ราชาสิบสองนักษัตร ศึกรวมสุโขทัย - บทที่ ๒๕ อารมณ์คติของแบบปั้นองค์พระ

.
                                                  

บทที่ ๒๕ อารมณ์คติของแบบปั้นองค์พระ

ทุกคืนเมื่อสิ้นยามต้น สำนักบ้านเงินบ้านทองแห่งสุโขทัยมักจะเงียบสงบด้วยผู้คนต่างพากันเข้านอนพักผ่อน... แต่ไม่ใช่ในค่ำคืนนี้
เกือบทุกคนในสำนักต่างพากันไปที่โรงช่าง เพื่อดูแบบปั้นองค์พระที่จะส่งประกวดในเย็นวันพรุ่งนี้
จากแบบร่างลายเส้น นำดินที่เตรียมไว้มาปั้นขึ้นเป็นหุ่นตามแบบ เรียกว่าแบบปั้นองค์พระ ก่อนจะนำไปหล่อด้วยโลหะ...

แสงพรายนอนพักคิดเรื่องต่างๆ อยู่บนเรือน ก็มีเสียงตึงตังดังขึ้น
“พี่พราย ไม่ไปที่โรงช่างหรือ.. แบบปั้นองค์พระเสร็จแล้ว” ที่แท้เป็นจุกที่วิ่งขึ้นมาบนเรือน
แสงพรายยังนอนนิ่ง ตอบไปเพียงว่า
“เจ้าไปเถอะ รอให้ทุกคนกลับออกมา แล้วข้าค่อยไป”

ตนนั้นพักรักษาตัวอยู่ที่สำนักทั้งวัน มีโอกาสได้เดินแวะเวียนไปชมแบบปั้นองค์พระตั้งแต่เสร็จตามแบบร่างในกระดานชนวนของครูพิธาน และปู่หลวงก็ให้ปรับแก้ไปอีก ๒ รอบ แต่ก็ยังไม่ถูกใจ... เมื่อช่างคนอื่นๆ กลับมาจากวัดตระพังทอง ตนจึงเลี่ยงออกมา

“ฉันเองไปมาแล้ว แต่พี่พรายไปที่โรงช่างเถอะ.. ปู่หลวงบอกจะขอถอนตัว ไม่ส่งแบบปั้นองค์พระเข้าประกวด”

คราวนี้แสงพรายรีบผุดลุกขึ้น อาการบาดเจ็บนั้นหายเป็นปกติแล้ว เพียงแต่ปู่หลวงยังคงกำชับให้ตนนอนพักอยู่
ชายหนุ่มพลันออกจากห้องพัก แล้วเดินตามจุกที่กึ่งเดินกึ่งวิ่งจนมาถึงโรงช่าง เห็นผู้คนแทบทั้งสำนักต่างมุงออกันจนล้นมาด้านนอก ได้ยินเสียงปู่หลวงที่อยู่ด้านในกำลังกล่าววาจา

“...แบบต่างๆ ข้ากับพ่อธานก็ลองมามากมาย สุดท้ายได้แบบปั้นองค์พระอย่างที่พวกเราเห็นกัน.. องค์พระดูแข็งขืนและให้อารมณ์สัมผัสถึงความแห้งแล้งห่อเหี่ยว แม้จะเป็นความจริงว่านี่คืออารมณ์ของเมืองสุโขทัยในขณะนี้ แต่ข้าไม่ชอบใจเลย”

“ถ้าอารมณ์สัมผัสขององค์พระคืออารมณ์ของเมืองเราตอนนี้ ข้าว่าปู่หลวงควรจะส่งเข้าประกวด... ศิลปะก็ควรจะสะท้อนอารมณ์ของยุคสมัย และข้าคิดว่าอย่างไรเสียก็ต้องได้รับเลือกเป็น ๑ ใน ๒ แบบปั้นที่จะหล่อประกวดในรอบต่อไป” เสียงบุญจันกล่าวขอให้ปู่หลวงส่งแบบองค์พระเข้าประกวด
แล้วเสียงของช่างคนอื่นก็ประดังเข้ามา ต่างสนับสนุนให้ปู่หลวงส่งงานเข้าประกวดต่อไป

