JJNY : 3 บิ๊กค้าข้าวชี้ เป้า 9 ล้านวืด/ไฟแนนซ์เข้ม ตลาดรถซึม ร่วง2เดือนติด/เครื่องมือเกษตรยอดขายฝืด อัดโปร 0% 6 เดือนฯ

กระทู้ข่าว
3 บิ๊กค้าข้าวชี้ เป้า 9 ล้านวืด
https://www.thansettakij.com/content/408277

ส่งออกข้าวไทยหืดจับ ปัจจัยใน-นอกรุมเร้า ทั้งบาทแข็ง ภัยแล้ง จีนคู่ค้ากลายเป็นคู่แข่ง บิ๊กทรีวงการ “เอเซีย โกลเด้น ไรซ์-นครหลวง-ธนสรร” ยันปีนี้แค่ประคองธุรกิจให้อยู่รอด เป้าประเทศ 9 ล้านตันโอกาสวืดสูง

เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้ปรับลดเป้าหมายการส่งออกข้าวไทยปี 2562 จาก 9.5 ล้านตัน ลงเหลือ 9 ล้านตัน จากมีปัจจัยลบทั้งเงินบาทแข็งค่ามากส่งผลราคาส่งออกข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่งขัน จีน 1 ในประเทศคู่ค้าสำคัญมีสต๊อกข้าวมาก ความต้องการนำเข้าข้าวลดลง ภัยแล้งส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดลง ราคาข้าวสูงขึ้น ทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น สวนทางกับสถานการณ์ส่งออกชะลอตัวลงในทุกตลาด ทำให้เป้าหมายส่งออก 9 ล้านตันยังต้องลุ้นว่าจะทำได้หรือไม่ เพราะจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ระบุช่วง 7 เดือนแรก ปีนี้ไทยส่งออกข้าวได้แล้ว 4.90 ล้านตัน หมายความว่าอีก 5 เดือนที่เหลือต้องส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 8.18 แสนตันจึงจะบรรลุเป้าหมาย

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มีโอกาสสูงที่การส่งออกข้าวไทยปีนี้จะไม่ถึง 9 ล้านตัน (ปี 2561 ส่งออก 11.2 ล้านตัน มูลค่า 1.82 แสนล้านบาท) จากมีหลายปัจจัยลบ ที่สำคัญได้แก่ เงินบาทที่แข็งค่ามาก ทำให้ข้าวไทยเสียเปรียบและแข่งขันยาก เช่น ข้าวหอมมะลิราคาเอฟโอบีเวลานี้ต้องขายที่ 1,250 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เทียบข้าวหอมเวียดนาม(ที่มีเกรดรองกว่า)ขายที่ 550 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ,ข้าวเหนียวไทย 1,450 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน เทียบข้าวเหนียวเวียดนามขายที่กว่า 600 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน, ข้าวนึ่งไทย 420 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เทียบข้าวนึ่งอินเดียขายที่ 390 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ซึ่งจะเห็นว่าราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่งทุกตัว จากผลพวงเงินบาทแข็งค่าและต้นทุนข้าวสูง ทำให้ขายได้ลดลง

ขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งที่เวลานี้คาดจะทำให้ผลผลิตข้าวในภาคอีสานซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าวหอมมะลิที่เพิ่งเริ่มปลูกได้รับความเสียหายแล้วไม่ตํ่ากว่า 10% หากไม่มีนํ้าเติมคงได้รับความเสียหายมากขึ้น ส่วนที่เสียหายแล้วและมีการปลูกใหม่คาดการเก็บเกี่ยวผลผลิตจะล่าช้าไปจากเดิมไม่ตํ่ากว่า 1 เดือน หรือเก็บเกี่ยวช่วงเดือนธันวาคม-มกราคมปีหน้า ซึ่งจะมีผลให้ราคาข้าวมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นไปอีก (จาก ณ วันที่ 27 ส.ค. 62 ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิเฉลี่ยที่ 1.6-1.8 หมื่นบาทต่อตัน และราคาข้าวสารหอมมะลิเฉลี่ย 3.4-3.6 หมื่นบาทต่อตัน) ยิ่งกระทบความสามารถแข่งขันส่งออก

