จากใต้พื้นพิภพ ตอนที่ 3 ในที่สุดก็มาถึงอิสรภาพ แต่ …



ประการแรก บ้านพัง ประการที่สอง น้ำท่วม (แหล่งกักเก็บนะครับ)

ทีนี้เราก็มาถึงสิ่งที่เราไม่ปรารถนาที่จะให้เกิดขึ้น เป็นประการที่สาม อันเป็นผลจากการผลิตน้ำมันเร็วเกินไป สาเหตุของเรื่องก็มาจากคุณ Gas Cap ที่เป็บเพื่อนบ้านที่อยู่ชั้นบนของคุณน้ำมันดิบไง จำได้ไหมครับ คุณ Gas Cap นี้มีนิสัยคล้ายๆกับคุณ Aquifer เลย นั่นคือ อยากจะเข้ามาในบ้านคุณน้ำมันดิบเสียจริง เพราะฉะนั้นเมื่อไรก็ตามที่คุณน้ำมันดิบรีบร้อนออกจากบ้านเร็วเกินไป คุณ Gas Cap ก็จะรับแทรกกายเข้ามาทันที โดยไม่ต้องเชื้อเชิญ เหตุการณ์แบบนี้จะทำให้ การผลิตของเรามีก๊าซในน้ำมันดิบมากเหินไป โดยสามารถดูได้จากค่า Gas to Oil Ratio หรือ GOR

ซึ่งคุณอาจจะคิดว่าปล่อยให้ก๊าซขึ้นมาเยอะๆซิดี เราจะได้เอามาผลิตเป็นก๊าซหุงต้ม (LPG) ขายกัน ก็จริงอยู่ แต่น้ำมันดิบนี้เปรียบไปก็เหมือนหนุ่มน้อยที่มี Gas Cap เป็นนางในฝัน ตราบใดก็ตามที่พ่อหนุ่มยังมีนางในฝันเป็นกำลังใจ ตราบนั้นก็ยังมีพละกำลังที่จะทำงานทำการต่อไปเรื่อยๆ

ในการผลิตน้ำมันดิบนั้น ส่วนหนึ่งเราก็ได้อาศัยแรงดันภายใน Gas Cap นี่แหละเป็นตัวช่วยขับดันการไหลของน้ำมันดิบ ดังนั้นหากเราผลิตก๊าซจาก Gas Cap ขึ้นมามากเกินไปก็จะไม่ม่ีกำลังใจเหลือไว้ให้คุณน้ำมันดิบมีแรงไหลขึ้นมาได้นานๆ (น่าสงสารจังเลยครับ)

เมื่อพูดถึงก๊าซก็ขอบอกกล่าวให้ทราบกันว่า แหล่งกำเนิดของก๊าซที่เราผลิตออกมาพร้อมๆกับน้ำมัน (Associated Gas) นั้นมีอยู่ 2 ชนิด ชนิดแรกคือคุณ Gas Cap ที่มักมีถิ่นพำนักอยู่ชั้นบนของบ้านคุณน้ำมันดิบในแหล่งกักเก็บนั่นแหละ ส่วนอีกชนิดหนึ่งนั้นต้องอธิบายกันหน่อย

เนื่องจากมันเป็นก๊าซที่แต่เดิมไม่ได้มีหน้าตาเป็ฯก๊าซน่ะครับ เราเรียกมันว่า Dissolved Gas ซึ่งก๊าซชนิดนี้จะแฝงตัวอยู่ในเนื้อน้ำมัน ซึ่งก็เปรียบเสมือนน้ำโซดาในขวดที่อัดลมไว้

ตราบในทีฝาขวดยังปิดสนิทอยู่ เราก็จะไม่เห็นฟองอากาศที่อัดไว้ในขวดนั้น ทีนี้พอเราเปิดฝาขวด ความดันในขวดลดลง ฟองอากาศนับร้อยพันก็จะปรากฏขึ้น และ พุ่งขึ้นสู่ปากขวดทันที พอจะนึกภาพความ “ซ่า” ออกแล้วใช่ไหมครับ

ทีนี้ลองจินตนาการให้แหล่งกักเก็บน้ำมันเป็ฯเหมือนขวดโซดาดู เดิมทีนั้นเรายังไม่ได้เจาะหลุมลงไปก็เหมือนกับขวดบรรจุน้ำมันดิบที่ปิดแน่นอยู่ เราจึงยังมองไม่เห็นก๊าซที่แฝงตัวอยู่ ครั้นพอเราเจาะหลุมลงไปก็เปรียบเสมือนการไปเปิดจุกขวดเข้า ทีนี้ล่ะ เจ้าก๊าซแอบแฝงก็จะปรากฏตัวแยกออกมาจากเนื้อน้ำมันดิบเข้าไปเสริมทัพกับคุณ Gas Cap ทำให้ปริมาณก๊าซที่ขึ้นมาพร้อมน้ำมันดิบมากเกินไป (ก๊าซมากเกินไป ไม่ดีอย่างไร ผมจะเล่าให้ฟังทีหลังนะครับ)