“เงียบ เงียบ ฟังข้าก่อน... ที่ข้าไม่อยากส่งเข้าประกวดเพราะเหตุผล ๒ ข้อ... ข้อแรกข้าไม่คิดว่าองค์พ่อขุนจะพอพระราชหฤทัยในอารมณ์ของแบบปั้นองค์พระนี้”

คราวนี้ทุกคนต่างครางอุทานด้วยความแปลกใจและลังเลใจ
“ข้อสอง แม้องค์พ่อขุนพอพระราชหฤทัยขึ้นมา ข้าเชื่อว่าแบบปั้นองค์พระนี้จะได้รับชัยชนะไปจนถึงรอบสุดท้าย และได้เป็นต้นแบบขององค์พระใหญ่ประจำรัชกาล...”

“ถ้าอย่างนั้นก็ดีนะสิ สำนักเราจะได้งานใหญ่ชิ้นนี้” เสียงต่างๆ ชวนกันกล่าวไปในทำนองเดียวกัน... บ้างก็ว่าจะได้ประกาศให้รู้กันทั่วไปว่าสำนักบ้านเงินบ้านทองยังเป็นที่หนึ่ง

“แต่ข้าไม่ต้องการให้องค์พระใหญ่ประจำรัชกาลขององค์พ่อขุนต้องสะท้อนถึงความแห้งแล้งและห่อเหี่ยว” คำกล่าวของปู่หลวงคล้ายประกาศิตสะกดทุกคน “ข้าไม่ต้องการให้ชาวสุโขทัยไปกราบไหว้องค์พระแล้วซึมซับเอาจิตที่หม่นหมองท้อแท้... พวกเจ้าเข้าใจไหม”

เหล่าบรรดาช่างได้แต่ก้มหน้านิ่ง... เงียบ... ไม่มีแม้เสียงบ่นพึมพำ

“ถ้าสำนักเราส่งแบบองค์พระไปประกวด แล้วพ่ายแพ้ก็นับว่าเสียหายไม่มาก แต่ที่สำคัญถ้าเราส่งไปแล้วชนะจนได้หล่อออกมาเป็นองค์พระใหญ่ประจำรัชกาลให้ชาวเมืองกราบไหว้... ก็ถือว่าไม่มีสำนึกของความรับผิดชอบ... ข้าว่าจะขอถอนตัว ไม่ส่งแบบปั้นองค์พระเข้าประกวดแต่อย่างใด”

ทุกคนเงียบกริบ สักครู่เสียงน้าหมานดังขึ้น
“พวกเราทุกคนเข้าใจและเชื่อฟังปู่หลวงทุกอย่าง อะไรที่ปู่หลวงว่าดี พวกเราก็จะยึดถือและปฏิบัติตาม”
จากนั้นก็มีเสียงรับคำจากพวกช่างเป็นทอดๆ

“พวกเจ้ากลับไปพักผ่อนได้แล้ว พรุ่งนี้ยังมีงานต้องทำอีก” ปู่หลวงกล่าวตัดบท

พวกช่างพากันแยกย้ายกลับเรือนพักของตน บ้างก็บ่นเบาๆ ว่าเสียดาย บางคนก็บ่นว่าสำนักเราเสียเปรียบเพราะต้องมาคอยดูแลงานซ่อมแซมวัดตระพังหลวงอยู่ มิเช่นนั้นคงได้ทั้งคำแปงและบุญจันมาช่วยออกแบบคิดงาน

ทั้งหมดเดินออกไปโดยไม่สนใจแสงพรายที่ยืนอยู่ด้านนอกสุดเพราะต่างรังเกียจว่าเป็นคนสร้างเรื่องวุ่นวายและทำให้ชื่อเสียงสำนักมัวหมอง
“ปู่หลวงคงหนักใจน่าดู ไหนจะเรื่องแบบองค์พระ ไหนจะเรื่องงานวัดตระพังทอง ไหนจะคดีเจ้าฟ้าเมืองน่านกับคดีขุนกาฬอีก” บางคนแสร้งกล่าวกระทบให้แสงพรายได้ยินขณะเดินกลับเรือน

