จากใต้พื้นพิภพ ตอนที่ 1 กับดักดึกดำบรรพ์


คำนำ

“จากใต้พื้นภิภพ” เป็นเรื่องสั้นที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการกำเนิดปิโตรเลียม รวมถึงกระบวนการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่คุณลือชัย วงศ์สิรสวัสดิ์(*)ได้เขียนขึ้น เพื่อให้ความรู้แก่พนักงานใหม่ที่ยังไม่คุ้นเคยกับธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และ พนักงานในสายงานสนับสนุน รวมถึงผู้สนใจ โดยการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการกำเนิดปิโตรเลียม กระบวนการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในแหล่งน้ำมันสิริกิติ์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันที่มีการผลิตในเชิงพาณิชย์แหล่งแรกในประเทศไทย และปัจจุบันยังคงเป็นแหล่งน้ำมันดิบบนบกที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย

(*)คุณลือชัย วงศ์สิรสวัสดิ์ ดำรงตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและบริการธุรกิจ ปตท.สผ. ในปี พ.ศ.2553

พี่ลือชัยเคยเป็น Wireline Field Engineer เราเคยใส่ชุดหมีสีเดียวกัน ปักธงชาติไทยที่หน้าอกเหมือนกัน เราเคยทำงานร่วม Offshore Operation Base เดียวกันที่บอมเบย์ (ปัจจุบันเรียก มุมไบ) ประเทศอินเดียในปี 1989 (2532) พี่ลือชัยเสียชีวิตเมื่อต้นปี พ.ศ. 2555

เครดิต - กุศลบุญทั้งหมดจากบทความนี้ อุทิศให้แก่พี่ลือชัยครับ

ลึกลงไปจากพื้นผิวของแผ่นดินแห่งอำเภอลานกระบือสัก 2 กิโลเมตร คุณคงทราบไหมว่า ณ. ที่นั้น พลังงานอันมีค่าที่สุดเท่าที่เคยพบได้ในประเทศไทยได้ซุ่มแฝงตัวมานานนับล้านปี “น้ำมันดิบเพชร” ไงครับ

ทุกวันนี้เราสามารถนำน้ำมันดิบเพชรจากใต้พื้นแผ่นดินแห่งนี้ขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้วันล่ะกว่าสองหมื่นบาร์เรล (**) … แล้วเจ้าสองหมื่นบาร์เรลนี่มันเท่ากับเท่าไรกัน … คุณอาจสงสัย ก็เท่ากับประมาณ 7 – 8 เท่าของสระว่ายน้ำมาตราฐานทั่วๆไปไงล่ะครับ

(**) ปัจจุบบันผลิตได้ราวๆ 3 หมื่นบาร์เรล ...

คุณเคยอยากทราบด้วยบ้างไหมว่า หนทางอันยาวไกลของน้ำมันดิบจากใต้พื้นพิภพสู่โรงกลั่นนั้นเป็นอย่างไร เรื่องสั้นนี้จะเฉลยให้คุณฟังอย่างง่ายๆ

นักธรณีวิทยามักจะบอกว่าเจ้าน้ำมีนดิบนี่ถูก “cook in the kitchen” ซึ่งพอจะเทียบเคียงกับภาษาไทยว่า “ทำให้สุกมาจากในครัว” ที่หมายความว่านับตั้งแต่เมื่อหลายๆล้านปีที่แล้ว บรรดาอินทรีย์สารทั้งหลายเมื่อทับถมรวมกันกับตะกอนโคลนดินและหินนานๆเข้าก็จะบ่มตัวเองจนสุกแล้วกลายเป็นน้ำมันดิบ (ฟังแล้วหวังว่าคงจะไม่งงนะครับ เดี๋ยวสุก เดี๋ยวดิบ) แล้วเจ้าน้ำมันดิบนี้ก็จะพาตัวเองอพยพ (migrate) ไปเรื่อยๆ พูดง่ายๆ ก็คือไหลไปนั่นเอง แล้วไหลไปไหนล่ะ …

ก็ไหลขึ้นที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนสุดเพดานไง ในวงการน้ำมันเขาเรียกตรงจุดที่น้ำมันดิบไหลขึ้นไปไม่ได้อีกนี้ว่า trap หรือ แปลเป็นไทยซื่อๆว่า “กับดัก” ซึ่งเป็นชั้นหินที่ครอบ หรือ ล้อมรอบน้ำมันดิบไว้ไม่ให้ไหลไปไหนได้อีกต่อไป

ด้วยเหตุที่ trap หรือ เพดานหินที่ครอบน้ำมันดิบอยู่นี้มีเปลือกโลกซึ่งเป็นชั้นหินหนาเป็นพันๆเมตรทับอยู่ น้ำมันที่ถูกกักอยู่ในกับดักนี้ก็ย่อมจะมีแรงกดดัน (pressure) ตามธรรมชาติอัดอยู่ในตัวด้วย บางครั้งเจ้าน้ำมันดิบก็อาจจะมีเพื่อนบ้านอยู่ใกล้ๆกันด้วย เจ้าเพื่อนบ้านที่ว่านี้ก็มีอยู่ 2 ราย มีหน้าตาเป็นก๊าซธรรมชาติเสียหนึ่ง มีชื่อเป็นทางการว่าคุณ Gas Cap พำนักอยู่ด้านบนของน้ำมันดิบ

