จิตก่อสร้าง กับจิตดำรง

จิตก่อสร้าง กับจิตดำรง

  วิญญาณในขันธ์ เป็นรูปสังขาร

  "จิต" คือ ตัวธรรมชาติที่รับรู้อารมณ์
  "วิญญาณ" คือ สิ่งที่ปรากฏให้รับรู้สื่อสารว่าเป็นอะไร

  ถ้าในขันธ์ ๕ จิตของเราอยู่ตรงไหน?

  ถ้าในขันธ์ ๕ เป็นจิตของจิต คือ จิตตัวปรุง สมมติว่า จิตโทสะ ตรงนั้นแหละ เป็นขันธ์ ๕ ปรุงขึ้นมาแล้ว เป็นจิตโทสะ ถ้าเป็นจิตเฉยๆ คือ จิตประภัสสร คือ จิตของธรรมชาติ คือจิตตัวที่รับรู้อารมณ์ ถ้าเราไม่แยกอย่างนี้ เราก็จะสับสนอยู่เรื่อย ต้องแยกให้ชัดเจนไปเลยว่า จิตก็คือว่า เป็นจิตธรรมชาติ รับรู้อารมณ์ 

  ทีนี้ รับรู้อารมณ์อะไร?

  ก็จะเป็นจิตอีกทีหนึ่ง เช่น จิตโทสะ เป็นจิตที่รับรู้อารมณ์โทสะ เช่น จิตกาแฟ จิตหลงใหล เราจะต้องแยกอย่างนี้ก็จะเกิดความชัดเจน

  วิญญาณ คือ สิ่งที่ปรากฏให้เราเห็น คือ รับรู้แห่งความเป็นรูปธรรม พูดง่ายๆ ว่า รับรู้แห่งความเป็นสังขาร 

  ถ้าเราแปลอย่างนี้ อธิบายอย่างนี้ จะชัดเจนง่าย ถ้าไม่อย่างนั้นก็จะสลับไปมา

  ถ้าแปลอย่างนี้จะปฏิวัฒน์ความคิดเลยนะ ความคิดนั้นผิดหมด ผิดแล้วสับสนในตัวอยู่เรื่อย

  ถ้าอย่างนี้ในขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ?

  สังเกตง่ายๆ คือ เวทนา ก็คือจิตแล้ว เช่น จิตรัก จิตชอบ จิตไม่ชอบ จิตรันทด จิตรังเกียจ

  ทำไม พระพุทธศาสนา ไม่เอาจิตมาเป็นข้อที่ ๖ ในขันธ์ ๕?

  ก็ไม่มี เพราะถ้าเกิดเวทนา ถ้าเราไม่มีจิตก็เกิดเวทนาไม่ได้ 

  ดังคำแปลที่ว่า "เวทนา" แปลว่า ความรู้สึก 

  เห็นไหม? ก็คือจิตแล้ว จิตชอบ จิตไม่ชอบ จิตรัก จิตโมโห ฯลฯ เป็นเวทนาทั้งนั้น

  ส่วนสัญญา แปลว่า ความจำ ก็ต้องอาศัยจิตทั้งนั้น

  ทำไมพระพุทธศาสนาของเรา ทางด้านพระสูตร ถึงไม่มีจิตในขันธ์ ๕

  พระพุทธศาสนาอธิบายไว้อย่างนี้ แต่คนไปแปลแล้วมันผิด ไม่ครบถ้วน เราอย่าอ้างแต่ว่าเป็นพระพุทธศาสนา เราเข้าใจเพียงพอไหม? เรานี่แหละ แปลผิด ไม่ใช่พระพุทธศาสนาผิด พระพุทธศาสนาบัญญัติมาถูก แต่เราเวลาแปลออกมาเราแปลมาผิด

  ขันธ์ ๕ ทุกข้อต้องมีจิตทั้งนั้น เราไปดูเถอะว่า ตัวไหนที่ไม่มีจิตผสม

  คนยุคหลังนี้อธิบายขันธ์ ๕ ไม่มีจิตผสมอยู่ในนั้น เป็นการไม่ถูกต้อง

  อย่างเช่น "รูป" ถ้าไม่มีรูปลักษณ์สังขาร แล้วจะเป็นรูปไหม?

  จิตเป็นนายกายเป็นบ่าวหรือเปล่า? จะเป็นรูปได้จะต้องมีจิตไหม? คุณไม่มีจิตไม่สามารถปรากฏเป็นรูปอย่างนั้นได้

  ยกตัวอย่าง "โต๊ะ" จะต้องมีจิตแห่งโต๊ะ จึงออกมาเป็นรูปสัณฐานแห่งโต๊ะ ถ้าไม่มีจิตแล้วเราจะทำโต๊ะตัวนี้ได้อย่างไร? เราจะยอมเข้าใจไหมว่า จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว ถ้าเราตอบว่าใช่ จะต้องมีจิตก่อนทั้งนั้น จิตจะต้องไปกำหนดว่าจะทำอะไร ถึงจะออกมาเป็นรูปอย่างนั้น จริงไหม?

