กรณีดราม่า "เพลิงพระนาง" มีข้อสังเกตบางประการ // ข้อเสนอถึงทางช่องและกันตนา

จากกรณีดราม่าเพลิงพระนาง เรื่องที่ชาวพม่าส่วนหนึ่งได้ร้องเรียนถึงความไม่เหมาะสมของละคร และเรียกร้องให้ยุติการออกอากาศนั้น
จขกท. ขอตั้งข้อสังเกต เกี่ยวกับปรากฎการณ์ดังกล่าว พร้อมอ้างอิงความเห็นของบางท่านในพันทิป และข้อมูลที่ได้อ่านมาดังต่อไปนี้

จากกรณีดังกล่าว แม้ว่ายังไม่ได้ทราบอย่างแน่ชัดว่าชาวพม่าที่มาเรียกร้องในประเด็นดังกล่าว มีจำนวนเท่าไหร่ แต่ก็เป็นอีกหนึ่งมุมมองที่ไม่อาจละเลยได้ ทางผู้จัดทำต้องสนใจและดำเนินการบางอย่างเพื่อแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงโดยเร็ว

และที่สำคัญคือ ปรากฎการณ์ดังกล่าว อาจทำให้สมมติฐานหรือความเชื่อหนึ่งในมุมมองของผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ ที่มองว่าชาวพม่าในช่วงหลังเอกราชนั้นค่อนข้างไม่สนใจเกี่ยวกับราชวงศ์และระบอบกษัตริย์ของพม่า เป็นเรื่องที่อาจไม่ถูกต้องเสมอไป

จขกท. นึกถึงกระทู้หนึ่งของ จขกท. เอง ที่ตั้งไว้นานแล้ว ในหัวข้อ "ทำไมช่วงที่พม่าประกาศเอกราช จึงไม่มีความพยายามในการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์" (https://ppantip.com/topic/34930614) กระทู้นี้มีผู้มาแสดงความเห็นไว้น่าสนใจหลายประการ ขอยกตัวอย่างความเห็นหนึ่ง

"ราชวงศ์คองบองสิ้นอำนาจลงในปี 2428    พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 2491    รวมระยะเวลาที่พม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษและไม่มีสถาบันกษัตริย์ 63 ปี     มันยาวนานพอสมควรนะครับพอที่คนจะเกิดมาได้ 2-3 รุ่นเลย    ในตอนประกาศเอกราชคนที่จะเคยสัมผัสกับสถาบันกษัตริย์ของพม่าได้อายุก็ต้องเกิน 70 ซึ่งไม่มีบทบาทอะไรในทางการเมืองแล้ว
นี่ยังไม่นับว่าภาคใต้ของพม่าส่วนทวาย ยะไข่นี่ตกเป็นของอังกฤษมาตั้งแต่จบสงครามรอบแรกในปี 2367     อีกครึ่งประเทศในปี 2395     คนในดินแดนเหล่านี้ยิ่งห่างจากสถาบันกษัตริย์ของพม่ายาวนานขึ้นไปอีก"

อีกความเห็นหนึ่งที่น่าสนใจ
"มีกลุ่มที่ต่อต้านการปกครองของอังกฤษที่ต้องการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ครับ

เล่าแค่คร่าวๆ นะครับ

ในช่วงแรกภายใต้อณานิคม แคมเปญการต่อต้านอังกฤษก็คือการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์นี่แหละ ทำโดยกลุ่มขุนนางเก่า แต่ประชาชนไม่สนใจครับ (มันไม่มีความหมายอะไรสำหรับคนทั่วไปที่จะเปลี่ยนจากเจ้านายนึงไปอยู่กับอีกเจ้านึงนึง แถมประชาชนยังต้องกลับมาเป็นทาสมากกว่าภายใต้อังกฤษเสียอีก)

ระรอกสอง ของการต่อต้านอังกฤษ คือแคมเปญเรื่องศาสนาพุทธ เพราะอังกฤษอุปถัมศาสนาคริสต์มากกว่า และไม่ให้เกียรติสถานที่ทางพุทธศาสนา (การไม่ถอดรองเท้าเข้าวัด ที่นำไปถึงการประท้วงใหญ่) ประเด็นนี้จุดไฟติดและขยายผลไปถึงประเด็นที่สามที่ตามมา

