[เสียงในภาษาญี่ปุ่น] ตอนที่ 1 กฎของเสียงขุ่นนาสิก (鼻濁音) (เสียง ง งู)

เสียงขุ่นนาสิก (鼻濁音 びだくおん) คืออะไร

(ถ้ามีเวลาจะมาเพิ่มข้อมูลครับ ตอนนี้อ่านจากกระทู้นี้ไปพลาง ๆ ก่อน)
วรรค が (ga) ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียงอย่างไรกันแน่ วิชาการมีคำตอบครับ
https://ppantip.com/topic/34970051
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

สรุปโดยย่อคือ เสียงขุ่นนาสิก คือเสียง /ŋ/ ตรงกับเสียงพยัญชนะ ง งู ในภาษาไทยครับ


กฎการออกเสียงขุ่นนาสิกในภาษาโตเกียว
(เสียงขุ่นนาสิก แทนด้วยตัวอักษรพิเศษ カ゚・キ゚・ク゚・ケ゚・コ゚ ตามลำดับ)

1. เมื่ออักษรวรรค が ปรากฏต้นคำ จะไม่เปลี่ยนเป็นเสียงขุ่นนาสิก
ยกเว้น คำช่วย 「が」 「ぐらい」 คำกริยานุเคราะห์ 「ごとし」 ที่จะเปลี่ยนเป็นเสียงขุ่นนาสิก
ガイコク (外国) ต่างประเทศ
ギンコー (銀行) ธนาคาร

2. เมื่ออักษรวรรค が ปรากฏกลางคำหรือท้ายคำ จะเปลี่ยนเป็นเสียงขุ่นนาสิก
カカ゚ミ (鏡) กระจก
カキ゚ (鍵) กุญแจ
マケ゚ル (曲げる) ดัดให้งอ
タマコ゚ (卵) ไข่

แต่ก็มีกรณีที่ไม่เปลี่ยนเป็นเสียงขุ่นนาสิก แม้จะปรากฏกลางคำหรือท้ายคำ ดังต่อไปนี้

a. คำเลียนเสียง คำเลียนท่าทาง ที่เป็นการซ้ำเสียง
ガンガン (เสียงดังลั่น)
ゲラゲラ (หัวเราะก๊าก ๆ)
ゴロゴロ (นอนกลิ้งเกลือก)

b. เลข "5"
ジューゴ (十五) 15
ヒャクゴジュー (百五十) 150

ยกเว้น คำที่ความหมายของเลข 5 เบาบางลงจนหลอมเป็นคำเดียวกัน จะเปลี่ยนเป็นเสียงขุ่นนาสิก
ジューコ゚ヤ (十五夜) คืนเดือนเพ็ญ
シチコ゚サン (七五三) งานฉลองสำหรับเด็กที่มีอายุ 3, 5, 7 ขวบ

c. คำที่เติมคำอุปสรรค (prefix) แสดงความสุภาพ 「お~」「ご~」
オゲンキ (お元気) แข็งแรง, กระปรี้กระเปร่า
ゴギロン (ご議論) ข้อถกเถียง

แต่คำอุปสรรค (prefix) นอกเหนือจากนี้ มีแนวโน้มว่าออกเสียงได้ทั้ง 2 แบบ
フコ゚ーカク、フゴーカク (不合格) สอบตก
ヒゴーホー、ヒコ゚ーホー (非合法) ผิดกฎหมาย

d. คำประสมที่คำส่วนหลังเริ่มต้นด้วยตัวอักษรวรรค が และประสมกันแบบหลวม ๆ
コート―ガッコ― (高等学校) โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย (แยกเป็น 高等・学校)
アサゴハン (朝ごはん) อาหารเช้า (แยกเป็น 朝・ごはん)

ยกเว้นคำประสมที่หลอมรวมกันแน่นจนกลายเป็นคำเดียว จะเปลี่ยนเป็นเสียงขุ่นนาสิก
チューカ゚ッコ― (中学校) โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น
カンカ゚ッキ (管楽器) เครื่องดนตรีประเภทเป่า

และคำประสมที่คำส่วนหลังเดิมเป็นอักษรวรรค か แล้วเปลี่ยนเป็นอักษรวรรค が (เกิดการ rendaku) จะเปลี่ยนเป็นเสียงขุ่นนาสิกเช่นกัน
カブシキカ゚イシャ (株式会社) บริษัทจำกัด (เกิดจาก かぶしき + かいしゃ ประสมกัน)
ヨコキ゚ル (横切る) ตัดข้าม, ข้ามฟาก (เกิดจาก よこ + きる ประสมกัน)

e.  คำที่มาจากภาษาต่างประเทศ
กรณีที่เดิมเป็นเสียง /ŋ/ (ง งู) อยู่แล้ว ให้ออกเสียงขุ่นนาสิกตามภาษาต้นทาง
キンク゚ (king)
シンカ゚ー (singer)

คำศัพท์ต่างประเทศที่รับเข้ามาในภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยก่อน มีแนวโน้มออกเป็นเสียงขุ่นนาสิก
イキ゚リス (Ingrez) อังกฤษ
ペンキ゚ン (penguin)

ส่วนคำศัพท์ต่างประเทศกรณีนอกเหนือจากนี้ มีทั้งคนที่ออกเสียงเป็นเสียงขุ่นนาสิก หรือไม่ออกเป็นเสียงขุ่นนาสิก
แนวโน้มคือ ผู้สูงอายุจะออกเป็นเสียงขุ่นนาสิก ส่วนวัยกลางคนและวัยหนุ่มจะไม่ออกเป็นเสียงขุ่นนาสิก



อ้างอิง
『新明解日本語アクセント辞典』
『NHK日本語発音アクセント新辞典』
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่