  "ก้อนหิน" ไม่มีจิตแห่งความเป็นก้อนหิน คือ จิตดั้งเดิมของเขา ที่จะสร้างให้เป็นก้อนหินขึ้นมา แต่จิตไม่ดำรงอยู่ในโต๊ะ ไม่ดำรงอยู่ในหิน เป็นตัวก่อเกิดให้เขาเป็น แต่ไม่ได้ดำรงจิตไว้

  แต่มนุษย์ของเรานี้ก่อเกิดแล้ว และจิตยังดำรงอยู่ เพราะจิตของเราจะแปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

  เวลานี้เราดีอยู่ มีจิตฝ่ายขาว ถ้าไม่มีจิตดำรงอยู่ เดี๋ยวจิตสายดำ ความคิดที่ไม่ดีของเราจะมาจากไหน? เวลาเราดีก็ดีตลอดสิ ทำไมถึงมีจิตชั่วบ้าง เขาเรียกว่า จิตมันมี แต่อันนั้นเป็นจิตก่อเกิด ไม่ใช่จิตดำรง

  มนุษย์ของเราจะต้องมีจิตก่อเกิดและจิตดำรง

  ยกตัวอย่างเช่น หุ่นยนต์โซเฟีย (Sophia) เป็นหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ที่ผลิตโดยบริษัทแฮนสันโรโบติกส์ในฮ่องกง ประเทศจีน ได้รับสิทธิเป็นพลเมืองของประเทศซาอุดีอาระเบีย หุ่นยนต์นี้ก็เหมือนกัน มีจิตในการก่อเกิด สร้างสรรค์ แต่ไม่มีจิตในตัวของเขา เขาจึงสร้างอารมณ์ต่อไปไม่ได้ นอกจากจะต้องมีโปรแกรมใส่เข้าไป มีจิตก่อเกิดสร้างสรรค์ เช่น ใส่รหัสเป็นคนดุร้าย หรือพลังดี ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่า เขาใส่รหัสชิปเซต (Chipset) เข้าไป สิ่งเหล่านี้เป็นจิตก่อสร้างของมนุษย์เราบงการเข้าไป ไม่ใช่ว่าโดยธรรมชาติ ไม่ใช่จิตดำรง เป็นจิตสร้างสรรค์ของมนุษย์ 

  หุ่นยนต์นี้ทำไปเพราะจิตสร้างสรรค์ของจิตมนุษย์ ฉะนั้น หุ่นยนต์นี้ไม่สามารถดำรงความเป็นอิสระได้

  จิตดำรงเป็นของมนุษย์ บุคคล เป็นบุคคลที่มีชีวิต อย่างเช่นคนมักจะพูดว่า มี"จิตวิญญาณ" 

  พออย่างนั้นมีแต่จิตสร้างสรรค์ แต่พออีกตัวหนึ่งเขามีวิญญาณ ไม่มีจิตล่ะ แต่มนุษย์เรามีจิตก่อเกิดสร้างสรรค์เสร็จแล้ว เป็นคนแล้ว ข้างในของเขาก็จะมีจิตดำรง จิตต่อเนื่อง จิตวิญญาณ

  เวลานี้คนทั่วไปสับสนกันหมด

  จิตก่อสร้าง จิตก่อเกิดขึ้นมา ถ้าไม่อย่างนั้นจะมีขึ้นมาได้อย่างไร 

  ส่วนจิตที่จะดำรงอยู่ พัฒนาข้างในเขาเรียกว่า "จิตดำรง" แต่ที่ชาวบ้านทั่วไปเข้าใจ เขาเรียกว่า "จิตวิญญาณ" เพราะจะสร้างสรรค์วิญญาณไปเรื่อยๆ เพราะรูปจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

  ถ้าอย่างนั้น บางสิ่งถึงมีจิตก่อเกิดสร้างสรรค์ และมีจิตดำรง ต่อมา?