“เงินบาทแข็งค่ามาก แต่ค่าเงินของคู่แข่งเช่นเวียดนาม อินเดียยังอ่อนค่า ทำให้เราเสียเปรียบ ส่วนฟิลิปปินส์เปลี่ยนนโยบายให้เอกชนที่ได้รับใบอนุญาตสามารถนำเข้าข้าวได้โดยเสรีโดยเก็บภาษี 35% จากเดิมมีการกำหนดโควตานำเข้า ซึ่งพอปล่อยฟรีผู้นำเข้าฟิลิปปินส์ก็ไปนำเข้าจากเวียดนามที่ราคาถูกกว่า ส่วนฮ่องกงที่เวลานี้ยังมีการชุมนุมประท้วง หากยังยืดเยื้อ จะกระทบเศรษฐกิจและการบริโภคที่ลดลง จากในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวไปฮ่องกงกว่า 40 ล้านคน ชาวฮ่องกงอีก 7 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลต่อการนำเข้าข้าวที่ลดลง”

“ฐานเศรษฐกิจ”ได้สอบถามไปยังผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ 3 อันดับแรกได้แก่ กลุ่มเอเซีย โกลเด้น ไรซ์, กลุ่มนครหลวงค้าข้าว และกลุ่มธนสรร ไรซ์
ผู้บริหารทุกบริษัทต่างยอมรับว่า ปีนี้เป็นปีที่ลำบาก

นายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ ประธานบริษัท เอเซีย โกลเด้น ไรซ์ จำกัด(บจก.) กล่าวว่า การส่งออกข้าวของบริษัทและภาพรวมของประเทศเวลานี้อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ดี จากราคาข้าวไทยสูงโด่งตามเงินบาทที่แข็งค่า เช่น ข้าวขาว 5% เวลานี้ราคาเอฟโอบีไทยขายที่ 405 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะอินเดียอยู่ที่ 370-375 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน คู่ค้าหันไปนำเข้าจากอินเดีย รวมถึงเวียดนามมากขึ้น ส่วนที่จีนหนึ่งในคู่ค้าสำคัญมีการนำเข้าข้าวลดลงจากเงินหยวนอ่อนค่า และเศรษฐกิจจีนชะลอตัวจากสงครามการค้า อีกด้านจีนได้นำข้าวเก่าในสต๊อกมาขายแข่งราคาตํ่าในตลาดแอฟริกาที่เป็นหนึ่งในตลาดหลักของไทย

ส่วนสถานการณ์ในประเทศผลจากภัยแล้ง ผู้ค้าข้าวในประเทศและผู้ส่งออกแข่งซื้อข้าวเก็บเพราะเกรงไม่มีข้าวส่งมอบลูกค้า ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกและข้าวสารแนวโน้มสูงขึ้น ผู้ส่งออกที่รับคำสั่งซื้อล่วงหน้าถึงเวลาต้องซื้อส่งมอบเพื่อรักษาลูกค้า ขาดทุนก็ต้องยอม เพื่อประคองธุรกิจ และคนงานในปีนี้ให้อยู่รอด การส่งออกข้าวของบริษัทช่วง 7 เดือนแรกปริมาณลดลง 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ปี 2561 กลุ่มเอเซีย ส่งออกข้าว 1.56 ล้านตัน)
อยากฝากกระทรวงพาณิชย์เร่งฟื้นตลาดข้าวอิรักขึ้นมาใหม่เพื่อให้มีช่องทางส่งออกเพิ่มขึ้น

