การตลาดแบบ AP Honda
.
จากครั้งก่อนได้เขียนบทความถึง All-New CBR150R 2019 กับการก้าวข้ามภาพลักษณ์ “รถเก็บเงินกู้” ซึ่งทางบริษัท AP Honda (ประเทศไทย) โอ้เอ้ชักช้าไม่ยอมปรับโฉมรถใหม่เพื่อต่อกรกับคู่แข่ง โดยมีระยะเวลาประมาณ 5 ปี กว่าที่จะยอมกลับปรุงเปลี่ยนโฉมรถจนได้เป็น All-New CBR150R ในปีนี้
.
ทั้งนี้ได้เกิดเป็นคำถามในเรื่องที่ว่า ทำไมทาง AP Honda ถึงไม่ยอมรีบเปลี่ยนแปลงรูปโฉมรถให้เป็นไปตามกระแสนิยมในช่วงเวลานั้น ทั้งที่ความจริงทางค่ายรถมีความพร้อมในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเทคโนโลยี ทีมวิศวกร หรือแม้แต่โมเดลรถประเภทเดียวกันที่ทำตลาดอยู่ต่างประเทศ เช่น อินโดเนียเซีย เป็นต้น
.
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ค่ายรถจักรยานยนต์ค่ายใหญ่ (เฉพาะสัญชาติญี่ปุ่น) ที่ทำตลาดในประเทศไทย การตลาดที่ขึ้นชื่อลือชาที่สุดคงหนีไม่พ้น Suzuki แต่สำหรับบทความนี้ ผู้เขียนจะนำพาไปรู้จักการตลาดแบบ AP Honda (ร้ายเหลือยิ่งกว่าใคร)
.
บริษัท AP Honda จดทะเบียนในประเทศไทยวันที่ 1 มีนาคม 2529
.
อุปนิสัยการตลาดของทาง AP Honda เมื่อนำข้อมูลรุ่นรถต่างๆ ในค่ายที่เปิดตัวในไทย อาจกล่าวได้ว่าประเภทรถหรืองานดีไซน์ ที่เปิดตัวสู่ท้องตลาดส่วนหนึ่งล้วนกำลังเป็นที่นิยมของตลาดอยู่ในช่วงเวลานั้นอยู่แล้ว โดยมีค่ายรถอื่นเป็นผู้ปั่นกระแสรถนั้นๆ ขึ้นมา ยกตัวอย่าง CBR150R (2019) ที่เพิ่งเปิดตัวในไทย
.
อาจจะจริงในเรื่องที่ว่า CBR 150R คือรถสปอร์ตขนาดเครื่องยนต์ 150cc เพียงรุ่นเดียวที่ทำตลาดหลังจากสิ้นสุดยุคทองของรถ 2 จังหวะในไทย
.
แต่เมื่อเปรียบเทียบตอนที่ Yamaha R-15 เปิดตัวครั้งแรกในปี 2557 โดยงานดีไซน์ออกแบบของ R-15 ตั้งอยู่บนความสปอร์ตตามยุคตามสมัย พูดง่ายๆ ว่า “ R15 ดูสปอร์ตกว่า CBR150 ในขณะนั้นอย่างมาก” แต่สำหรับการตลาดของ AP Honda อาจมองว่าทิศทางของงานดีไซน์ยังไม่มีความนิ่งมากพอในตลาดประเทศไทย บริษัทก็เลือกที่จะไม่เสี่ยงเปลี่ยนแปลงงานดีไซน์รถแต่อย่างใด นอกจากเปลี่ยนสีและสติกเกอร์เป็นหลักอย่างที่คุ้นชินกัน
.
หากย้อนกลับไปในยุคเริ่มต้นของบริษัท AP Honda รถรุ่นแรกๆ ที่ได้เริ่มทำการตลาดแบบเกาะกระแสนั้นคือ Nova S (กระเทยรุ่นแรกของทางค่าย) ในปี 2531 ซึ่งหากจะนับรถกระเทยรุ่นแรกในไทยคือรุ่น Bell 80 ของค่าย Yamaha และตามต่อด้วย Suzuki Sprinter โดยได้รับความนิยมอย่างมาก ก่อนที่ Nova s จะมาตีตลาดรถกระเทยแตกสะแหลกขาด จนสุดท้ายรถในรหัส Nova ได้กลายเป็นเบอร์ 1 ในรถประเภทกระเทยในไทยในช่วงยุคนั้นก็ว่าได้
.