  ไม่ใช่บางสิ่ง แต่เป็นสรรพสิ่งทั้งหลายมันขึ้นอยู่กับเจตนาของธรรม ว่าจะให้เป็นส่วนไหนๆ เช่น ทำไมปลาจะต้องไปอยู่ในน้ำ ทำไมปลาไม่เหาะได้บ้าง มันไม่มี เพราะเจตนาของธรรมเขาจะแบ่งให้ เพื่อความยุติธรรมในการดำรงอยู่ในธรรม

  ทำไมธรรมจะต้องแบ่งเป็นชั้นให้ เพราะว่าต้องให้ดำรงอยู่ในธรรมได้ทุกสัดส่วน เช่น ทำไมเสือจึงต้องกินเนื้อ ทำไมวัวกินหญ้า แต่ละส่วนเพื่อให้เกิดความสมดุล นี่คือเจตนาฟ้าดิน แต่กลัวคนจะเข้าใจผิด ก็จะบอกว่าเป็นเจตนาของธรรม

  ถ้าเราเคยศึกษาเต๋า (道) คัมภีร์อี้จิง (易經) จะเข้าใจสิ่งเหล่านี้ง่ายมาก จะแยกชัดเจนเลย  

  ถ้าไม่อย่างนั้ัน เสือก็กินหญ้าได้นะสิ ทำไมเสือไม่กินหญ้า แล้วทำไมคนไม่กินหญ้าแล้วจะมีหญ้าเหลือพอให้เกินไหม? แต่ส่วนที่เป็นเนื้อก็จะล้นล่ะ เพื่อให้เกิดความสมดุลแห่งธรรม เพราะยุติธรรม มีธรรมให้ทุกๆ ส่วน ของปรากฏการณ์ขึ้นมาของเขา

  แล้วทำไมมนุษย์ของเราถึงจะต้องเกี่ยวเนื่องด้วยกฎแห่งกรรม แล้วสัตว์ไม่เกี่ยวเนื่องด้วยกฎแห่งกรรมหรือ?

  เกี่ยวสิ!! 

  ถามว่า ยกตัวอย่างเช่น มนุษย์ฆ่าสัตว์ไม่ได้ แต่เสือฆ่าสัตว์ได้?

  เกี่ยวทุกส่วนสรรพสิ่งในโลก ว่าด้วยวิบากแห่งกรรมทั้งนั้น อย่างเช่น ก้อนหินหนึ่งก้อน บางก้อนอยู่บนบก แต่บางก้อนถึงไปอยู่ใต้น้ำล่ะ เห็นไหมถ้าไม่มีกฎแห่งกรรม ไม่มีวิบากแห่งกรรม ก้อนหินนี้ก็ไม่ต้องไปอยู่ใต้น้ำ

  สัตว์กินสัตว์ เป็นบาปไหม?

  สัตว์กินสัตว์ เป็นบาปทั้งนั้น มีวิบากแห่งกรรมทั้งนั้น ถ้าไม่เป็นบาปก็ไม่ต้องไปถูกสนองให้คนอื่นกิน สัตว์ตัวนี้กินสัตว์ตัวนั้น สัตว์ตัวนั้นกินสัตว์ตัวโน้น ฯลฯ
  ถ้าไม่เชื่อก็ลองไปดูว่า สมมติว่า สัตว์ตัวนี้กินแมลง เดี๋ยวก็ถูกตัวที่ใหญ่กินไปอีก เป็นห่วงโซ่ แม้มนุษย์ของเราก็ไม่มีพิเศษ เหมือนกัน มนุษย์ก็จะต้องถูกทำลายเหมือนกัน ถูกเป็นไปตามกฎแห่งกรรม

  ถ้าเราบอกว่าเราเป็นมนุษย์ไม่ถูกกินใช่ไหม?

  เป็นไปไม่ได้ เวลาเราตายหนอนกินทั้งนั้น 

  จุลินทรีย์กินเราไหม?

  ถ้าไม่กิน ร่างกายเราจะย่อยสลายยังไง เพื่อความยุติธรรม ไม่มีใครหลีกเลี่ยงกฎแห่งกรรมได้

  แต่มนุษย์เราต้องรอตายก่อนนี่

  เราไม่มีแต่หรอก แต่ละภูมิย่อมมีระยะเวลาไม่เหมือนกัน ของใครของเขา แต่เวลานี้มนุษย์เราถูกกินไหม? ถ้าไม่ถูกกิน เราไม่เป็นโรค ให้เจ็บป่วยหรอก อย่างนี้เราก็ต้องสบายดีนะสิ ไม่มีสิ่งไม่สบายนะสิ แต่ทุกเวลา ข้างในร่างกายเราถูกกินนะ แต่เรายังมีความต้านทานเพียงพอเราก็ไม่เป็นอะไร คือ แสดงออก แต่แสดงน้อย

  ทุกวินาที คือ การถูกกลืนกินก่อเกิดตลอดเวลา จะต้องมีการก่อเกิด ดำรงอยู่ และแปรเปลี่ยน  "แปรเปลี่ยน" นี่แหละ ทุกกินแล้ว

^_^  ..._/\_...  ^_^ 
ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกกล่าวมา
อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
เอื้อ-เกื้อ-กัน เป็นกัลยาณมิตรทุกขณะจิต



เครดิต ภาพจาก https://www.thairath.co.th/news/foreign/1137197
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่