หากเปรียบโรคภูมิแพ้ (allergy) ดั่งระเบิดปรมาณูสักลูก มันคงเป็นปรมาณูที่ระเบิดไปแล้วอย่างเงียบกริบ แผ่อาณาบริเวณกว้างขวางจนคุณแทบไม่รู้สึกตัว มีประชากรทั่วโลกถึง 1 ใน 4 เป็นโรคภูมิแพ้ น่าสนใจที่เทรนด์แพ้ๆ กำลังมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และคุณเองก็อาจมีอาการแพ้โดยที่ยัง ‘ไม่รู้ตัว’
เรามักคิดว่าอาการภูมิแพ้เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย (immune system) ทำงานดีเกินไป แต่ที่ไหนได้ โรคภูมิแพ้มีอะไรซับซ้อนกว่านั้น คุณสามารถแพ้อะไรที่พื้นฐานมากๆ ตั้งแต่ อาหาร พิษแมลง เกสรดอกไม้ ผลิตภัณฑ์ในบ้าน ขนสัตว์ หรือแม้กระทั่ง ‘อสุจิ’ (ใช่! มีคนแพ้อสุจิในโลกนี้ แย่แล้ว)
แพทย์ทั่วโลกกำลังหัวหมุนว่าทำไมมนุษย์โลกกำลังเป็นภูมิแพ้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ร่างกายเรากำลังเล่นกลอะไรอยู่หนอ กลไกภูมิต้านทานกำลังส่งเสียงบอกอะไรเรา
เป็นไปได้ไหมที่เราจะเรียนรู้ชีวิตแพ้ๆ ที่ไม่แพ้ภูมิ
1. ต้นเหตุของคนแพ้ (ภูมิ)
หมาน่ารักดีแต่คุณเลี้ยงไม่ได้ ดอกไม้สวยจังแต่ก็ไม่กล้าดม อาหารทะเลน่ากินสุดๆ แต่กินปูทีไร แพ้จนเพื่อนหิ้วเข้าโรงพยาบาลทุกที ทำไมร่างกายเราเล่นตลกเช่นนี้!
อาการแพ้เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันร่างกายมีปฏิกิริยากับโมเลกุลโลกภายนอก ไม่ว่าจะเป็นสะเก็ดผิวหนังสัตว์เลี้ยง อาหารบางชนิด เกสรดอกไม้ ซึ่งโมเลกุลที่สามารถก่อให้เกิดการแพ้เรียกว่า ‘สารก่อภูมิแพ้’ (allergen) โดยส่วนใหญ่มันไม่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อร่างกาย เพราะร่างกายอันมหัศจรรย์ของคุณมี ‘แอนติบอดี’ (antibody) โปรตีนที่คอยสกัดจัดการผู้รุกรานอย่างแยบคาย
เมื่อได้รับสารก่อภูมิแพ้ ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันชนิด immunoglobulin E (IgE) เพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอม IgE แต่ละตัวก็จะจับคู่กับสารก่อภูมิแพ้นั้นๆ โดยเฉพาะเพื่อปล่อยสาร ‘ฮีสตามีน’ และสารอื่นๆ ที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการอักเสบ ซึ่งเจ้าภูมิคุ้มกันชนิดนี้มีความไวกว่าภูมิคุ้มกันอื่นๆ ถึง 1,000 เท่า ทำให้ภายในไม่กี่วินาทีอาการคุณก็จะออกหลังกินถั่วต้มข้างออฟฟิศ มันเป็นกลไกที่ชาญฉลาดของธรรมชาติ แต่ขณะเดียวกันก็ต้อนเราเสียจนมุม
รูปแบบชีวิตในปัจจุบัน—เจ้าภูมิคุ้มกัน IgE กลับทำงานผิดเพี้ยนไปจากเดิมค่อนข้างมาก ตัวภูมิคุ้มกันไปตอบสนองกับโมเลกุลที่ไม่ได้เป็นพิษเป็นภัยอะไรต่อร่างกายคุณเลย บางคนอ่อนไหว 10 เท่า แต่อีกคนอ่อนไหวมากถึง 1,000 เท่า แม้จะเป็นสารก่อภูมิแพ้ตัวเดียวกัน หลายทฤษฎีกล่าวว่า ในวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิตพยายามต่อกรกับปรสิตที่รุกรานคุณจากธรรมชาติ และคุณสมบัตินี้ได้ส่งต่อมาเรื่อยๆ จนถึงคุณในปัจจุบัน
แต่อย่าแอบดีใจไป การที่คุณแพ้ง่าย ไม่ได้หมายความว่า ‘ภูมิต้านทานดีเกินไป’ และยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า การที่คุณฝืนรับสารภูมิแพ้เข้ามามากๆ ก็ไม่ได้ทำให้คุณหายแพ้ต่อสิ่งนั้นๆ
อย่ารับคำท้าจากเพื่อน “แพ้ปูเหรอ กินไปเรื่อยๆ สิ เดี๋ยวก็ไม่แพ้” ถ้าเชื่อเช่นนั้นก็เตรียมจองเตียงแอดมิดได้เลย
2. คนทั่วไปแพ้อะไรกัน?
