JJNY : 4in1 ชัชชาติประกาศพร้อมเป็นแคนดิเดตนายก/10พรรคชูแก้เหลื่อมล้ำ/สมชายรีไทร์การเมือง/Pwcคาดศก.โลกชะลอตัว

ชัดแล้ว! “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ประกาศเอง พร้อมเป็น ‘แคนดิเดต นายกรัฐมนตรี’
https://www.khaosod.co.th/politics/news_2095135

ชัดแล้ว! “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ประกาศเอง พร้อมเป็น ‘แคนดิเดต นายกรัฐมนตรี’


ชัชชาติ พร้อมเป็น นายกรัฐมนตรี – เมื่อวันที่ 16 ม.ค. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรมว.คมนาคม และแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่ ครม.ขยายเวลาบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยประชาชนสามารถกดเงินสดจากบัตรได้ว่า ก็ถือเป็นเรื่องดี มองในแง่หนึ่งทำให้เกิดการหมุนเวียนเงินได้เร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม การแจกเงินไม่ใช่เรื่องยาก แต่หัวใจคือทำอย่างไรให้คนมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า นั่นคือหน้าที่หลักของรัฐบาลที่จะทำให้เศรษฐกิจโตขึ้น แต่หากไปกู้เงินมาแจกจะกลายเป็นภาระของประชาชนในอนาคต ส่วนที่ว่ามาทำโครงการนี้ในช่วงที่มีการเลือกตั้งนั้น แล้วแต่คนจะตีความ

ทั้งนี้ ตนไม่ได้เห็นด้วยกับการแจกเงิน แต่ถ้าจะแจกก็ไม่อยากให้แจกเฉพาะร้านธงฟ้าประชารัฐ และไม่อยากให้นำเงินอนาคตมาแจก อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าประชาชนเขาแยกออกว่าไม่ใช่การใช้เงินของพรรคการเมืองมาแจก เป็นเงินภาษีของประชาชนนั่นเอง

    เมื่อถามถึงความพร้อมในการเปิดตัวเป็น 1 ใน 3 รายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย นายชัชชาติ กล่าวว่า “ผมไม่รู้เรื่องครับ อันนี้ต้องแล้วแต่ทางพรรคเพื่อไทย หากทางพรรคเพื่อไทย เห็นว่า เหมาะสม ผมก็พร้อม”

เมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรที่ประชาชนอยากให้ท่านเป็นนายกฯ นายชัชชาติ กล่าวว่า ตนคิดว่าต้องฟังเสียงคนด่ามากกว่าชม ซึ่งคนชมเราก็ขอบคุณ แต่ยิ่งคนชมเยอะเราก็ยิ่งรู้สึกว่าภาระหนัก




10พรรค ชูแก้เหลื่อมล้ำ ผ่านสร้างรายได้เกษตรกร-ลดอำนาจรัฐ-แก้ผูกขาด
http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/824349

10พรรค ชูแก้เหลื่อมล้ำ ผ่านสร้างรายได้เกษตรกร-ลดอำนาจรัฐ-แก้ผูกขาด

วันที่ 16 ม.ค.2562 - มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมกับ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดเวทีวิชาการ เรื่อง "มุมมองทางการเมืองต่อความเหลื่อมล้ำทางสังคม" มีตัวแทนของพรรคการเมือง 10 พรรค ซึ่งเตรียมลงเลือกตั้งในปี 2562 ร่วมเวที ทั้งนี้บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีตัวแทนนิสิต ประชาชนร่วมฟังมุมมอง รวมถึงสมาชิกพรรคการเมืองต่างๆ มาร่วมให้กำลังแกนนำที่ขึ้นเวที อาทิ นายจตุพร พรมหพันธุ์ , นายยงยุทธ ติยะไพรัช แกนนำพรรคไทยรักษาชาติ , นางรัชฎาพร แก้วสนิท สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์, นายชำนาญ จันทร์เรือง พรรคอนาคตใหม่ เป็นต้น

