[ภาษีคนโสด] รู้กันไหมว่าสังคมไทยกลายเป็น "สังคมผู้สูงอายุ" ไปแล้ว?

เห็นบ่นๆ เรื่องภาษีคนโสดกัน เลยรวมข่าวมาให้อ่านครับ

----------------------------

จับตาวิกฤตประชากรไทย เด็กเกิดน้อย-คนสูงวัยเพิ่ม!


เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นในซีกโลกตะวันตกหรือตะวันออก มักจะประสบปัญหาอย่างหนึ่ง นั่นคือมีอัตราการเกิดที่น้อย เนื่องจากคนวัยทำงานส่วนใหญ่ไม่มีนิยมแต่งงาน หรือถึงจะแต่งงาน แต่ก็ไม่ยอมมีบุตร ขณะที่อายุเฉลี่ยของประชากรก็เพิ่มสูงขึ้น จากความก้าวหน้าทางการแพทย์ และการเข้าถึงสิทธิด้านสาธารณสุขที่ทั่วถึง

สถานการณ์ดังกล่าวกำลังเป็นที่ปวดหัวของรัฐบาลในประเทศเหล่านั้นมาก ถึงขนาดต้องออกมาตรการมากมายจูงใจให้ประชากรหันมามีบุตร เพื่อเพิ่มประชากรซึ่งนั่นหมายถึงกำลังแรงงานที่จะสร้างผลผลิตต่างๆ และเสียภาษีให้รัฐนำไปเป็นสวัสดิการสังคม ขณะที่ประเทศไทย วันนี้หลายฝ่ายได้เริ่มออกมาเตือนกันแล้วถึง “สังคมผู้สูงอายุ” ทั้งเรื่องของ พรบ.เงินออมฯ ที่เราเคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้ รวมไปถึงเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

วันนี้สกู๊ปหน้า 5 จะพาไปฟังความเห็นจากผู้ที่ติดตามสถานการณ์โครงการประชากรไทย ว่าทุกวันนี้เราต้องเจอกับความเสี่ยงอะไรบ้าง

คนพร้อมไม่ท้อง-คนท้องไม่พร้อม?

“ขณะนี้เรามองอีกประเด็นนึง ที่มีความสำคัญมาก และจะยิ่งมีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศชาติ คือเรื่องอัตราประชากร จำนวนประชากรโดยเฉพาะอัตราการเกิด ท่านทราบหรือไม่ว่าเราต้องการประชากรเพิ่มขึ้น 1 ล้าน 3 แสนคนต่อปี ประเทศเราที่มีประชากร 65 ล้านคนเศษๆ นี่แหละ แต่ประชากรที่เกิดในเมืองไทย ในขณะนี้ ปึนึง 8 แสนคน ขาดไป 5 แสนคน”

เป็นเสียงจาก นายสมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่กล่าวในงานครอบครัวศึกษา 2556 แสดงความกังวลถึงปัญหาประชากร โดยปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการประชากรเกิดใหม่ 1.3 ล้านต่อปี แต่เรากลับมีเด็กเกิดใหม่ (อ้างอิงข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย) เพียง 8 แสนคนต่อปีเท่านั้น

และที่น่ากังวลกว่า คือใน 8 แสนคนนี้ ราว 1 แสนคนเป็นเด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่ยังไม่มีความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่วัยรุ่นวัยเรียน หรือพ่อแม่ในครอบครัวที่มีรายได้น้อย แต่มักมีบุตรเกินกว่ารายได้ที่มีจะสามารถดูแลได้อย่างมีคุณภาพ ขณะที่พ่อแม่ที่มีความพร้อม มักจะมีความลังเลในการมีบุตร เนื่องด้วยความไม่มั่นใจในสภาพเศรษฐกิจในครัวเรือน หรือกังวลเรื่องเวลาที่จะให้กับครอบครัวเพราะชีวิตมุ่งอยู่กับงานเป็นหลัก ตลอดจนปัจจัยอื่นๆ เช่นสตรีจากครอบครัวชนชั้นกลางขึ้นไปและมีการศึกษาสูง มักจะแต่งงานช้า ทำให้มีปัญหาในการตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก เป็นต้น

“คนระดับกลางลงไประดับล่าง เกิดมากกว่าคนระดับกลางขึ้นไประดับสูง อาจเป็นเพราะว่าคนมีการศึกษา มีฐานะดี คิดว่าไม่จำเป็นต้องมีบุตร ไม่จำเป็นต้องมีคู่ อย่างคนที่เขาใช้แรงงาน เขาต้องการคนต้องการแรงงาน สถิติเขาบอกแบบนั้นจริงๆ