ส่วนอีกรายหนึ่งมีหน้าตาเป็นน้ำธรรมดาๆนี่เอง (แต่ออกรสเค็มพอสมควรนะครับ) มีชื่อว่าคุณ Aquifer ซึ่งมีถิ่นพำนักอยู่ด้านล่าง

คุณลองนึกภาพดูแล้วกันนะครับ น้ำมันดิบผู้น่าสงสาร ทั้งถูกกับดักครอบไว้ ทั้งถูกกระหนาบบนล่างด้วยเพื่อนบ้านทั้งสองที่จะคอยช่วยเสริมความกดดันให้อีก จะอึดอัดสักเพียงใด

ชั้นหินกับดักอันเป็นที่อยู่ของทั้ง น้ำมัน ก๊าซ และ น้ำ นี้เราเรียกมันว่า “แหล่งกักเก็บ” (Reservoir) แต่เจ้าแหล่งกักเก็บที่ว่านี้ไม่ได้มีหน้าตาเหมือนถ้วยชาม อ่าง กะละมัง หรือ ภาชนะใดๆนะครับ เพราะจริงๆแล้วแหล้งกักเก็บนี้แม้จะเป็นหินล้วนๆ แต่ก็มีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับฟองน้ำใหญ่ยักษ์ที่อุ้มของเหลวหรือก๊าซเอาไว้ รูพรุนๆของหินหรือฟองน้ำยักษ์นี้เราเรียกมันว่า Pore เพราะฉะนั้น การวัดค่าของรูพรุนเหล่านี้ เราจึงวัดค่าของ Porosity ซึ่งจะเป็นหน่วยที่จะบอกเราว่าชั้นหินนั้นมีความพรุนเป็นร้อยล่ะเท่าไรของเนื้อหินทั้งหมด เจ้ารูพรุนต่างๆเหล่านี้ยิ่งทะลุถึงกันได้มากเท่าไร ของเหลวที่เจ้าฟองน้ำยักษ์นี้อุ้มเอาไว้ก็จะยิ่งไหลไปไหลมาได้สะดวกมากขึ้นเท่านั้น

ความสะดวกของการไหลไปมานี้เราวัดกันด้วยค่า Permeability อุปมาก็เหมือนดังพวก ตรอก ซอก ซอย ทั้งหลายในเมืองนั่นแหละครับ ยิ่งทะลุถึงกันมากเท่าไรก็จะยิ่งช่วยให้การจราจรไหลลื่นได้มากขึ้นเท่านั้น

ตอนนี้เราหันมาอ้างอิงถึงสัจธรรมกันสักเล็กน้อยดีกว่าครับ นั่นคือสิ่งใดๆในโลกนี้ย่อมจะไหลหรือถ่ายเทจากที่ที่มีศักยภาพสูงกว่า ไปยังส่วนที่มีศักยภาพต่ำกว่าเสมอ เห็นด้วยไหมครับ น้ำมันก็เช่นเดียวกัน และ ศักยภาพของน้ำมันที่ว่านี้ก็คือความดันหรือ Pressure นั่นเอง

วิธีหนึ่ง (ซึ่งอาจจะเป็นวิธีเดียวก็ได้ที่เราชาวโลกรู้จักใช้กันจนถึงทุกวันนี้) ในการที่จะทำให้น้ำมันที่กำลังอึดอัดอยู่ด้วยความกดดันนานาประการในแหล่งกักเก็บสามารถไหลออกมาจากกับดักของมันได้ คือการเจาะรูเข้าไปในชั้นหินอันเป็นเพดานของแหล่งกักเก็บนั่นเอง

การเจาะรู หรือ ที่เราควรจะเรียกอย่างไพเราะว่า “ขุดเจาะหลุม” ลงไปนั้นก็เพื่อสร้างให้เกิดความแตกต่างระหว่างความดันภายในหลุมกับความดันในแหล่งกักเก็บ และ เมื่อเราควบคุมความดันในหลุมนี้ได้ เราก็สามารถทำให้น้ำมันดิบไหลขึ้นมาได้นั่นเอง

ฟังดูไม่ยากเลยนะครับ ถึงตอนนี้น้ำมันดิบ (หรือที่ฝรั่งขนานนามเสียเพราะพริ้งว่า Black Gold หรือ ทองคำสีดำ) ก็พร้อมที่จะออกมาสู่โลกภายนอกแล้ว ต้องขอบคุณนักขุดเจาะเพื่อนเรา

เอาล่ะ นี่แค่เริ่มต้นเดินทางนะครับ ตอนหน้าเราจะออกเดินทางกัน

--------------------

ต้นฉบับที่ผมได้มาเป็นเล่มหนังสือที่พิมพ์เผยแพร่ ไม่มีไฟล์อิเลคทรอนิค ทั้งหมดมี 16 ตอน ไล่จากแหล่งกักเก็บไปจนถึงถังน้ำมันของผู้ซื้อน้ำมันจากลานกระบือ ผมจึงต้องพิมพ์ใหม่เป็นตอนๆ ทะยอยพิมพ์ไปเรื่อยๆตามแต่กิจวัตรและภาระกิจจะอำนวย กะว่าวันล่ะตอนครึ่งตอน ก็จะทะยอยเอามาแบ่งปันกันที่นี่เป็นรายสะดวกก็แล้วกันครับ

ถ้าหลงลืมบางตอน หรือ อยากอ่านกันล่วงหน้า หรืออ่านย้อนหลังก็แนะนำให้ไปที่ www.nongferndaddy.com ตามเมนู กลุ่มโพสต์ ---> ห้องสมุด ---> ตำรา ---> จากใต้พื้นพิภพ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่