ดึงชนชั้นกลางปั๊มลูกเพื่อชาติ? ในสภาวะการมีลูกคือความลำบากทางเศรษฐกิจ

https://www.prachachat.net/columns/news-85414

คอลัมน์ สามัญสำนึก
โดย ชลาทิพย์ ถิรสุนทรากุล

ประธานสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ออกโรงว่าภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐผลักดันมาตรการส่งเสริมให้กลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไปแต่งงานและมีลูกมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การกำเนิดประชากรในไทยน่าเป็นห่วง ซึ่งในอนาคต 10-20 ปี ข้างหน้า ไทยจะตกอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพ อาจต้องนำเข้าแรงงานที่มีศักยภาพจากต่างประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เป็นต้น

ถือเป็นการออกมาพูดชัดเจนถึงคาดการณ์ปัญหาอนาคตที่น่าสนใจว่า หากประเทศไทยที่ตอนนี้เราพูดถึงการเข้าสู่อุตสาหกรรมยุคที่ 4 ก็จริง แต่ที่น่าห่วงยิ่งกว่านั้น คือ ในอีก 1-2 ทศวรรษข้างหน้า ทั้งไทยและโลกจะไปสู่อุตสาหกรรมยุคที่ 5 หรือ Industry 5.0 ด้วยซ้ำ ฉะนั้นในอนาคต “แรงงานมีคุณภาพ” คือประชากรสำคัญของโลกและของประเทศ

แม้การพูดลักษณะนี้ หรือภาษาชาวบ้านจะมองว่าเป็นการ “ปั๊มลูก” เพื่อป้อนแรงงานเข้าสู่ระบบ ในแง่มานุษยวิทยาจะฟังดูแสลงใจ ประหนึ่งเห็นชีวิตมนุษย์ คือ “หน่วยหนึ่งทางเศรษฐกิจ” เท่านั้น แต่ในแง่ภาพรวมโครงสร้างแล้ว อัตราการเกิดที่น้อยลงในหลายประเทศทั่วโลก กำลังเป็น “วาระของชาติ” และ “วาระของโลก” เพราะองคาพยพนี้ ย่อมส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน ทั้งทางเศรษฐกิจและในทางบริบทสังคมอย่างแน่นอน

มีความห่วงพะวงถึงโลกที่มีสังคมผู้สูงวัยในอัตราสูงเกินไป และโลกที่ขับเคลื่อนด้วยประชากรรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพกลับลดน้อย หรือหาได้ยากเย็นขึ้นเรื่อย ๆ

ยิ่งเป็นความท้าทายว่า ในโลกที่เทคโนโลยีล้ำหน้า มีปัญญาประดิษฐ์ มีออโตเมชั่น มีกลไกที่ทำงานแทนแรงงานมนุษย์ ยิ่งทำให้ตระหนักว่าเราต้องการประชากรคุณภาพเพิ่มมากขึ้นไปอีกในแต่ละเจเนอเรชั่น

มีการยกตัวอย่างว่า อัตราการเกิดในกลุ่มคนชั้นกลางที่ลดต่ำลง ต่อไปไทยอาจต้องนำเข้าแรงงานที่มีศักยภาพจากฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ที่ถือว่าทั้งสองประเทศในอาเซียนมีขนาดประชากรในระดับสูง โดยฟิลิปปินส์ปัจจุบันมีประชากรกว่า 105 ล้านคน ส่วนเวียดนามมี 95 ล้านคน

ไม่ใช่เพียงเพราะประเทศที่ยกตัวอย่างข้างต้นเป็นประเทศในอาเซียนที่มีประชากรมากเท่านั้น แต่ทั้งสองประเทศมีการพัฒนาคุณภาพของประชากรให้มีขีดความสามารถแข่งขันได้ในระดับที่สูงขึ้นด้วยนั่นเอง

สำหรับประเทศไทย มีความพยายามจากภาครัฐ แต่ยังไม่ที่สุด ก่อนหน้านี้เราเคยได้ยินที่กระทรวงสาธารณสุขพยายามผลักดันโครงการสาวไทยแก้มแดงจูงใจให้คนไทยมีลูกเพื่อชาติ และสร้างเยาวชนที่มีสุขภาพแข็งแรง
ความพยายามเพิ่มอัตราการเกิดและสร้างเยาวชนที่แข็งแรงยังไม่เพียงพอ ยังต้องเพิ่มแรงจูงใจอีกมากทางด้านค่าครองชีพ ค่าเลี้ยงดูบุตรต่าง ๆ ที่ปัจจุบัน ปัญหานี้ยังทำให้ครอบครัวชนชั้นกลางไม่พร้อมมีบุตร

แม้กระทั่งภาคเอกชนที่ออกมาเรียกร้องเอง ก็ไม่ได้เปิดช่องให้ “คนทำงาน” หรือ “แรงงาน” ระดับคนชั้นกลางที่เอกชนคิดว่า คนกลุ่มนี้มีศักยภาพในการเลี้ยงดูบุตร ผลักดันการศึกษาได้ ได้รับสิทธิที่เอื้อประโยชน์เพื่อคนมีบุตรเพิ่มขึ้น เช่น เพิ่มวันลาคลอด หรือการให้พนักงานชายลาคลอดช่วยเลี้ยงดูบุตร เป็นต้น

เหนือสิ่งอื่นใด เพิ่มอัตราการเกิดแล้ว ยังต้องเพิ่มคุณภาพให้คนรุ่นใหม่มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นทันต่อการเติบโตของยุคดิจิทัลด้วยเช่นกัน  เพราะแม้เราจะเข้าสู่ยุคหุ่นยนต์ หรือเอไอ แต่มนุษย์ยังต้องทำงานควบคุมเทคโนโลยีอีกทีหนึ่ง และแน่นอนในตลาดอาชีพ การมีเพียงประชากรจำนวนมากเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้พัฒนาศักยภาพให้รับมือยุคดิจิทัล และอุตสาหกรรมยุคที่ 5 ได้ ก็จะเป็นปัญหาต่อไปอีกเช่นกัน

การเพิ่มประชากรจึงต้องสอดคล้องกับการเพิ่มศักยภาพ มิเช่นนั้นก็จะได้ทรัพยากรมนุษย์ที่อยู่ในวนเวียนกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และไปได้ไม่ไกลอยู่ดีนั่นเอง
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 7
ก่อนที่จะมองถึงภาพรวมที่ประเทศชาติ ประชาชนทุกคนมองถึง เศรษฐศาสตร์ของครอบครัวก่อนครับ...

เมื่อมีลูกมาก แล้วอนาคตมองว่าลำบาก ค่าครองชีพสูง งาน เงิน หายาก มีแล้วลำบากแน่ ๆ ก็ไม่มีใครอยากจะมี ยิ่งสภาพสังคมทุกวันนี้ เราจะได้ยินหลาย ๆ คนพูดว่าเห็นวัยรุ่น ปัจจุบัน แล้วไม่อยากจะมีลูก เห็นปัญหายาเสพติดแล้วไม่อยากจะมีลูก...

ทุกอย่างเป็นเหตุเป็นผลไปหมด ถ้ารัฐบาลห่วงตรงนี้จริง ก็หาวิธีให้ประชาชน มีความมั่นใจว่ามีลูกแล้ว จะมีชีวิตที่ดีได้อย่างที่ควรจะเป็น และ ไม่ลำบากเกินไป...
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่