ระรอกที่สาม คือเรื่องของชาตินิยม ที่จุดติดมากกว่า ขยายผลไปถึงประชาชนทั่วไป นายพลอองซานคือหนึ่งในสมาชิกกลุ่มนี้"


(จขกท. ยึดตามการพิมพ์สะกดในกระทู้นั้นเลย)

อีกทั้งยังมีข้อมูลจากคำนำผู้แปล (สุภัตรา ภูมิประภาส) ของหนังสือ "ราชันย์ผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง" ที่แปลมาจากเรื่อง "The King in Exile: The Fall of the Royal Family of Burma" ของ Sudha Shah ที่ว่า

"เรื่องราวของพระเจ้าธีบอหลังถูกถอดจากบัลลังก์แทบไม่ปรากฎในความรับรู้ของสาธารณชนรุ่นหลัง แม้แต่ในสังคมพม่า ผู้แปลเคยถามเพื่อนชาวพม่าถึงพระเจ้าธีบอ กษัตริย์องค์สุดท้ายของพวกเขา คำตอบที่ได้รับเป็นเรื่องราวชุดเดียวกับที่ปรากฎในหนังสือ "พม่าเสียเมือง" ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ความทรงจำของชาวพม่าที่มีต่อพระองค์เป็นความทรงจำที่ถูกวางเค้าโครงไว้ โดยฝ่ายอังกฤษที่ยึดราชอาณาจักรของพระองค์ไปเมื่อค.ศ.1885 ประชาชนรุ่นต่อมาต่างได้ยินเรื่องเล่าถึงกษัตริย์ธีบอผู้อ่อนแอ ไร้ความสามารถ กับพระมเหสีศุภยาลัตผู้ร้ายกาจ บ้าอำนาจ หยิ่งยะโส และอวดดีกับอังกฤษจนทำให้สูญเสียราชอาณาจักร รวมไปถึงเรื่องเล่าในราชสำนักมัณฑะเลย์ที่เต็มไปด้วยสีสันประหนึ่งนิยายประโลมโลก..."


อีกทั้งช่วงที่ทหารยังมีบทบาทนำในการเมืองพม่านั้น ความเคลื่อนไหวของเชื้อพระวงศ์พม่า (ที่อาจรวมถึงความเคลื่อนไหวของผู้ที่นิยมระบอบกษัตริย์) ถูกจับตาค่อนข้างมาก (จากข่าวนี้ ที่เชื้อพระวงศ์พม่า ทายาทของพระเจ้าธีบอได้มารวมตัวกันที่หลุมพระบรมศพของพรเจ้าธีบอ ที่เมืองรัตนคีรี ประเทศอินเดีย และต้องการที่จำนำพระบรมศพกลับพม่า https://www.theguardian.com/world/2016/dec/30/myanmar-burma-royal-family-monarchy-king-thibaw-comeback)

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ อาจทำให้เราอนุมานหรือตั้งสมมติฐานได้ว่า "ชาวพม่าในระยะหลังนั้นมีความสนใจหรือผูกพันกับระบอบกษัตริย์หรือเชื้อพระวงศ์ค่อนข้างน้อย"

แต่เมื่อมีประเด็นดังกล่าวขึ้นมา ก็อาจทำให้สมมติฐานนี้ ไม่เป็นจริงดังที่หลายท่านเคยมองไว้

ทีนี้ หลายคนอาจจะมีคำถามว่า "แล้วทำไมเวอร์ชันก่อนถึงทำได้ แทบจะไม่มีปัญหาใดๆ"