แต่ถ้าเราปล่อยให้ประชากรมันเกิดอย่างนี้ ในอนาคตเราเปิดประเทศ (ประชาคมอาเซียน) ไม่ใกล้ไม่ไกลเราจะเป็นเหมือนสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีคนไทยเต็มไปหมด แต่ไม่ใช่เชื้อชาติไทยนะ จะเป็นเชื้อชาติต่างๆ แต่ว่าเป็นคนไทย ในที่สุดเราจะเป็นสหรัฐอเมริกา ที่มีหน้าตาเป็นคนจีน คนดำ คนขาว คนไทยก็จะเป็นแบบนั้นในอนาคต”
คุณสมชาย กล่าว

แนวโน้มประชากร : ไทยและอาเซียน

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นว่าประชากรชาวไทยมีแนวโน้มลดลง ตามรอยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ทั้งนี้จากการเปิดเผยผลสำรวจประชากรอาเซียน ที่รวบรวมโดย ศ.ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล นักวิชาการด้านประชากรศาสตร์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในงานประชุมวิชาการด้านประชากรศาสตร์ 2556 ที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทย มีอัตราการเกิดน้อยเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน กล่าวคือแม่ไทย 1 คน จะให้กำเนิดบุตรเฉลี่ย 1.6 คน รองจากสิงคโปร์ ที่มีอัตราการเกิดต่ำที่สุด โดยแม่สิงคโปร์ 1 คน จะให้กำเนิดบุตรเฉลี่ยเพียง 1.2 คนเท่านั้น ส่วนแม่ฟิลิปปินส์ครองแชมป์สร้างประชากรมากที่สุด เพราะมีสัดส่วนเฉลี่ยแม่ 1 คน ต่อการให้กำเนิดบุตรถึง 3.3 คน

“มีประเทศหนึ่งที่จะให้ข้อสังเกตไว้ก็คือฟิลิปปินส์ ปีนี้ (2556) ที่เขาประมาณการไว้ ฟิลิปปินส์มีประชากรแล้ว 99.9 ล้านคน ใกล้จะครบ 100 ล้านคน ซึ่งก็จะเป็นประเทศที่ 2 ต่อจากอินโดนีเซียที่ประชากรขึ้นถึงหลักร้อยล้าน เมื่อ 30 ปีก่อน ฟิลิปปินส์มีประชากรที่พอๆ กับไทย

เมื่อ พ.ศ.2523 ไทยกับฟิลิปปินส์มีประชากรพอๆ กัน คือ 44-45 ล้านคน 30 กว่าปีผ่านไป ปีนี้ไทยมีประชากร 64.5 ล้านคน ไม่นับรวมแรงงานข้ามชาติ ขณะที่ฟิลิปปินส์มีประชากรจะครบ 100 ล้านคนแล้ว แสดงว่า 30 กว่าปีมานี้ เราป้องกันการเกิดได้มากถึงเกือบๆ 35 ล้านคน”


อ.ปราโมทย์ เล่าต่อไปว่า แม้จะดูเหมือนประชากรยังเพิ่มสูง แต่จริงๆ แล้วแต่ละชาติในอาเซียน มีแนวโน้มในการให้กำเนิดประชากรใหม่ค่อนข้างลดลง โดยเฉพาะสิงคโปร์และไทยที่มีอัตราการเกิดต่ำมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อย่างเวียดนาม บรูไน พม่า อินโดนีเซียและมาเลเซีย ที่มีอัตราการเกิดปานกลาง (เฉลี่ยแม่ 1 คนต่อลูก 2 คน) และประเทศที่มีอัตราการเกิดยังสูง เช่นกัมพูชา ลาวและฟิลิปปินส์ (เฉลี่ยแม่ 1 คนต่อลูก 3 คน)

“ผู้หญิงไทยสมัยใหม่ก็ทำแต่งานเหมือนกัน ไม่ยอมแต่งงาน หรือแต่งงานแล้วก็มีลูกกันน้อยลง” อ.ปราโมทย์ กล่าว

จากอัตราการเกิดที่น้อยลงเรื่อยๆ เมื่อมาดูอัตราการตาย ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรรายนี้ พบว่าปัจจุบันอายุขัยเฉลี่ยของประชากรอาเซียนค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะประเทศร่ำรวยอย่างสิงคโปร์ ที่อายุขัยเฉลี่ยประชากรอยู่ที่ 80 ปีหรือมากกว่า รองลงมาคือบรูไน เวียดนาม ไทยและมาเลเซีย อายุขัยเฉลี่ยประชากรอยู่ที่ราวๆ 70-79 ปี

ซึ่งหมายความว่า โครงสร้างประชากรจะเปลี่ยนไป โดยส่วนฐานหรือประชากรเกิดใหม่น้อยลง ขณะที่ส่วนยอด คือประชากรที่ผ่านพ้นวัยทำงาน (เกษียณอายุ) เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้เราอาจแบ่งสภาวะสังคมผู้สูงอายุได้เป็น 3 ระดับ คือ 1.สังคมสูงวัย มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปตั้งแต่ร้อยละ 7 ของประชากรทั้งหมด 2.สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปตั้งแต่ร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมด และ 3.สังคมสูงวัยระดับสุดยอด มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปตั้งแต่ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด

“สิงคโปร์จะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2017 (พ.ศ.2560) ของไทยก็ตามมา ของเรานี่เป็นสังคมสูงวัยแล้วนะครับ แล้วเราจะเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ประมาณปี 2021 (พ.ศ.2564) อีก 7-8 ปีข้างหน้า เราจะเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว และเราจะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด คือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป สูงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2032 (พ.ศ.2575) อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องเตรียมตัวไว้” อ.ปราโมทย์ กล่าวย้ำถึงปัญหาผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น

ผู้ด้อยโอกาสคนต่อไป?