เรามาเช็กลิสต์กันก่อนว่า คุณแพ้อะไรที่พื้นฐานจนพบได้ทั่วไป ต้องมีบ้างสักอันล่ะ
อาหาร
อาหารเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดของอาการภูมิแพ้ โดยเฉพาะถั่ว ปลา สัตว์ทะเล บางคนแพ้ข้าวสาลี ส่วนในกรณีโรคแพ้กลูเตน (coeliac disease) ไม่ถูกจัดเป็นภูมิแพ้ แต่เป็น ‘โรค’ เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง อันเกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อโปรตีนกลูเตน
แมลง
พิษจากสัตว์มีเหล็กใน ผึ้ง ต่อ แตน มีสารจำพวก apitoxin ทำให้เกิดอาการอักเสบ แต่ในคนทั่วไปเมื่อได้รับพิษนี้ก็สามารถหายได้โดยใช้เวลาไม่นาน ยกเว้นคุณแพ้พิษแมลง ที่หากถูกต่อยเพียงครั้งเดียวก็อาจอันตรายถึงชีวิต
เกสรดอกไม้
hay fever (ไข้ละอองฟาง) เป็นอาการแพ้สารที่เป็นละอองในอากาศ โดยผู้คนมักเป็นกันมากช่วงฤดูใบไม้ผลิที่มีละอองเกสรดอกไม้ ดอกหญ้า และต้นไม้ล่องลอยอยู่ในอากาศจำนวนมาก ถือเป็นหายนะของคนรักการท่องเที่ยวธรรมชาติ
สัตว์เลี้ยง
การแพ้ขนสัตว์มักเป็นเรื่องปกติของผู้เป็นโรคหืดหอบ (asthma) น่าสนใจที่อาการแพ้ไม่ได้เกิดจากขนสัตว์โดยตรง แต่มาจากการเปื้อนปัสสาวะ น้ำลาย รังแค หรือเศษผิวหนังของสัตว์ที่ทำให้คุณแพ้
สัตว์รังควานภายในบ้าน
สิ่งปฏิกูลที่ไรฝุ่นและแมลงสาบทิ้งไว้ในบ้านคุณเป็นแหล่งสารก่อภูมิแพ้ชั้นดี มีคนแพ้สัตว์รังควานเหล่านี้เป็นอันดับ 2 รองจากเกสรดอกไม้ แต่ลำบากหน่อย เพราะ แมลงพวกนี้อยู่กับคุณเป็นเวลานาน ไม่ได้มาเป็นรายฤดูแบบเกสร
ยางลาเท็กซ์
มีการสำรวจว่า ประชากรโลกราว 1% แพ้โปรตีนในน้ำยางลาเท็กซ์ เป็นน้ำยางธรรมชาติที่เรามักพบในส่วนหนึ่งของอุปกรณ์ทางการแพทย์และทันตกรรมจำนวนมาก เช่น ถุงมือยางใช้แล้วทิ้ง แผ่นยางอนามัย ท่อช่วยหายใจ และสายน้ำเกลือ ผู้ที่ทำงานทางการแพทย์จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้มากกว่าคนอื่น
3. ทฤษฎีคุณอาจ ‘สะอาดเกินไป’
นักวิจัยเปิดมุมมองอีกด้าน เมื่อความสะอาดที่มากเกินไปต่างหากอาจทำร้ายชีวิตเรา วิถีชีวิตที่ไม่คลุกคลีกับธรรมชาติเลยมีแต่จะทำให้คุณอ่อนแอ เป็นข้อเสนอแนะโดย David Strachan นักระบาดวิทยาจาก London School of Hygiene and Tropical Medicine—คนแรกๆ ที่วิพากษ์ไลฟ์สไตล์คนยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะการเลี้ยงลูกแบบไข่ในหินไม่ให้เด็กไปสัมผัสกับจุลชีพในธรรมชาติเลยว่ามีแต่จะทำให้เด็กเกิดมาพร้อมปัญหาเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งมนุษย์ในสังคมตะวันตกที่วิตกกังวลเรื่องความสะอาดมักมีจำนวนจุลชีพลดลงถึง 40% หากเทียบกับมนุษย์ในอดีตที่ใช้ชีวิตแบบนักล่าและเก็บของป่า ทั้งๆ ที่แบคทีเรียส่วนหนึ่งอาจนำภูมิคุ้มกันที่ดีมาให้กับร่างกายด้วยเช่นกัน
