แก้ทุกข์ที่ใจ

วิธีที่แก้ปัญหาที่ดีที่สุด ถ้าไม่รู้ว่าจะแก้อย่างไร ถ้าห้ามหรือหยุดยั้งสิ่งต่างๆที่โหมกระหน่ำใส่ตัวเราไม่ได้ คือการตั้งสติให้มั่น ควบคุมดูแลกายวาจาใจให้เป็นปกติ ให้เป็นอุเบกขาวางเฉย โดยยึดหลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆตน มีกรรมเป็นผู้ให้กำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย จักทำกรรมอันใดไว้ดีหรือชั่ว จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ในขณะที่วิบากกรรมอันเลวร้ายปรากฏขึ้น ก็ขอให้ยิ้มรับอย่างกล้าหาญ ไม่ต้องไปหวั่นไม่ต้องไหวกับอะไรทั้งสิ้น เพราะใจเป็นสิ่งที่ประเสริฐ สามารถรับกับทุกสิ่งทุกอย่างได้ ไม่ว่าจะดีขนาดไหน หรือเลวร้ายขนาดไหน ใจจะอยู่เหนือสิ่งต่างๆได้เสมอ เพียงแต่ว่าใจจะสู้หรือไม่สู้เท่านั้นเอง ถ้าใจสู้แล้วในที่สุดทุกสิ่งทุกอย่างก็จะผ่านไป ถ้าใจเป็นเหมือนกับหิน ต่อให้มีมรสุม มีพายุพัดกระหน่ำมาขนาดไหน ก็จะไม่สามารถไปขยับให้หินเคลื่อนไหวได้ ฉันใดใจที่มีสติ มีขันติ มีอุเบกขา ย่อมสามารถเผชิญกับมรสุมชีวิตได้อย่างสบาย เพียงแต่ขอให้ฝึกทำใจให้มีความแน่นหนา มั่นคง หนักแน่น อย่าปล่อยให้ใจเป็นเหมือนกับนุ่น ที่จะลอยไปได้อย่างง่ายดาย เมื่อมีลมเพียงแผ่วเบามาสัมผัส นั้นคือลักษณะของใจที่ไม่มีขันติ ไม่มีสติ ไม่มีความกล้าหาญที่จะเผชิญกับสิ่งต่างๆ ที่มาสัมผัสกับตน แต่ถ้าได้ฝึกหัดจิตใจให้เผชิญกับสิ่งต่างๆ ที่เราไม่ชอบกัน คือความทุกข์ ความยาก ความลำบากแล้ว ต่อไปใจมีความแข็งแกร่ง มีพลังที่จะต่อสู้กับสิ่งที่ไม่ดีไม่งามทั้งหลาย แต่ถ้าไม่ฝึกใจให้ต่อสู้กับความทุกข์ ความยาก ความลำบาก มีแต่จะถอย มีแต่จะหนีโดยถ่ายเดียว เวลาเกิดปัญหาขึ้นมา ก็จะใช้วิธีตัดสินแก้ปัญหาด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง คือไปสร้างบาปสร้างกรรมเพิ่มขึ้นมาอีก

อย่างเวลาไม่มีเงินทองใช้ แทนที่จะใช้ความอดทนอดกลั้น อยู่ไปตามฐานะ มีน้อยก็ใช้ไปน้อยๆ ถ้าไม่สามารถกินข้าวได้วันละสามมื้อ ก็ลดเหลือวันละสองมื้อ หรือมื้อหนึ่งก็ยังอยู่ได้ กินข้าวคลุกน้ำปลาให้มากหน่อย ก็ยังพอทนอยู่ได้ ดีกว่าไปฉ้อโกง ไปลักเล็กขโมยน้อย เพื่อหาอาหารมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เพราะไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง วิธีที่ถูกต้องคือ ต้องมีความอดทน อดกลั้น มีความขยัน หมั่นเพียร ขยันหาเงินหาทอง ทำงานทำการ แบบไม่เลือกงานไม่เลือกการ งานชนิดไหนก็ได้ถ้าเป็นงานที่สุจริต ทำไปแล้วไม่เกิดโทษ ขอให้ทำไปเถิด ถึงแม้จะมีรายได้น้อยก็ตาม ก็ยังดีกว่าไม่มีรายได้เลย อย่าเลือกงาน เมื่อถึงเวลาที่จนตรอกแล้ว ต้องสู้ สู้ด้วยกุศลกรรม สู้ด้วยความดี กุศลกรรมนี้แหละจะเป็นเครื่องรักษาไม่ให้ตกไปสู่ที่ต่ำ เช่นความอดทน ความอดกลั้น ความขยันหมั่นเพียร ความยินดีตามอัตภาพ ตามฐานะ ที่เรียกว่าสันโดษและความมักน้อย คือเอาเท่าที่จำเป็น กินน้อยๆ ใช้น้อยๆ แล้วชีวิตจะไม่มีความกดดัน แต่ถ้าหลง ไม่มีสติ ไม่มีปัญญา อ่อนแอ เกียจคร้าน แต่อยากจะได้มาก มีกิเลสมีตัณหามาก ก็จะถูกผลักดันให้ไปก่อกรรมทำเวร สร้างปัญหาให้กับตนไม่มีที่สิ้นสุด เพราะเมื่อไม่มีคุณธรรม ที่ต่อสู้กับอกุศลกรรมทั้งหลายแล้ว ชีวิตก็จะถูกสิ่งต่างๆที่ไม่ดีผลักดัน ให้ไปกระทำอกุศลกรรมให้มากยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วก็จะส่งให้ตกไปสู่ที่ต่ำไปเรื่อย จนกระทั่งไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นมาอยู่ในที่ดีเลย