อย่างที่กล่าวไปแล้วตอนต้น ว่าประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมักจะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ที่ผู้เกษียณอายุจากการทำงาน ยังพอมีบำนาญใช้จ่ายได้พอสมควร เรียกง่ายๆ ว่า “รวยก่อนแก่” แต่ประเทศไทยไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะเรายังเป็นประเทศที่สวัสดิการสังคมยังไม่ดีนักเมื่อเทียบกับอีกหลายๆ ชาติ เข้าทำนอง “แก่ก่อนรวย” เราจึงเห็นผู้สูงอายุมากมายต้องตกระกำลำบาก โดยเฉพาะหากลูกหลานไม่มาใส่ใจเลี้ยงดู

ขณะเดียวกัน แม้คนวัยทำงาน ก็อาจได้รับผลกระทบมากพอกัน ซึ่ง รศ.ดร.ศิรินันท์ กิตติสุขสถิตย์ นักวิจัยผู้ทำการศึกษาในหัวข้อ “ใครคือผู้ด้อยโอกาสคนต่อไป? : ผลกระทบจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน พ.ศ.2558” กล่าวว่า หลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 นายจ้างย่อมมีตัวเลือกในการหาคนมาทำงานมากขึ้น แน่นอนว่าคนไทยอาจอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงไม่มีงานทำเป็นจำนวนมาก เนื่องด้วยทักษะด้านภาษาอังกฤษถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับหลายๆ ชาติในภูมิภาค

“คนวัยทำงาน Gen-X (เกิด พ.ศ.2508-2522) Gen-Y (เกิด พ.ศ.2523-2540) Gen-Z (เกิดหลัง พ.ศ.2540 เป็นต้นไป) มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นผู้ด้อยโอกาสคนต่อไป มีความเหลื่อมล้ำเรื่องเงินเดือน เลื่อนขั้น ค่าตอบแทนเนื่องจากนายจ้างมีโอกาสเลือกปฏิบัติมากขึ้น

ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุ Gen-B (เกิด พ.ศ.2489-2507) เพราะปัจจุบันก็ยังมี Gen-B ที่ทำงานอยู่ เพราะฉะนั้นกลุ่มนี้ก็มีโอกาสสูงมากที่จะเป็นคนด้อยโอกาสคนต่อไป เพราะว่าจะมีศักดิ์ศรีลดลง โอกาสในการต่ออายุงานจะไม่มีหรือน้อยลง เพราะนายจ้างมีตัวเลือกมากยิ่งขึ้น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจะไม่พอใช้จ่าย จะทำให้เกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจ และเหตุการณ์นี้อาจจะเกิดขึ้น ทั้งในชนบทและในเขตเมือง”
อ.ศิรินันท์ กล่าวทิ้งท้าย

เรื่องราวประชากรของไทย มองไปแล้วอาจเต็มไปด้วยปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นประชากรเกิดใหม่น้อยลง ที่เกิดมาแล้วส่วนหนึ่งก็ไม่ค่อยจะมีคุณภาพ ขณะที่จำนวนผู้สูงอายุยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับสวัสดิการสังคมที่ถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศร่ำรวย ที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไปก่อนหน้าแล้วอย่างญี่ปุ่นหรือสิงคโปร์

เป็นความท้าทายทั้งของภาครัฐ และของประชาชนแต่ละคน ว่าจะสามารถรับมือสิ่งที่บางคนเรียกว่า “ระเบิดเวลาประชากร” ที่กำลังนับถอยหลังไปเรื่อยๆ อยู่นี้ได้หรือไม่?

ที่มา :

http://www.naewna.com/scoop/62308

--------------------------------

เน้นที่ขีดเส้นใต้นะครับ เรากำลังจะตามรอยพวกโลกที่ 1 แล้ว ด้านเด็กเกิดน้อย มีแต่คนแก่ที่เพิ่ม ( แต่เราไม่รวยอย่างเขา คนไทยไม่สามารถรับบำนาญ แล้วไปตั้งรกรากใน ตปท. เหมือนที่ฝรั่งกับญี่ปุ่น พอเกษียณแล้วขอมาตายที่เมืองไทยได้ )
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่