งานวิจัยใหม่ๆ พบว่าเด็กที่เติบโตในฟาร์มต่างจังหวัดแข็งแรงกว่าเด็กที่เลี้ยงในห้องแอร์เมืองหลวง หรือครอบครัวที่ล้างจานด้วยมือมีภูมิคุ้มกันดีกว่าครอบครัวที่ใช้เครื่องล้างจาน รวมไปถึงคนในครอบครัวที่เลี้ยงสัตว์ (สุนัขเป็นฝันร้ายของคนคลั่งสะอาด) ก็มีระบบนิเวศของจุลชีพในร่างกายที่แตกต่างอย่างมีนัย
4. เราอาจทำลาย ‘แบคทีเรียใฝ่ดี’ โดยไม่รู้ตัว
การรณรงค์ความสะอาดเป็นสิ่งจำเป็นที่แวดวงแพทย์พยายามทำมานานนับร้อยๆ ปี และเป็นเรื่องพื้นฐานที่คุณควรรักษาความสะอาดอยู่แล้วเพราะมันช่วยลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อและทำให้คุณห่างไกลโรคระบาด แต่ความน่าสนใจอยู่ที่ มีความจำเป็นมากแค่ไหนถึงต้องฆ่าเชื้อแบคทีเรียทุกตัวในชีวิตคุณ เพราะในความเป็นจริง แบคทีเรียที่ก่อโรคมีพอๆ กับแบคทีเรียใฝ่ดีที่ช่วยให้ร่างกายคุณแข็งแรงขึ้น เช่นแบคทีเรียที่อยู่ในระบบย่อยอาหาร ลำไส้ ผิวหนัง โพรงจมูก หู ใต้วงแขน ฯลฯ แบคทีเรียใฝ่ดีทำงานอย่างขยันขันแข็งแต่ไม่ค่อยได้รับเครดิต เพราะถูกตราหน้าว่า ‘แบคทีเรีย’
แม้จะยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่า แบคทีเรียที่เสมือน ‘เพื่อนเก่า’ เหล่านี้ช่วยไม่ให้ภูมิคุ้มกันชนิด IgE อ่อนไหวเกินไปนัก แต่แน่นอน สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในร่างกายอาจมีอิทธิพลต่อการการควบคุมภูมิคุ้มกันอื่นๆ ลดภาวะอ้วนลงพุง อาการหลงๆ ลืมๆ จากอัลไซเมอร์ และโรคซึมเศร้า มีรายงานชัดเจนว่า แบคทีเรียในลำไส้สามารถปล่อยสารแห่งความสุข (serotonin) ที่ดูดซึมจากลำไส้ไปสู่สมองอีกด้วย ไม่น่าแปลกหากเราปฏิบัติดีกับแบคทีเรียในร่างกาย พวกมันก็จะตอบแทนในรูปแบบต่างๆ เช่นกัน
5. หนามยอกเอาหนามบ่ง กินจนกว่าจะไม่แพ้แก้ได้จริงหรือ?
มักมีคนมาบอกคุณว่า หากคุณแพ้อะไรให้ ‘สู้’ ด้วยการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งนั้นๆ จนภูมิต้านทานคุณแข็งแรงขึ้น ถ้าแพ้เกสรดอกไม้ ทำไมไม่เดินเล่นกลางสวนบ่อยๆ หรือหากรู้ว่าแพ้ถั่วก็ค่อยๆ กินถั่วไปทีละนิด
แต่ความพยายามดังกล่าวเป็นเรื่อง ‘อันตราย’ หากคุณพยายามด้วยตัวเอง
อย่างไรก็ตามมันก็ไม่ได้ไร้สาระเสียทีเดียวในทางวิทยาศาสตร์ เพราะการรับสารก่อภูมิแพ้ในระดับน้อยๆ สามารถทำให้คุณมีภูมิต้านทานในกรณีของพิษผึ้ง พิษต่อ และไรฝุ่น โดยรับการรักษาทางการแพทย์ที่เรียกว่า allergen immunotherapy ที่จะเพิ่มปริมาณสารภูมิแพ้ระดับน้อยๆ จนกว่าภูมิคุ้มกันจะคุ้นและรับมือได้ แต่เทคนิคนี้ก็ทำให้เกิดการแพ้ได้เช่นกันในบริเวณผิวหนังที่ฉีดเพื่อทดสอบ บางรายมีอาการหายใจติดขัด ซึ่งการกระทำดังกล่าวควรอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด จะสุ่มสี่สุ่มห้าทำเองไม่ได้ น่าเสียดายที่การรักษา allergen immunotherapy ยังไม่ได้ให้ผลที่แน่นอนนักในกรณีแพ้สัตว์เลี้ยง
ที่สำคัญที่สุด อย่าฝืนด้วยตัวเอง เพราะคุณไม่มีทางรู้ว่าภูมิคุ้มกันคุณจะเล่นใหญ่ระดับช่อง 8 ได้เมื่อไหร่
6. เราจะทำให้คนรุ่นต่อไป ‘ไม่แพ้’ ได้ไหม?