ทั้งนี้ตัวแทนทุกพรรคการเมืองเสนอแนวทางลดความเหลื่อมล้ำ ผ่านการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ผ่านสร้างโอกาสทางการศึกษาและยกระดับรายให้กับเกษตรกร รวมถึงลดอำนาจรัฐที่เป็นปัจจัยเอื้อให้เกิดระบบผูกขาดจากนายทุนเพียงกลุ่มเดียว

"เพื่อชาติ" เตรียมเลิกระบบผูกขาด หากเป็น "รัฐบาล"

โดยนายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า สาเหตุของความเหลื่อมล้ำ เพราะการผูกขาดจากบุคคลเพียงคนเดียว และเกิดการตัดตอนไม่ให้บุคคลอื่นเข้าไปมีส่วนร่วม ทำให้กลายเป็นแบบการผูกขาดระยะยาว เนื่องจากผู้มีอำนาจเป็นผู้เอื้อประโยชน์ให้กับบุคคลที่เป็นเจ้าของการผูกขาด ทั้งนี้หากพรรคเพื่อชาติเป็นรัฐบาลจะยกเลิกระบบผูกขาดบางเรื่องที่ไม่ยุติธรรม แต่จะยังเลือกให้การผูกขาดบางเรื่องยังอยู่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ขณะที่แนวทางแก้ไขและลดความเหลื่อมล้ำ คือ สร้างโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียม ผ่านบุคลากรที่มีคุณภาพสู่ชุมชนเพื่อสอนเยาวชน โดยมีแรงจูงใจคือให้สวัสดิการที่ดี รวมถึงสร้างมาตรฐานด้านการรักษาพยาบาลเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในชุมชน

"ปชป." ชู7นโยบาย เน้นลดการผูกขาดเอกชน-ปรับแนวคิดรัฐดูค่าเศรษฐกิจจากจีดีพี

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ต่อเนื่องและระยะยาว ต้องใช้แนวทางปรับแก้โครงสร้างของสังคม และระบบเศรษฐกิจ โดยพรรคประชาธิปัตย์มีแนวทางแก้ไข  คือ 1.เปลี่ยนกระบวนทัศน์ของรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ ตรวจสอบทุกโครงการและนโยบายสามารถกระจายรายได้ และมีผลสะท้อนด้านความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน มากกว่าใช้ตัวเลขจีดีพี 2.ลดราคาก๊าซหุงต้มที่ใช้ในครัวเรือน 3.จัดการปัญหาผูกขาดเอกชน ผ่านการใช้กฎหมายว่าด้วยการบังคับแข่งขันทางการค้า เพื่อไม่ให้เอกชนรวมตัวเพื่อเอาเปรียบประชาชนได้​  และภาครัฐ ต้องมองประโยชน์ส่วนรวมเหนือกว่าประโยชน์ของตนเอง 4.สายต่อนโยบายเพื่อสวัสดิการด้านสังคม ทั้งผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส รวมถึงเด็กปฐมวัย 5.การศึกษาและสาธารณสุขต้องเป็นธรรม ทั้งให้เรียนฟรี กระจายสถานพยาบาล และสถาบันการศึกษา 6.ปรับระบบโครงสร้างภาษีให้ผู้มีกำลังจ่าย สามารถจ่ายภาษีมากขึ้น ไม่ใช่ให้ผู้มีรายได้น้อยเป็นผู้แบกภาระ และ 7.ปฏิรูประบบยุติธรรม รวมถึงแก้ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนทางการเมือง

"พท." ยังชูราคาข้าวเกวียนหมื่นบาท-เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำวันละ 350 บาท

          ส่วนนายนพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมีแนวคิดและนโยบายสร้างรายได้ สร้างโอกาสและสร้างอนาคต ทั้งนี้เกษตรกรรมพรรคให้ความสำคัญ ทั้งรายได้ของผลผลิต เช่น ราคาข้าว ไม่ต่ำกว่าเกวียนละ 1หมื่นบาท , เปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชที่มีมูลค่าสูง โดยเฉพาะพืชปลอดสารเคมี, เพิ่มปริมาณผลผลิตผ่านการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย, ใช้ปัจจัยการผลิต เช่น ที่ดิน ต้องปรับกฎหมายให้ประชาชนใช้ที่ดิน สปก. เพื่อการเกษตรได้ นอกจากนั้น ยังมีนโยบายป่าพารวย โดยปลูกป่าไม้มีค่าที่สร้างรายได้ให้ชาวบ้านในพื้นที่เขตป่าสงวนและน้ำพารวย ผ่านการเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 60 ล้านไร่ เพื่อเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตเกษตร

