ธรรมะเพื่อความหมดทุกข์ เพื่อเกิดปัญญา

พุทธศาสนาไม่มีพูดอย่างอื่น  ไม่มีอะไร  นอกไปจากว่า  เมื่อตาเห็นรูปก็ดี  หูได้ยินเสียงก็ดี  จมูกได้กลิ่นก็ดี  ลิ้นได้รสก็ดี  ผิวหนังได้รับสัมผัสก็ดี  หรือใจมันครุ่นคิดอารมณ์อะไรขึ้นมาก็ดี  ทั้ง ๖ อย่างนี้  ถ้าคนธรรมดาผู้ไม่มีปัญญาในขณะนั้น  ไม่มีสติสัมปชัญญะแล้ว  ก็ปล่อยไปตามเรื่องของมัน  มันก็ปรุงเป็นเวทนา  คือความรู้สึกสวย–ไม่สวย  เพราะ–ไม่เพราะ  หอม–ไม่หอม  อร่อย–ไม่อร่อยฯลฯ นี้ขึ้นมา;   พอปรุงเป็นอย่างนี้ขึ้นมาแล้ว  จิตก็รู้สึกไปในลักษณะของอุปาทาน  

เช่น สมมติว่าสวย  นี้ก็ชอบใจหลงรัก  เลยมีอุปาทานไปในเรื่องรัก;   ถ้าไม่สวย  มันเกลียด  มันระคายตา  มันก็ปรุงไปในทางความเกลียด;   มันจึงมีอยู่ ๒ อย่าง  คือชอบกับไม่ชอบเท่านั้น.  

ถ้าใครมีความรู้สึกเป็นเรื่องชอบหรือไม่ชอบขึ้นมา  อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว  เรียกว่าคนนั้นกำลังเปิดโอกาสให้อุปาทานเกิดขึ้นครอบงำแล้ว  แล้วเขาก็ทำอะไรไปตามความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบนั้น  คือทำไปตามอำนาจของอุปาทาน  ทำไปตามอำนาจของกิเลส  คือความโลภ  ความโกรธ  ความหลง;   มันจึงทำผิด.

ทีนี้  อีกกรณีหนึ่ง  เมื่อตาเห็นรูปแล้ว “สวย” ก็รู้ว่ามันคืออะไร  โดยแท้จริงมันเป็นอย่างไร  คืออะไร;   รู้ว่าคืออะไรนี้ให้ถูกต้องเสียก่อน  แล้วเรามีหน้าที่อย่างไร  ที่จะต้องทำเกี่ยวกับสิ่ง สิ่งนี้  หรือถ้าหากไม่มีหน้าที่ที่จะต้องเกี่ยวข้องก็ไม่เกี่ยวข้องเลย.  

หรือว่าได้เห็นรูปที่ไม่สวย  แทนที่จะไปรำคาญตาระคายใจ  นี้ก็ไม่ต้องรู้สึก  หรือว่าเราจะต้องจัดการอย่างไร  หรือไม่ควรจัดการอะไรเลย  ก็ทำไปด้วยสติปัญญา  ด้วยความรู้สึกผิดชอบชั่วดี;   ความรักหรือความเกลียดไม่ต้องเกิด  เกิดแต่สติปัญญา  ว่าจะต้องทำกับสิ่งเหล่านี้อย่างไรดี  อย่างนี้เรียกว่าประพฤติถูกธรรม  อุปาทานไม่ครอบงำ  เป็นมนุษย์ที่ยังมีจิตว่างจากอุปาทานอยู่ตามเดิม.

พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : ตุลาการิกธรรม  เรื่อง “เรา” ที่ประกอบ  หรือไม่ประกอบด้วยธรรม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่