ครบหนึ่งปีที่โลดแล่นอยู่บนถนนนักเขียนของ ล. วิลิศมาหรา
ลิได้รับประสบการณ์มากมายจากกัลยาณมิตร ทั้งนักเขียนรุ่นพี่ที่เคารพนับถือเป็นครูบาอาจารย์ และเพื่อนนักเขียนมือสมัครเล่นมากมาย
วันนี้ ล. วิลิศมาหราเติบใหญ่ขึ้นมาอายุครบหนึ่งปีพอดี จึงได้มีโอกาสนำนิยายเรื่องยาวเรื่องแรกในชีวิตที่เขียนจบสมบูรณ์มารีไร้ท์ครั้งที่หนึ่ง และเปลี่ยนชื่อใหม่ทั้งชื่อเรื่องและตัวละคร
หากมีคำชี้แจงติชมใด ๆ ลิน้อมรับฟังเสมอ...ลิพาเจ้านางคำหยาดฟ้าและบริวารคู่ใจของเธอกลับมาอีกครั้งค่ะ
นิยายเรื่องริษยารักข้ามภพนี้ ตัวละครและเมืองต่าง ๆ ที่ใช้ดำเนินเรื่องผู้เขียนสมมุติขึ้นมาทั้งสิ้น นอกเหนือจาก 34 หัวเมืองใหญ่ที่มีอยู่จริง โดยอิงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของแคว้นไทใหญ่ก่อนถูกรวมเข้าเป็นประเทศพม่า
ริษยารักข้ามภพ
โดย ล. วิลิศมาหรา
ตอนที่ 1
กรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ. 2530
เจ้านางคำหยาดฟ้า หญิงสาวสูงศักดิ์จากแคว้นสิบสองปันนา เธอผู้มีชีวิตเหนือกาลเวลานั่งนิ่งอยู่บนเก้าอี้ข้างเตียงภายในห้องนอนของคอนโดมิเนียมหรูใจกลางกรุง มือสองข้างวางบนเท้าแขนเก้าอี้ ไหล่และคอตั้งตรง ใบหน้างามสงบเรียบเฉย ดวงตาวาวโรจน์ดุจตานางสิงห์จ้องตะครุบเหยื่อคู่นั้นอ่อนแสงลงแล้ว ขณะมองไปยังบัวตองบ่าวหญิงผู้ภักดี ที่กำลังคลี่ผ้าแพรเพลาะคลุมร่างจนถึงหน้าอกให้แก่ชายผู้เคยเป็นดังดวงใจของนายตนเอง ข้ารับใช้คนสนิทยกสองมือของเขาขึ้นวางประสานกันไว้เหนืออก เสร็จแล้วจึงหันมาหานายหญิงเพื่อรอคำสั่ง
“ไปเก็บของที่ห้อง เราจะออกจากเมืองนี้ภายในยี่สิบนาที” ทันทีที่เจ้านางสาวลุกขึ้นจากเก้าอี้ งูเห่าสีดำมะเมื่อมตัวใหญ่ก็เลื้อยปราดกลับเข้าไปอยู่ในตะกร้าหวายข้างตัวเธอตามเดิม ราวกับมันรู้ภาษาคน หญิงสาวก้มลงปิดฝาตะกร้าหวายให้แน่นสนิทก่อนหิ้วมันขึ้นมาถือไว้ในมือ พร้อมพยักหน้าเป็นสัญญาณให้บ่าวคู่ใจลุกขึ้นตาม
ก่อนเดินออกจากห้องนั้นไป เธอหันมามองร่างไร้วิญญาณของชายคนรักอีกครั้ง แววอาดูรในดวงตาคู่งามทำให้บัวตองสะท้านในอก สงสารนายสาวจับใจ แต่เพียงครู่เดียวมันก็เลือนหาย กลับมาเปล่งประกายเจิดจ้าตามเดิม ไม่นานสองนายบ่าวก็ออกจากที่แห่งนั้น ตรงไปขึ้นรถแล้วขับจากไป
ณ ท่าอากาศยานเชียงใหม่
หนานอินเฟือนอดีตแม่ทัพผู้เกรียงไกรแห่งเมืองเวียงแถน ที่ปัจจุบันคือผู้จัดการหนุ่มของคุ้มคำหยาดฟ้ามีท่าทางดีใจ เมื่อเห็นสองสาวต่างฐานะปรากฏตัวขึ้นที่ประตูห้องผู้โดยสารขาออก เขาปรี่เข้ามารับกระเป๋าเดินทางจากมือบัวตอง เจ้านายสาวของเขายิ้มน้อยๆ ให้ บอกเสียงเรียบว่า
“กลับไปคุ้มคำหยาดฟ้า เราต้องเริ่มต้นรอใหม่อีกครั้ง”
เชียงใหม่ อีกยี่สิบเจ็ดปีต่อมา
