ตามรอยนครโบราณที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์

เฮียราโปลิส Hierapolis



สันนิษฐานว่ามีอายุประมาณ 2,200 ปี เพราะถูกสร้างขึ้นก่อนคริสตกาล ในยุคของกษัตริย์ยูเมเนสที่ 2 แห่งอาณาจักรเพอร์กามอน โดยสร้างให้อยู่ใกล้กับแอ่งน้ำแร่ร้อนปามุคคาเลย์ เฮียราโพลิส หมายถึง เมืองแห่งความศักดิ์สิทธิ์ เช่นเดียวกับเมืองทุกเมืองที่มียุครุ่งโรจน์ และยุคเสื่อมถอย หลังจากเมืองนี้ถูกยกให้พวกโรมัน ก็เกิดแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงจนเมืองย่อยยับ ประมาณปลายศตวรรษที่ 2 เฮียราโพลิส ค่อยๆ ถูกบูรณะฟื้นฟูขึ้นใหม่ จนก้าวสู่ศตวรรษที่ 3 ด้วยความรุ่งโรจน์สุดๆ จนถึงศตวรรษที่ 7 ก็ถึงยุคเสื่อม เมื่อถูกข้าศึกต่างถิ่นรุกราน นอกจากนี้ยังได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว  

มีสถานที่ที่น่าสนใจคือ

-          นีโครโพลิส ย่านที่เหมือนสุสานเต็มไปด้วยโลงศพหินเรียงรายกว่า 1,200 โลง มีถนนสายกลางที่พาดผ่านเมืองที่สองฟากฝั่งเป็นซากปรักหักพัง แต่ก็ยังพอเห็นเค้าโครงของความเป็นเมืองอยู่บ้าง
-          ถนนสายหลัก ยาว 1.50 กิโลเมตร ทั้งสองฝั่งเต็มไปด้วยซากเสา ทั้งประตูเมือง ร้านค้า อาคารสาธารณะ บ้านช่องห้องหับของชาวเมือง ที่เก็บเสบียง
-          สระน้ำโบราณ บ่อน้ำแร่โบราณอายุนับพันปีที่น้ำใสมาก จนมองเห็นซากเสาหินโบราณสมัยโรมันกระจัดกระจายอยู่ใต้น้ำ บรรยากาศโดยรวมถูกตกแต่งด้วยต้นปาล์ม ต้นสน และไม้พุ่ม ชวนให้ดูเพลิน  เป็นสถานที่บำบัดโรคภัยไข้เจ็บ 
-          โรงละคร ขนาดใหญ่ตั้งอยู่ใจกลางเฮียราโพลิส จุคนได้ประมาณ 12,000 คน สร้างขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 2 เดินขึ้นเขาไปประมาณ 10 นาที จากสระน้ำแร่โบราณ เวทีค่อนข้างสมบูรณ์ เพราะได้มีการปรับปรุงใหม่ รวมถึงมีรูปสลักของเทพบางองค์ สมัยก่อนเวลามีการจัดการแข่งขัน เทศกาลงานประเพณีทางศาสนาและความเชื่อ รวมถึงการแสดงใดๆ ก็ใช้โรงละครแห่งนี้
-          พิพิธภัณฑ์เฮียราโพลิส สร้างขึ้นใหม่เมื่อ 1984 บนพื้นที่เดิมที่เคยเป็นโรงอาบน้ำสาธารณะ ด้านในเต็มไปด้วยโบราณวัตถุ พวกเครื่องกระเบื้อง ถ้วยชาม เครื่องปั้นดินเผา รูปสลักของเทพ ไปจนถึงเครื่องประดับต่างๆ 
-          ประตูเมือง อยู่ทางด้านเหนือของเมืองเฮียราโพลิส ยังมีสภาพดี
-          วิหารอพอลโล  สร้างขึ้นเพื่อบูชาเทพอพอลโล ตั้งอยู่ใกล้กับสระน้ำแร่โบราณ ว่ากันว่าเป็นจุดที่ใช้พยากรณ์ และทำนายเรื่องต่างๆ ของบ้านเมือง รวมถึงเชื่อกันว่า ประตูสู่สวรรค์ก็อยู่บริเวณนี้ด้วย
-          พลูโตเนียม สถานที่เก่าแก่ที่สุดที่ชาวเมืองใช้ในการทำพิธีบูชาเทพเจ้า โดยชาวเมืองเชื่อกันว่าเป็นหลุมกำจัดภูตผีปีศาจทั้งปวง ตั้งอยู่ด้านข้างวิหารอพอลโล
-          อนุสาวรีย์น้ำพุ ตั้งอยู่ด้านหน้าวิหารอพอลโล สร้างในช่วงศตวรรษที่ 2 คอยลำเลียงน้ำไปให้บ้านเรือนในเมืองได้ใช้กัน
-          โรงอาบน้ำโบราณ สร้างขึ้นหลังเกิดแผ่นดินไหว มีหลายห้อง บางห้องเชื่อมกับสระน้ำ เดิมทีผนังมีการตกแต่งด้วยหินอ่อนอย่างสวยงาม
-          อะกอรา เดิมทีมุมนี้เหมือนเป็นแหล่งชุมนุม พบปะ พูดคุยของชาวเมือง ที่นำข้าวมาวางขาย หรือแลกเปลี่ยนกัน  
 Cr.https://www.taladtour.co.th



