ปวดกบาล

กระทู้สนทนา
อรรถกถา ปุคคลบัญญัติปกรณ์
บุคคลบัญญัติ เอกกนิทเทส

               อรรถกถาเอกกนิทเทส               
               อรรถกถาสมยวิมุตตบุคคล               
               บัดนี้ เพื่อจะจำแนกมาติกา ตามที่ได้ตั้งไว้แต่ต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำเป็นอาทิว่า "กตโม จ ปุคฺคโล สมยวิมุตฺโต" แปลว่า ก็สมยวิมุตตบุคคล เป็นไฉน? ในคำเหล่านั้น คำว่า อิธ ได้แก่ ในสัตวโลก.
               คำว่า เอกจฺโจ ปุคฺคโล ได้แก่ บุคคลคนหนึ่ง. ในคำว่า กาเลน กาลํ นี้ พึงทราบเนื้อความด้วยสัตตมีวิภัตติ. อธิบายว่า ในกาลหนึ่งๆ คำว่า "สมเยน สมยํ" นี้เป็นไวพจน์ของคำก่อนนั้นแหละ (คือเป็นไวพจน์ของคำว่า กาเลน กาลํ)
               คำว่า "อฏฺฐ วิโมกฺเข" ได้แก่ สมาบัติ ๘ อันเป็นรูปาวจรและอรูปาวจรฌาน.
               จริงอยู่ คำว่า วิโมกข์ นี้เป็นชื่อของสมาบัติ ๘ เหล่านั้นเพราะพ้นจากธรรมอันเป็นข้าศึกทั้งหลาย. คำว่า "กาเยน" ได้แก่ นามกายที่เกิดพร้อมกับวิโมกข์. คำว่า "ผุสิตฺวา วิหรติ" ได้แก่ ได้สมาบัติแล้ว จึงผลัดเปลี่ยนอิริยาบถอยู่.
               ถามว่า ก็สมยวิมุตตบุคคลนี้ ถูกต้องวิโมกข์ แล้วอยู่ในกาลไหน?
               ตอบว่า ก็ธรรมดาว่า กาลของท่านผู้ปรารถนาจะเข้าสมาบัติมีอยู่ แต่ชื่อว่าอกาล หามีไม่.
               บรรดา กาลและอกาล คือ สมัย มิใช่สมัยทั้ง ๒ อย่างนี้ ก็กาลที่กำลังปฏิบัติสรีระแต่เช้าตรู่ ๑ กาลที่กำลังทำวัตร ๑ ชื่อว่าสมัยมิใช่กาล ของท่านผู้เข้าสมาบัติ. กาลเป็นที่ปฏิบัติสรีระ และทำวัตรเสร็จแล้ว จึงเข้าไปสู่ที่อยู่ พักอยู่จนกระทั่งถึงเวลาจะไปบิณฑบาต ในระหว่างนี้ ชื่อว่ากาลของท่านผู้เข้าสมาบัติ.
               ก็กาลเป็นที่วันทาพระเจดีย์ของภิกษุ ผู้กำหนดเวลาไปบิณฑบาตแล้วออกไป ๑ กาลเป็นที่ยืนอยู่ในโรงวิตกของภิกษุ ผู้ที่แวดล้อมด้วยหมู่แห่งภิกษุ ๑ กาลเป็นที่เที่ยวไปเพื่อบิณฑบาต ๑ กาลเป็นที่เที่ยวไปในบ้าน ๑ กาลเป็นที่ดื่มข้าวยาคูในโรงฉันภัต ๑ กาลเป็นที่กระทำวัตร ๑ กาลทั้งหมดนี้ ชื่อว่าอกาล คือสมัยมิใช่กาลของท่านผู้เข้าสมาบัติ. ก็เมื่อโอกาสอันสงัดในโรงฉันภัตมีอยู่ และยังไม่ถึงเวลาฉันภัตตาหาร ในระหว่างเวลาแม้นี้ ก็ชื่อว่ากาลของท่านผู้เข้าสมาบัติ.
               อนึ่ง เวลาฉันภัตตาหาร ๑ เวลาไปสู่วิหาร ๑ เวลาเก็บรักษาบาตรและจีวร ๑ เวลากระทำวัตรในเวลากลางวัน ๑ เวลาในการสอบถาม ๑ กาลทั้งหมดนี้ ก็ชื่อว่าอกาล คือสมัยมิใช่กาลของท่านผู้เข้าสมาบัติ. กาลใดมิใช่กาล กาลนั้นนั่นแหละ มิใช่สมัย.
