อกายนมรรค สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

ธรรมะแก้เหงาวันพระ

เอกายนมรรค

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ


บัดนี้ จะแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

สติปัฏฐานนั้นเป็นหลักใหญ่ในการปฏิบัติจิตตภาวนา ทั้งเพื่อสมาธิ ทั้งเพื่อปัญญา และธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้ ในหมวดสติปัฏฐานทั้ง ๔ นั้น
ก็เป็นข้อธรรมะที่เกี่ยวแก่กายเวทนาจิตธรรม อันเป็นหัวข้อแห่งสติปัฏฐานทั้ง ๔
และแม้จะแสดงธรรมะข้ออื่นนำ ดังที่ได้แสดงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ นำมาโดยลำดับ ก็นับเข้าในหมวดสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้

พระคุณของพระรัตนตรัย

ในการปฏิบัติเกี่ยวแก่พระคุณของพระรัตนตรัยทั้ง ๓ นี้ ก็ต้องอาศัยสติปัฏฐานคือตั้งสติ ระลึกคุณของพระพุทธเจ้าว่ามีอย่างนี้ๆ

ระลึกถึงคุณของพระธรรมว่ามีอย่างนี้ๆ ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ว่ามีอย่างนี้ๆ และโดยปรกติในการแสดง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ
ก็แสดงไปตามบทสวดพระพุทธคุณพระธรรมคุณพระสังฆคุณ คือ อิติปิโส ภควา อรหัง สัมมาสัมพุทโธ เป็นต้น
สวากขาโต ภควตา ธัมโม เป็นต้น สุปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ เป็นต้น
เพราะเป็นที่รวมพระคุณแห่งรัตนะทั้งสามนี้ไว้แล้วเป็นหมวดหมู่อย่างดียิ่ง

การระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ก็นับได้ว่าเป็นการปฏิบัติในธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตก็ย่อมน้อมไป เวทนาก็ย่อมเป็นไป
กายก็ย่อมเป็นไป ในพระพุทธคุณพระธรรมคุณพระสังฆคุณที่ตั้งสติระลึกถึงนี้
แม้ในการแสดงธรรมะข้ออื่นทุกข้อ ก็จะต้องอาศัยสติตั้งระลึก ตั้งแต่เบื้องต้น
คือเมื่อฟังเมื่ออ่านไปตามข้อธรรมนั้นๆ ก็นับเข้าในข้อธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานได้ทั้งหมด

เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่าเป็นการปฏิบัติตั้งสติระลึกถึงพระธรรมก็ได้ ซึ่งเป็นสรณะที่ ๒ ในรัตนะทั้ง ๓ และก็ย่อมเป็นไปตามพระธรรมคุณที่สวดกันนั้น
ตั้งแต่ สวากขาโต ภควตา ธัมโม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวดีแล้ว เป็นต้น
เพราะพระธรรมที่ตั้งใจระลึกกำหนดฟัง กำหนดอ่าน และกำหนดปฏิบัตินั้นๆ ก็ล้วนเป็นธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้กล่าวไว้ดีแล้ว ได้ตรัสไว้ดีแล้วทั้งนั้น
และพระพุทธเจ้าเองซึ่งเป็นผู้ตรัสพระธรรมที่เป็นสวากขาตธรรมนั้น ก็ทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น
ตามบทพระพุทธคุณ ก็เป็นอันได้พระพุทธคุณไปด้วยกัน

ฝ่ายผู้ฟังพระธรรมที่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่แรก ได้ดวงตาเห็นธรรม จนถึงทำกิเลสและกองทุกข์ให้สิ้นไปบางส่วน จนถึงสิ้นเชิง

อันชื่อว่าพระสงฆ์ ก็อาศัยรู้ตามปฏิบัติตามพระพุทธเจ้านั้นเอง ผู้ปฏิบัติธรรมตั้งแต่ครั้งพุทธกาลมาจนถึงบัดนี้ ก็ย่อมดำเนินอยู่ในทางเดียวกัน
และเมื่อปฏิบัติกันจนเข้าขั้นก็นับเข้าในพระสงฆ์สาวกคือผู้ฟังของพระพุทธเจ้า ก็เป็นอันได้ระลึกถึงพระสังฆคุณไปด้วยกัน

ทางอันเอก

ฉะนั้น ธรรมะทั้งสิ้นที่พระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอน จึงเนื่องเป็นอันเดียวกัน และดำเนินไปในทางเดียวกันทั้งหมด
ดังที่ตรัสไว้ในเบื้องต้นของมหาสติปัฏฐานว่า