ในเช้าวันหนึ่งของต้นเดือนเมษายน รถสองแถวสีแดงสัญลักษณ์ของรถที่วิ่งรับผู้โดยสารรอบเวียงเชียงใหม่ วิ่งเข้ามาในหมู่บ้านไทลื้อ-ไทเขินแห่งหนึ่งในอำเภอดอยสะเก็ด หมู่บ้านนี้ตั้งอยู่บนยอดดอยสูงชื่อดอยก้อม ซึ่งอยู่ห่างออกไปนอกตัวเมืองเชียงใหม่ไกลจนเกือบติดอาณาเขตของจังหวัดเชียงราย ที่นี่เป็นชุมชนของคนเชื้อสายไทลื้อและไทเขิน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่
ไทลื้อ-ไทเขินมีภาษาและศิลปวัฒนธรรมใกล้เคียงกับไทยวน ซึ่งเป็นกลุ่มชนส่วนใหญ่ของจังหวัดในล้านนาไทย คนเชื้อสายไทเหล่านี้อาศัยอยู่ที่นี่มานานตั้งแต่สมัยพระเจ้ากาวิละ“เทโค”หรือเทครัวมา และที่ทยอยอพยพหนีภัยสงครามมาจากแคว้นสิบสองปันนา นับตั้งแต่เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาในปี พ.ศ. 2484-2488 จนกระทั่งถึงอาณาจักรใหญ่ที่เคยปกครองหัวเมืองไทใหญ่ทั้งปวงอย่างพม่าและจีน เข้าสู่ระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์
รถโดยสารคันนี้วิ่งเข้ามาจอดหน้าซุ้มประตูคุ้มที่ทำด้วยแผ่นไม้หนาใหญ่สองบานซึ่งเปิดอ้าอยู่ คนในรถเห็นภายในบริเวณขอบรั้วสูงใหญ่มีอาคารสร้างด้วยอิฐสูงสองชั้นทรงยุโรปสามหลัง ปลูกเรียงติดกันตั้งตระหง่านห่างจากซุ้มประตูพอสมควร อาคารตรงกลางมีหลังคาทรงปั้นหยาผสมจั่ว ชายคาด้านหน้ายื่นยาวออกมาคลุมบันไดไม้ ซึ่งทอดลงจากระเบียงชั้นบนมาพักที่ชานพักกว้าง ก่อนหักหันข้างลงสู่พื้นทั้งสองด้านอีกที โดยมีเสาอิฐขนาดใหญ่สี่ต้นรับน้ำหนักโครงหลังคาด้านหน้าเอาไว้ และยังมีอาคารหลังย่อมกว่าอีกสองหลังสร้างประกบซ้ายขวา
รอบคุ้มก่อกำแพงอิฐเป็นแนวยาวล้อมอาณาบริเวณนับสิบไร่ บนตัวกำแพงข้างซุ้มประตูทางด้านซ้ายมีป้ายไม้ทาสีแดงชาด แกะสลักเป็นตัวอักษรฉาบด้วยสีทองขนาดใหญ่อ่านว่า“คุ้มคำหยาดฟ้า”ติดอยู่ คนขับจอดรถดูท่าทีอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนขับพาผู้โดยสารผ่านซุ้มประตูเข้าไปจอดหน้าอาคารหลังใหญ่สุดตรงกลาง
นพคุณ อรุณโรจน์ ก้าวลงจากรถรับจ้าง ชายหนุ่มปล่อยผมหยักศกยาวระต้นคอ สวมกางเกงและเสื้อยีนส์คลุมทับเสื้อยืดสีเขียวขี้ม้าตัวใน แบะอกโชว์ข้อความสีขาวบนอกเสื้อหราว่า“โสด จีบได้” รูปร่างสูงใหญ่ตึงแน่นไปด้วยมัดกล้ามอย่างคนชอบออกกำลังกาย แววตาสีน้ำตาลเข้มใต้สันคิ้วหนาใสจนเป็นประกาย จมูกโด่งเป็นสันรับกับริมฝีปากค่อนข้างหนาเป็นรอยหยักลึกที่มักเผยอเหมือนยิ้มนิดๆ อย่างคนอารมณ์ดี ทำให้ใบหน้าคมคายนั้นยิ่งชวนมอง
ส่วนหญิงสาวหน้าตาจิ้มลิ้มน่ารักที่ตามลงมาด้วยคือพวงชมพู สุขสมปอง เธอตัวเล็กแค่ครึ่งอกของชายหนุ่มข้างๆ เรือนผมสีน้ำตาลอ่อนถักเปียเดียวเผยใบหน้านวลผ่อง แก้มป่องสองข้างแดงระเรื่ออมเลือดฝาด ริมฝีปากอิ่มเต็มสีชมพูตามธรรมชาติ ดวงตากลมโตสุกใสคู่นั้นแฝงแววกระตือรือร้น หญิงสาวแต่งกายทะมัดทะแมงด้วยชุดยีนส์ทั้งชุดและรองเท้าผ้าใบ คนทั้งสองสะพายเป้สนามไว้บนบ่าเหมือนเตรียมพร้อมสำหรับการพักแรม