อันนี้ จขกท. ขอให้ความเห็นว่า อาจเป็นเพราะบริบทของสังคมและช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ โดยช่วงที่เวอร์ชันแรกของละครเรื่องนี้ออกอากาศในปี 2539/1996 นั้น พม่ายังเป็นสังคมปิด การรับรู้สื่อ หรืออะไรจากต่างประเทศรวมทั้งไทยอาจจะไม่ได้มากแบบทุกวันนี้ รวมทั้งประวัติศาสตร์ที่ยังยึดตามที่อังกฤษเขียน อาจทำให้มีประเด็นน้อยมาก หรือเป็นประเด็นไม่ใหญ่นัก ต่างจากในปัจจุบันที่พม่าเปิดประเทศมากขึ้น มีการรับสื่อจากต่างประเทศมากขึ้น
และมีความผ่อนคลาย, เปิดกว้างทางสังคมที่เพิ่มขึ้น ทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์ที่เป็นทางเลือก หรือรูปแบบใหม่ (Revisionist) หรือการแสดงความนิยมในระบอบกษัตริย์นั้นเป็นไปได้มากขึ้น อาจทำให้ชาวพม่าบางส่วนที่นิยมในระบอบกษัตริย์ไม่พอใจเกี่ยวกับละครดังที่เราเห็นอยู่ ส่วนว่าความนิยมในระบอบกษัตริย์ของชาวพม่าในตอนนี้จะนำไปสู่ความนิยมระบอบกษัตริย์ที่เพิ่มมากขึ้น จนอาจนำไปสู่การฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ในอนาคตได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่อาจต้องใช้เวลาในการศึกษาและจับตาดู (โดยส่วนตัวมองว่าเป็นไปได้ยากมาก)

ที่จริงเรื่องราวในราชสำนักพม่านี่เคยเป็นละครของสยามมานานแล้ว คือละครร้องเรื่อง "มหาราชวงศ์พม่า แผ่นดินพระเจ้าสี่ป๊อมินทร์" ของคณะละครปรีดาลัย ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ นำแสดงในปี ๒๔๕๖/1913
โดยกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์เองได้ทรงนิพนธ์หนังสือเรื่อง "พระราชพงศาวดารพม่า" เอาไว้ด้วย
(จากคำนำเสนอของหนังสือ "ราชันย์ผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง" )

สำหรับข้อเสนอของ จขกท. ต่อทางช่องเจ็ดและบริษัทกันตนา ทางออกที่เป็นไปได้คือการ "เจรจา, พูดคุย" ทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้เรียกร้องดังกล่าว ว่าเป็นเมืองสมมติ หรืออะไรก็ได้ให้พวกเขาเข้าใจ และอาจดำเนินการบางอย่าง เช่น ตัดทอนเนื้อหาบางส่วนออก เพื่อให้กลุ่มผู้เรียกร้องสามารถ "รับได้" บ้าง เวอร์ชันเต็มอาจนำไปใส่ใน bugaboo หรือลงในแชนแนล yt ของช่อง หรือลงใน Box set ก็ได้

ฟางเส้นสุดท้ายที่ จขกท. มองว่าควรจะยุติออกอากาศจริงๆคือ เมื่อกลุ่มผู้ที่เป็นทายาทหรือเชื้อพระวงศ์ของพม่าออกมาเรียกร้องด้วยตัวเอง ถึงคราวนั้น ก็จำเป็นต้องยุติการออกอากาศ โดยอาจจะนำไปลงในสื่อช่องทางอื่นแทน

อยากให้มีการดำเนินการในการแก้ปัญหาอย่างไร ลองมาพูดคุยถกเถียงกันดู

จำได้เคยมีเพื่อนชาวพม่าท่านหนึ่งในพันทิป เคยตั้งกระทู้ประเด็นพม่ากับชนกลุ่มน้อย (คิดอย่างไรกับเพจ "Tai Community Online" ครับ?
https://ppantip.com/topic/35821015) เป็นภาษาไทยที่ค่อนข้างถูกต้องชัดเจนมาก ถ้าเป็นไปได้อยากให้เขามาอ่านหรือคุยในกระทู้นี้ด้วย
If it is possible, I would like to invite Burmese people to come and have a discussion with me and other Thai people in this topic. I want to know if the Burmese people have a favor about the Burmese monarchy and the Royal family.

ของให้ปัญหาทุกอย่างจบลงด้วยดี I hope that the problem will be resolved in a good way.
หากกระทู้นี้มีความผิดพลาดประการใด จขกท. ขออภัย I am sorry if there are some mistakes in this topic.