นายวัลลภ พิชญ์พงศา รองกรรมการผู้จัดการ บจก.นครหลวงค้าข้าว กล่าวว่า ปีที่แล้วบริษัทส่งออกข้าวได้ 1.50 ล้านตัน ปีนี้ยังต้องลุ้นว่าจะได้เกิน 1
ล้านตันหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คงลดลงจากปีที่แล้ว เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงค่อนข้างมากทั้งค่าเงิน ต้นทุน คำสั่งซื้อที่ลดลง และคู่แข่งขัน

เช่นเดียวกันนายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการ บจก.ธนสรร ไรซ์ ที่เผยว่า ปีที่ผ่านมาบริษัทส่งออกข้าวได้ 9.05 แสนตัน ต้นปีที่ผ่านมาตั้งเป้าส่งออกปี 2562 ที่ 8 แสน-1 ล้านตัน ล่าสุดตัวเลข 6 เดือนแรก บริษัทส่งออกแล้วกว่า 4 แสนตัน ซึ่งด้านปริมาณและมูลค่าลดลงกว่า 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดการส่งออกของบริษัทปีนี้น่าจะทำได้ที่ 6-7 แสนตันตํ่ากว่าเป้าหมาย ซึ่งผู้ส่งออกข้าวทุกรายก็มีสภาพที่ไม่ต่างกัน ถือเป็นปีที่ต้องประคองธุรกิจให้มีรายได้และกำไรพออยู่รอด เป้ารวมประเทศ 9 ล้านตันคงไม่ถึง



ไฟแนนซ์เข้ม ตลาดรถซึม ร่วง 2 เดือนติด
https://www.thansettakij.com/content/408279

ช่วงโลว์ซีซันในสภาพเศรษฐกิจซบ ฉุดยอดขายรถยนต์ร่วง 2เดือนติดเมื่อเทียบเดือนต่อเดือน ค่ายรถประสานเสียงไฟแนนซ์คุมเข้มสินเชื่อ แต่ยังมั่นใจตลาดรวมทะลุ 1 ล้านคันใกล้เคียงปีที่แล้ว

ตลาดรถยนต์นอกฤดูกาลขายสถานการณ์เริ่มดิ่งหัว สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในช่วงชีพจรเศรษฐกิจแผ่ว กำลังซื้อหด ตามสัญญาณของธนาคารแห่งประเทศไทยที่กังวลหนี้ครัวเรือนพุ่ง โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์คงค้างทะลุ 1 ล้านล้านบาทสูงเป็นประวัติการณ์ เมื่อพิจารณายอดขายเดือนพฤษภาคมทำได้ 88,097 คัน มิถุนายน 86,048 คัน กรกฎาคม 81,044 คัน ซึ่ง 2 เดือนหลังยอดลดลง 2.1% และ 1.1% ตามลำดับเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว

ทั้งนี้ ตลาดรถยนต์เดือนกรกฎาคมที่ขายไป 81,044 คัน แบ่งเป็นเซ็กเมนต์รถเพื่อการพาณิชย์ลดลง 2.4% รถยนต์นั่งโต 0.8 % โดยรายใหญ่ “โตโยต้า” ทำได้ 25,760 คัน ตก 1.8% โดยยอดขายที่หดตัวเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปัจจัยที่มีผลกับการซื้อขายคือความเข้มงวดเรื่องการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินต่างๆ

รวมไปถึงผู้บริโภคบางส่วนยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจ​ในประเทศที่ไม่แน่นอน  ส่วนราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวอยู่ในระดับตํ่า ด้วยปัจจัยทั้งหมดนี้ทำให้หลายค่ายประเมินว่า ยอดขายรถในเดือนสิงหาคมทรงตัว

“มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและนโยบายต่างๆของภาครัฐ จะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนปรับตัวดีขึ้น ขณะเดียวกันกิจกรรมส่งเสริมการขายของแต่ละบริษัท รวมไปถึงการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ๆจะมีผลช่วยกระตุ้นตลาดได้” นางปวีณา นันทิกุลวาณิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าว

