ว่าด้วยทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา

ประกาศที่ ๙ พ.ศ. ๒๔๐๒
๑๘๑.  ประกาศว่าด้วยทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
ปีมะแม เอกศก

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ สุทธิสมมติเทพยพงศวงศาดิศวรกระษัตริย์ วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระราชดำริตริตรองในการจะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองไปในการภายหน้า  จึงได้มีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ให้ประกาศแก่พระสงฆ์  ราชาคณะ  ฐานานุกรม  เปรียญ  เจ้าอธิการ  ฝ่ายคามวาสีอรัญวาสีทั้งในกรุงนอกกรุง ผู้สำเร็จราชการเมืองแลกรมการในหัวเมือง  เอกโทตรีจัตวาปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือให้ทราบทั่วกันว่า  การในพระศาสนาคือพระภิกษุสงฆ์ปฏิบัติในพระวินัยสิกขาบท   รักษาพระจตุปาริสุทธิศีล  แลจำเริญสมถะวิปัสสนา  ทำสังฆกรรมมีอุโบสถกรรมเป็นต้น  แลการที่ปฏิบัติตามโบราณคติทั้งนี้  พระสงฆ์บางพวกก็ประพฤติตามโบราณคติท่านผู้เป็นครูอุปัชฌายอาจารย์   แต่ก่อนสั่งสอนให้ศึกษาสืบ ๆ มา  พระสงฆ์บางพวกได้เห็นพระบาลีในคัมภีร์  พระวินัยได้ดำริตริตรองเห็นถ่องแท้แน่ในใจ  แล้วปฏิบัติไปตามตนเห็น  ด้วยสำคัญว่าอย่างนั้น  เป็นการฝืนอย่างโบราณดั้งเดิม  และการนั้นผู้ซึ่งไม่ได้รู้เห็นด้วยก็เรียกว่าการอุตริขึ้น   แลในที่ถูกเที่ยงแท้ในพระบาลีคัมภีร์  พระวินัยสิกขาบทนั้น  จะให้ท่านทั้งหลายทั้งปวงรู้เห็น  แลเชื่อต้องกันพร้อมเหมือนกันนั้นก็เป็นอันยาก   พระสงฆ์สองพวกนี้จะประพฤติปฏิบัติแปลกต่างกันบ้างในอภิสมาจาริกวัตร เป็นต้นว่า  พินทุอธิษฐานบริโภคนุ่งห่มสบงจีวรอย่างมอญอย่างไทย  อย่างไรในหลวงก็ไม่ต้องห้าม ตามแต่ใจของพระสงฆ์จะปฏิบัติ  เพราะเป็นการประพฤติดีไม่เป็นการทุจริต  ไม่ติดไปด้วยการบาปหยาบช้า  ไม่เกี่ยวข้องการแผ่นดิน  แต่อย่าให้พระสงฆ์ราชาคณะ  ฐานานุกรม  เปรียญ  เจ้าอธิการ  อนุจร  แลฆราวาสที่มียศบรรดาศักดิ์  ที่ไม่มียศบรรดาศักดิ์  ผู้สำเร็จราชการเมือง  แลกรมการที่นับถือพระสงฆ์  ซึ่งเป็นครูอาจารย์แลพวกของตัว  ข่มขี่ปรับโทษว่าเป็นผิดลงทัณฑกรรม  แลติเตียนนินทาว่ากล่าวเสียดสีกระทบกระทั่งแก่พระสงฆ์พวกอื่นที่ปฏิบัติแปลกต่างกันบ้างเล็กน้อยดังนี้  ไม่เป็นประโยชน์สิ่งใดสิ่งหนึ่งเลย   ถ้าแลประชุมกันมากเป็นการใหญ่ฝ่ายสมณะหรือฆราวาส  เป็นการแปลกประหลาด  ณ หัวเมืองใด ก็ให้ผู้สำเร็จราชการเมือง แลกรมการเมืองนั้นบอกมา  ให้นำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท  จะได้ทรงพระราชดำริตริตรองว่าจะเกี่ยวข้องในการแผ่นดินบ้างหรือ  