JJNY : ปชต.ยังไม่แข็งแรงการเมืองไทย 'ผิดปกติ'│ชัยธวัช ร่วมเสวนา 92 ปี 24 มิถุนา│ทองวันนี้ ร่วง 50 บาท│ไฟไหม้ชานกรุงมอสโก

แถลงลั่นอนุสรณ์ 14 ตุลา 92 ปีผ่านไป ปชต.ยังไม่แข็งแรง การเมืองไทย 'ผิดปกติ'
https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_4646409

แถลงลั่นอนุสรณ์ 14 ตุลา 92 ปีผ่านไป ปชต.ยังไม่แข็งแรง การเมืองไทย ‘ผิดปกติ’
 
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม สี่แยกคอกวัว เขตพระนคร กรุงเทพฯ กลุ่ม ThumbRights ร่วมกับ เเนวร่วมธรรมศาสตร์เเละการชุมนุม, ทะลุฟ้า เเละองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) จัดงาน “92 ปี ประชาธิปไตย(?) ประเทศไทยเอาไงต่อ” ตั้งแต่เวลา 18.00 – 21.00 น.เนื่องในวาระครบรอบ 92 ปี
 
โดยบรรยากาศเวลา 21.00 น. ตัวแทนกลุ่ม ThumbRights แนวร่วมมธ. ทะลุฟ้า เเละ อมธ. ร่วมอ่านเเถลงการณ์เนื่องในวาระ 92 ปีการเปลี่ยนเเปลงการปกครอง ใจความว่า
 
ราษฎรทั้งหลาย ตั้งแต่วันเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยมาจนถึงเวลานี้ เป็นเวลา 92 ปีแล้ว ในขั้นต้น ราษฎรบางคนได้ฟังและคงหวังกันว่า ประเทศนี้คงจะเป็นประชาธิปไตย และอำนาจจะอยู่ในมือประชาชน แต่การณ์ก็หาได้เป็นไปตามที่คาดหวังกันไม่
 
ในทางเศษฐกิจ 92 ปีที่ผ่านมาก็มิอาจสร้างความเสมอภาค ราษฎรยังคงต้องเดือดร้อน ทำงานเหน็ดเหนื่อยในสภาวะเศรษฐกิจที่ถูกครอบนำโดยนายทุนผูกขาด และเป็นประเทศที่อัตราความเหลื่อมล้ำที่สูงที่สุดในโลก ในทางการเมือง มรดกของระบอบเก่ายังคงลอยนวลอยู่ และสร้างบาดแผลให้กับสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง
 
ราษฎรผ่านวิกฤติการรัฐประหารมาหลายครั้ง และแต่ละครั้งบั่นทอนประชาธิปไตย เรื่อยมา ครั้งล่าสุด เมื่อรัฐประประหาร ปี 2557 พวกเขาก็ยังเอาแต่พวกแต่พ้อง เข้ามาปกครองบ้านเมืองและริบเอาอำนาจของราษฎรไว้ในมือตนเองอีกครั้ง
 
หลายปัญหาที่คณะรัฐประหาร จะเข้ามาแก้ก็ยังคาราคาชัง ไม่ได้รับการแก้ไข บางปัญหาก็เพิ่มเติมเข้ามา จะจัดการเลือกตั้ง ก็เป็นการเลือกตั้งที่ทำให้ตัวเองดูชอบธรรมมากขึ้น แต่อำนาจก็ยังไม่กลับไปอยู่ในมือประชาชนเสียที เศรษฐกิจปากท้องที่ว่าเร่งด่วน แต่หลักฐานก็ฟ้องว่าพวกเราไม่ได้มีกินมากขึ้น โครงสร้างก็มิอาจทำหน้าที่ดูแลปากท้องของราษฎรอย่างเต็มที่ และอีกหลาย ๆ ปัญหารวมถึง รัฐธรรมนูญที่ว่าปราบโกง แต่ปัจจุบันกล้ารับรองอย่างเต็มอกหรือไม่ ว่าสามารถปราบได้จริง
 
การที่แก้ไขไม่ได้ ก็เพราะชนชั้นนำปกครองเพียงเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ตกลงกันเพื่อบรรลุเป้าหมายของตัวเอง มิใช่เพื่อประโยชน์สาธารณะของราษฎรตามแบบประเทศประชาธิปไตยเขาทำกัน
 