เพิ่มเติม
จากความเห็นแรกที่ จขกท. ยกมา จขกท. ขอยกภาพการเสียดินแดนของพม่าให้กับอังกฤษในช่วงหลังสงครามครั้งต่างๆมาประกอบด้วยดังต่อไปนี้
(ภาพมาจากของความเห็นนั้นเช่นกัน)

สงครามพม่า - อังกฤษครั้งที่หนึ่ง 1824 - 1826 (5 มีนาคม 1824 - 24 กุมภาพันธ์ 1826)
พม่าเสียดินแดนอัสสัม มณีปุระ ยะไข่ และตะนาวศรี ให้กับอังกฤษ
สงครามพม่า - อังกฤษครั้งที่สอง 1852/2395 (5 เมษายน - 20 ธันวาคม)
พม่าเสียดินแดนเมาะตะมะ ย่างกุ้ง พะสิม แปร พะโค (พม่าตอนใต้) ให้กับอังกฤษ
สงครามพม่า - อังกฤษครั้งที่สาม 1885/2428 (7 - 29 พฤศจิกายน)
พม่าเสียเอกราช
พม่าถูกปกครองในฐานะส่วนหนึ่งของอินเดียจนถึงปี 1937/1480 จึงได้แยกออกมาเป็นอาณานิคมพม่าต่างหาก
ต่อมาอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นในช่วงปี 1942 - 1945/2485 - 1488 [ปี 1943/2486 ได้ประกาศเอกราชจากอังกฤษในนาม "รัฐพม่า (State of Burma)"เป็นรัฐบาลหุ่นเชิดของจักรวรรดิญี่ปุ่น] ประกาศเอกราช 1948/2491

พระเจ้าธีบอและพระนางศุภยาลัตทรงมีพระราชธิดาที่ทรงเจริญพระชันษาเป็นผู้ใหญ่ 4 พระองค์ (ทรงมีพระราชโอรสอีก 2 พระองค์ และพระธิดาองค์อื่นๆอีก 2 พระองค์ ทว่าสิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่ยังทรงเป็นทารก) ดังต่อไปนี้ (จากหนังสือราชันย์ผู้พลัดแผ่นดินฯ)
เจ้าหญิงอะชิ่นไท้ซุเมี้ยตพญาจี (Myat Mibayagyi) (เจ้าหญิงใหญ่) (1880 - 1947/2423 - 2490)
สมรสกับโกปาล บาหุเรา ซาวันท์ ชาวอินเดีย มีพระธิดาชื่อตูตู สมรสกับชาวอินเดีย มีบุตรชาย - หญิงหลายคน

เจ้าหญิงอะชิ่นไท้ซุเมี้ยตพญาลัต (Myat Phaya Lat) (เจ้าหญิงสอง) (1881 - 1956/2424 - 2499)
สมรสกับขิ่นหม่องลัต (ลัตตะขิ่น) มีพระโอรสชื่อหม่องลูจี สมรสกับบีนา เดวี

เจ้าหญิงอะชิ่นไท้ซุเมี้ยตพญา (Myat Phaya) (เจ้าหญิงสาม) (1886 - 1962/2428 - 2505)
สมรสกับเจ้าชายไท้ติ่นโก่ด่อจี มีพระธิดาคือเจ้าหญิงไท้ซุจีพญา (เจ้าหญิงริต้า) ต่อมาทรงหย่าและสมรสใหม่กับอูเมียะอู

เจ้าหญิงอะชิ่นไท้ซุเมี้ยตพญากะเล (Myat Phaya Galay) (เจ้าหญิงสี่) (1887 - 1936/2430 - 2479)
สมรสกับโก่โก่นาย มีพระโอรส - ธิดาคือเจ้าชายจอร์จ ตอพญาจี, เจ้าหญิงเทสซี่ ไท้ซุพญาจี, เจ้าชายเทอเรนซ์ ต่อพญาแหง่, เจ้าชายเฟรเดอริค ต่อพญากะเล, เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ต่อพญา (ทรงเสกสมรสกับเจ้าหญิงริต้า) , เจ้าหญิงมาร์กาเร็ต ไท้ซุพญาทเว (ทางการอังกฤษให้มีพระนามเป็นภาษาอังกฤษด้วย)
ทุกพระองค์ทรงมีทายาทอีกหลายองค์, คน เชื้อพระวงศ์พม่าในพม่าปัจจุบันจะมาจากสายเจ้าหญิงสี่เป็นหลัก
(ที่จริงมีอีกหลายสายนอกจากนี้มาก แต่อาจไม่ใช่สายตรง)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่