คำแนะนำแพทย์ที่เสมือนคำประกาศิต ย้ำเตือนให้บรรดาแม่ๆ หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจมีสารก่อภูมิแพ้ในช่วงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ซึ่งคำแนะนำนี้ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันแต่เนิ่นๆ ไม่ให้เด็กทารกมีปฏิสัมพันธ์ต่อสารก่อภูมิแพ้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งในระยะหลังๆ แพทย์เริ่มมีความเห็นเปลี่ยนไปว่า ที่ผ่านมาเราอาจจะป้องกันในลักษณะ ‘ไข่ในหิน’ เกินไปหน่อย
มีงานวิจัยพบกว่า เด็กแรกเกิด 6,000 รายที่แม่หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ในช่วงตั้งครรภ์ 4 เดือนแรก มีแนวโน้มที่จะเป็นภูมิแพ้เกสรดอกไม้มากขึ้นเมื่อเทียบกับเด็กที่แม่ใช้ชีวิตแบบปกติ
แทนที่จะหลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาดไปเลย ลองเปลี่ยนเป็นการทำให้ร่างกายของเด็กๆ เริ่มคุ้นเคยกับสารก่อภูมิแพ้ในปริมาณน้อยๆ ก่อนที่กลไกภูมิต้านทานจะพัฒนาอาจจะเวิร์กกว่า เด็กที่รับประทานถั่วในช่วง 4-11 เดือนแรกมีแนวโน้มจะแพ้ถั่วลดลง 81% เมื่อเทียบกับมาเริ่มเอาในช่วงวัย 5 ขวบ สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียออกคำแนะนำ ให้ทารกในช่วง 4-6 เดือน เริ่มมีปฏิสัมพันธ์อย่างน้อยๆ กับสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งเป็นการให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเริ่มคุ้นชินก่อนจะพัฒนาเป็นโรคภูมิแพ้ที่รุนแรงในภายหลัง
การศึกษาจากสหรัฐอเมริกาพบเชื้อจุลินทรีย์หรือแบคทีเรียชนิดดีบนผิวหนังซึ่งช่วยป้องกันการอักเสบเมื่อเราได้รับบาดเจ็บ เช่น มีแผล รอยถลอก เรื่องนี้สอดคล้องกับ ‘hygiene hypothesis’ หรือสมมติฐานอนามัยที่ว่า การได้สัมผัสกับ ‘แบคทีเรียชนิดดี’ หรือจุลินทรีย์ท้องถิ่นในวัยเด็กเล็กช่วยเสริมภูมิต้านทานและป้องกันโรคภูมิแพ้
กิจกรรมนอกบ้านที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติทำให้คุณเผชิญหน้าแบคทีเรียที่หลากหลาย และช่วยให้ระบบนิเวศของจุลชีพในร่างกายคุณได้ update firmware กระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง กุญแจคือการได้มีโอกาสสัมผัสดิน (soil) บ้าง ซึ่งปกติแล้วมีองค์ประกอบของดินเข้าสู่ร่างกายคนเราราว 50-60 มิลลิกรัมต่อวัน (อาจอยู่ในอาหารและน้ำดื่ม) เปิดบ้านรับอากาศภายนอกบ้าง ให้แสงและลมนำอากาศมาหมุนเวียน
ที่สำคัญคือการดูแลแบคทีเรียในร่างกายของคุณให้ดี พวกมันไม่ได้เป็นศัตรูที่ร้ายกาจเสมอไป การรับประทานอาหารครบทุกหมู่ พักผ่อนเต็มที่ และออกไปเจอธรรมชาติจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคุณและเพื่อนตัวน้อยยืนยาวสวยงาม จนแม้แต่แฟนคุณเองก็ทำให้ไม่ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
•Immunoglobulin E (IgE)
www.aaaai.org
•Immunoglobulin E in health and disease
www.ncbi.nlm.nih.gov
•Hay fever, hygiene, and household size.
