zzz 24 มิถุนา วันมหาศรีสวัสดิ์ zzz

กระทู้สนทนา

ยี่สิบสี่ มิถุนา วาระนี้
แปดสิบปี ผ่านมา พาใจหาย
มีเรื่องราว เกิดกัน นั้นมากมาย
ล้วนเลวร้าย ร้าวราน ที่ผ่านมา

จะอีกนาน แค่ไหน ยังไม่รู้
ประชาชน ต่อสู้ นานหนักหนา
เพิ่อจะได้ การปกครอง ถูกต้องมา
เพื่อประชาธิปไตย ดูไกลเกิน...



ปฏิทินประวัติศาสตร์สามัญชน
วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
การปฏิวัติสยาม


คณะราษฎร คือ กลุ่มบุคคลที่ดำเนินการการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ยึดอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศสยาม จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ

คณะราษฎรประกอบด้วยกลุ่มบุคคลผู้ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนและนักเรียนทหารที่ศึกษาและทำงานอยู่ในยุโรป โดยเริ่มต้นจาก นายปรีดี พนมยงค์ นักเรียนวิชากฎหมาย และร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี นักเรียนวิชารัฐศาสตร์ ก่อนที่จะหาสมาชิกที่มีความคิดแบบเดียวกันเพิ่มเติมรวมทั้งสิ้น 7 คน ได้แก่
1.    นายปรีดี พนมยงค์ นักเรียนวิชากฎหมาย ประเทศฝรั่งเศส
2.    ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี นักเรียนวิชารัฐศาสตร์ ประเทศฝรั่งเศส
3.    ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ นักเรียนวิชาทหารปืนใหญ่ ประเทศฝรั่งเศส
4.    ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี นักเรียนวิชาทหารม้า ประเทศฝรั่งเศส
5.    นายตั้ว ลพานุกรม นักเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
6.    หลวงศิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี) ผู้ช่วยราชการสถานทูตสยามในประเทศฝรั่งเศส
7.    นายแนบ พหลโยธิน นักเรียนวิชากฎหมาย ประเทศอังกฤษ
และได้ทำการประชุมครั้งแรกที่บ้านพักเลขที่ 9 ถนนซอมเมอราร์ด ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 ซึ่งติดต่อกันนานถึง 4 คืน 5 วัน และได้ตกลงที่จะทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย โดยตกลงที่ใช้วิธีการ "ยึดอำนาจโดยฉับพลัน" รวมทั้งพยายามหลีกเลี่ยงการนองเลือด เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นแล้วในการปฏิวัติฝรั่งเศสและการปฏิวัติรัสเซีย ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการถือโอกาสเข้ามาแทรกแซงจากมหาอำนาจที่มีอาณานิคมอยู่ล้อมรอบสยามในสมัยนั้น คือ อังกฤษและฝรั่งเศส
ในการประชุมครั้งนั้น กลุ่มผู้ก่อการได้ตั้งปณิธานในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพื่อให้สยามบรรลุเป้าหมาย 6 ประการ ซึ่งต่อมาหลังจากปฏิวัติยึดอำนาจได้แล้ว ก็ได้ประกาศเป้าหมาย 6 ประการนี้ไว้ในประกาศคณะราษฏร ฉบับที่ 1 และต่อมาได้เรียกว่าเป็น "หลัก 6 ประการของคณะราษฎร" โดยหลัก 6 ประการนั้นคือ
1.    จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในบ้านเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ให้มั่นคง
2.    จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
3.    จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจไทย รัฐบาลใหม่ จะพยายามหางานให้ราษฎรทำโดยเต็มความสามารถ จะร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
4.    จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่
5.    จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการ ดังกล่าวแล้วข้างต้น
6.    จะต้องให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
และที่ประชุมได้ลงมติให้ นายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า จนกว่าจะหาผู้ที่เหมาะสมกว่าได้
หลังจากการประชุมนั้น เมื่อคณะผู้ก่อการได้กลับมาประเทศสยาม ก็ได้พยายามหาสมาชิกเพื่อเข้าร่วมการก่อการปฏิวัติ โดยได้ติดต่อประชาชนทุกอาชีพ ทั้งพ่อค้า ข้าราชการพลเรือน และทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายทหารระดับสูงที่มีแนวความคิดอย่างเดียวกันมานานก่อนหน้านี้ 4-5 ปีแล้ว จนได้สมาชิกทั้งสิ้น 115 คน แบ่งเป็นสายต่าง ๆ คือ
•    สายพลเรือน นำโดย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)
•    สายทหารเรือ นำโดย นาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน)
•    สายทหารบกชั้นยศน้อย นำโดย พันตรี หลวงพิบูลสงคราม (แปลก พิบูลสงคราม)
•    และสายนายทหารชั้นยศสูง นำโดย พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)[4]
โดยที่ประชุมคณะราษฎรตกลงกันว่า ในเรื่องของการปฏิวัติ ตลอดจนสถาปนาความมั่นคง และความปลอดภัยของบรรดาสมาชิก และของประเทศ เป็นหน้าที่ของฝ่ายทหาร และในส่วนของการร่างคำประกาศ ตลอดจนการร่างกฎหมาย และการวางเค้าโครงต่าง ๆ ของประเทศ เป็นหน้าที่ของฝ่ายพลเรือน

เพลงชาติ 24 มิถุนา

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่