(บทความ...นายพระรอง)โครงสร้างโมเดลประชาธิปไตย ที่ประชาชนเป็นแค่ข้ออ้าง

กระทู้สนทนา
หากจะแสดงทัศนะตามหัวข้อกะทู้ ก็คงต้องย้อนไปดูตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของประชาธิปไตยในประเทศนี้ เพื่อย้อนกลับไปดูกรรมวิธีเริ่มแรกในการประดิษฐ์โมเดลที่ชื่อว่าประชาธิปไตย ว่ามีกระบวนการสร้าง และตั้งคำคำถามสำคัญเอาไวก่อน เอาไว้ไปตอนตอนท้าย



       ซึ่งถ้าต้องย้อนกลับไปมองอดีต เราประชาชนคนไทย ที่ส่วนใหญ่มีบทบาทเป็นได้แค่ผู้ตามในระบอบประชาธิปไตย เคยนึกสงสัยไหม..ว่าอะไรคือเหตุผลหรือจุดประสงค์ที่แท้จริง..? ของ “คณะราษฎร” ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475 มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

และเคยตั้งคำถามบ้างไหม ว่าเพราะอะไร..หรือทำไปทำไม ?
       หรือได้แต่ใช้งานสมองส่วนของการจดจำ ท่องจำเอาคำที่กระทรวงศึกษาฯใส่ไว้ให้ในแบบการเรียนการสอนในวัยเด็กว่าเพราะ กลุ่มคณะราษฎร อยากเห็นประเทศชาติเจริญพัฒนา หลุดพ้นจากปัญหาด้านเศรษฐกิจที่รุมเร้าในขณะนั้น อีกทั้งยังต้องการทำให้ชาติเข้มแข็งตั้งมั่นเพื่อรับมือการการรุกรานของจักรวรรดิชาติตะวันตก ที่รุกรานขยายอำนาจออกล่าอาณานิคม

       เคยนึกสงสัยบ้างไหม ว่าการประชุมครั้งแรกของบุคคลอันเป็นแกนนำของกลุ่มคณะราษฎรยุคก่อตั้ง ที่บ้านพักเลขที่ 9 ถนนซอเมอราร์ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 ที่ว่ากันว่า ใช้เวลาคุยกันอยู่ 5 วัน 4 คืน คุยกันเรื่องอะไร...?

       แม้ภายหลัง จะมีการออกมาบอกประชาชนในภายหลังจากที่เปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จแล้วว่า ที่คุยกันในครั้งนั้น ก็เพื่อหาข้อสรุปที่ออกมาเป็น "หลัก 6 ประการของคณะราษฎร" ที่กล่าวสรุปสั้นๆได้ว่า หลัก 6 ประการนี้ ประกอบไปด้วย เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา แต่ถ้าขยายความ ให้จำนวนเนื้อหาของบทความมันยาวขึ้น ก็จะมีรายละเอียดของหลัก 6 ประการดังนี้

1.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในบ้านเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ให้มั่นคง
2.จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
3.จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจไทย รัฐบาลใหม่ จะพยายามหางานให้ราษฎรทำโดยเต็มความสามารถ จะร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
4.จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่
5.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการ ดังกล่าวแล้วข้างต้น
6.จะต้องให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

       ซึ่งถ้าคิดตามนี้ เชื่อตามนี้ ก็จะรู้สึกว่า ประชาชนคนไทยโชคดีเสียจริง ที่มีกลุ่มคนอย่างคณะราษฎร มาคิดอ่านแทนพวกเขาเยี่ยงนี้ เป็นคุณงามความดีที่พวกเขาได้เสียสละทำเพื่อปวงชนชาวไทย สรรเสริญบรรยายกันสวยงามราวอยู่ท่ามกลางทุ่งดอกลาเวนเดอร์ ภายใต้แสงแดดอ่อนๆในตอนเช้า
แต่ขอโทษที ผมไม่เชื่อ..!!!

       ไม่ใช่ว่าไม่เชื่อว่ามีแนวคิดเช่นนี้ ที่อาจจะอยู่ในห้วงความคิดของบางคนในกลุ่มแกนนำคณะราษฎร เช่น นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งชัดเจนว่าต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และคาดว่าแนวคิดของหลัก 6 ประการนี้ ก็ออกมาจากมันสมองของนายปรีดีเช่นกัน

       แต่ที่บอกว่าไม่เชื่อนั้น คือไม่เชื่อว่า ที่คุยกัน 5 วัน 4 คืนนั้น จะคุยเรื่องเพื่อประชาชนตามหลัก 6 ประการที่อ้าง แต่ผมค่อนข้างมั่นใจว่า ที่คุยกันเคร่งเครียดยาวนานนั้น ใจความสำคัญมีอยู่เรื่องเดียว “คือหาทางยึดอำนาจให้สำเร็จ และสืบทอดอำนาจต่อไปให้ได้โดยไม่มีอุปสรรค”ส่วนจะคุยเรื่องของประชาชนไหม มันก็เป็นแค่ผลพลอยได้ ถ้ามีเวลาเหลือพอจะคุยเรื่องอื่น

ทำอย่างไรจะยึดอำนาจสำเร็จ และสืบทอดอำนาจต่อไปให้ได้..?