www.ncbi.nlm.nih.gov
•The “hygiene hypothesis” for allergic disease is a misnomer
www.bmj.com
•Dirt can be good for children
news.bbc.co.uk
Illustration by Waragorn Keeranan
THE MATTER
ยุคสมัยแห่งความแพ้พ่าย? ทำไมเราเป็น ‘ภูมิแพ้’ กันมากขึ้น
เรามักคิดว่าอาการภูมิแพ้เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย (immune system) ทำงานดีเกินไป แต่ที่ไหนได้ โรคภูมิแพ้มีอะไรซับซ้อนกว่านั้น คุณสามารถแพ้อะไรที่พื้นฐานมากๆ ตั้งแต่ อาหาร พิษแมลง เกสรดอกไม้ ผลิตภัณฑ์ในบ้าน ขนสัตว์ หรือแม้กระทั่ง ‘อสุจิ’ (ใช่! มีคนแพ้อสุจิในโลกนี้ แย่แล้ว)
แพทย์ทั่วโลกกำลังหัวหมุนว่าทำไมมนุษย์โลกกำลังเป็นภูมิแพ้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ร่างกายเรากำลังเล่นกลอะไรอยู่หนอ กลไกภูมิต้านทานกำลังส่งเสียงบอกอะไรเรา
เป็นไปได้ไหมที่เราจะเรียนรู้ชีวิตแพ้ๆ ที่ไม่แพ้ภูมิ
1. ต้นเหตุของคนแพ้ (ภูมิ)
หมาน่ารักดีแต่คุณเลี้ยงไม่ได้ ดอกไม้สวยจังแต่ก็ไม่กล้าดม อาหารทะเลน่ากินสุดๆ แต่กินปูทีไร แพ้จนเพื่อนหิ้วเข้าโรงพยาบาลทุกที ทำไมร่างกายเราเล่นตลกเช่นนี้!
อาการแพ้เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันร่างกายมีปฏิกิริยากับโมเลกุลโลกภายนอก ไม่ว่าจะเป็นสะเก็ดผิวหนังสัตว์เลี้ยง อาหารบางชนิด เกสรดอกไม้ ซึ่งโมเลกุลที่สามารถก่อให้เกิดการแพ้เรียกว่า ‘สารก่อภูมิแพ้’ (allergen) โดยส่วนใหญ่มันไม่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อร่างกาย เพราะร่างกายอันมหัศจรรย์ของคุณมี ‘แอนติบอดี’ (antibody) โปรตีนที่คอยสกัดจัดการผู้รุกรานอย่างแยบคาย
เมื่อได้รับสารก่อภูมิแพ้ ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันชนิด immunoglobulin E (IgE) เพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอม IgE แต่ละตัวก็จะจับคู่กับสารก่อภูมิแพ้นั้นๆ โดยเฉพาะเพื่อปล่อยสาร ‘ฮีสตามีน’ และสารอื่นๆ ที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการอักเสบ ซึ่งเจ้าภูมิคุ้มกันชนิดนี้มีความไวกว่าภูมิคุ้มกันอื่นๆ ถึง 1,000 เท่า ทำให้ภายในไม่กี่วินาทีอาการคุณก็จะออกหลังกินถั่วต้มข้างออฟฟิศ มันเป็นกลไกที่ชาญฉลาดของธรรมชาติ แต่ขณะเดียวกันก็ต้อนเราเสียจนมุม
รูปแบบชีวิตในปัจจุบัน—เจ้าภูมิคุ้มกัน IgE กลับทำงานผิดเพี้ยนไปจากเดิมค่อนข้างมาก ตัวภูมิคุ้มกันไปตอบสนองกับโมเลกุลที่ไม่ได้เป็นพิษเป็นภัยอะไรต่อร่างกายคุณเลย บางคนอ่อนไหว 10 เท่า แต่อีกคนอ่อนไหวมากถึง 1,000 เท่า แม้จะเป็นสารก่อภูมิแพ้ตัวเดียวกัน หลายทฤษฎีกล่าวว่า ในวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิตพยายามต่อกรกับปรสิตที่รุกรานคุณจากธรรมชาติ และคุณสมบัตินี้ได้ส่งต่อมาเรื่อยๆ จนถึงคุณในปัจจุบัน
แต่อย่าแอบดีใจไป การที่คุณแพ้ง่าย ไม่ได้หมายความว่า ‘ภูมิต้านทานดีเกินไป’ และยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า การที่คุณฝืนรับสารภูมิแพ้เข้ามามากๆ ก็ไม่ได้ทำให้คุณหายแพ้ต่อสิ่งนั้นๆ
อย่ารับคำท้าจากเพื่อน “แพ้ปูเหรอ กินไปเรื่อยๆ สิ เดี๋ยวก็ไม่แพ้” ถ้าเชื่อเช่นนั้นก็เตรียมจองเตียงแอดมิดได้เลย
2. คนทั่วไปแพ้อะไรกัน?
