"กิเลส" เป็นไฉน? ไม่รู้จักโจรจะจับโจรได้ยังไง?

"กิเลส" เป็นไฉน? ไม่รู้จักโจรจะจับโจรได้ยังไง?

    กิเลส มีความหมายเป็นกลางๆ แปลว่า ตัวที่มาสนองความอยากของเรา ความอยาก ความต้องการ ฉะนั้นเราต้องกระทำเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิเลส คือ

    ๑. หมั่นทำความเข้าใจกิเลส

    ๒. หมั่นดูสิ่งที่จะไปเติมเต็มกิเลสว่าเป็นอวิชชาหรือเปล่า เช่น กิเลสทางมิจฉา สิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือกิเลสทางสัมมา กิเลสที่ถูกต้อง

    เราต้องหมั่นพิจารณา วิเคราะห์ วินิจฉัย



สิ่งหมักดองแห่งกิเลส

    กิเลส คือ สิ่งที่ใคว่คว้าหาสิ่งต่างๆ มาสนองตัณหา ตามที่ตัณหาต้องการ เครื่องมือที่ใคว่คว้านี่แหละเป็นกิเลส

    อาสวะ คือ สิ่งของที่กิเลสหามาสะสมไว้ รวบรวมไว้ แบกไว้ เก็บไว้ คำว่า "อาสวะ" นี้ แยกได้เป็น ๒ ศัพย์ คือ อา + สว = อาสว,

    "อา"     แปลว่า วัฏฏทุกข์อันยาวนานไม่มีกำหนด

    "สวะ" แปลว่า เจริญรุ่งเรือง

    รวมความว่า อาสวะ แปลว่า ธรรมที่ทำให้วัฏฏทุกข์อันยาวนานไม่มีกำหนดนั้น เจริญรุ่งเรืองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด หมายถึง สิ่งของที่กิเลสหามาสะสมไว้ รวบรวมไว้ แบกไว้ เก็บไว้

    อาสวะกับอนุสัยแตกต่างกันตรงไหน?

    อนุสัย คือ ประเภทเก็บสะสมนานแล้วจนจม ซ่อนอยู่ เหมือนกับตะกอนซ่อนอยู่ แอบอยู่ เจือปนอยู่

    "อนุ" แปลว่า น้อย

    "สัย" คือ นิสัยที่ละเอียดน้อยมากจะแทรกซึมไว้ตามที่ต่างๆ

    บางคนบอกว่า ทำไมนิสัยฉันเป็นอย่างนี้ แก้ไขไม่ได้ซักที เพราะว่าอนุสัยออกมาทำงาน

    อาสวะ คือ เป็นสิ่งของ เป็นตัวใหญ่ ส่วนอนุสัยเป็นตัวนำอาสวะ อาสวะ มี ๔ อย่างดังนี้    

    ๑. กามาสวะ แปลว่า อาสวะ คือ กาม (canker of sense-desire)  หมายถึง ความใคร่, ความอยาก, ความปรารถนา, สิ่งที่น่าปรารถนาน่าใคร่, ไม่อยากได้ ไม่อยากเป็นก็เป็นกามเช่นเดียวกัน

        ๑.๑ กิเลสกาม คือ กิเลสที่ทำให้ใคร่, ความอยากที่เป็นตัวกิเลส (subjective sensuality)

        ๑.๒ วัตถุกาม คือ วัตถุอันน่าใคร่, สิ่งที่น่าปรารถนา, สิ่งที่อยากได้, กามคุณ (objective sensuality) (พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต))

    กามสามารถแสดงออก มี ๓ อย่างดังนี้

        ๑) เบียดเบียนเขา เอาเกินเขา (เอาเขา)

        ๒) เอาเกินตัวเอง (เอาตนเอง) เช่น เซ็กซ์จัด กินยาทำร้ายตนเอง กินเหล้าจนเมาหัวราน้ำ ติดยาเสพติด เอามีดกรีดแขนตนเองเพื่อประชดแฟน ฯลฯ

        ๓) เข้าใจเอาพอดีกับตนเอง


    ๒. ภวาสวะ แปลว่า อาวสวะคือภพ (canker of becoming) แปลว่า ภาวะที่ยึดมั่นถือมั่นของภพ, ที่อยู่ที่อาศัย ที่เกาะเหนี่ยว ที่รวม ที่เหนี่ยวรั้งไว้ เช่น นายแดง ก็จะเหนี่ยวรั้งทั้งกล้ามเนื้อ ทั้งจิตใจ ความคิดเกิดให้เป็นนายแดง เช่น นางดาว มีภพเป็นดาวก็จะเหนี่ยวรั้งกล้ามเนื้อ ความคิด องคาพยพของดาวต่างๆ มารวบรวมกัน เหนี่ยวรั้งไว้เกิดเป็นรูปเป็นร่าง เรียกว่า ภพ (existence; sphere) มี ๓ อย่างดังนี้