ไม่นานในโรงช่างก็เหลือเพียงปู่หลวง ครูพิธานและพิไล กับแบบปั้นองค์พระ ๒ องค์ องค์ที่ตั้งอยู่กลางโต๊ะช่างคือแบบปั้นองค์พระล่าสุดที่ปู่หลวงกับครูพิธานปรับแก้ ส่วนอีกองค์อยู่ริมขอบโต๊ะเป็นแบบปั้นองค์พระเดิม ซึ่งโดยปกติปู่หลวงมักจะออกแบบขึ้นรูปไว้ ๒ องค์ แล้วสลับสับเปลี่ยนแก้ไขตามแบบที่คิดขึ้นใหม่ ทั้งนี้จะได้มีแบบใหม่และเก่าไว้เปรียบเทียบ อีกทั้งถ้าไม่ชอบแบบที่ปรับแก้ไปแล้วก็ยังมีแบบเดิมอีกองค์อยู่

ด้านนอกเหลือเพียงแสงพรายกับจุกที่เดินก้าวเข้ามา...
ทุกอย่างดูสงบนิ่ง ปู่หลวงยังคงเหม่อมองดูแบบปั้นองค์พระตรงหน้า

“เจ้าคงได้ยินที่ข้าพูดเมื่อกี้หมดแล้ว... เจ้าคิดเห็นอย่างไร” ปู่หลวงกล่าวถามชายหนุ่มที่ก้าวเข้ามา
“ข้าพเจ้าคิดเห็นเหมือนปู่หลวง.. ถ้าพระพุทธรูปที่ปั้นออกมาไม่สามารถดลจิตใจของผู้กราบไหว้ไปสู่ความสุขและสงบ ก็ไม่ควรปั้นหล่อขึ้นมา”

“แล้วถ้าพ่อปู่ถอนตัวสละสิทธิ์ ชื่อเสียงของพ่อปู่มิเสียหายหรือ ผู้คนมิพูดกันไปรึว่า...”
“พิไล...” ครูพิธานรีบปรามบุตรสาวของตนไว้ทันที ก่อนจะกล่าวสิ่งไม่สมควรไปกว่านี้

“ช่างเถอะ ขอเพียงได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง แม้ชื่อเสียงจะเสียหายไปบ้างก็ไม่เป็นไร... อีกอย่างถ้าชื่อเสียงของข้ามันจะสูญสลายง่ายดายปานนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องออกแรงรักษามันไว้ให้เหนื่อยหรือหนักอกหรอก”

...จริงอย่างที่ปู่หลวงกล่าว ชื่อเสียงของท่านเกิดจากผลงานการออกแบบและก่อสร้างพุทธศิลป์ต่างๆ ไว้มากมายตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ผลงานเหล่านั้นจะอย่างไรเสียก็ยังปรากฏเป็นประจักษ์พยานให้ชนทุกรุ่นเห็นอยู่... คำชื่นชมสรรเสริญเกิดจากใจคนอันหาความแน่นอนมิได้ ใยต้องมุ่งหวังรักษา... เพียงรักษาผลของงานตนไว้ให้ดีเป็นพอ

“ปู่หลวง ข้าพเจ้าขออนุญาตปรับแบบปั้นองค์พระเดิมได้ไหม” แสงพรายกล่าวพลางชี้นิ้วไปยังแบบปั้นองค์พระที่อยู่ริมขอบโต๊ะ

“เจ้าจะทำอะไรของเจ้านะ” ครูพิธานกล่าวขึ้นมา
“ข้าพเจ้าก็ยังไม่รู้... แต่อยากลองปั้นดู”

“เจ้าอยากลองปั้นดู ก็เชิญเถอะ... ข้าจะขึ้นเรือนแล้ว” เป็นเสียงที่อ่อนล้าและอ่อนแรง ก่อนที่ปู่หลวงจะพาร่างผอมบางก้าวช้าๆ ออกจากโรงช่าง
พิธานและพิไลก้าวตามปู่หลวงออกไป เพียงแต่สายตาของพิไลก่อนไปมองมายังแสงพราย ทิ้งสายตาที่ดูแคลนไว้

