เชียงใหม่ - นำชมโรงแรมศรีประกาศ ริมแม่น้ำปิง

โรงแรมศรีประกาศ ริมแม่น้ำปิง



..........เป็นสถานที่ที่เปลี่ยนแปลงการใช้งานไปต่างวาระ 
แรกเริ่มเดิมทีเป็นบ้านของ "สีโหม้" ซึ่งเป็นคนเชียงใหม่คนแรกที่เดินทางไปสหรัฐอเมริกา เมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว

""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""
แทรกข้อมูลเพื่อความครบถ้วนครับ...เล่าเรื่องสีโหม้ไปอเมริกา (บางเอกสารใช้ "ศรีโหม้")
""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""
..........สีโหม้ วิชัย เป็นหนึ่งในคนไทยรุ่นแรกๆ ที่เดินทางไปเยือนสหรัฐฯ เมื่อปี 2432 
และเป็นคนเชียงใหม่คนแรกที่เดินทางไปเหยียบแผ่นดินนั้น 
ระหว่างพำนักอยู่ในสหรัฐฯ เป็นเวลาปีเศษ สีโหม้ได้เขียนจดหมายถึงบ้านเป็นตัวหนังสือพื้นเมืองรวม 24 ฉบับ 
นับเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญชิ้นหนึ่งของล้านนา

..........สีโหม้ เกิดเมื่อเดือนมกราคม ปี 2411 ที่บ้านสันป่าข่อยริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านทิศตะวันออกของเมืองเชียงใหม่ 
เป็นบุตรของหนานศรีวิชัย และนางวันดี

..........เมื่อปี 2411 เมืองเชียงใหม่ยังมีฐานะเป็นประเทศราชของกรุงเทพฯ 
เจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่คือ เจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ (พ.ศ.2399-2413) 
ช่วงเวลาดังกล่าว อังกฤษได้เข้ายึดครองพม่าตอนใต้และตอนกลางเรียบร้อยแล้ว และกำลังขยายการลงทุนด้านกิจการป่าไม้สักในพม่าและล้านนา

..........ปี 2401 นายแพทย์แดเนียล แมคกิลวารี มิชชันนารีชาวอเมริกันได้เดินทางถึงเมืองไทยเพื่อเผยแพร่คริสต์ศาสนา 
และต่อมาก็ได้รับการส่งเสริมจากฝ่ายกรุงเทพฯ ให้ขึ้นมาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในล้านนา โดยเริ่มงานศาสนาที่เชียงใหม่ ในปี 2409

..........หมอแมคกิลวารี เริ่มงานด้วยการให้การรักษาโรคให้แก่คนล้านนาโดยเฉพาะไข้มาเลเรีย โรคคอพอกและไข้ทรพิษ 
ซึ่งปรากฏว่ารักษาได้ผลเป็นที่ยกย่องในหมู่ประชาชน 
ในปี 2412 หนานชัยและน้อยสัญญาผู้นำระดับหมู่บ้าน ซึ่งเคยผ่านการบวชเรียนมาแล้วได้ตัดสินใจหันไปนับถือคริสต์ศาสนา 
ยังผลให้คนทั้งสองถูกจับและต้องคำสั่งของเจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่ให้ถูกประหารอย่างลับๆ ในปีเดียวกันนั้นเอง

..........อย่างไรก็ตาม การเผยแพร่ศาสนาของมิชชันนารีอเมริกันกลับดำเนินต่อไปด้วยดีหลังจากนั้น 
เนื่องจากพระบรมราชานุญาตของในหลวงรัชกาลที่ 5

..........หมอแมคกิลวารีมีเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งคือหมอมาเรียน ชิค 
หมอชิคเผยแพร่ศาสนาอยู่พักหนึ่งในเมืองเชียงใหม่ ก็ลาออกหันไปค้าไม้สักและตั้งโรงเลื่อยไม้โดยเข้าหุ้นกับนายหลุยส์ เลียวโนเวนส์ 
หนานศรีวิชัย ซึ่งหันไปนับถือศาสนาคริสต์และได้ทำงานใกล้ชิดกับหมอชิค ก็ได้ลาออกตามหมอชิคไปช่วยทำธุรกิจด้วย