ตักศิลา Taxila


  
ตักศิลา (อ่านว่า ตัก-กะ-สิ-ลา) เป็นชื่อนครหลวงของแคว้นคันธาระของอินเดียโบราณ อยู่ห่างจากกรุงอิสลามาบัดนครหลวงของปากีสถานในปัจจุบันไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ ๓๐ กิโลเมตร เป็นนครศูนย์กลางการศึกษาศิลปะและวิทยาการแขนงต่างๆ ทั้งของพราหมณ์และของพุทธ แต่คงสร้างขึ้นหลังสมัยพุทธกาล  มีสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์สั่งสอนศิลปวิทยาต่างๆ แก่ศิษย์ที่มาเล่าเรียน บุคคลสำคัญและมีชื่อเสียงที่สำเร็จการศึกษาจากที่แห่งนี้ อาทิ พระเจ้าปเสนทิโกศล หมอชีวกโกมารภัจจ์ องคุลิมาล
       
เมืองตักศิลาถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ เป็นนครหลวง แห่งแคว้นคันธาระ ๑ ใน ๑๖ แคว้นของชมพูทวีป ที่สถาปนาขึ้นโดยชาวอารยัน มีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำแคว้นและรุ่งเรืองมานับพันปี ก่อนพุทธกาลมีความรุ่งเรืองถึงขีดสุดในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์ได้สร้างตักศิลาให้มีชื่อเสียงกิตติศัพท์ขจรขจาย พร้อมกับการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ต่อมาตักศิลาตกอยู่ภายใต้อารยธรรมอีกมากมาย เช่น อารยธรรมกรีก โดยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช และอารยธรรมฮินดูอีกหลายราชวงศ์ แต่กระนั้นก็ยังแสดงความเจิดจรัสแห่งพระพุทธศาสนา กระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ ๕ ชนชาติเฮพธาไลต์ (Hephthalite) ยกทัพมาตีอินเดียและทำลายพระพุทธศาสนา เมืองตักศิลาพินาศสาบสูญแต่บัดนั้น
ปัจจุบัน ตักศิลาคงเหลือแต่ซากเมืองให้ได้เห็น สถานที่สำคัญคือพิพิธภัณฑ์ตักศิลา ซึ่งได้เก็บรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับความเป็นอยู่และภูมิปัญญาของชาวตักศิลายุคต่างๆ เอาไว้อย่างเป็นระบบระเบียบ รวมถึงซากสถูปเจดีย์ วัดวาอาราม และปฏิมากรรมศิลปะคันธาระจำนวนมาก รัฐบาลปากีสถานได้อนุรักษ์ไว้เป็นโบราณสถานภายใต้การสนับสนุนขององค์การยูเนสโก
 
ตักศิลา ตั้งอยู่ในหุบเขาแม่น้ำฮาโรซึ่งมีลำธารสาขากระจายอยู่จำนวนมาก ทำให้พื้นที่อุดมสมบูรณ์ ขณะเดียวกันก็ตั้งอยู่ห่างจากแม่น้ำสินธุมากพอที่จะไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมประจำปี เมืองนี้ยังตั้งอยู่บนจุดตัดของเส้นทางการค้า ๓ เส้นได้แก่
๑. เส้นทางด้านทิศเหนือ เชื่อมแคว้นคันธาระกับแคว้นมคธ
๒. เส้นทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เชื่อมเอเชียตะวันตกกับอนุทวีป ผ่านแคว้นบัคเตรีย กปิศะ ปุษกลาวตี  และ
๓. เส้นทางด้านแม่น้ำสินธุ เชื่อมเอเชียกลางด้านตะวันออกและมณฑลซินเจียงของจีนเข้ากับอนุทวีป ผ่านทางช่องเขาคุนเจราบเรื่อยลงมาทางหุบเขาศรีนครในแคชเมียร์ของอินเดีย มันเซห์รา และหุบเขาหริปุระในปากีสถาน
      