บัดนี้ กาลได้ผ่านมา การเมืองไทยยังคงผิดปกติ แม้ว่าคณะรัฐประหารดูจะออกจากการบริหารประเทศ ผ่านการเลือกตั้ง บรรดาชนชั้นนำยังปกครอง ปกครองบ้านเมืองอย่างไม่ชื่อตรงต่อราษฎร พวกเขาต่างยังปกครองเพื่อผลประโยชน์กันเอง พวกเขายังไม่เคารพเสียงของประชาชนที่ใช้ผ่านการเลือกตั้ง คณะบริหารประเทศก็ยังไม่ต่างจากเดิมมาก อีกทั้งว่าชีวิตของพวกเราไม่รู้สึกว่าดีขึ้นจากเดิมเลย
 
ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของบรรดาชนชั้นนำ ประเทศนี้ ราษฎรต่างร่วมกันสร้างด้วยสมองและสองแขน ออกมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้สังคม
 
ทนลมร้อนลมฝนเพื่อให้ได้ค่าแรงที่เป็นธรรม ออกมาเดินบนท้องถนนเพื่อสร้างรัฐสวัสติการ ปักหลักตากแดดตากลมเพื่อให้มีบ้านอยู่ โดนจับติดคุกเพราะใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อทำให้มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน ฝ่ากระสุนยางและแก๊สน้ำตาเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญของราษฎร
 
แม้จะผ่านมาแล้ว 92 ปี ราษฎรก็ยังไม่มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ บัดนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า การจะได้มาซึ่งประชาธิปไตยนั้น หาใช่การร้องขอจากชนชั้นนำอำมาตย์ไม่ แต่จักได้มาด้วยการต่อสู้ของประชาชน เช่นเดียวกับ 14 ตุลา, 6 ตุลา, พฤษภา 35 หรือพฤษภา 53 ที่มีส่วนในการพัฒนาประชาธิปโตยมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นแล้ว ขอราษฎรทั้งหลายร่วมกันอดทนต่อความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น ร่วมกันยืนหยัดเพื่ออุดมการณ์และร่วมกันสร้างประชาธิปไตยที่แข็งแรง
ราษฎรผู้ร่วมขับเคลื่อนประชาธิปไตย
 
จากนั้น เวลา 21.10 น. มีการแสดงดนตรีโดยวงสามัญชน นำโดย นายณัฐพงษ์ ภูแก้ว หรือ แก้วใส และ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ทะลุฟ้า ร่วมดีดพิณ



ชัยธวัช ร่วมเสวนา 92 ปี 24 มิถุนา ชี้เอกภาพขบวนการปชต. ไม่ใช่ต้องเห็นเหมือนกันทุกเรื่อง
https://www.matichon.co.th/politics/news_4646304

“ชัยธวัช” ย้ำ เอกภาพขบวนการประชาธิปไตย ไม่ใช่ความเห็นที่เหมือนกันทั้งหมด แต่เป็นเอกภาพระหว่างเป้าหมาย และวิธีการไปสู่ประชาธิปไตย ย้ำบทบาทพรรคการเมือง ต้องสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนต่อระบบรัฐสภา
 
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2567 นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมเสวนาหัวข้อ “เอกภาพขบวนการประชาธิปไตย สู่ ประชาธิปไตยสมบูรณ์ จากบทเรียน 2475 สู่อนาคต” จัดโดยสถาบันปรีดี พนมยงค์ ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) โดย นายชัยธวัช ร่วมแสดงความเห็นว่า เมื่อพูดถึง 24 มิถุนายน 2475 เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปเป็นระบอบที่ในยุคนั้น เรียกว่า “ราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ” ซึ่งหลายคนในปัจจุบัน อาจไม่คุ้นเคย เพราะในอดีตประชาธิปไตยใช้สำหรับระบอบการเมืองที่ประมุขของรัฐมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น

ระบอบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ” มีหลักการคืออำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ‘ปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง’ ใช้รูปแบบการเมืองประชาธิปไตยระบบรัฐสภา แต่เมื่อเวลาผ่านไป ภารกิจนี้ยังไม่สำเร็จ บทบาทของคณะราษฎรก็ถูกจำกัด และพ่ายแพ้ในทางการเมือง โดยเฉพาะ หลังการรัฐประหารครั้งแรก ในปี 2489 ที่มีการฉีกรัฐธรรมนูญ และจบบทบาทของคณะราษฎรตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา
 