หรือไม่เกี่ยวข้องในการแผ่นดิน  จะเป็นความดีหรือร้ายประการใด  จะได้โปรดเกล้า ฯ ให้ชำระ    ที่ไม่ควรจะชำระก็จะไม่ไให้ชำระ  ด้วยทรงรังเกียจว่าจะเหมือนความผู้วิเศษเกิดขึ้นที่เมืองประจันตคิรีเขต ผู้วิเศษคนนี้คิดทำการโกหกล่อลวงกรมการ   แลราษฎรที่ไม่มีปัญญาให้ลุ่มหลงเลื่อมใสแล้วตั้งซ่องประชุมชายหญิงชาวเมืองนั้น   ชักชวนให้หญิงถวายเมถุนธรรมแก่ตัว  ทำเล่ห์กลให้เกี่ยวข้องในการแผ่นดิน  จึงทรงรังเกียจในพระราชหฤทัยดังนี้  ถ้าประชุมกันเป็นการใหญ่ฝ่ายสมณะหรือฆราวาสในหัวเมืองใด  ก็ให้ผู้สำเร็จราชการเมือง  แลกรมการบอกมาให้นำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทดังกล่าวแล้วนั้น  ข้อหนึ่งพระสงฆ์ในอารามใด  ขัดสนด้วยบิณฑบาต จึงทำเวชชะกรรมเป็นหมอยารักษาโรคป่วยไข้แก่ตระกูลที่มียศบรรดาศักดิ์แลราษฎร  หรือทำการช่างต่าง ๆ แต่พอได้ทรัพย์มูลค่าจตุปัจจัยทั้งสี่เลี้ยงชีวิต  ในหลวงก็ไม่ทรงห้าม  เว้นเสียจากการที่ประพฤติทุจริต  เป็นการบาปหยาบช้าทำให้เกี่ยวข้องในการแผ่นดิน  คือภิกษุประพฤติเป็นพาลคบเพื่อนทำอนาจารการลามก  สูบฝิ่นสูบกัญชา เสพสุราบ้าหรั่น  กินน้ำตาลเมาเหล้าอุ กินข้าวค่ำ  เที่ยวตีชิงวิ่งราวไม่มีหิริโอตตัปปะ   แลเป็นนักเลงเที่ยวกลางคืน  ถือเครื่องศัสตราวุธปืนเล็ก หอก ดาบ ขวานเล็ก มีดหมอ มีดกราย มีดกะหลาป๋า กล้องใหญ่ กระบองสั้น กระบองยาว มีเหลี่ยม แลไม่มีเหลี่ยม  เที่ยวลอบยิงลอบฟันแทงตีกันกับเพื่อนสมณะหรือคฤหัสถ์ในนอกพระอาราม  แลเป็นนักเลงเล่นการพนัน  ชนนกเขา  ชนไก่ วิ่งวัว  วิ่งควาย  เล่นโปถั่ว หวยกำตัดเล่นปลากัดตัดทุเรียน  โพกศรีษะห่มผ้าขาวสีชมพู แลเที่ยวดูงานมหรสพเบียดเสียดแทรกผู้หญิง   แลนั่งพูดกับผู้หญิงในที่ลับสองต่อสอง  ส้องเสพเมถุนธรรมกับด้วยบุรุษสตรีจนถึงชำเรา  แลลงเรือแจวเรือพายไปกับผู้หญิง   ขึ้นล่องแข่งเรือเล่นทุ่งเล่นกฐินชักพระ เที่ยวดูเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนแห่พยุหบาตร   ทำองอาจไม่หลักหลบ   แจวเรือพายเรือเดินผ่านกระบวน   ทำให้เสื่อมพระราชศรัทธา  แลพระเกียรติยศในหลวง  แต่บรรดาต่างประเทศที่ไม่นับถือพระพุทธศาสนาเข้ามาอยู่ในพระมหาพระนครนี้  ได้เห็นพระสงฆ์ประพฤติอนาจารอย่างนี้   ก็จะติเตียนนินทาได้ว่าคนไทยชาวสยามนี้  เคารพนับถือผู้ที่ไม่สำรวมกาย  ไม่ปฏิบัติให้เป็นที่เลื่อมใสของผู้เคารพนับถือดังนี้   จะว่างามดีว่าประเสริฐอย่างไร  ภิกษุผู้ประพฤติอนาจารให้เกี่ยวข้องการแผ่นดินดังนี้   ในหลวงจะต้องทรงชำระ  แลพระสงฆ์ทำการ สวนไร่นา  ตัดไม้ทำเรือ  ตัดไม่ไผ่  ตัดขอนสัก  ตัดเสาขาย    แลล่องแพไม้ขอน  สักไม้เสาร  ไม้ไผ่  