        ๒.๑ กามภพ คือ เกี่ยวกับอารมณ์รัก-ชัง ทั้งชอบและไม่ชอบ ที่น่าปรารถนาน่ารักใคร่ น่าชอบใจ และอารมณ์ที่เป็นกลางๆ (the Sense-Sphere)

        ๒.๒ รูปภพ คือ มีรูปร่างต่างๆ อินทรีย์ อัตตา วิญญาณ ฯลฯ (the Form-Sphere; Fine-Material Sphere)

        ๒.๓ อรูปภพ คือ ไม่มีรูป เช่น ความคิด ทิฏฐิ จิต ที่อาศัยของจิตวิญญาณ ปัญญา ฌาน นิพพาน วิชชา ฯลฯ (the Formless Sphere; Immaterial Sphere)


    ๓. ทิฏฐาสวะ แปลว่า อาสวะคือทิฏฐิ (canker of views or speculation) แปลว่า ความเห็น (view; false view) มี ๒ อย่าง

        ๓.๑ สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นที่ถูกต้องในธรรม

        ๓.๒ มิจฉาทิฏฐิ คือ ความเห็นที่ผิดในธรรม ความเห็นที่ผิดจากครรลองคลองธรรม

            ๑) สัสสตทิฏฐิ คือ ความเห็นว่าเที่ยง, ความเห็นว่าอัตตาและโลกเที่ยงแท้ยั่งยืนคงอยู่ตลอดไป (eternalism)

            ๒) อุจเฉททิฏฐิ (ความเห็นว่าขาดสูญ, ความเห็นว่าอัตตาและโลกซึ่งจักพินาศขาดสูญหมดสิ้นไป (annihilationism)

        มิจฉาทิฏฐิจำแนกตามการกระทำ

            ๑) อกิริยทิฏฐิ คือ เห็นว่าการกระทำไม่มีผล (view of the inefficacy of action)

            ๒) อเหตุกทิฏฐิ คือ เห็นว่าสิ่งทั้งหลายไม่มีเหตุปัจจัย (view of non-causality)

            ๓) นัตถิกทิฏฐิ คือ เห็นว่าไม่มีการกระทำหรือสภาวะที่จะกำหนดเอาเป็นหลักได้ (nihilistic view; nihilism)


    ๔. อวิชชาสวะ แปลว่า อาสวะคืออวิชชา (canker of ignorance) แปลว่า ความไม่รู้ ไม่รู้ไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่เป็นอยู่ และสิ่งที่จะเป็นไป

    อนุสัย เหมือนกับตะกอน เป็นผง มันเล็กน้อยแต่มันเยอะ เหมือนกับถุงปูนหนึ่งถุง แล้วจะมีข้างในเม็ดซีเมนต์กี่เม็ด

    เราไม่รู้จักอนุสัย แล้วเราจะไปจับมันได้ยังไง เหมือนกับเราไม่รู้จักหน้าโจร แล้วโจรออกมาทำงานเรายังไม่รู้จัก แล้วเราจะไปจับอะไร เผลอๆ เรายังจะไปช่วยโจรอีก บางครั้งเราปกป้องมัน เอาโจรไปซ่อนอีก แล้วก็ไปเถียงแทนอีก ผู้รู้จับโจรออกมายังโมโหใส่เราอีก เรียกว่า รักโจรยิ่งกว่าพ่อ หรือ โง่บัดซบ

    ตัวอนุสัยจะแทรกซึมในอาสวะทั้ง ๔ ข้อนี้ เป็นอณูของอาสวะ ๔ ข้อนี้    

    อนุสัยเปรียบเสมือนเซลล์ อณูของกล้ามเนื้อ อยู่ในนั้นรอคำสั่ง พอได้รับคำสั่งก็จะรวมตัวกันต่อสู้จะเริ่มทำงานละ ถ้ามีตัวมาขัดใจ ก็จะยัวะ พอโทสะมาพวกอนุสัยก็จะรวมตัว รวมมาเป็นตัวเป็นอวิชชา เกิดโทสะ เกิดโมหะ

ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกมา

อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่