“จุก เจ้าก็ไปพักเถอะ ขอข้าอยู่คนเดียว”
“พี่พรายจะปั้นแบบองค์พระใหม่หรือ... แล้วมันจะต่างกับองค์ที่เพิ่งปั้นเสร็จอย่างไรเล่า ถ้าต้องปั้นออกมาให้สะท้อนอารมณ์ของเมืองสุโขทัยในยามนี้”
“ข้าก็ไม่รู้เหมือนกัน... ข้ารู้เพียงว่า แบบปั้นองค์พระเดิมช่างให้อารมณ์ที่ห่อเหี่ยว และหดหู่... ไร้ซึ่งความหวัง”

จุกเดินจากไปอย่างเงียบๆ ทิ้งให้แสงพรายจมอยู่กับ “คำ” สุดท้ายของตนที่เพิ่งกล่าวตอบเด็กหนุ่ม
...ความหวัง
...ใช่แล้ว คือ “ความหวัง” นั่นเอง
...ต้องเป็นแบบองค์พระที่สะท้อนอารมณ์อีกด้านหนึ่งของเมือง และให้ความหวังแก่ผู้คน

-----------------------------------

พิไลออกจากสำนักแต่เช้า เมื่อมาถึงพระตำหนักขององค์หญิงกัณฐิมาศก็รีบเข้าเฝ้าทันที ตามกำหนดนัดถวายงานสอนวันเว้นวัน

“อ้าว พิไล... ทำไมวันนี้จึงมาหาเราเสียล่ะ หรือว่าแบบองค์พระเสร็จเรียบร้อยดีแล้ว”
องค์หญิงรับสั่งถามขึ้นเมื่อเห็นหน้าหลานสาวของสำนักบ้านเงินบ้านทอง ด้วยทรงอนุญาตไว้หากแบบปั้นองค์พระมิเสร็จก็ไม่ต้องมาเข้าเฝ้า

พิไลหน้าหม่น กราบทูลว่า
“แบบองค์พระนั้นปั้นขึ้นรูปเสร็จแล้วเพคะ แต่พ่อปู่ไม่ยินยอมส่งเข้าประกวด ยืนกรานจะถอนตัวสละสิทธิ์ เพคะ”
พระนางทรงนิ่งงัน รับสั่งถามด้วยพระอาการสงบ
“เรื่องราวเป็นมาอย่างไร พิไลช่วยเล่าให้ฉันฟังหน่อยเถิด”

แม่ครูคนใหม่ถอนหายใจยาว แล้วจึงได้เล่าเรื่องที่แบบปั้นองค์พระนั้นสำเร็จออกมา ดูแข็งแรงน่ายำเกรงแต่สะท้อนอารมณ์แห้งแล้งของเมืองสุโขทัย จนปู่หลวงเกรงว่าหากเกิดได้รับชัยชนะ องค์พระใหญ่ประจำรัชกาลที่สร้างขึ้นจะนำมาซึ่งความหดหู่ของผู้มากราบไหว้ จึงจะขอถอนตัวสละสิทธิ์ เพื่อไม่ต้องส่งแบบปั้นองค์พระเข้าประกวดต่อไป

เมื่อพิไลกราบทูลเล่าเรื่องถวายแล้ว องค์หญิงกัณฐิมาศจึงรับสั่งว่า
“เราก็เพิ่งจะรู้ความว่าสำนักบ้านเงินบ้านทองออกแบบสร้างพุทธศิลป์โดยสะท้อนอารมณ์ของเมือง... มิน่าเมื่อผู้คนไปกราบไหว้พระพุทธรูปที่เป็นผลงานของปู่หลวงจึงมักสัมผัสอารมณ์แห่งความดีงามและความเจริญรุ่งเรือง” พลางถอนพระปัสสาสะ “แต่ตอนนี้ สมัยนี้ไม่เหมือนเมื่อครั้งองค์พ่อขุนพระยาลิไท บ้านเมืองมีแต่ภัยสงครามแทบทุกปี การค้าการขายก็ซบเซา...”