ในช่วงเวลาไล่ๆ กันนี้เอง ตลาดของรถสปอร์ต 150 cc เครื่องยนต์ 2 จังหวะกำลังเริ่มได้รับความนิยม โดยมีทาง Suzuki RGV-S กรุยทางเดินไว้ในปี 2528 และตามติดมาด้วย Yamaha VR150 ในปี 2530 ซึ่งกว่าทาง AP Honda จะส่ง Nsr 150R (2532) ทำตลาด กระแสความนิยมชมชอบของรถสปอร์ต 150 cc ก็เริ่มได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน
.
เฉกเช่นเดียวกันกับรถออโตเมติกที่กลับมาทำตลาดอีกครั้งหลังปี 2545 เป็นต้นมา โดยมีทางค่าย Yamaha เป็นผู้เริ่มจุดกระแสกับรถรุ่น Nouvo 115 และทาง Honda ก็ส่ง Cick เข้าทำตลาดในปี 2549 หลังจากที่ทิศทางตลาดในไทยเริ่มสนใจรถออโตเมติก ทั้งนี้ก่อนที่ทาง AP Honda จะเป็นตัวแทนจำหน่ายในไทย ช่วงเวลาก่อนนั้นบริษัทตัวแทนจำหน่ายเก่าเคยส่งรถออโตเมติกรุ่น Lead 125 (มอไซค์ออโตรุ่นแรกในไทย) ทำตลาดมาก่อนแล้วในราวๆปี 2526 โดยประมาณ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
.
แม้กระทั้งตลาดรถมินิไบค์ที่ทางค่าย Kawasaki ได้กรุยทางเดินไว้อย่างสวยงาม โดยมี Ksr110 เป็นรุ่นรถทำตลาด เมื่อทิศทางกระแสของรถแนวนี้เริ่มเป็นที่นิยม ทาง AP Honda จึงไม่รอช้าส่ง Msx125 เข้าทำตลาดเพื่อแบ่งยอดเม็ดเงิน สำหรับ Msx ถือว่าออกมาฆ่า Ksr ได้ตายสนิทและยังลามไปถึง Z125 อีกด้วย
.
ในช่วงที่รถวิบากและโมตาดได้รับความนิยม โดยมี Kawasaki KLX หรือ D-tracker เป็นผู้เริ่มกระแสรถประเภทนี้ หลังจากนั้นทาง AP Honda ก็ส่ง CRF250 (L/M) เข้าทำตลาด ซึ่งมีทั้งวิบากและโมตาดจากโรงงานตามมาเหมือนเงา
.
กระแสรถคลาสสิคก็ไม่เว้น โดยหลังจากที่ค่าย Stallion ได้จุดกระแสรถแนวคลาสสิคในไทยได้อีกครั้ง โดยรถคลาสสิคของ Stallion ที่จุดกระแสคือ CT150 ซึ่งมีเครื่องยนต์ขนาด 150cc ทำให้มีราคาค่าตัวที่สามารถจับต้องได้ง่ายกว่ารถใหญ่ เมื่อ AP Honda เห็นกระแสรถประเภทนี้อยู่ตัวแล้วก็ไม่รอช้าส่ง CB150R เข้าทำตลาด ถึงแม้จะเป็นรถทรงโมเดิร์นคลาสสิคก็ตาม
.
ลักษณะการตลาดแบบ AP Honda ประมวลผลจากรุ่นรถที่ได้กล่าวถึงไป แต่ละรุ่นที่ออกมาจับกระแสรถประเภทต่างๆ ล้วนประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งนั้น โดยนิสัยของทางบริษัทไม่นิยมที่จะเสี่ยงเป็นผู้นำกระแสเหมือนกับค่ายอื่นๆ แต่ชอบที่จะตามกระแสที่กำลังเป็นที่นิยมในขณะนั้นมากกว่า อาจเปรียบเปรยได้ดั่งว่า “จับเสือมือเปล่า” ก็ว่าได้
.
สุดท้ายนี้ลักษณะการตลาดแบบ AP Honda ไม่ได้การันตีถึงความสำเร็จใดๆ ได้เลย สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือ คุณภาพของรถ ไม่ว่าจะในเรื่องเครื่องยนต์ อะไหล่ชิ้นส่วนต่างๆ รวมไปถึงบริการหลังการขาย องค์ประกอบเหล่านี้ล้วนมีอยู่ใน AP Honda ซึ่งผลผลลัพธ์สุดท้ายที่ได้คือผู้บริโภคมีมั่นใจในคุณภาพสินค้า
ลิงค์ข้อมูลสำหรับรุ่นรถที่เขียนไปแล้ว เพื่อง่ายต่อการอ่าน
การตลาดแบบ AP Honda (ร้ายเหลือยิ่งกว่าใคร)