ด้านนายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการบริหารด้านการขายและการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ยอดขายรถยนต์รวมที่หดตัวติดต่อกัน เมื่อมองจากภาพรวมเศรษฐกิจถือว่าไม่ต่าง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ สถาบันการเงินตระหนก หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยมีความเข้มงวดมากขึ้น
ส่งผลให้ยอดปฏิเสธการขอสินเชื่อสูงขึ้น

“แบงก์ชาติส่งสัญญาณมายังแบงก์พาณิชย์ ทำให้ขั้นตอนในการขอสินเชื่อมีเงื่อนไขมากขึ้น แต่ในภาพรวมของระบบเศรษฐกิจไทยนั้น ไม่ได้น่าเป็นห่วง
โดยเราประเมินว่าตลาดรถยนต์จนถึงสิ้นปียังคงเติบโต เพราะมีรถรุ่นใหม่ๆ และทุกค่ายมีมาตรการกระตุ้นตลาดออกมา”

นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานบริหารฝ่ายการตลาดและรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดรถยนต์ในปีนี้คาดว่าจะทำได้ 1.04 ล้านคัน ถือว่าทรงตัว โดยปัจจัยที่จะช่วยให้ตลาดคึกคักคือการเปิดตัวรถใหม่ ส่วนการเมืองก็ดี มีความชัดเจน ขณะที่ความเข้มงวดของไฟแนนซ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ ไม่กระทบกับมาสด้า เพราะปกติลูกค้าของมาสด้าส่วนใหญ่จะไม่เน้นดาวน์ตํ่า แต่ให้ความสำคัญกับดอกเบี้ยตํ่ามากกว่า ซึ่งมาสด้าได้จับมือกับสถาบันการเงินที่เป็นพันธมิตรนำเสนอแพ็กเกจแคมเปญที่ตรงใจลูกค้าที่สุด

นายวิชิต ว่องวัฒนาการ กรรมการผู้จัดการฟอร์ด ประเทศไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดรถยนต์คาดว่าจะทรงตัว โดยมีปัจจัยคือ ภาวะเศรษฐกิจ และสินเชื่อ เพราะที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยส่งสัญญาณเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อให้กับ ไฟแนนซ์ หรือธนาคารพาณิชย์ ส่งผลให้มีความเข้มงวดมากขึ้น
มีเงื่อนไขหรือขั้นตอน ยกตัวอย่าง วางเงินดาวน์สูงขึ้น, ขอผู้คํ้า,ขอเอกสารเพิ่มเติม ทำให้ยอดปฏิเสธหรือรีเจ็กต์มันมีสัดส่วนมากขึ้น

ในกลุ่มรถหรู “เมอร์เซเดส-เบนซ์” ที่ทำยอดขาย 7 เดือนได้ 8,322 คัน ลดลง 2.8% ยังคงมั่นใจว่าจนถึงสิ้นปีจะทำยอดขายได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยนายโรลันด์ โฟลเกอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดรถยนต์รวมได้รับผลกระทบจากความเข้มงวดของสถาบันการเงิน โดยลูกค้าอาจจะต้องวางเงินดาวน์เพิ่มขึ้น ส่วนในกลุ่มรถหรูนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นถือว่าน้อยกว่า คาดว่าจนถึงสิ้นปีตลาดยังคงเติบโต

“ตลาดรถยนต์ของไทยยังมีปัจจัยสนับสนุนไม่ว่าจะเป็น การท่องเที่ยว, การลงทุนต่างๆ รวมไปถึงกลยุทธ์ของแต่ละค่ายไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวรถรุ่นใหม่, การทำแคมเปญ ส่วนปัจจัยที่กังวลคือ ค่าเงินบาทแข็งที่มีผลกับการส่งออก” นายโรลันด์ โฟลเกอร์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ด้วยอานิสงส์ตั้งแต่ต้นปียอดขายรถยนต์สะสม 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.62) ยังโต 5.9% เมื่อเทียบ กับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ด้วยจำนวน 604,814 คัน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่