เรามาเช็กลิสต์กันก่อนว่า คุณแพ้อะไรที่พื้นฐานจนพบได้ทั่วไป ต้องมีบ้างสักอันล่ะ
อาหาร
อาหารเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดของอาการภูมิแพ้ โดยเฉพาะถั่ว ปลา สัตว์ทะเล บางคนแพ้ข้าวสาลี ส่วนในกรณีโรคแพ้กลูเตน (coeliac disease) ไม่ถูกจัดเป็นภูมิแพ้ แต่เป็น ‘โรค’ เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง อันเกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อโปรตีนกลูเตน
แมลง
พิษจากสัตว์มีเหล็กใน ผึ้ง ต่อ แตน มีสารจำพวก apitoxin ทำให้เกิดอาการอักเสบ แต่ในคนทั่วไปเมื่อได้รับพิษนี้ก็สามารถหายได้โดยใช้เวลาไม่นาน ยกเว้นคุณแพ้พิษแมลง ที่หากถูกต่อยเพียงครั้งเดียวก็อาจอันตรายถึงชีวิต
เกสรดอกไม้
hay fever (ไข้ละอองฟาง) เป็นอาการแพ้สารที่เป็นละอองในอากาศ โดยผู้คนมักเป็นกันมากช่วงฤดูใบไม้ผลิที่มีละอองเกสรดอกไม้ ดอกหญ้า และต้นไม้ล่องลอยอยู่ในอากาศจำนวนมาก ถือเป็นหายนะของคนรักการท่องเที่ยวธรรมชาติ
สัตว์เลี้ยง
การแพ้ขนสัตว์มักเป็นเรื่องปกติของผู้เป็นโรคหืดหอบ (asthma) น่าสนใจที่อาการแพ้ไม่ได้เกิดจากขนสัตว์โดยตรง แต่มาจากการเปื้อนปัสสาวะ น้ำลาย รังแค หรือเศษผิวหนังของสัตว์ที่ทำให้คุณแพ้
สัตว์รังควานภายในบ้าน
สิ่งปฏิกูลที่ไรฝุ่นและแมลงสาบทิ้งไว้ในบ้านคุณเป็นแหล่งสารก่อภูมิแพ้ชั้นดี มีคนแพ้สัตว์รังควานเหล่านี้เป็นอันดับ 2 รองจากเกสรดอกไม้ แต่ลำบากหน่อย เพราะ แมลงพวกนี้อยู่กับคุณเป็นเวลานาน ไม่ได้มาเป็นรายฤดูแบบเกสร
ยางลาเท็กซ์
มีการสำรวจว่า ประชากรโลกราว 1% แพ้โปรตีนในน้ำยางลาเท็กซ์ เป็นน้ำยางธรรมชาติที่เรามักพบในส่วนหนึ่งของอุปกรณ์ทางการแพทย์และทันตกรรมจำนวนมาก เช่น ถุงมือยางใช้แล้วทิ้ง แผ่นยางอนามัย ท่อช่วยหายใจ และสายน้ำเกลือ ผู้ที่ทำงานทางการแพทย์จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้มากกว่าคนอื่น
3. ทฤษฎีคุณอาจ ‘สะอาดเกินไป’
นักวิจัยเปิดมุมมองอีกด้าน เมื่อความสะอาดที่มากเกินไปต่างหากอาจทำร้ายชีวิตเรา วิถีชีวิตที่ไม่คลุกคลีกับธรรมชาติเลยมีแต่จะทำให้คุณอ่อนแอ เป็นข้อเสนอแนะโดย David Strachan นักระบาดวิทยาจาก London School of Hygiene and Tropical Medicine—คนแรกๆ ที่วิพากษ์ไลฟ์สไตล์คนยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะการเลี้ยงลูกแบบไข่ในหินไม่ให้เด็กไปสัมผัสกับจุลชีพในธรรมชาติเลยว่ามีแต่จะทำให้เด็กเกิดมาพร้อมปัญหาเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งมนุษย์ในสังคมตะวันตกที่วิตกกังวลเรื่องความสะอาดมักมีจำนวนจุลชีพลดลงถึง 40% หากเทียบกับมนุษย์ในอดีตที่ใช้ชีวิตแบบนักล่าและเก็บของป่า ทั้งๆ ที่แบคทีเรียส่วนหนึ่งอาจนำภูมิคุ้มกันที่ดีมาให้กับร่างกายด้วยเช่นกัน