เอกายโน มคฺโค มรรคคือทางปฏิบัติที่เป็นทางไปอันเดียว

สตฺตานํ วิสุทฺธิยา เพื่อความบริสุทธ์ของสัตว์ทั้งหลาย

โสกปริเทวานํ สมติกฺกมาย เพื่อก้าวล่วงความทุกข์ และความโทมนัส โสกะเพื่อก้าวล่วงความโศก และความปริเทวะ คือความคร่ำครวญรำพัน

ทุกฺขโทมนสฺสานํ อตฺถงฺคมาย เพื่อดับทุกข์โทมนัส

ญายสฺส อธิคมาย เพื่อบรรลุญายะธรรม คือธรรมะที่พึงบรรลุ ธรรมะที่พึงรู้ ธรรมะที่ถูกชอบ

นิพฺพานสฺส สจฺฉิกิริยาย เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน

หัวข้อที่ตรัสไว้ดั่งนี้ ย่อมเป็นไปในธรรมะทั้งหมดที่ตรัสแสดงสั่งสอน คือเข้าทางเดียวกันทั้งหมด ไม่แตกแยกทางออกไปเป็นทางอื่น
มุ่งสู่ความบริสุทธิ์ ความก้าวล่วง โสกะปริเทวะ ความดับทุกข์โทมนัส ความบรรลุญายะธรรม ธรรมที่ถูกชอบดังกล่าว
เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานเป็นจุดมุ่งหมายด้วยกันทั้งหมด

ขณิกนิพพาน

เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จากการสดับฟัง จากการอ่าน และจากการที่นำมาปฏิบัติด้วยตนเอง
เมื่อปฏิบัติไปได้ความบริสุทธิ์ใจ ได้ความก้าวล่วงความโศกความรัญจวนคร่ำครวญใจ ดับทุกข์โทมนัสใจทั้งหลาย บรรลุถึงภูมิธรรมจิตใจที่ถูกชอบ
ประกอบด้วยความรู้ความเห็น และได้พบกับความดับทุกข์ ดับกิเลสในใจตัวเองลง ดังที่เรียกว่าทำให้แจ้งนิพพานแม้ชั่วครู่ชั่วขณะ
เป็นขณิกนิพพานคือนิพพานชั่วครู่ชั่วขณะดั่งนี้ก็ใช้ได้ ก็เป็นอันว่าได้ปฏิบัติถูกต้อง

ข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางกลาง

ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนี้แม้จะมีมากมาย ก็เรียกว่ามากมายโดยปริยาย อันหมายความว่าทางที่แสดง
ที่ตรัสแสดงเพื่อให้เหมาะแก่อัธยาศัยนิสัย ภูมิชั้นแห่งจิตใจของผู้ฟังนั้นๆ เพราะพระองค์ทรงเป็นพระภควา ที่แปลโดยนัยยะหนึ่งว่า
พระผู้จำแนกแจกธรรมสั่งสอนประชาชน เพราะฉะนั้นปริยายคือทางที่แสดงจึงมีมากมาย ดังที่เรียกว่าแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์
แต่ว่าก็ล้วนเป็น เอกายนมรรค คือเป็นทางไปอันเดียว เข้าทางอันเดียวกันทั้งหมด จะกล่าวว่าเข้าทางอริยมรรค อันเป็นอริยสัจจ์ข้อที่ ๔ ก็ได้

ดังจะพึงเห็นได้ว่าในปฐมเทศนานั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงทางปฏิบัติของพระองค์ ที่ทรงเว้นจากหนทางสุดโต่ง ๒ คือ
กามสุขัลลิกานุโยค ความประกอบตนไว้ด้วยความสุขสดชื่นในกาม และ
อัตตกิลมถานุโยค ความประกอบทำความลำบากทุกข์แก่ตน
ทรงดำเนินไปใน มัชฌิมาปฏิปทา คือข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางกลาง ไม่ข้องแวะด้วยทางสุดโต่งทั้ง ๒ นั้น

อันเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา ได้แก่มรรคมีองค์ ๘ คือทางปฏิบัติที่มีองค์ ๘ ประการ เป็นทางเดียวนั้นแหละแต่ว่ามีองค์ประกอบ ๘ คือ
สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ สัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ

สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ (ท่านไม่ได้กล่าวถึง สัมมาวายามะ เพียรชอบ) สัมมาสติ ระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ

