่ในนโยบายเร่งด่วนข้อ 12 ของรัฐบาล เจรจาขอให้พรรคร่วมรัฐบาลให้การสนับสนุน หรือหากแสดงจุดยืนที่มั่นคงชัดเจน การได้เสียงสนับสนุนจากฝ่ายค้าน (แบบไม่ใช่งูเห่า) ก็น่าจะเกิดขึ้นได้ 
 
4. กรณีแบบนี้ ถ้าเป็นพรรคภูมิใจไทย คงพูดไปแล้วว่า ไม่ได้เป็นประธาน กมธ. ก็จะทบทวนการอยู่ร่วมรัฐบาล เพราะเป็นนโยบายสำคัญของพรรค อยู่เป็น ต้องต่อรองเพื่อประโยชน์ส่วนรวมให้เป็นด้วย.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่