เหตุที่เราไม่สามารถผลิตน้ำมันให้เร็วและมากเท่าที่ใจปรารถนาได้ เพราะเราจะต้องผลิตด้วยอัตราไหลที่เหมาะสมที่สุด ไม่มากไปหรือน้อยไป จึงจะได้ปริมาณน้ำมันออกมาจากแหล่งมากที่สุดในระยะยาว ถึงกระนั้นก็ตามบางครั้งเราก็ไม่สามารถผลิตน้ำมันในอัตราที่เหมาะสมได้ (คือได้น้อยกว่าที่ควร) ทั้งนี้ก็เพราะเจ้าหลุมที่เราขุดลงไปนั่นแหละครับ ที่บางครั้งไม่ยอมเป็นใจ

เหตุผลอย่างหนึ่งก็คือ ในระหว่างที่เราขุดหลุม หรือ เตรียมหลุมก่อนการผลิตนั้น เราจำเป็นต้องทำให้ความดันในหลุมสูงกว่าความดันในแหล่งกักเก็บ โดยใส่น้ำโคลนหรือน้ำเกลือไว้ในหลุม เพราะเราไม่อยากให้น้ำมันหรือก๊าซพรุ่งพรวดขึ้นมา โดยที่เราไม่ทันได้ตั้งตัว แต่พอความดันในหลุมสูงกว่า ก็จะดันให้อะไรต่อมิอะไร ซึ่งบางครั้งก็มีฝุ่นผง ขี้ดิน ที่ลอยอยู่ในน้ำโคลนหรือน้ำเกลือในหลุมวิ่งเข้าไปในแหล่งกักเก็บ (ที่มีความดันต่ำกว่า) แล้วพวกเศษขยะเหล่านี้แหละ จะไปทำให้รูพรุนในแหล่งกักเก็บอุดตัน น้ำมันที่เราต้องการผลิตก็จะไหลได้ไม่สะดวกเท่าที่ควร

เปรียบเสมือนยามที่ท่อน้ำที่บ้านคุณอุดตัน คุณก็ต้องทำความสะอาดกันใช่ไหม ในการผลิตน้ำมันก็เช่นกัน เมื่อเกิดการอุดตันขึ้นเราเราก็จะมีวิธีจัดการทำความสะอาดแหล่งกักเก็บเหมือนกัน เพื่อให้น้ำมันไหลได้สะดวก ในการนี้วิธีการหนึ่งที่เราจะใช้ก็คือ ใช้สารเคมีอัดเข้าไปในแหล่งกักเก็บเพื่อละลายฝุ่นผงที่ไปอุดตัน เราเรียกวิธีนี้ว่า Matrix Acidisation หรือที่เรียกง่ายๆว่า Acid Job

ตั้งแต่ตอนแรกจนถึงปัจจุบันนี้ คุณก็ได้ทราบไปแล้วว่าน้ำมันดิบนั้นมีกำเนิดอย่างไร และต้องฝ่าฟันอุปสรรคประการใดบ้าง กว่าจะได้ออกมาสู่โลกภายนอก แต่อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวของการเดินทางเท่านั้นเอง ยังเหลือหนทางอีกยาวไกลนัก กว่าน้ำมันดิบจะเดินทางถึงสถานีผลิต (Production Station) และ โรงกลั่น คอยติดตามต่อในตอนหน้านะครับ


====================================

ต้นฉบับที่ผมได้มาเป็นเล่มหนังสือที่พิมพ์เผยแพร่ ไม่มีไฟล์อิเลคทรอนิค ทั้งหมดมี 16 ตอน ไล่จากแหล่งกักเก็บไปจนถึงถังน้ำมันของผู้ซื้อน้ำมันจากลานกระบือ ผมจึงต้องพิมพ์ใหม่เป็นตอนๆ ทะยอยพิมพ์ไปเรื่อยๆตามแต่กิจวัตรและภาระกิจจะอำนวย กะว่าวันล่ะตอนครึ่งตอน ก็จะทะยอยเอามาแบ่งปันกันที่นี่เป็นรายสะดวกก็แล้วกันครับ

ถ้าหลงลืมบางตอน หรือ อยากอ่านกันล่วงหน้า หรืออ่านย้อนหลังก็แนะนำให้ไปที่ www.nongferndaddy.com ตามเมนู กลุ่มโพสต์ ---> ห้องสมุด ---> ตำรา ---> จากใต้พื้นพิภพ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่