(เริ่ม ๑๔๐/๑) จึงได้ตรัสรู้ธรรมะที่เป็นอริยสัจจะ คือเป็นสัจจะความจริงที่อริยบุคคลพึงรู้ ที่มิได้เคยทรงสดับมาก่อน
อันได้แก่ ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
และก็ได้แสดงถึงญาณคือความหยั่งรู้ ความตรัสรู้ที่ทรงได้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ ว่ามีเป็นอย่างไร
เมื่อทรงได้ญาณคือความตรัสรู้นี้แล้วจึงได้ทรงปฏิญญาพระองค์ ว่าได้ทรงตรัสรู้เองชอบ ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว
ไม่มีกิจอื่นที่จะพึงทำเพื่อความเป็นอย่างนี้อีก ดั่งนี้

หลักสำคัญในพุทธศาสนา

เป็นอันว่าอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และได้ทรงแสดงไว้ตั้งแต่ปฐมเทศนานี้ เป็นหลักสำคัญแห่งพระพุทธศาสนา เมื่อทรงแสดงพระธรรมเทศนาในครั้งต่อๆ มา ก็ทรงแสดงโดยปริยายคือทางที่บอกแก่ผู้ฟังนั้นๆ และแม้จะได้ตรัสจำแนกไว้ โดยปริยายคือทางมากมายเพียงไร ก็ย่นเข้าใน เอกายนมรรค ดังกล่าว แต่ว่าเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติจึงได้ตรัสย่อเข้ามา มรรคมีองค์ ๘ นั้นก็ตรัสเข้ามา โดยย่อเป็นไตรสิกขา คือ สีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่ผู้นับถือพุทธศาสนาได้ศึกษา ฟัง จำ และปฏิบัติกันอยู่

ก่อนที่จะทรงแสดงถึงไตรสิกขา ก็ได้ทรงย่อไว้ก่อนแล้วในพระโอวาทปาฏิโมกข์ ที่ตรัสไว้ในวันเพ็ญเดือนมาฆะ ไม่นานปีจากตรัสรู้ อันพุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้ประกอบพิธีมาฆะบูชา ที่เราทั้งหลายได้ปฏิบัติบูชากันอยู่ คือย่อเข้ามาเป็น ๓ ได้แก่

สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวง

กุสลสฺสูปสมฺปทา การทำกุศลให้ถึงพร้อม

สจิตฺตปริโยทปนํ การทำจิตของตนให้ผ่องใส

นี้คือศาสนาของพระพุทธะคือผู้รู้ทั้งหลาย ที่มีคำบาลีว่า เอตํ พุทฺธานสาสนํ และคำนี้เองเป็นต้นเดิมของคำว่าพุทธศาสนา ที่เราทั้งหลายเรียกกันอยู่ทุกวันนี้ พระพุทธเจ้าเองได้ทรงนำใช้ขึ้นก่อนในพระโอวาทอันสำคัญนี้ และก็พึงสังเกตว่าในพระโอวาทนี้ ตรัสว่า พุทธานสาสนัง สาสนัง ศาสนา พุทธานะ ก็คือพุทธานัง แห่งพระพุทธะทั้งหลาย หรือว่าแห่งพระผู้รู้ทั้งหลาย

พุทธะ ปัจเจกพุทธะ อนุพุทธะ

อันหมายความว่า คำว่าพุทธะนั้น มิได้มีเฉพาะพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาของเราทั้งหลายเพียงองค์เดียว เพราะฉะนั้น จึงได้มีแสดงถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตเป็นอันมากในกัปกัลป์นั้นๆ และแม้ว่าพระสาวกคือศิษย์ของพระพุทธเจ้าซึ่งได้ฟังธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอน และได้รู้ตาม ละกิเลสกองทุกข์ได้ตาม ก็เรียกว่าอนุพุทธะ แปลว่าพระผู้ตรัสรู้ตาม และได้มีแสดงถึงพระพุทธเจ้าในสมัยว่างศาสนา ที่ท่านได้ค้นคว้าปฏิบัติธรรม ได้พบทางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา และได้ตรัสรู้อริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ ทำกิเลสและกองทุกข์ให้สิ้นไปด้วยองค์ท่านเองไม่ได้ฟังจากใคร แต่ว่าเมื่อตรัสรู้แล้วก็ไม่ได้สอนใคร จึงไม่เกิดเป็นศาสนาของท่านขึ้น เรียกว่าท่านไม่ตั้งศาสนาขึ้น ซึ่งเรียกว่าปัจเจกพุทธะ หรือเราเรียกกันว่าพระปัจเจกโพธิ์ คือพระผู้ตรัสรู้เพียงพระองค์เดียว คือจำเพาะพระองค์ ไม่สอนใครไม่ตั้งศาสนาขึ้น ก็เป็นพระพุทธะอีกจำพวกหนึ่ง