ไม้รวกขาย  ล่องเรือฉลอม  เรือเป็ด แลเรือแม่ปะ เรือกูและ  แลเรืออะไร ๆ ใหญ่เล็ก  บรรทุกข้าวแลสินค้าต่าง ๆ มาขาย  แลขายลงเรือกำปั่นสำเภาปักษ์ใต้   ด้วยกำลังตัวหรือเข้าส่วนกับฆราวาส  เป็นสุงกะฆาฏขาดจากอากรสมพักศรภาษี  ที่เป็นพระราชทรัพย์ของหลวงแลทรัพย์ของราษฎร    แลประกอบการดังฆราวาส  ไถ่ทาสทำกรมธรรม์ใส่ชื่อตัว  เก็บเอากระยาดอกเบี้ยแก่ผู้มากู้มาขายตัวบุตรภรรยา   แลญาติพี่น้องทาสเชลยหรือพวกของตัว ผูกดอกเบี้ย  แลรับจำนำ ทำตึก  ทำเรือนโรงร้านเรือแพขาย  แลให้เช่าเก็บค่าเช่า  หรือเข้าส่วนกับฆราวาส  ปราศจากละอาย  เป็นมิจฉาชีพ  ไม่ชอบในสมณกิจ  แลพระสงฆ์อวดความรู้เป็นผู้วิเศษทำเวทมนตร์ คาถาเสกน้ำรดน้ำประ  ผู้มียศบรรดาศักดิ์แลราษฎรผู้ดีไพร่ให้เกี่ยวข้องการแผ่นดิน ทั้งนี้ในหลวงจะต้องชำระ

ข้อหนึ่งการที่จะว่ากล่าวข่มขี่แลยกย่องทั้งสองนี้   เป็นการสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน  ด้วยว่าพระวินัยสิกขาบทเป็นที่ดำรงพระพุทธศาสนาให้ถาวร  สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินได้เป็นผู้ทำนุบำรุงให้รุ่งเรืองไปในการภายหน้า  เพราะฉะนั้นผู้ที่ทำพระพุทธศาสนาให้มัวหมอง จึงต้องทรงชำระ    ฝ่ายสมณธผู้ประพฤติชอบประกอบการปฏิบัติในพระวินัยสิกขาบท   ก็ทรงสงเคราะห์ยกย่องโดยสมควรแก่คุณวิเศษมากน้อย  เพราะฉะนั้นพระราชาคณธ  ฐานานุกรม  แลเปรียญ  เจ้าอธิการ  อนุจร  ฝ่ายคามวาสี  อรัญวาสี  ในกรุงนอกกรุงทั้งปวง  จงประพฤติโดยชอบประกอบด้วยศีลวังวร   อุตสาหศึกษาสอนศิษยานุศิษย์ในข้อพระวินัยสิกขาบท  แลให้เล่าเรียนคันถธุระวิปัสสนาสมณกิจจึงจะสมควรเป็นสมณสักยบุตรสมมติสงฆ์อันประเสริฐ   ในพระพุทธศาสนาเป้นที่นมัสการบูชา   สักการะเนื้อนาบุญของเทวดามนุษย์บุรุษสตรีที่เป็นสัมมาทิฏฐิ   ให้พระสงฆ์ทั้งปวงจงมีความปรารถนา แลพยายามจิตแลปัญญา  พิจารณาในวินัยสิกขาบทให้เห็นพร้อมกัน  เมื่อเห็นผิดชอบประการใดก็ให้ไต่ถามปรึกษากัน   โดยบาลีแลอรรถกถาอาจริยวาท  คือถ้อยคำของอาจารย์สั่งสอนสืบ ๆ กันมา  กับอัตตโนมัติปัญญาของตัว  สอบสวนให้ถูกต้องกันเห็นสมควรแล้ว  จงอนุโมทนาสาธุแก่กัน  ถ้าไม่ชอบใจจงตั้งจิตเป็นอุเบกษาเพิกเฉยไว้  อย่าได้มีจิตเป็นฉันทาคติเป็นโทษาคติภยาคติโมหาคติแก่กัน  จงเห็นแด่พระเดชพระคุณในหลวงที่ทรงบริจาคพระราชทรัพย์นับมิได้  ออกปฏิบัติด้วยจตุปัจจัยทั้งสี่   โดยสมควรแก่คุณานุรูปอันมีวิเศษมากวิเศษน้อย ได้ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้ถาวรรุ่งเรืองไปในกาลภายหน้า

ประกาศมา ณ ปีมะแม เอกศก  ในรัชกาลปัจจุบันนี้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่