       ปัจจัยสำคัญมีอย่างเดียว ซึ่งก็เป็นคำยอดฮิตในช่วงเวลานี้ คือคำว่า “กองหนุน” ซึ่งกองหนุนก็มีอยู่ 2 ประเภท ที่คนทีต้องการแสวงหาอำนาจต้องการดึงตัวมาเป็นพวก คือ

1.กองหนุนประเภทมีสิทธิ์มีเสียงในสังคม หรือจะเรียกว่า อภิสิทธิ์ชนก็ได้ ในสมัยคณะราษฎร ก็เป็นพวกเสนา อำมาตย์ ข้าราชบริพาณที่มีตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ ในปัจจุบันก็อาจรวมถึง ครูบาอาจารย์ หรือนักธุรกิจกลุ่มทุนด้วย

2.กองหนุนประเภทมีอาวุธโธปกรณ์ หรือจะเรียกว่ากำลังพลก็ได้ และไม่ว่าในสมัยคณะราษฎรหรือมาจนถึงปัจจุบัน กองหนุนประเภทนี้ก็ยังมีความสำคัญที่สุดอยู่ดี

       ส่วนคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ อย่างประชาชน ที่น่าจะถูกจัดเป็นกองหนุนเหมือนกัน แต่ก็มักไม่ได้รับการเหลือบแล และแทบไม่มีผลอะไรเลยกับโมเดลประชาธิปไตยที่หวังในอำนาจแบบนี้ เป็นได้เต็มที่ ก็แค่ “ข้ออ้างชั้นดี” ก็เท่านั้น

       และถ้าใครคิดว่าไม่จริง ก็ลองย้อนไปดู รายชื่อของผู้ที่ได้รับการแต่งตั้ง จากบรรดาผู้สร้างโมเดลประเภทนี้ในยุคปัจจุบันสิ ไอ้ที่เรียกกันว่า “แม่น้ำห้าสาย” นั้นแหละ มีรายชื่อไหนผิดไปจากกองหนุน 2 ประเภทแรกบ้างและในสมัยของ คณะราษฎรอันเป็นต้นแบบของโมเดลนี้ก็ไม่ต่างกัน มีการแต่งตั้งเบ็ดเสร็จแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ให้กับบรรดากองหนุนที่สนับสนุนการการเปลี่ยนแปลงของตนเองเช่นกัน ตอนนั้นยังมีแค่แม่น้ำสายเดียว ที่ใช้ชื่อว่า รัฐสภา ที่สมาชิกทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งโดยผู้มีอำนาจ ซึ่งก็หนีไม่พ้นบรรดากองหนุนอยู่ดีที่ถูกรับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง

ดังนั้น หากย้อนไปคำถามสำคัญที่ตั้งถามไว้ที่ต้นกะทู้
โมเดลประชาธิปไตยแบบนี้ หวังในจุดประสงค์อะไร..?

       ซึ่งมาถึงตรงนี้อาจจะยังไม่ได้คำตอบอะไรแน่ชัด แต่ถ้ามันได้คำตอบเดียวกับข้อความที่น่าแสลงใจที่ผมตอบไปล่ะ ว่า“คือหาทางยึดอำนาจให้สำเร็จ และสืบทอดอำนาจต่อไปให้ได้โดยไม่มีอุปสรรค” มันคงจะแสลงใจประชาชนคนเขียนอย่างตัวผมเองไม่ใช่น้อย และแสลงใจประชาชนคนอ่านอีกหลายๆคนที่เข้ามาอ่านข้อเขียนนี้เช่นกัน

       มันน่าแสลงใจตรงที่ คำว่าประชาธิปไตย มันแปลว่า อำนาจประชาชน และแสลงใจหนักไปกว่าเก่า เมื่อ หากได้รู้ว่า ข้อความในรัฐธรรมนูญฉบับแรก ฉบับเริ่มต้นมาตรา 1 ความว่า "อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย"

       แต่ผลสุดท้าย ไม่ว่าจะปี 2475 หรือ ปัจจุบัน ประชาชนก็เป็นได้แค่ ข้ออ้าง เท่านั้นเอง ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้นครับ แม้โดยธรรมชาติของนักประดิษฐ์นักพัฒนาทั้งหลาย ในการสร้างหรือประดิษฐ์สิ่งใดขึ้นมา ย่อมมีการพัฒนาที่ต่อเนื่องเห็นผล จาก โมเดลซีรีย์ 1 ก็จะเป็น ซีรีย์ 2 3 4 ....ไปเรื่อยๆ

       เพียงแต่ว่าสิ่งเหล่านี้ มันนำมาใช้กับกับโมเดลที่ชื่อว่า ประชาธิปไตยของไทย ไม่ได้ก็เท่านั้นเอง เพราะในวันวานหรือวันนี้ก็ยังมีจุดประสงค์อยู่ที่การแสวงหาอำนาจเป็นหลัก


ชื่ออำนาจ ชื่อนั้น................ฉันฤา
แล้วใยใคร มาถือ................ครองไว้
คอยฉุดหยุด แย่งยื้อ............แย่งฉัน ทำไม
หรือฉันเป็น แค่ได้...............คำอ้าง เองฤา


น่าเศร้านะครับ
นายพระรอง



ปล.อื่นๆที่เกี่ยวข้องกับพาดพิงผมในแง่ร้าย หรือมีมุ่งหมายไม่สุจริต ทั้งที่จะเกิดในกะทู้นี้ หรือกะทู้ไหนๆก็ตามแต่ ผมไม่แคร์หรือให้ความสนใจใดๆทั้งสิ้นครับ เพราะว่าคนเราเลือกได้ ว่าจะเป็นคนแบบไหน ซึ่งเป็นแบบนี้ที่ผมอยากเป็น มันไม่สอดคล้องกับการไปเต้นตามประเด็นโจมตีของใครครับ ผมเก็บตัวอักษรของผมไว้เขียนเรื่องที่มีค่ามีสาระ ยังดีกว่าจะใช้ตัวอักษรไปด่าทอใครๆที่ไม่ได้ประโยชน์อันใดกับตัวเองและก็คนที่อาศัยร่วมอยู่สังคมเดียวกันเลย
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่