..........ต่อมา ภรรยาหมอชิคต้องกลับอเมริกาเนื่องจากสุขภาพไม่ดี และต้องนำเอาลูกสาวทั้งสองคนกลับไปด้วยแต่ไม่มีคนดูแล 
หนานศรีวิชัยจึงส่งสีโหม้ให้ร่วมเดินทางไปด้วยเพื่อเป็นพี่เลี้ยงของเด็กทั้งสองในระหว่างการเดินทาง

..........ขณะนั้น สีโหม้อายุได้ 20 ปี ไม่เคยเข้าโรงเรียนมาก่อน เพราะตอนนั้นยังไม่มีโรงเรียน 
โรงเรียนชายวังสิงห์คำอันเป็นโรงเรียนชายแห่งแรกของเชียงใหม่เพิ่งก่อตั้งในปี 2430 
สีโหม้รู้ตัวหนังสือล้านนาเพียงอ่านออกเขียนได้ ส่วนภาษาอังกฤษก็ไม่เคยเรียนมาก่อน

..........จากเนื้อความในจดหมาย สีโหม้ติดตามมิสซิสชิคและลูกสาวไปพักอยู่ที่เมืองโอ๊คแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ใกล้นครซานฟรานซิสโก 
โดยนั่งเรือออกจากกรุงเทพฯ ไปแวะที่ฮ่องกง โยโกฮามา และขึ้นบกที่นครซานฟรานซิสโก

..........จดหมายของสีโหม้มีเรื่องราวหลายอย่างที่น่าสนใจ 
..........ข้อแรก แม้สีโหม้จะไม่เคยผ่านการศึกษาอย่างเป็นทางการ
แต่จากการที่เขาใช้ถ้อยคำหลากหลายมีกลวิธีในการเล่าเรื่องให้ชวนอ่าน ช่างเปรียบเปรยและช่างตั้งข้อสังเกต
สะท้อนให้เห็นระดับสติปัญญาของสีโหม้ และการอบรมบ่มเพาะด้านการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ

..........ข้อที่สอง ในเวลาเพียงปีเศษ สีโหม้เขียนจดหมายถึงพ่อแม่รวม 24 ฉบับ 
และเนื้อหาของจดหมายแทบทั้งหมดกล่าวถึงบ้านเมืองและสภาพของสิ่งต่างๆ ในสหรัฐฯ ความเจริญอันหลากหลายที่สีโหม้ได้พบ 
รวมทั้งการเปรียบเทียบกับสภาพต่างๆ ในเชียงใหม่และกรุงเทพฯ

..........ข้อที่สาม จดหมายทุกฉบับเขียนด้วยตัวหนังสือล้านนา 
มีคำต่างๆ มากมายเป็นภาษาล้านนาที่ใช้ในสมัยนั้น และเลือนหายไปมากในปัจจุบัน

..........จดหมายของสีโหม้จึงเป็นบันทึกของสามัญชนไทยคนหนึ่งในยุคนั้นที่ได้กลายเป็นตำราเรียนที่ใช้ในโรงเรียนชายวังสิงห์คำ 
โดยโรงพิมพ์ของคณะมิชชันนารีอเมริกันในเชียงใหม่จัดพิมพ์ในปี 2439 ใช้ชื่อว่า "หนังสือสีโหม้ฝากแต่เมืองนอกถึงพ่อและแม่" 
จัดพิมพ์เป็นตัวหนังสือล้านนาและอาจเป็นหลักฐานทางการศึกษาชิ้นสุดท้าย ก่อนที่เชียงใหม่จะสิ้นสุดความเป็นประเทศราชในปี 2442 
กลายเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลพายัพ และโรงเรียนต่างๆ ในล้านนาไม่อาจสอนตัวหนังสือล้านนาให้แก่นักเรียนอีกต่อไป

..........เป็นหนึ่งในหลักฐานเพียงไม่กี่ชิ้นสำหรับคนที่พูดกำเมืองในเวลานี้จะได้ศึกษากำเมืองในอดีต