ตั้งแต่เริ่มแรก การอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองถูกตอบโต้ตลอดเวลา นำโดยกลุ่ม Ultra Royalist หรือที่ปรีดีเรียกว่า “ผู้เกินกว่าราชา” แต่การโต้การอภิวัฒน์นี้ไม่ได้หมายความว่าจะเปลี่ยนระบอบกลับไปเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบเดิม เพียงแต่ต้องการแต่งใหม่ให้ “ราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ” กลายเป็นระบอบอื่นแบบแอบแฝงซึ่งอาจเรียกได้หลายชื่อ ชื่อล่าสุดที่เริ่มมีการพูดถึงอย่างเป็นระบบคือ “ราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจศึกษาว่าคืออะไร ดังนั้น ต้องยอมรับว่าภารกิจหรือจุดมุ่งหมายในการอภิวัฒน์ 2475 ยังไม่สำเร็จ มีการต่อสู้กันไปมาตลอดเวลา
 
นายชัยธวัชกล่าวต่อว่า ตนมองว่าประชาธิปไตยอาจไม่มีทางสมบูรณ์ จุดเน้นของปรีดีเมื่อกล่าวถึง “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” สาระสำคัญไม่ใช่ เฉพาะมิติทางการเมือง แต่ต้องเป็นประชาธิปไตยในทางเศรษฐกิจด้วย แต่ไม่ว่าจะความหมายใด ระบอบประชาธิปไตยเป็น “โครงการที่ไม่สิ้นสุด” กล่าวคือแม้เราผลักดันให้เป็นประชาธิปไตยในแง่หลักการพื้นฐาน เกิดความเท่าเทียมเป็นธรรมในทางเศรษฐกิจมากขึ้นแล้ว การต่อสู้ทางประชาธิปไตยก็ยังลึก และซับซ้อนขึ้นไปเรื่อยๆ เช่น ประชาธิปไตยทางเพศ ทางภูมิอากาศ ทางเทคโนโลยี ดังนั้น ชุดคุณค่าเปลี่ยนไปตลอดเวลา ประชาธิปไตยจะบรรลุเมื่อไรคงตอบไม่ได้ มีแต่เข้าใกล้ไปเรื่อยๆ เพียงแต่ตอนนี้ประเทศไทยยังสู้กันในประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานอยู่เลย
 
นายชัยธวัช กล่าวว่า เมื่อเห็นหัวข้อเสวนาเรื่องเอกภาพในขบวนการประชาธิปไตย ดูเหมือนผู้จัดงานให้ความสำคัญ หรือมีความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งในขบวนการประชาธิปไตย ทั้งมิติพรรคการเมือง นักกิจกรรม ปัญญาชน รวมถึงประชาชน สำหรับตนเห็นว่า เอกภาพมีความสำคัญ ทำให้การขับเคลื่อนมีพลังมากขึ้น แต่จากประสบการณ์ ซึ่งตนอาจมีน้อยที่สุดบนเวทีนี้ เอกภาพของขบวนการในความหมายที่ว่า เราไม่มีความขัดแย้ง ไม่เห็นต่างกันเลย เห็นไปในทิศทางเดียวกันหมดทุกเรื่อง อาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดในการสร้างประชาธิปไตยในไทยหรือทั่วโลก และอาจเป็นสิ่งที่ไม่ควรนึกถึง เพราะอาจทำให้สังคมกลายเป็นสังคมที่ไม่พึงปรารถนา ความเห็นที่แตกต่างกันเป็นเรื่องปกติ และควรเป็นส่วนหนึ่งของสังคมประชาธิปไตยด้วย
 
สิ่งที่ตนคิดว่า อาจจะสำคัญกว่า เอกภาพในความหมายข้างต้น คือขบวนการประชาธิปไตยในประเทศไทยให้ความสำคัญน้อยเกินไปกับเอกภาพระหว่างเป้าหมายและวิธีการ นี่อาจจะเป็นปัญหาในช่วงที่ผ่านมาและช่วงที่ตนมีประสบการณ์สัมผัสโดยตรง การผลักดันประชาธิปไตยในแต่ละกลุ่มไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน วิธีการคิดแตกต่างกันได้ แต่ไม่ว่าจะเห็นอย่างไร ทุกการตัดสินใจ ทุกจังหวะก้าวต้องไม่ลดทอนเป้าหมายคุณค่าที่เราอยากเห็น

