ความหมายของ "วิปัสสนากรรมฐาน"

ความหมายวิปัสสนาตามรูปศัพท์ (สัททนัย)

พระมหาสมปอง มุทิโต (๒๕๔๕ : ๘๗) กล่าวว่า วิปัสสนา มาจาก อุปสัค ธาตุ วิภัตติ ปัจจัย สาธนะ วิเคราะห์ ดังนี้

วิ อุปสัคใช้นำหน้านามและกิริยาให้วิเศษขึ้นในที่นี้นำหน้านามกิตก์มีอาการคล้ายคุณศัพท์ เมื่อนำหน้ากิริยาคล้ายกิริยาวิเสสนะ แปลว่า วิเศษ แจ้ง ต่าง

ทิส ธาตุ หมายถึง ดู มอง เห็น พบ ลง อ ปัจจัยประจำหมวดทิศธาตุ

สิ ปฐมาวิภัตติ

ลง ยุ ปัจจัยในนามกิตก์ และ อา ปัจจัยในอิตถีลิงค์

เป็นภาวรูป ภาวสาธนะ

วิเคราะห์ว่า วิปสฺสน = วิปสฺสนา วิปัสสนา แปลว่า การเห็นรูปนามตามเป็นจริง ดังนั้น วิปัสสนา จึงมาจาก วิ บทหน้า ทิส ธาตุ อ ปัจจัยประจาหมวดธาตุ ลง ยุ ปัจจัย ลง สิ ปฐมาวิภัตติ เป็นภาวรูป ภาวสาธนะ แปลว่า การเห็น ชื่อว่า วิปัสสนา"

พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช) (๒๕๔๘ : ๘๒๔) กล่าวว่า "วิปัสสนา ศัพท์นี้เป็นศัพท์ภาษาไทย มาจากศัพท์บาลีว่า วิปสฺสนา แยกศัพท์ออกเป็น วิ + ปสฺสนา วิปสฺสนา วิปัสนา, ความเห็นแจ้ง

วิวิธ อนิจฺจาทิก สงฺขาเรสุ ปสฺสตีติ วิปสฺสนา แปลว่า ปัญญาที่เห็นสภาวะต่าง ๆ มีอนิจจลักษณะเป็นต้นในสังขาร (วิ บทหน้า ทิส ธาตุในความหมายว่าเห็น ลง ยุ ปัจจัย อา อิตฺถีลิงค์ แปลง ทิส เป็น ปสฺส, ยุ เป็น อน) สำเร็จรูปเป็น วิปสฺสนา"

พระธรรมวโรดม (บุญมา คุณสมฺปนฺโน) (๒๕๕๐ : ๑๘๐) กล่าวว่า “ธรรมชาติที่ชื่อว่า วิปัสสนา เพราะอรรถว่า เห็นสังขารธรรม โดยอาการต่างๆ ด้วยอำนาจอนิจจลักษณะ เป็นต้น ได้แก่ ภาวนาปัญญา มีอนิจจานุปัสสนา เป็นต้น."
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่