จึงขอให้คิดถึงธรรมอยู่เสมอ ธรรมนี้แหละเป็นที่พึ่ง เป็นสรณะ ต้องนำเข้าสู่จิตใจ เสริมสร้างให้เกิดขึ้นในใจ ให้มีขันติ มีความอดทน อดกลั้น มีสติปัญญา ที่จะคิดจะทำแต่สิ่งที่ดีที่งาม การกระทำอันไหนเป็นอกุศลกรรม ก็จะไม่ทำ จะกระทำแต่กุศลกรรมเท่านั้น เมื่อสามารถยืนหยัด ดำเนินชีวิต ไปตามแนวทางคำสอนของพระพุทธเจ้าได้แล้ว ชีวิตของเราจะมีแต่ความสุขความเจริญ จงจำไว้เสมอว่า ความสุขความเจริญที่แท้จริง ไม่ได้หมายความว่าต้องมี เงินมีทอง มีฐานะร่ำรวย เป็นมหาเศรษฐี มีตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์สูงส่ง เป็นประธานาธิบดี เป็นนายกรัฐมนตรี อย่างนี้ไม่ใช่เป็นผลที่เกิดจากการกระทำความดี ไม่ใช่เป็นความสุขความเจริญที่แท้จริง ความสุขความเจริญที่แท้จริงอยู่ในใจของเรานั้นแหละ เป็นใจที่มีความอิ่ม มีความพอต่างหาก บุคคลนั้นแหละจะเป็นคนที่เจริญ เพราะถ้ามีความพอแล้ว มีความอิ่มแล้ว ก็ไม่มีความโลภ ไม่มีความอยาก ที่อยากจะมีอยากจะเป็นอะไรกับใครเขา มีอยู่มีกินไปวันๆหนึ่ง มีปัจจัย ๔ เลี้ยงอัตภาพชีวิตให้อยู่ไปได้วันๆหนึ่ง ก็พอแล้ว

ส่วนความต้องการทางด้านจิตใจ ก็ไม่ปรารถนา ไม่ต้องการอะไรเลย ไม่ต้องการเป็นมหาเศรษฐี ไม่ต้องการเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ต้องการเป็นประธานาธิบดี ไม่ต้องการให้ใครมาสรรเสริญ เยินยอ ยกย่อง ไม่ต้องการไปเที่ยวเตร่ ดูหนัง ดูละคร ไปหาความสุขจาก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย ผู้นั้นแหละคือผู้มีความสุข มีความเจริญที่แท้จริง เพราะสามารถตั้งอยู่ในความปกติได้ ไม่ไปก่อกรรมทำเวร ทำบาปทำกรรม ให้กับผู้ใด ไม่เดือดร้อนกับปัญหาอะไรทั้งสิ้น เพราะปัญหาทั้งหลายเกิดมาจากความอยาก ความต้องการต่างๆ ถ้าไม่อยาก ไม่ต้องการแล้ว ปัญหาอันไหนจะเข้ามาหา ไม่มีหรอก

ทุกวันนี้ปัญหาของพวกเราอยู่ที่ตรงไหน รู้ไหม ก็อยู่ตรงที่ความไม่พอนั่นแหละ คือความอยากต่างๆนานา ยังอยากมี ยังอยากเป็น ยังอยากร่ำอยากรวย ยังอยากจะมีสมบัติ มีวัตถุข้าวของต่างๆ ยังอยากจะมีสามี มีภรรยา มีแฟน บางคนมีคนเดียวยังไม่พอ ต้องมี ๒ มี ๓ มี ๔ มี ๕ นี้คือลักษณะของปัญหาของพวกเรา อยู่ที่ความไม่พอที่เกิดจากความหลง ความไม่รู้จริง คิดว่าความสุขความเจริญอยู่ที่การได้มา ซึ่งลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข ซึ่งเป็นความหลง ไม่ใช่เป็นความจริง ความรู้จริงคือต้องรู้ว่า ลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข ล้วนแต่เป็นกองทุกข์ทั้งนั้น เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง มีการเจริญขึ้นได้ก็มีการเสื่อมได้เป็นธรรมดา มีมาก็ต้องมีไป รวยได้ในวันนี้ก็จนได้ในวันพรุ่งนี้ เราพร้อมที่จะพบกับความจนหรือยัง ถ้ารวยในวันนี้แล้วเกิดพรุ่งนี้ต้องจนลง จะรับกับสภาพนั้นได้หรือเปล่า

นี่แหละคือเรื่องราวของธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ให้รู้จักเหตุของความสุข เหตุของความทุกข์ ทรงสอนให้สร้างแต่เหตุของความสุข ละเหตุของความทุกข์ เหตุของความทุกข์ก็คือ กิเลสตัณหา โลภ โกรธ หลง ความอยากความต้องการทั้งหลาย ขอให้ลดละ แล้วสร้างเหตุที่ดี กุศลกรรม คือสติปัญญา ความฉลาด ขันติ ความอดทน ทมะ ความอดกลั้น วิริยะ ความขยันหมั่นเพียร ที่จะนำพาเราไปสู่ความสุขความเจริญที่แท้จริง.

กัณฑ์ที่ ๑๑๕ วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๕ (กำลังใจ ๗)

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่