JJNY : วาทกรรมดี๊ดี...ซี้จุกสูญ ส่องวาทกรรม 'คนจนหมดประเทศ' จาก 'ประชารัฐ' สู่ 'ฐานราก'

กระทู้คำถาม
ที่มา    หน้าประชาชื่น มติชนรายวัน
ผู้เขียน    อัมพวัน อยู่กระทุ่ม
เผยแพร่    วันที่ 8 ธันวาคม 2560

เป็นวาทกรรมร้อนที่สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์หลัง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนาไทยแลนด์ 2018 ที่ผ่านมาว่า ในปี พ.ศ.2561 รัฐบาลจะเร่งดำเนินนโยบายแก้ปัญหาความยากจนของประเทศ โดยประสานหลายหน่วยงาน เพื่อดำเนินนโยบายอย่างบูรณาการ

“เชื่อว่าปัญหาความยากจนจะหมดไป”

ถ้อยคำดังกล่าวเป็นคำถามเชื่อมโยงไปได้ในหลายแง่มุมว่าแท้ที่จริงแล้ว ปัญหาความยากจนจะหมดไปจากประเทศได้จริงหรือ…?

แนวคิด ที่มา และเหตุผลเบื้องหลังนโยบาย “ประชารัฐ” อันเป็นการจับมือกันระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มนายทุนรายใหญ่ของไทย จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของผู้คนในสังคม หรือกลับเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ใครกันแน่…?

โดยที่ ม.ธรรมศาสตร์ ได้จัดเสวนา “ประชารัฐคืออะไร เพื่อคนไทยหรือนายทุน” มองที่มาที่ไปของนโยบายนี้

นโยบายประชารัฐกับต้นทุนทางสังคมที่เพิ่มขึ้น

ผศ.ดร.สามชาย ศรีสันต์ อาจารย์วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า คำว่า “ประชารัฐ” ปรากฏครั้งแรกในเพลงชาติไทย ที่มีการส่งเข้าประกวดในอดีต เดิมใช้คำว่าประชาธิปไตยแต่ถูกแก้ไข ดังนั้นเมื่อปรากฏแบบนี้ประชารัฐจึงมีเจตนาแต่ต้นว่ามาแทนคำว่า “ประชาธิปไตย” และทำหน้าที่มาจนถึงปัจจุบัน

“อย่างไรก็ตามโครงการประชารัฐในปัจจุบัน รัฐบาลควรจะให้ความสนใจประชาชนตัวเล็กมากกว่า แต่กลับจับมือกับประชาชนตัวใหญ่คือ ภาคธุรกิจ ประชารัฐถูกทำขึ้นมาเพื่อปะทะกับประชานิยมโดยตรง ซึ่งประชานิยมคือสิ่งที่ประชาชนได้รับประโยชน์โดยตรง เช่น กองทุนหมู่บ้านเดิมก็ถูกเปลี่ยนชื่อโครงการเป็นกองทุนเศรษฐกิจฐานราก ร้านธงฟ้าเป็นร้านประชารัฐ หรือบางส่วนคล้ายโครงการเอื้ออาทรชุดเก่า เป็นการที่รัฐบาลจับมือกับภาคเอกชนรายใหญ่ของประเทศ ทุกด้านทั้งอุปโภคบริโภค ครอบคลุมกลุ่มธุรกิจต่างๆ ที่ถือหุ้นอยู่ถึง 99% คือกลุ่มเอกชนที่เข้ามาลงทุนในประชารัฐ”

“นอกจากนั้นรัฐบาลยังจัดสรรเงินผ่านโครงการต่างๆ โครงการแรกคือ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่แค่งบประมาณในการจัดทำ และบริหารบัตรก็ใช้วงเงินถึง 1,500 ล้านบาท อีกทั้งยังมีการจัดงบประมาณลงไปในโครงการประชารัฐ ที่มีการตั้งบริษัทรอรับอยู่แล้ว ดังนั้นเงินจะไปไหนได้ก็เข้านายทุนเท่านั้น เป็นการที่รัฐบาลประทับตรารับรองสินค้า และบริการของร้านประชารัฐเพื่อให้คนไปซื้อของมากขึ้น”