งานวิจัยใหม่ๆ พบว่าเด็กที่เติบโตในฟาร์มต่างจังหวัดแข็งแรงกว่าเด็กที่เลี้ยงในห้องแอร์เมืองหลวง หรือครอบครัวที่ล้างจานด้วยมือมีภูมิคุ้มกันดีกว่าครอบครัวที่ใช้เครื่องล้างจาน รวมไปถึงคนในครอบครัวที่เลี้ยงสัตว์ (สุนัขเป็นฝันร้ายของคนคลั่งสะอาด) ก็มีระบบนิเวศของจุลชีพในร่างกายที่แตกต่างอย่างมีนัย
4. เราอาจทำลาย ‘แบคทีเรียใฝ่ดี’ โดยไม่รู้ตัว
การรณรงค์ความสะอาดเป็นสิ่งจำเป็นที่แวดวงแพทย์พยายามทำมานานนับร้อยๆ ปี และเป็นเรื่องพื้นฐานที่คุณควรรักษาความสะอาดอยู่แล้วเพราะมันช่วยลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อและทำให้คุณห่างไกลโรคระบาด แต่ความน่าสนใจอยู่ที่ มีความจำเป็นมากแค่ไหนถึงต้องฆ่าเชื้อแบคทีเรียทุกตัวในชีวิตคุณ เพราะในความเป็นจริง แบคทีเรียที่ก่อโรคมีพอๆ กับแบคทีเรียใฝ่ดีที่ช่วยให้ร่างกายคุณแข็งแรงขึ้น เช่นแบคทีเรียที่อยู่ในระบบย่อยอาหาร ลำไส้ ผิวหนัง โพรงจมูก หู ใต้วงแขน ฯลฯ แบคทีเรียใฝ่ดีทำงานอย่างขยันขันแข็งแต่ไม่ค่อยได้รับเครดิต เพราะถูกตราหน้าว่า ‘แบคทีเรีย’
แม้จะยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่า แบคทีเรียที่เสมือน ‘เพื่อนเก่า’ เหล่านี้ช่วยไม่ให้ภูมิคุ้มกันชนิด IgE อ่อนไหวเกินไปนัก แต่แน่นอน สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในร่างกายอาจมีอิทธิพลต่อการการควบคุมภูมิคุ้มกันอื่นๆ ลดภาวะอ้วนลงพุง อาการหลงๆ ลืมๆ จากอัลไซเมอร์ และโรคซึมเศร้า มีรายงานชัดเจนว่า แบคทีเรียในลำไส้สามารถปล่อยสารแห่งความสุข (serotonin) ที่ดูดซึมจากลำไส้ไปสู่สมองอีกด้วย ไม่น่าแปลกหากเราปฏิบัติดีกับแบคทีเรียในร่างกาย พวกมันก็จะตอบแทนในรูปแบบต่างๆ เช่นกัน
5. หนามยอกเอาหนามบ่ง กินจนกว่าจะไม่แพ้แก้ได้จริงหรือ?
มักมีคนมาบอกคุณว่า หากคุณแพ้อะไรให้ ‘สู้’ ด้วยการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งนั้นๆ จนภูมิต้านทานคุณแข็งแรงขึ้น ถ้าแพ้เกสรดอกไม้ ทำไมไม่เดินเล่นกลางสวนบ่อยๆ หรือหากรู้ว่าแพ้ถั่วก็ค่อยๆ กินถั่วไปทีละนิด
แต่ความพยายามดังกล่าวเป็นเรื่อง ‘อันตราย’ หากคุณพยายามด้วยตัวเอง
อย่างไรก็ตามมันก็ไม่ได้ไร้สาระเสียทีเดียวในทางวิทยาศาสตร์ เพราะการรับสารก่อภูมิแพ้ในระดับน้อยๆ สามารถทำให้คุณมีภูมิต้านทานในกรณีของพิษผึ้ง พิษต่อ และไรฝุ่น โดยรับการรักษาทางการแพทย์ที่เรียกว่า allergen immunotherapy ที่จะเพิ่มปริมาณสารภูมิแพ้ระดับน้อยๆ จนกว่าภูมิคุ้มกันจะคุ้นและรับมือได้ แต่เทคนิคนี้ก็ทำให้เกิดการแพ้ได้เช่นกันในบริเวณผิวหนังที่ฉีดเพื่อทดสอบ บางรายมีอาการหายใจติดขัด ซึ่งการกระทำดังกล่าวควรอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด จะสุ่มสี่สุ่มห้าทำเองไม่ได้ น่าเสียดายที่การรักษา allergen immunotherapy ยังไม่ได้ให้ผลที่แน่นอนนักในกรณีแพ้สัตว์เลี้ยง
ที่สำคัญที่สุด อย่าฝืนด้วยตัวเอง เพราะคุณไม่มีทางรู้ว่าภูมิคุ้มกันคุณจะเล่นใหญ่ระดับช่อง 8 ได้เมื่อไหร่
6. เราจะทำให้คนรุ่นต่อไป ‘ไม่แพ้’ ได้ไหม?