..........ด้วยตระหนักในคุณค่าของจดหมายของสีโหม้ ในปี 2496 
หนังสือพิมพ์ "คนเมือง" รายสัปดาห์ได้ตีพิมพ์จดหมายดังกล่าวเป็นภาษาไทย 
ต่อมาในปี 2523 คุณลุงบุญเสริม สาตราภัย นักเขียนและช่างภาพเรืองนามของเชียงใหม่ก็ได้จัดพิมพ์จดหมายทั้งหมดเป็นหนังสือออกเผยแพร่

..........เวลานี้ จดหมายของสีโหม้มีอายุได้ร้อยกว่าปี ยิ่งนานวันคุณค่าของเอกสารชิ้นนี้ก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น 
สมควรอย่างยิ่งที่เอกสารชิ้นนี้จะได้รับการตีพิมพ์อีกครั้งและเผยแพร่ออกไปให้กว้างขวาง

..........สีโหม้ บันทึกเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับสหรัฐฯ เมื่อเขาไปเยือน 
ในแง่นี้คล้ายกับกัปตันเบอร์นี่ เซอร์จอห์น บาวริ่ง คาร์ล บ๊อค และหมอแมคกิลวารี ฯลฯ 
ที่ได้บันทึกเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับเมืองไทยในทัศนะของพวกเขาจะต่างกันก็ตรงที่สีโหม้ไปเยือนสหรัฐฯ ในฐานะผู้ติดตาม อายุยังน้อย ขาดการศึกษาในโรงเรียน

"""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""

เคยเป็นโรงเรียนสอนเด็กชั้นประถมยุคแรกๆ 
เคยเป็นสวนสัตว์เอกชนยุคแรกๆ ของเชียงใหม่
เคยเป็นสำนักงานหนังสือพิมพ์ยุคแรกๆ ของเชียงใหม่
เคยเป็นต้นกำเนิดโรงพยาบาลจินดาสิงหเนตร

จากบริเวณภายนอกโดยรอบ จะเป็นอาคารเก่า สภาพทรุดโทรม



ด้านหลังของโรงแรม จะมีอาคารเรือนแถว เป็นที่พัก และมีผู้เช่าพักอาศัยอยู่


ลานด้านหน้าโรงแรม จะเป็นที่โล่งใช้จอดรถทั้งกลางวัน กลางคืน เพราะช่วงกลางคืน ละแวกนี้ จะมีร้านอาหารตลอดแนวแม่น้ำปิง



คราวนี้เรามาชมด้านในโรงแรมกันบ้างครับ


ชั้นล่างค่อนข้างรกและแคบ เลยพาขึ้นมาชมชั้นบน 


สังเกตว่า ช่องระบายลม จะไม่เก็บเสียง ในสมัยก่อน หากเข้าพัก แล้วมีเสียงดัง คงเป็นเรื่องกันทีเดียว


ภายในห้องพัก จะเป็นห้องโล่งๆ และมีห้องน้ำในตอนในสุดของห้อง


สังเกตกลอนประตู ยาวกว่าในยุคปัจจุบันมากๆ ทีเดียวครับ



ปัจจุบัน ก็ยังทราบว่า ยังมีชาวญี่ปุ่นที่นิยมการเข้าพักแบบนี้ มาตามรอยบุคคลในอดีตที่เข้ามาทำศึกสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเชียงใหม่ 
(หากมีโอกาสจะกล่าวถึงครับ เพราะเป็นสถานที่หนึ่งในวัดหมื่นสาร ถนนวัวลายครับ)


ภาพหมู่
"สีโหม้" วิชัย (นั่งกลาง) ถ่ายพร้อมกับครอบครัวที่บ้านของท่าน ซึ่งเป็นโรงแรมศรีประกาศในปัจจุบันนี้ 
ผู้ชายชุดขาวนั่งเก้าอี้ขวาสุด คือ อาจารย์เจริญ วิชัย บุตรชายคนโตของ "สีโหม้" ซึ่งต่อมาได้เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนที่กรุงเทพมหานคร
ผู้ชายแถวยืนข้างหลังซ้ายสุดที่อุ้มเด็ก คือ นายจำปี ลาวนานนท์บุตรเขยของ "สีโหม้" เจ้าของโรงเรียนพัฒนา เจ้าของสวนสัตว์ยุคแรกของเชียงใหม่ และเจ้าของบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ "สหายชาวสวน"
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่