ไปแค่ยอดมะพร้าว ยังไม่ถึงดวงดาว ไม่เป็นไร แต่การไปแค่ยอดมะพร้าวต้องไม่ลดทอนทำลายคุณค่าของเป้าหมายที่เราอยากไป หรือทำให้เกิดอุปสรรคกับเป้าหมายที่เราอยากจะไปถึง ผมให้ความสำคัญเรื่องนี้” นายชัยธวัช กล่าว
 
ดังนั้น ตนเห็นว่า สำหรับพี่น้องประชาชนแล้ว พรรคการเมืองมีความสำคัญมาก และละทิ้งไม่ได้ หากเห็นว่าพรรคที่มีอยู่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน ไม่สามารถตอบสนองเป้าหมายทางประชาธิปไตยได้ ก็ต้องช่วยกันสร้างพรรคการเมืองแบบนั้นขึ้นมา
 
ส่วนพรรคการเมืองทำอะไรได้บ้างในบริบทนี้ ตนเห็นว่า ต้องต่อสู้ผลักดันวาระประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปแบบ ทั้งเชิงระบบและเชิงโครงสร้าง เพื่อเพิ่มอำนาจของประชาชน และขณะเดียวกัน หากเราเข้าใจภูมิหลังของปัญหาว่า ไม่ใช่แค่ฝั่งอนุรักษนิยมที่คอยทำลายประชาธิปไตย แต่ต้องยอมรับว่าพฤติกรรมของพรรคการเมืองรวมถึงนักการเมือง หลายสิบปีที่ผ่านมาไม่สามารถสร้างศรัทธา และความเชื่อมั่นให้ประชาชนได้ จึงสุ่มเสี่ยงว่า เมื่อเกิดวิกฤติทางการเมือง ประชาชนจะไม่สนใจปกป้องระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา รวมถึงไม่ปกป้องพรรคการเมือง ดังนั้นนอกจากการผลักดันวาระประชาธิปไตยแล้ว พรรคการเมืองต้องมีส่วนอย่างสำคัญในการกลับมาสร้างความเชื่อมั่น และความศรัทธาของประชาชนต่อระบบรัฐสภาให้ได้
 
ส่วนจะมีความคิดเห็นแตกต่างอย่างไรก็ตาม ต้องไม่นำไปสู่การใช้วิธีการที่ลดทอนหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยเสียเอง วันนี้พรรคก้าวไกลในฐานะฝ่ายค้าน เรามีหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล มีหลายเรื่องที่เราไม่เห็นด้วย แต่เรามีเส้นอยู่ว่าเราจะไม่ค้าน ไม่วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายบริหาร ด้วยวิธีการอะไรก็ได้ หากเราเห็นว่าวิธีการแบบนี้มันชวนให้สังคมเลี้ยวขวา ออกห่างจากคุณค่าหลักการพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย เราต้องไม่ทำ” นายชัยธวัชกล่าว



ราคาทองวันนี้ 25 มิ.ย.67 ร่วง 50 บาท
https://www.dailynews.co.th/news/3570663/

ราคาทองวันนี้ 25 มิ.ย.67 ร่วง 50 บาท นักลงทุนความเคลื่อนไหวเฟด

รายงานข่าวจาก สมาคมค้าทองคำ เปิดเผยว่า บรรยากาศราคาทองวันนี้ 25 มิ.ย.67 ปรับลดลง 50 บาท ตั้งแต่ช่วงเปิดตลาด  ส่งผลให้ ทองคำแท่ง รับซื้อบาทละ 40,300 บาท ขายออกบาทละ 40,400 บาท และทองรูปพรรณ รับซื้อบาทละ 39,567.60 บาท ขายออกบาทละ 40,900 บาท

โดย บมจ.ออโรร่า ดีไซน์ กล่าวว่า นักลงทุนในตลาดส่วนใหญ่ยังคงรอคอยความเคลื่อนไหวจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และจับตาตัวเลขเงินเฟ้อซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันศุกร์นี้
 
ราคาทองคำจึงยังแกว่งตัวออกไปทางด้านข้างซึ่งเหมาะกับกลยุทธ์เก็งกำไรระยะสั้น นักลงทุนพิจารณาแบ่งเงินบางส่วนเข้ามาเก็งกำไรในกรอบการเคลื่อนที่ได้

ด้านราคาทองคำแท่งในประเทศยังได้รับผลบวกจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า นักลงทุนพิจารณาหาจังหวะซื้อสะสมที่ระดับ 40,100-40,200 บาท
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่