“แม้ตัวพ่อปู่จะไม่พะวงถึงชื่อเสียงหรือโทษทัณฑ์ใดๆ แต่เมื่อนึกถึงว่าเย็นนี้ตอนที่พ่อปู่ต้องเข้าเฝ้าและกราบทูลต่อเบื้องพระพักตร์ว่าขอถอนตัวสละสิทธิ์ เกล้ากระหม่อมฉันก็อดใจหายไม่ได้ ทั้งหวั่นเกรงจะได้รับพระราชอาญาด้วย เพคะ”

“แล้วแสงพรายไม่ได้ช่วยเหลือ เป็นเดือดเป็นร้อนบ้างหรือ”
“จะช่วยกระไรได้เพคะ กลับไปก็นอนพักอยู่ทั้งวัน ตื่นมาตอนหัวค่ำพอได้ยินว่าปู่หลวงจะถอนตัว ก็มาขอทดลองปั้นดู ก็คงไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร”

“จริงสินะ ขนาดปู่ครูกับพ่อของพิไลยังไม่สามารถขึ้นแบบองค์พระให้ดีงามได้ แล้วเขาจะฝืนอารมณ์ของเมืองที่สะท้อนออกมาได้อย่างไร”
ทรงนิ่งไปสักครู่ รับสั่งต่อว่า
“พิไลอย่ากังวลใจไปเลย เย็นนี้เราจะไปเข้าเฝ้าองค์พ่อขุนและร่วมในพิธีตัดสินการประกวดแบบปั้นองค์พระ หากปู่ครูจะกราบทูลสิ่งใดแล้วเป็นที่ขัดเคืองพระราชหฤทัย เราก็จะช่วยกราบทูลผ่อนปรนให้เอง”

พิไลค่อยยิ้มออกมาได้บ้าง แต่ในใจก็ยังไม่หมดเรื่องกังวลเสียทีเดียว...
การประกวดแบบปั้นองค์พระในเย็นวันนี้ ชาวเมืองทุกคนต่างใจจดใจจ่อ อยากรู้ผลว่าสำนักไหนจะเป็นผู้ชนะลำดับที่ ๑ และที่ ๒ เพื่อเข้าประกวดหล่อแบบองค์พระต่อไป... นี่ถ้าทุกคนรับรู้กันว่าสำนักบ้านเงินบ้านทองไม่สามารถส่งแบบปั้นองค์พระเข้าประกวดจนต้องถอนตัว เสียงโจษจันจะเป็นอย่างไรบ้างนะ... พิไลเฝ้าคิดด้วยความกลัดกลุ้ม

-----------------------------------

หลังจากพิไลเร่งรีบกินข้าวเช้าจากในครัวแล้วออกจากสำนักบ้านเงินบ้านทองไปไม่นาน จุกก็ทำหน้าที่แทนพิไลนำสำรับข้าวขึ้นมาบนเรือนใหญ่ให้ปู่หลวงกับครูพิธาน

“พ่อครู ถ้ารับข้าวกันเสร็จแล้วฉันอยากให้ไปที่โรงช่างหน่อยจ้ะ” จุกกล่าวกับครูพิธานเมื่อวางสำรับอาหารลง
“ทำไมเหรอ มีอะไรที่โรงช่างหรือ” ครูพิธานถามย้อน
“เดี๋ยวถ้าพ่อครูไปดู ก็จะเห็นเองจ้ะ” จุกกล่าวแล้วก็รีบลงจากเรือนไป สร้างความแปลกใจให้กับปู่หลวงและครูพิธาน
“เออ... พิกลจริง เจ้าจุกนี่” ปู่หลวงพึมพำ

เมื่อทั้งสองรับข้าวมื้อเช้าเสร็จแล้วก็คุยปรึกษาเรื่องงานซ่อมแซมวัดตระพังทอง สักครู่ก็เห็นจุกมาผลุบโผล่ ที่ชานพักบันไดด้านบนติดกับตัวเรือน
“เอ้า... จะมาเก็บสำรับกับข้าวก็มาเก็บไป ไม่ต้องมาแอบๆ ซ่อนๆ อยู่ตรงนั้น” ครูพิธานกล่าวขึ้นกับจุก

“ฉันจะมาเตือนให้ไปดูที่โรงช่างนะ พ่อครูไปดูหน่อยเถอะ” จุกไม่กล้ากล่าวกับปู่หลวงโดยตรง ทุกคำพูดจึงกล่าวกับครูพิธาน

ปู่หลวงคล้ายฉุกใจได้คิดถึงอะไรบางอย่าง พยุงตัวลุกขึ้นกล่าวว่า
“ไปเถอะพ่อธาน ไปโรงช่างกัน”

(มีต่อ)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่