นายนพดล กล่าวว่า สำหรับนโยบายเพื่อผู้มีรายได้น้อย ต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องปรับเป็น 350 บาทต่อคนต่อวัน ขณะที่ในแนวทางส่งเสริมอื่นๆ นั้น พรรคเพื่อไทยเตรียมนำนโยบายรถไฟความเร็วสูงมาปัดฝุ่น เพื่อกระจายความเจริญจากเมืองไปสู่ชนบท โดยไม่ต้องรอให้ประเทศไทยไม่มีถนนลูกรัง ส่วนนโยบายด้านการศึกษา คือ เด็กทุกคนที่ต้องการเรียนควรได้เรียน ผ่านการสนับสนุนกองทุนเพื่อการศึกษา ทั้งนี้ต้องส่งเสริมให้เด็กไทยคิดเป็น และรมว.ศึกษาธิการ ต้องปรับหลักสูตรให้เด็กไทยคิดเป็น เรียน 3 ภาษา ส่วนนักเรียนที่ติดหนี้ กยศ.​พรรคเพื่อไทยมีข้อเสนอคือ ปรับโครงสร้างหนี้

"ชทพ." ชูใช้ไอที-ปราชญ์ชาวบ้านช่วยเกษตรกร, สร้างยุทธศาสตร์การศึกษา ให้ "เยาวชน" ร่วม

ขณะที่ นายวราวุธ ศิลปอาชา ประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงข้อเสนอต่อการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ คือ 1.ยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกร ผ่านโครงการนิคมของเกษตรกร เพื่อให้เกิดการรวมตัวและให้องค์ความรู้กับเกษตรกรด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่และความรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อให้ผลิตผลผลิตที่มีมาตรฐานและเพิ่มช่องทางการขายสินค้า ทั้งนี้ตนเชื่อว่าเมื่อเกษตรกรมีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จะลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำด้านสังคมได้ และ 2.สร้างระบบกระทรวงศึกษาธิการพ้นจากอิทธิพลทางการเมือง รวมถึงปรับระบบการศึกษา ผ่านยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาที่ทันสมัย ผ่านการให้ตัวแทนของคนรุ่นใหม่ และเยาวชนเข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดยุทธศาสตร์

"อนาคตใหม่" ชูยกระดับคุณภาพแรงงาน

ส่วนนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า สังคมไทยกับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำต้องคิดให้ไกลกว่าการแก้รายประเด็น ทั้งนี้จากการลงพื้นที่พบประชาชนในพื้นที่ภาคอีสานและรับฟังข้อมูลจากผู้ใช้แรงงาน พบว่าใน 1สัปดาห์ ต้องใช้เวลาทำงานมากถึง 72 ชั่วโมง แต่รายได้ยังไม่พอเลี้ยงชีพ ดังนั้นสิ่งที่ต้องแก้ไขคือการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน

"ชาติพัฒนา" เสนอแผนเพิ่มการลงทุนกับเกษตรกรที่ยั่งยืน

ขณะที่ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำทางสังคมไทยมีต้นตอจากปัญหาทางเศรษฐกิจ และรายได้ของประชาชนในระดับต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร ส่วนตัวมองว่าเป็นเพราะรัฐบาลขาดการลงทุนด้านการพัฒนากับกลุ่มเกษตรที่ยั่งยืน ทั้ง การพัฒนาแหล่งน้ำที่ทั่วถึง, ระบบการขนส่ง, ส่งเสริมการทำเคมีอินทรีย์เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตผลเกษตรอย่างจริงจัง, ส่งเสริมการรวมตัวของเกษตรกร และส่งออกผลผลิตไปยังตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้ตนเชื่อว่าหารัฐส่งเสริมมาตรการดังกล่าว จะทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้นและลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้