คำแนะนำแพทย์ที่เสมือนคำประกาศิต ย้ำเตือนให้บรรดาแม่ๆ หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจมีสารก่อภูมิแพ้ในช่วงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ซึ่งคำแนะนำนี้ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันแต่เนิ่นๆ ไม่ให้เด็กทารกมีปฏิสัมพันธ์ต่อสารก่อภูมิแพ้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งในระยะหลังๆ แพทย์เริ่มมีความเห็นเปลี่ยนไปว่า ที่ผ่านมาเราอาจจะป้องกันในลักษณะ ‘ไข่ในหิน’ เกินไปหน่อย
มีงานวิจัยพบกว่า เด็กแรกเกิด 6,000 รายที่แม่หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ในช่วงตั้งครรภ์ 4 เดือนแรก มีแนวโน้มที่จะเป็นภูมิแพ้เกสรดอกไม้มากขึ้นเมื่อเทียบกับเด็กที่แม่ใช้ชีวิตแบบปกติ
แทนที่จะหลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาดไปเลย ลองเปลี่ยนเป็นการทำให้ร่างกายของเด็กๆ เริ่มคุ้นเคยกับสารก่อภูมิแพ้ในปริมาณน้อยๆ ก่อนที่กลไกภูมิต้านทานจะพัฒนาอาจจะเวิร์กกว่า เด็กที่รับประทานถั่วในช่วง 4-11 เดือนแรกมีแนวโน้มจะแพ้ถั่วลดลง 81% เมื่อเทียบกับมาเริ่มเอาในช่วงวัย 5 ขวบ สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียออกคำแนะนำ ให้ทารกในช่วง 4-6 เดือน เริ่มมีปฏิสัมพันธ์อย่างน้อยๆ กับสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งเป็นการให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเริ่มคุ้นชินก่อนจะพัฒนาเป็นโรคภูมิแพ้ที่รุนแรงในภายหลัง
การศึกษาจากสหรัฐอเมริกาพบเชื้อจุลินทรีย์หรือแบคทีเรียชนิดดีบนผิวหนังซึ่งช่วยป้องกันการอักเสบเมื่อเราได้รับบาดเจ็บ เช่น มีแผล รอยถลอก เรื่องนี้สอดคล้องกับ ‘hygiene hypothesis’ หรือสมมติฐานอนามัยที่ว่า การได้สัมผัสกับ ‘แบคทีเรียชนิดดี’ หรือจุลินทรีย์ท้องถิ่นในวัยเด็กเล็กช่วยเสริมภูมิต้านทานและป้องกันโรคภูมิแพ้
กิจกรรมนอกบ้านที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติทำให้คุณเผชิญหน้าแบคทีเรียที่หลากหลาย และช่วยให้ระบบนิเวศของจุลชีพในร่างกายคุณได้ update firmware กระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง กุญแจคือการได้มีโอกาสสัมผัสดิน (soil) บ้าง ซึ่งปกติแล้วมีองค์ประกอบของดินเข้าสู่ร่างกายคนเราราว 50-60 มิลลิกรัมต่อวัน (อาจอยู่ในอาหารและน้ำดื่ม) เปิดบ้านรับอากาศภายนอกบ้าง ให้แสงและลมนำอากาศมาหมุนเวียน
ที่สำคัญคือการดูแลแบคทีเรียในร่างกายของคุณให้ดี พวกมันไม่ได้เป็นศัตรูที่ร้ายกาจเสมอไป การรับประทานอาหารครบทุกหมู่ พักผ่อนเต็มที่ และออกไปเจอธรรมชาติจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคุณและเพื่อนตัวน้อยยืนยาวสวยงาม จนแม้แต่แฟนคุณเองก็ทำให้ไม่ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
•Immunoglobulin E (IgE)
www.aaaai.org
•Immunoglobulin E in health and disease
www.ncbi.nlm.nih.gov
•Hay fever, hygiene, and household size.
www.ncbi.nlm.nih.gov
•The “hygiene hypothesis” for allergic disease is a misnomer
www.bmj.com
•Dirt can be good for children
news.bbc.co.uk
Illustration by Waragorn Keeranan
THE MATTER