จากสภาพดังกล่าว รวมถึงการที่ตั้งอยู่ในแคว้นคันธาระซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าชายแดนด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของชมพูทวีป ตักศิลาได้รับอานิสงส์จากความสำคัญของแคว้นไปด้วย ส่งเสริมให้เมืองนี้กลายเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาของอินเดียช่วงประมาณศตวรรษที่ ๖ ก่อนคริสต์ศักราช ดังจะเห็นจากการที่พระไตรปิฎกกล่าวถึงบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากเมืองนี้อยู่หลายท่าน
Cr. http://www.sookjai.com

 

อาณาจักรพยู Pyu Acient Cities



ชาวพยู เป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่ตั้งถิ่นฐานก่อนที่ชาวพม่าจะเข้ามาอยู่ โดยชาวพยูมีการอยู่รวมกลุ่มกันสร้างชุมชนขึ้นมาในแถบลุ่มน้ำอิรวดี ต่อมาได้รวมกันสร้างอาณาจักรขึ้น โดยให้ชื่อว่า อาณาจักรศรีเกษตร (Sri Ksetra) โดยอาณาบริเวณ ได้กินพื้นที่กว้างขวาง เกือบทั้งหมดของลุ่มน้ำอิรวดีนี้ 

โดยได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอินเดีย ไม่ว่าจะเป็น ภาษา ศิลปะ วัฒนธรรม รวมถึงสถาปัตยกรรม นอกจากนี้ยังได้รับอิทธิพลการนับถือศาสนาพุทธเข้ามาด้วย โดยอาณาจักรศรีเกษตรนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเพียงอย่างเดียวเท่านั่น แต่เมื่อรวมเอาอารยะธรรมบริเวณใกล้เคียงเข้าไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นเปียทะโนมโย (Peikthanomyo) และหะลินยี (Halingyi) ซึ่งอยู่ในยุคเดียวกัน ทำให้ได้รับการผนึกรวมขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม ภายใต้ชื่อ เมืองโบราณอาณาจักรพยู (Pyu Ancient Cities)

โดยสถาปัตยกรรมของชาวพยู เป็นต้นแบบของงานสถาปัตยกรรมของชาวพม่า ได้มีการค้นพบเจดีย์ที่เมืองศรีเกษตร ก็คือเจดีย์บอบอจี (Bawbaw Gyi) และเจดีย์ปะยาจีย์ (Pya Gi) เป็นรูปแบบเจดีย์ทรงระฆัง ซึ่งถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมของเจดีย์ของพม่าในยุคต่อมา ไม่ว่าจะเป็น เจดีย์ชเวดากอง เจดีย์วิหาร มิงกาลาเจดีย์ หรือแม้แต่เจดีย์ธรรมยันสิกะ รวมไปถึงวิหารที่สำคัญอย่างได้แก่ วิหารเบเบจี (Bebe Gyi) และวิหารเลเมียทนา (Limyethna) โดยอาณาจักรพยูถือได้ว่าเป็นอาณาจักรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศพม่า

ในปัจจุบันนี้ อาณาจักรพยู เหลือเพียงซากปรักหักพังของ กำแพงเมือง ป้อมปราการราชวัง สถูปอิฐของพุทธศาสนา และมีงานทางด้านศิลปะและสถาปัตยกรรมที่ยังหลงเหลือไม่มากนัก โดยเหล่านักโบราณคดียังคงทำการขุดค้นอย่างต่อเนื่อง จุดเด่นคือแหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้จัดได้ว่ามีความสดใหม่สำหรับชาวโลก เนื่องจากพม่าเพิ่งจะมีนโยบายเปิดประเทศมาไม่นานนัก ทำให้ขณะเยี่ยมชมนักท่องเที่ยวอาจจะพบเจอนักสำรวจ กำลังทำการขุดค้นหาหลักฐานใหม่ของอาณาจักรพยูก็เป็นได้
Cr.http://www.iloveoperation.com



เอเฟซุส City of Ephesus



 เป็นเมืองกรีกโบราณที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของอานาโตเลียในจังหวัดอิซเมียร์ในประเทศตุรกีปัจจุบัน เอฟิซัสเป็นหนึ่งในสิบสองเมืองของสหพันธ์ไอโอเนีย (Ionian League) ในสมัยกรีกคลาสสิค ในสมัยโรมันเอฟิซัสเป็นเมืองที่ใหญ่เป็นสองของจักรวรรดิโรมันรองจากโรมที่เป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิอยู่เป็นเวลานาน
        