ผศ.ดร.สามชายยังได้หยิบยกคำพูดของ รองศาสตราจารย์ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้ความหมายชัดเจนที่สุดว่า “นโยบายประชารัฐมีนัยทางการเมืองสูงมาก เพราะเป็นการจับมือกันระหว่างภาครัฐกับภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจเอกชน เคลื่อนไหวลงสู่มวลชนระดับฐานรากซึ่งทับซ้อนกับฐานเสียงของนักการเมือง ถ้าเรื่องนี้ทำสำเร็จก็อาจจะส่งผลให้การเมืองภาคตัวแทนกลายเป็น ‘โมฆะ’ ได้… สิ่งที่เราไม่รู้คือนโยบายนี้มุ่งลอยแพตัดตอนนักการเมืองมาตั้งแต่แรก ด้วยการทำให้พวกเขาเป็น ‘คนนอกกระบวนการพัฒนาประเทศ’หรือเป็นแค่ผลพลอยได้ของสูตรแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ที่แน่ๆ คือในทางนโยบายแล้ว มันถูกออกแบบมาหักล้างตอบโต้นโยบายประชานิยมโดยตรง”

คนจนในวงล้อมของ ประชารัฐ

อีกมุมมองจาก ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความหมายที่แฝงด้วยนัยสำคัญว่า กรณีที่ ดร.สมคิดออกมาระบุว่าในปี พ.ศ.2561 “เชื่อว่าปัญหาความยากจนจะหมดไป” นั้น ถือเป็นข่าวดี ส่วนข่าวที่ไม่ค่อยดีก็คือ “มันไม่เป็นความจริง

หากย้อนดูข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติแล้วชี้ให้เห็นว่า เมื่อแบ่งประชากร หรือครัวเรือนในประเทศไทยออกเป็น 5 กลุ่ม ตามชั้นรายได้ กลุ่มคนที่จนที่สุดมีอยู่ถึง 20% โดยประชากรกลุ่มนี้ เมื่อปี พ.ศ.2558 มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 2,574 บาท/คน/เดือน และเมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2560 มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 2,496 บาท/คน/เดือน อีกทั้งกลุ่มคนที่ค่อนข้างจนก็มีอยู่ถึง 20% เช่นกัน โดยเมื่อปี พ.ศ.2558 มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 4,903 บาท/คน/เดือน และเมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2560 มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 4,892 บาท/คน/เดือน แต่ขณะเดียวกัน กลุ่มที่เป็นคนรวยที่สุด เมื่อปี พ.ศ.2558 มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 26,161 บาท/คน/เดือน และเมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2560 มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 26,545 บาท/คน/เดือน

ข้อเท็จจริงคือ ในปี พ.ศ.2558 และ พ.ศ.2560 ประชากรจำนวน 40% ที่เป็นกลุ่มคนที่จนที่สุดของประเทศนั้น มีรายได้ลดลง แต่ประชากรในกลุ่มที่เป็นคนรวยที่สุดกลับมีรายได้เพิ่มขึ้น ฉะนั้นมันก็จะสวนทางกับที่รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจกล่าวไว้ และนอกจากนี้ข้อมูลจากสภาพัฒน์ที่เผยถึงสถานการณ์คนจนในประเทศไทยว่า จากเดิมเมื่อปี พ.ศ.2558 ประเทศไทยมีจำนวนคนจนอยู่ที่ 4.8 ล้านคน และปี พ.ศ.2559 อยู่ที่ 5.81 ล้านคน เพิ่มขึ้นราวๆ 9 แสนกว่าคน โดยแบ่งเป็นคนจนที่อาศัยอยู่ในชุมชนเมืองประมาณ 4 แสนกว่าคน และคนจนที่อาศัยอยู่ในชนบทอีกประมาณ 5 แสนกว่าคน

“เศรษฐกิจที่รัฐบาลปีนี้ดีใจมาก เพราะว่าตั้งแต่ยึดอำนาจมาเศรษฐกิจยังไม่เคยเกิน 3% ปีนี้เกิน 3% และลุ้นจะแตะเลข 4 เป็นเศรษฐกิจที่เติบโตดีในกลุ่มพี่น้องที่มีรายได้ดี แต่พี่น้องที่มีรายได้น้อย 40% ของประเทศนี้มีรายได้ลดลง เรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ไม่น้อยสำหรับในทางเศรษฐศาสตร์ เพราะในเมื่อเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นแต่ทำไมพี่น้องที่เป็นกลุ่มที่ยากจนที่สุดนั้นมีรายได้น้อยลง” ดร.เดชรัตระบุ