"ไทยรักษาชาติ" ย้ำใช้แนวคิด "ไทยรักไทย" มาปัดฝุ่น

ด้าน ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำเกิดจากการผูกขาดโดยกลุ่มทุน ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ การประมูลรถไฟฟ้า ที่แม้จะประกาศให้เอกชนร่วมประมูล แต่มีผู้ที่ได้รับเลือกคือกลุ่มทุนที่มีความเชื่อมโยงกับผู้มีอำนาจ ทั้งนี้พรรคไทยรักษาชาติเห็นความสำคัญช่วยแก้ไขประชาชนทุกระดับ โดยปรัชญาที่พรรคจะใช้ซึ่งประสบความสำเร็จแล้ว เมื่อยังเป็นพรรคไทยรักไทย คือ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส ซึ่งเป็นปัจจัยที่เกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจ ที่เป็นต้นเหตุของปัญหาความเหลื่อมล้ำ

"มาตรการที่แก้ไขได้ ควรเริ่มจากระบบเศรษฐกิจ ผ่านการช่วยสนับสนุนประชาชนในระยะสั้น ขณะที่มาตรการระยะยาว คือ ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อสนับสนุนการดำรงชีวิตของประชาชน โดยสิ่งที่เน้นคือ เกษตรกรที่เป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ให้สามารถมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และนำเงินไปใช้สอยในพื้นที่ ส่งต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับใหญ่ต่อไป" ร.ท.ปรีชาพล กล่าว

"ภูมิใจไทย" เน้นให้โอกาสศึกษา อาชีพ สธ. เพื่อลดเหลื่อมล้ำ

ส่วนนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ สมาชิกพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำไม่ใช่ปัญหาเรื่องเงิน แต่คือ โอกาสที่ได้รับแตกต่างกัน พรรคภูมิใจไทยจึงมองเห็นปัญหาและแนวทางแก้ไข ผ่านการสร้างโอกาส ทั้งการศึกษา การประกอบอาชีพ และการรับบริการสาธารณะสุขที่ทัดเทียม ไม่ใช่การใช้แนวทางแก้ปัญหาเหมือนรัฐบาลที่ผ่านมา ผ่านควบคุมคนที่ได้รับโอกาส เช่น ธุรกิจขายออนไลน์ที่ขาดการส่งเสริม พบกฎหมายที่จำกัดการพัฒนา ส่วนระบบธุรกิจขนาดใหญ่รัฐบาลละเลยต่อแก้ระบบผูกขาด รวมถึงละเลยต่อระบบการพัฒนาคุณภาพสินค้า ขณะที่หน่วยงานราชการต้องถูกลดอำนาจ เพื่อเพิ่มอำนาจให้ประชาชน เพื่อให้การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทำได้จริง

"เอนก" บอกนโยบายแก้เหลื่อมล้ำ ปัจจัยร่วมงานรัฐบาล

นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ แกนนำพรรครวมพลังประชาชาติไทย กล่าวว่า รากฐานของประชาธิปไตยที่ดีคือการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทั้งนี้ระบบเศรษฐกิจที่ต้องการพัฒนาไปถึง 4.0 ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง หากไม่ทำให้ประชาชนมีการศึกษาที่ดี สำหรับแนวทางที่ลดความเหลื่อมล้ำของพรรครวมพลังประชาชาติไทยจะใช้เป็นจุดสำคัญต่อการตกลงร่วมเป็นรัฐบาล โดยสิ่งที่แก้ปัญหาคือ ส่งเสริมภาคเกษตรกรให้เป็นเกษตรปลอดภัย หรือ เกษตรอินทรีย์ และ ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง ที่คิดเป็นมูลค่ารวมกัน 24 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี และมีแนวโน้มเติบโตมากกว่าด้านอุตสาหกรรม

"เสรีรวมไทย" ซัดต้นตอเหลื่อมล้ำเพราะพรรคการเมืองผูกขาด

ด้านนายอนุกูล แพรไพศาล กรรมการบริหารพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ส่วนตัวมองว่าเป็นเพราะพรรคการเมืองที่ผูกขาดไม่เป็นของประชาชนที่แท้จริง และเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจ.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่