เอเฟซุสมีประชากรกว่า 250,000 คนในศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสต์ศักราชซึ่งเท่ากับทำให้เป็นเมืองที่ใหญ่เป็นสองของโลกในยุคนั้นด้วย ชื่อเสียงของเมืองมาจากเทวสถานอาร์ทีมิส (สร้างเสร็จราว 550 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ตัวเทวสถานถูกทำลายในปี ค.ศ. 401 โดยฝูงชนที่นำโดยนักบุญจอห์น คริสซอสตอม จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 1 ทรงสร้างเมืองขึ้นมาใหม่และทรงสร้างโรงอาบน้ำสาธารณะ 

ต่อมาในปี ค.ศ. 614 บางส่วนของตัวเมืองก็มาถูกทำลายไปโดยแผ่นดินไหว เมื่อความสำคัญทางการค้าขายของเอฟิซัสลดถอยลง อ่าวก็ตื้นเขินขึ้น ในปัจจุบันศูนย์โบราณคดีของเอฟิซัสตั้งอยู่ราว 3 กิโลเมตรไปทางตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมืองแซลจุค (Selçuk) ซากเมืองโบราณของเอฟิซัสเป็นสิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเป็นอันมาก

จูเลียส ซีซาร์เคยมาประชุมขุนนางโรมันผู้ปกครองเอเชียทั้งหมดที่เมืองนี้รวมไปถึง 2 มือมีดที่ฆ่าจูเลียส ซีซาร์คือ บรูตัส (Brutus) และคาสเซียส (Cassius) ก็หนีมาหลบซ่อนตัวที่นี่ รวมทั้งมาร์ก แอนโทนีและพระนางคลีโอพัตราแห่งอียิปต์ ก็เคยมาเยี่ยมเยือนเมืองเอเฟซุสแห่งนี้ 
Cr.https://www.taladtour.co.th



นครเพตรา Petra
(Cr.ภาพ Go Together Travel)



ตั้งอยู่ในหุบเขาวาดี มูซา (Wadi Musa) ทางตอนใต้ของทะเลเดดซีประเทศจอร์แดน ในอดีตที่นี่เคยเป็นถิ่นฐานของชาวบานาเทียน (Nabataeans) ชาวอาหรับเผ่าเร่ร่อนกลางทะเลทรายที่มาตั้งรกรากและสร้างบ้านเรือนเอาไว้ในบริเวณนี้

เมืองเพตรามีอายุยาวนานกว่า 2 พันปี สร้างขึ้นโดยการสลักหน้าผาหินทรายเข้าไปเพื่อทำเป็นที่อยู่อาศัย นครเพตราเจริญสูงสุดในช่วง 50 ปีก่อนคริสตกาลและกลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญที่สุดของชาวอาหรับ ชาวบานาเทียนผู้เร่ร่อนจึงได้เปลี่ยนอาชีพมาเป็นพ่อค้าและนักคุ้มครองกองคาราวานเนื่องจากตลอดเส้นทางนั้นเต็มไปด้วยอันตรายทั้งภัยธรรมชาติและภัยจากมนุษย์

ในภาษากรีกคำว่าเพตราหมายถึง “หิน” ตรงกับภาพลักษณ์ที่ปรากฏให้เห็น ความยิ่งใหญ่ของเพตรามาถึงจุดเสื่อมลงเมื่อมีเส้นทางการค้าอื่นที่สะดวกและปลอดภัยกว่าเกิดขึ้นทำให้พ่อค้าเลิกสนใจในเมืองเพตรา กระทั่งในปี 106 เมืองเพตราถูกผนวกเข้ากับอาณาจักรโรมันและถูกมุสลิมยึดครองในช่วงศตวรรษที่ 7 จากนั้นเพตราก็กลายเป็นเมืองที่หายสาบสูญไปเป็นเวลานานแสนนาน

นครเพตราเผยโฉมให้โลกได้รู้อีกครั้งในปี 1812 เมื่อโจฮันน์ ลุควิก เบิร์กฮาร์ท (Johann Ludwig Burckhardt) นักสำรวจชาวสวิสเซอร์แลนด์ได้ค้นพบเมืองเพตราโดยบังเอิญขณะเดินทางจากจอร์แดนไปยังอียิปต์ ในเวลาต่อมาเพตราก็ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมในปี 1985 จากองค์การยูเนสโกโดยอธิบายว่า “เป็นหนึ่งในสิ่งที่ล้ำค่ามากที่สุดของมรดกทางวัฒนธรรมแห่งมวลมนุษยชาติ” (One of the Most Precious Cultural Properties of man’s Cultural Heritage) และถูกยกให้เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคปัจจุบัน
Cr.https://amazedculturetravel.wordpress.com
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่