อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทุกส่วนล้วนมีความหมาย มาทำความรู้จักในความหมายในแต่ละส่วนของตัวอนุสาวรีย์กันฮะ

ที่มา
http://www.dek-d.com/board/view/1275779/



อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทุกส่วนล้วนมีความหมาย

          อนุสาวรีย์ที่เห็นจนชินตา และเข้าร่วมในเหตุการณ์สำคัญๆของชาติมาหลายต่อหลายครั้ง คงไม่มีอนุสาวรีย์ใดมีส่วนร่วมมากไปกว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่ยืนสง่าอยู่กลางถนนราชดำเนินตอนตัดกับถนนประชาธิปไตย

          อนุสาวรีย์แห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยมีคณะราษฎรซึ่งประกอบด้วย ทหาร ตำรวจ พ่อค้า ประชาชน เข้ายึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง

          จอมพล ป. พิบูลสงคราม หนึ่งในคณะราษฎรชุดเริ่มก่อตัวในประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่ พ.ศ. 2468 และก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ดำริว่า เมื่อสหรัฐอเมริกาเขาได้เสรีภาพมา เขาก็สร้างอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพขึ้นเป็นอนุสรณ์ เราคนไทยได้การปกครองระบอบประชาธิปไตยน่าจะสร้างอนุสาวรีย์ไว้เป็นอนุสรณ์บ้าง จึงคิดที่จะสร้างอนุสรณ์ให้คนรุ่นหลังได้ระลึกถึงการได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตย หรือระบอบที่ประชาชนมีอำนาจสูงสูดในการปกครอง และให้เห็นความสามัคคีกลมเกลียวของประชาชนที่จะช่วยกันพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญที่ได้มาสถิตสถาพรตลอดไป



  การก่อสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยได้มอบให้กรมศิลปากรเป็นผู้รับผิดชอบในการออกแบบและก่อสร้าง โดยมอบงานนี้ให้ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ทั้งการออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง เริ่มงานตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2482 แล้วเสร็จในวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2483 ใช้ค่าใช้จ่ายทั้งหมด 250,000 บาท และทำพิธีเปิดในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483


พิธีเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483


*** อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นอกจากจะมีความสง่างามแล้ว ทุกส่วนล้วนแต่มีความหมาย****

          ปีกทั้ง 4 ด้านที่ตั้งสูงขึ้นไป หมายถึง บุคคล 4 เหล่า คือ ทหาร ตำรวจ พ่อค้า ประชาชน ที่เข้าร่วมกันเป็นคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปีกนี้แต่ละปีกยังมีส่วนสูงจากฐานถึงยอด 24 เมตร หมายถึงวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือวันที่ 24 ของเดือน

          พานรัฐธรรมนูญ ตัวพานหล่อด้วยสำริด ประดิษฐานอยู่เหนือป้อมกลางพื้นวงกลมสูง 3 เมตร หมายถึงเดือนที่ 3 แห่งปี คือ เดือนมิถุนายน ซึ่งตอนนั้นยังนับเดือนเมษายนเป็นเดือนเริ่มปีใหม่ มาเปลี่ยนเป็นเดือนมกราคมใน พ.ศ. 2484 และหมายถึง อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ภายใต้รัฐธรรมนูญ (นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ)



ฐธรรมนูญในสมุดไทย ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า สร้างด้วยทองแดง มีความสูง 3 เมตร หนัก 4 ตัน ตั้งบนฐานรูปทรงกลมด้านบนโค้งกลม ลานอนุสาวรีย์ยกสูงมีบันไดโดยรอบ

          ปืนใหญ่โบราณที่ปากกระบอกปืนฝังลงดินโดยรอบอนุสาวรีย์เหมือนเป็นรั้ว ร้อยติดกันด้วยโซ่เหล็ก หมายถึง ความสามัคคีพร้อมเพรียงของคณะปฏิวัติ เว้นช่องเฉพาะทางขึ้นลง มี 75 กระบอก หมายถึง พ.ศ. 2475 ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

          พระขรรค์ที่ประตูป้อมประดิษฐานรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ด้าน มี 6 เล่ม หมายถึง หลัก 6 ประการของคณะราษฎรในการบริหารประเทศ ได้แก่
          1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น ทางการเมือง ทางศาล ทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
          2. จะต้องรักษาความสงบปลอดภัยในประเทศ ให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุข
          3. จะต้องทำนุบำรุงความเป็นอยู่ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ ให้ราษฎรมีงานทำ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
          4. ราษฎรมีสิทธิเสมอกัน
          5. ให้ราษฎรได้เสรีภาพ อิสรภาพ ตามขอบเขตของกฎหมาย
          6. ให้ราษฎรได้รับการศึกษาอบรมอย่างเต็มที่

          และฐานของปีกทั้ง 4 ซึ่งมี 8 ด้าน มีภาพปูนปั้นแสดงประวัติความเป็นมาของคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง กับฐานที่ด้านนอกของปีกทั้ง 4 ยังมีอ่างน้ำ รับน้ำพุจากงูใหญ่ ซึ่งหมายถึงปีมะโรงที่เกิดการเปลี่ยนแปลง ให้น้ำตลอดปี หมายถึงให้คนไทยมีน้ำจิตน้ำใจต่อกันเพื่อความสงบร่มเย็นเป็นสุขกันทั่วหน้า

          ในพิธีเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จอมพล.ป พิบูลสงคราม ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า

          " เพื่อเชิดชูคุณค่าของประชาธิปไตย และเพื่อมีเครื่องเตือนใจให้พยายามผดุงรักษาระบอบนี้ให้สถิตสถาพรอยู่ตลอดกาล คณะรัฐบาลจึงลงมติให้สร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์นี้จะเป็นศูนย์กลาวแห่งความเจริญก้าวหน้าทั้งมวล เป็นต้นว่า ถนนสายต่างๆที่จะออกจากรุงเทพฯไปยังหัวเมือง ก็จะนับต้นทางจากอนุสาวรยีนี้ ถนนราชดำเนินซึ่งเป็นแนวของอนุสาวรีย์ ก็กำลังก่อสร้างอาคารให้สง่างามเป็นที่เชิดชูเกียรติของประเทศ และเป็นการสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยจะทำให้ถนนนี้เป็นที่เชิดชูยิ่ง"      







อ้างอิงข้อมูลและรูปภาพ
หนังสือ ก้อนอิฐก้อนหินเล่าเรื่อง

//////////////////
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่