               กิจนั้นแม้ทั้งหมด ยกเว้นกาลที่เหลือ สมัยที่เหลือ ท่านเรียกว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ได้วิโมกข์ ๘ มีประการดังกล่าวแล้ว ด้วยสหชาตนามกายอยู่ ฯลฯ
               อีกประการหนึ่ง บุคคลนี้ ชื่อว่าถูกต้องสหชาตธรรมทั้งหลาย พร้อมกับผัสสะ. ชื่อว่าถูกต้องอัปปนา ด้วยอุปจาระ ชื่อว่าย่อมถูกต้องอัปปนาอื่นอีก ด้วยอัปปนาแรก. ก็ธรรมเหล่าใด เกิดพร้อมกับธรรมเหล่าใด ธรรมเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นธรรมอันท่านได้แล้วกับธรรมนั้น ฉะนั้น จึงชื่อว่าถูกต้องแล้วแม้ด้วยผัสสะ. แม้อุปจาระก็เป็นเหตุแห่งการได้อัปปนานั่นแหละ อัปปนาแรกก็เป็นเหตุให้ได้อัปปนาอื่นๆ อีกเหมือนกัน ในอุปจาระและอัปปนาเหล่านั้น พึงทราบการถูกต้องสหชาตธรรมทั้งหลาย ด้วยสหชาตธรรมทั้งหลายของพระโยคีบุคคลนั้น ด้วยประการฉะนี้.
               ก็ปฐมฌานมีองค์ ๕ มีวิตกเป็นต้น เว้นองค์ฌานทั้ง ๕ เสียแล้ว ธรรมที่เหลือเกิน ๕๐ เรียกว่านามขันธ์ ๔. พระโยคีบุคคลถูกต้อง คือได้เฉพาะปฐมฌานสมาบัติวิโมกข์ ด้วยนามกายนั้น แล้วจึงอยู่.
               ทุติยฌานมีองค์ ๓ คือปีติ สุขและเอกัคคตา. ตติยฌานมีองค์ ๒ คือสุขและเอกัคคตา. จตุตถฌานมีองค์ ๒ คืออุเบกขาและเอกัคคตา.
               อนึ่ง อากาสานัญจายตนฌาน ฯลฯ เนวสัญญานาสัญญายตนฌานมีองค์ ๒ เหมือนกับจตุตถฌาน. ในฌานเหล่านั้น คือตั้งแต่ปฐมฌานถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ยกเว้นองค์ฌานเหล่านั้นเสียแล้ว ธรรมทั้งหลายที่เหลือเกิน ๕๐ เรียกว่านามขันธ์ ๔. พระโยคีบุคคลถูกต้อง คือได้เฉพาะเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติวิโมกข์ ด้วยนามกายนั้นแล้วจึงอยู่.
               คำว่า "ปญฺญาย จสฺส ทิสฺวา" อธิบายว่า เพราะเห็นความเป็นไปแห่งสังขารด้วยวิปัสสนาปัญญา เห็นสัจธรรมทั้งสี่ ด้วยมรรคปัญญา. คำว่า "เอกจฺเจ อาสวา ปริกฺขีณา โหนฺติ" อธิบายว่า อาสวะทั้งหลายอันปฐมมรรคเป็นต้น พึงฆ่าส่วนหนึ่งๆ สิ้นไปแล้ว บุคคลนี้ ท่านเรียกว่า "สมยวิมุตฺโต" แปลว่า ผู้พ้นแล้วโดยสมัย.
               ในข้อว่า "ปุคฺคโล สมยวิมุตฺโต" นี้จะกล่าวว่า บุคคลผู้ได้สมาบัติ ๘ ถูกต้องวิโมกข์ ด้วยนามกายนั้นแล้ว จึงอยู่ก็ควร แต่ในพระบาลีท่านกล่าวไว้ว่า "เอกจฺเจ อาสวา ปริกฺขีณา" แปลว่า อาสวะบางอย่างสิ้นไปแล้ว จริงอย่างนั้น ขึ้นชื่อว่าอาสวะทั้งหลายของปุถุชนสิ้นไปแล้วย่อมไม่มี เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ทรงประสงค์เอาปุถุชน ที่ถูกควรจะกล่าวว่า แม้พระขีณาสพ ผู้ได้สมาบัติ ๘ ถูกต้องวิโมกข์ด้วยนามกายนั้นแล้วอยู่ แต่ว่า ธรรมดาว่าอาสวะทั้งหลายของพระขีณาสพนั้นยังไม่สิ้นไปมิได้มี เพราะฉะนั้น พระขีณาสพนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็มิได้ทรงพระประสงค์เอา.
               ก็คำว่า "สมยวิมุตฺโต" นี้ พึงทราบว่าเป็นชื่อของพระโสดาบัน พระสกทาคามีและพระอนาคามี รวม ๓ จำพวกเท่านั้น.
               จบอรรถกถาสมยวิมุตตบุคคล.               
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=36.2&i=17
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่