จึงรวมพระพุทธะได้ ๓ จำพวก

๑ พระสัมมาสัมพุทธะ คือพระพุทธะผู้ตรัสรู้เองชอบแล้ว สั่งสอนผู้อื่นให้รู้ตาม ตั้งพุทธศาสนา และพุทธบริษัทขึ้นในโลก ดังเช่นพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย

๒ พระปัจเจกพุทธะ คือพระพุทธะผู้ตรัสรู้เฉพาะพระองค์เดียว ไม่สั่งสอนใคร ไม่ตั้งพุทธศาสนา และพุทธบริษัทขึ้น

๓ พระอนุพุทธะ คือพระสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นจำพวกที่ ๑ ซึ่งได้ฟังธรรมของพระองค์แล้วได้ตรัสรู้ตาม ทำกิเลสและกองทุกข์ให้สิ้นไปตาม

พุทธานสาสนัง

คำว่า พุทธานสาสนัง แปลว่าศาสนาของพระพุทธะทั้งหลาย เอาจำเพาะที่เป็นพระสัมมาสัมพุทธะเท่านั้น ในอดีตก็มีมาแล้วมากมาย ในอนาคตก็จะมีอีก แต่ในปัจจุบันนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย ซึ่งตั้งพุทธศาสนาขึ้น ตั้งพุทธบริษัทขึ้น ที่เราทั้งหลายนับถือปฏิบัติกันอยู่ทุกวันนี้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธะ และพุทธศาสนาที่เรานับถือกันทุกวันนี้ ก็เป็นคำสอนของพระพุทธะคือพระองค์ และแม้ว่าพระพุทธเจ้าองค์อื่นทั้งหมด ท่านก็ได้ตรัสรู้อริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้อย่างเดียวกัน ได้ดำเนินมาในมัชฌิมาปฏิปทาคือมรรคมีองค์ ๘ อย่างเดียวกัน สอนอย่างเดียวกันเป็น เอกายนมรรค ทางไปอันเอกอันเดียวกัน ไม่แตกต่างกัน

เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสว่าคำสอนของพระพุทธะทั้งหลาย ซึ่งเรามาใช้เรียกว่าพุทธศาสนาตามพระองค์ และในพุทธกาลนี้ก็เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาของเราทั้งหลายนี้ ซึ่งท่านแสดงว่าเมื่อได้มีพระพุทธเจ้าคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้น และมีศาสนามีพุทธบริษัทของพระองค์อยู่นานตราบใด ย่อมไม่มีพระพุทธะองค์อื่นขึ้น คือไม่มีพระสัมมาสัมพุทธะ ไม่มีพระปัจเจกพุทธะองค์อื่นขึ้น ในพุทธกาลที่ยังดำรงอยู่นี้ เพราะว่ามีศาสนาของพระองค์ปรากฏอยู่ในโลกแล้ว สั่งสอนอยู่ในโลกแล้ว

ผู้มุ่งปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ ไม่จำเป็นจะต้องไปค้นคว้าด้วยตนเอง เพราะว่ามีตำรับตำราที่จะค้นคว้าได้แล้ว และมีพระสงฆ์ที่จะสั่งสอนได้แล้ว จึงไม่ต้องค้นคว้าเอาเอง

เพียงแต่ตั้งใจมาศึกษาเล่าเรียนปฏิบัติเท่านั้น ก็ทำกิเลสและกองทุกข์ให้สิ้นได้ ก็เป็นอนุพุทธะขึ้นได้

ต่อเมื่อสิ้นพุทธกาล หรือสิ้นศาสนา ไม่มีพุทธศาสนาปรากฏอยู่ในโลก ไม่มีพุทธบริษัทปรากฏอยู่ในโลกแล้ว
เมื่อมีผู้มุ่งปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นกิเลสและกองทุกข์ ก็ต้องค้นคว้าเอาเอง และท่านผู้ที่เป็นพระโพธิสัตว์ ได้ค้นคว้าปฏิบัติเข้าทางมาโดยลำดับแล้ว
ในที่สุดก็จะมาพบทางมีองค์ ๘ และก็จะได้ตรัสรู้อริยสัจจ์ทั้ง ๔ ได้ เพราะธรรมะที่เป็นสัจจะคือความจริงนี้เป็นของกลาง
เป็นของที่มีอยู่โดยไม่มีกาลเวลา คือไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต ไม่มีปัจจุบัน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่