"ก็" คำนี้ไม่ได้ออกเสียงว่า "ก้อ"

กระทู้สนทนา
หนึ่งคำที่เรียกว่าเป็นคำที่คนไทยเราใช้กันเป็นประจำทุกวัน นั้นก็ต้องเป็นคำว่า ก็ ที่เป็นคำสันธาน ที่แปลว่า แล้ว, จึง, ย่อม ที่มั่นใจว่าคำนี้ทุกคนรู้จักและใช้บ่อย แต่ อาจจะออกเสียงผิดอยู่



ก็ อ่านว่า เก้าะ เป็นสระเสียงสั้น ไม่ได้อ่านว่า ก้อ โดย ก็ นั้นเป็นการลดรูปสระของคำว่า เก้าะ

โดย สระเอาะ เป็นสระเดี่ยวเสียงสั้น คู่กับ สระออ ที่เป็นสระเดี่ยวเสียงยาว ถ้าประสมกับตัว “ก” และไม้วรรณยุกต์โท แต่ไม่มีตัวสะกด ให้ลดรูปทั้งหมด แล้วใช้ไม้ไต่คู้แทนเป็น “ก็” อ่านว่า “เก้าะ” มีใช้อยู่ในภาษาไทยปัจจุบันเพียงคำเดียวเท่านั้น

จากหลักภาษาบอกว่า "สระเอาะ เมื่อประสมกับ ก ไม้โท ต้องลดรูปสระให้หมด ใส่แต่ไม้ไต่คู้ข้างบน ..."

ก่อนอื่น ลองมาแยกอักษรเป็นตัว ๆ กัน ตามที่หลักภาษาอธิบายคำว่า ก็ ข้างต้น

พยัญชนะต้น - ก
สระ - สระเอาะ
วรรณยุกต์ - ไม้โท
ตัวสะกด - ไม่มี

นำมาสะกดจะได้ว่า กอ-เอาะ-เกาะ-เกาะ-ไม้โท (ปกติ ต้องเขียนเป็น เก้าะ)

แต่หลักภาษาบอกว่า "สระเอาะ เมื่อเขียนประสมกับ ก และไม้โท ให้ลดรูปสระออกให้หมด และให้ใส่เฉพาะไม้ไต่คู้ข้างบนเท่านั้น" ตรงนี้นอกจากการลดรูปสระออกให้หมดแล้ว ต้องลดรูปวรรณยุกต์โทออกด้วย และให้ใส่เฉพาะไม้ไต่คู้ข้างบน ก ไก่ เท่านั้น นั่นคือ ก็ (หรือจะอธิบายว่า ก ไก่ + สระเอาะ + ไม้โท -> "สระเอาะและไม้โทจะเปลี่ยนรูปหรือลดรูปไปเป็น ไม้ไต่คู้" ก็สามารถกล่าวได้เช่นกัน)

จากข้างต้น ก็ จึงสามารถผันตามหลักภาษา ได้ว่า

๑. กอ-เอาะ-เกาะ-เกาะ-โท-ก็
(ผันกระจายแบบแม่ ก กาก่อน แล้วค่อยประสมสระและวรรณยุกต์)

๒. กอ-เอาะ-โท-ก็
(ผันแบบไม่ต้องกระจายแบบแม่ ก กา)

๓. กอ-ไม้ไต่คู้-ก็
(ผันตามการลดรูป/เปลี่ยนรูป)

เป็นการลดรูป ก็เหมือนกับคำว่า คน จริง ๆ มาจาก คอ-โอะ-นอ-คน เป็นเสียงสระโอะ (ถ้าคิดแบบนั้น ก็คงถามอีกว่า แล้วสระโอะอยู่ไหน)

แข็ง สะกดว่า ขอ-แอะ-งอ-แข็ง (มีตัวสะกด สระอะเปลี่ยนรูปไปเป็นไม้ไต่คู้)

วัน สะกดว่า วอ-อะ-นอ-วัน (มีตัวสะกด สระอะ เปลี่ยนรูปไปเป็นไม้หันอากาศ)

รวย สะกดว่า รอ-อัว-ยอ-รวย (เมื่อมีตัวสะกด ไม้หันอากาศ ถูกลดรูป)

#ภาษาไทย มีความซับซ้อน หลายสระเมื่อมีตัวสะกด จะมีการลดเปลี่ยนรูปอักษร ทั้งองค์ประกอบสระและวรรณยุกต์ แต่หากจำหลักการได้แล้ว ก็จะจำไปได้ตลอด


ถ้าผันตามข้อ 1 ข้อ 2
คนมักจะเขียนผิดกันเยอะ
เพราะมักจะเขียนตามการท่องคำสะกด
ที่เรียนมาครูจะสอนในข้อ 3 ทำให้เด็กไม่สับสน

จริง ๆ สามารถสอนผันแบบใดก็ได้ตามวิจารณญาณของครูผู้สอน และถ้าเป็นเด็กเล็กที่เพิ่งเริ่มหัดเรียนหัดอ่าน ควรจะสอนผันเฉพาะแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น เพื่อไม่ให้เด็กสับสน

ตัวอย่างการสอนการผัน คน, ก็

คน ถ้าในหนังสือมานะ มานี ป. ๑ จะให้ผันว่า คอ-นอ-คน, ก็ ผันว่า กอ-ไม้ไต่คู้- ก็ (ซึ่งผันแบบนี้ง่าย เพราะผันตามรูป หรือตามการลดรูปของคำ เหมาะสำหรับเด็กเล็กที่เพิ่งเริ่มหัดอ่านหัดเขียน)

แต่ถ้าเด็กเริ่มจำได้แล้ว อยู่ในชั้นที่โตขึ้น ครูอาจสอนให้รู้เรื่องการลดรูป และเปลี่ยนรูปของสระด้วยก็จะยิ่งสร้างความเข้าใจเรื่องที่มาของเสียงได้ดีขึ้นไปอีก เช่น สอนผันว่า

คน สะกดว่า คอ-โอะ-โคะ-โคะ-นอ-คน
เป็นการลดรูปของสระโอะ เมื่อมีตัวสะกด

ก็ สะกดว่า กอ-เอาะ-เกาะ-เกาะ-โท-ก็
เป็นการลดรูปของสระเอาะเมื่อเขียนประสมกับ ก ไก่ และไม้โท
เป็นต้น

ภาพและแหล่งที่มา
https://web.facebook.com/photo/?fbid=2256947304461046&set=a.309700765852386

https://www.sanook.com/campus/1425915/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่