นโยบายประชารัฐกับผลกระทบต่อเกษตรกร

ขณะที่ รศ.ดร.สุรวิช วรรณไกรโรจน์ อาจารย์คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นอย่างน่าขบคิดว่า รัฐบาลได้ใช้นโยบายประชารัฐเข้าดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกร ผ่านโครงการเกษตรแปลงใหญ่ ที่มีความเกี่ยวพันกันกับกลุ่มทุนใหญ่ด้านปัจจัยการผลิต เคมีเกษตร ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และหลังจากที่รองนายกรัฐมนตรีเดินทางไปดูงานที่ต่างประเทศ ทำให้มีแนวคิดก็ที่จะนำความรู้ด้านการเกษตรมาให้กับเกษตรกรไทย โดยเล็งเห็นว่าภาคการเกษตรของไทยจะอยู่ได้ต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย ซึ่งแน่นอนที่สุดเกษตรกรทั่วไปก็คงจะไม่มีศักยภาพในการซื้อหา หรือดำเนินการโดยใช้เทคโนโลยีเหล่านั้น

รศ.ดร.สุรวิชบอกอีกว่า “โครงการเกษตรแปลงใหญ่” นี้ คิดว่าน่าจะเป็นโครงการที่ดี เพราะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่เกษตรกรได้ใช้เคมีเกษตร ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ที่มีคุณภาพ เนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกรมีการให้เคมีเกษตรที่เป็นของปลอม ราคาถูก แต่กลับส่งผลเสียไปถึงสิ่งแวดล้อม ผลผลิต กระทั่งสุขภาพของเกษตรกรเอง แต่ถึงกระนั้นผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้มากที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้น ผู้ประกอบธุรกิจด้านดังกล่าว ที่เข้าร่วมโครงการ และหากมองให้ลึกลงไปสิ่งที่รัฐบาลกำลังพยายามส่งเสริมให้เกษตรกรทำอยู่นี้ ขัดแย้งกับกระแสโลกที่มีการรณรงค์ให้ทำการเกษตรแบบอินทรีย์มากกว่าทำการเกษตรแบบเคมีด้วย

“ยังมีการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยที่ถูกมากในการทำเกษตรแปลงใหญ่ แต่ถ้าเป็นเกษตรอินทรีย์จะมีสินเชื่อที่แพง เป็นเครื่องมือของรัฐ ในการที่จะชี้นำ รูปแบบเกษตรกรรมในบ้านเรา เพราะฉะนั้นในลักษณะนี้คนที่ห่วงกังวลก็จะมองว่า เป็นการผลักดันให้เกษตรบ้านเราเป็นเกษตรเคมี ทั้งๆ ที่เรามีขีดความสามารถที่จะทำเกษตรอินทรีย์ได้ แน่นอนคงไม่ใช่ทั้งประเทศที่จะเป็นเกษตรอินทรีย์ บางส่วนควรจะเป็นเกษตรอินทรีย์ เพื่อที่จะขายสินค้าให้กับผู้บริโภคซึ่งมีกำลังซื้อสูง ถึงแม้สัดส่วนด้านการซื้อหาจะไม่เยอะก็ตาม แต่เขายินดีที่จะซื้อ”

“เราจะเห็นว่าบ้านเราคนมีเงินก็ยินดีที่จะซื้อ พืชผักอินทรีย์ในราคาที่สูง ในต่างประเทศก็เช่นเดียวกัน ฉะนั้นตรงนี้แม้ว่าผลผลิตจะต่ำ แต่ว่ารายได้ต่อพื้นที่ก็ไม่ได้ด้อยกว่าการใช้เกษตรอินทรีย์ แต่สิ่งที่ตามมาคือ สิ่งแวดล้อมไม่เสียหาย เกษตรกรเองไม่เสี่ยงต่อสุขภาพที่จะต้องใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อชีวิต”
รศ.ดร.สุรวิชทิ้งท้าย

เป็นมุมมองต่อ “ประชารัฐ” โครงการสวยหรู ที่วาดฝันความหวังกับประชาชน ที่อยากมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

แต่อาจจะยังสรุปไม่ได้ว่าแท้จริงเเล้วผู้ที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุด จะเป็นประชาชนฐานรากจริงหรือไม่
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่