สองหนุ่มสาวเป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ของสถานศึกษาแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ซึ่งชวนกันเดินทางมาท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ หรือที่คนท้องถิ่นเรียกตัวเองว่า“คนไต”แถบจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน ในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนนี้ พอจ่ายค่าโดยสารเสร็จ ทั้งคู่ก็เดินมาหยุดเมียงมองเข้าไปภายในตัวอาคารตรงกลางที่ประตูด้านหน้าเปิดอยู่
“ทำไมมันเงียบเชียบอย่างนี้ล่ะนพ ไม่เห็นมีนักท่องเที่ยวสักคน”
พวงชมพูหันมองซ้ายขวา ส่ายสายตามองไปโดยรอบ แต่ทั่วทั้งบริเวณคุ้มเงียบสงบปราศจากผู้คน มีเพียงเธอกับเพื่อนชายเท่านั้นที่ยืนเก้ๆ กังๆ อยู่หน้าประตูอาคาร ซึ่งมันดูผิดปกติมาก เพราะในแผ่นพับแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่บอกเอาไว้ว่า คุ้มคำหยาดฟ้าแห่งนี้เป็นอาคารโบราณ สร้างเลียนแบบหอหลวงของเมืองเวียงแถน เมืองสำคัญเมืองหนึ่งของแคว้นสิบสองปันนา ตัวอาคารในคุ้มมีสถาปัตยกรรมศิลปะแบบมัณฑะเลย์ และเปิดให้บุคคลภายนอกเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการหรือวันหยุดนักขัตฤกษ์
“ไม่รู้เหมือนกันแฮะ อ้อ นั่น มีคนเดินมา เดี๋ยวฉันจะลองถามเขาดู” ชายหนุ่มบอกเพื่อนหญิง ก่อนสาวเท้าเข้าไปหาสตรีนางหนึ่งที่กำลังเดินออกจากอาคารหลังใหญ่ตรงมาหาเช่นกัน หล่อนยกมือไหว้สวัสดีก่อน ทำเอาแขกทั้งคู่รีบยกมือไหว้ตอบแทบไม่ทัน จากนั้นนพคุณจึงเอ่ยปากสอบถาม
“เราปิดซ่อมแซมเรือนหลวงค่ะ เพราะเมื่ออาทิตย์ก่อนพายุมันพัดเอาหลังคากระเบื้องดินขอหลุดไปหลายแผ่น เราประกาศไว้ในเว็บไซต์ พวกคุณคงไม่ได้เข้าไปอ่านกัน”
หญิงวัยกลางคนหน้าตาหมดจด ท่าทางเรียบร้อย เกล้าผมสูงกลางศีรษะและทัดดอกจำปีไว้ที่หูตอบคำถามเป็นภาษากลางสำเนียงชาวเหนือ เธออยู่ในชุดเสื้อป้ายข้างหรือที่เรียกว่าเสื้อปั้ด นุ่งซิ่นตีนเขียว ซึ่งทั้งคู่รู้จักดีว่าเป็นชุดแต่งกายพื้นเมืองของหญิงชาวไทเขิน ขณะที่เธอผู้นั้นพูด พวงชมพูสังเกตเห็นเธอมองใบหน้าหล่อเหลาของนพคุณอย่างปิติยินดี
“แต่ในเมื่อพวกคุณมากันแล้ว ก็ขอเชิญเข้าไปข้างในก่อนเถิดจ้าว มีส่วนอื่นของตัวเรือนที่ไม่ได้รับความเสียหายให้พวกคุณเยี่ยมชม” หญิงที่มาจากในอาคารผู้นั้น กวักมือเรียกหญิงสาวในชุดไทเขินอีกคนที่เดินผ่านหน้าให้เข้ามาหา
“จันทร์ตาไปเรียนเจ้าท่านว่าตะวันได้ขึ้นแล้ว พี่กำลังจะพาแขกแก้วไปที่เรือนรับรอง” หญิงคนมาใหม่เมื่อเข้ามาใกล้จึงเหลือบมองใบหน้าของสองหนุ่มสาว ครั้นเห็นหน้าชัด หล่อนก็ทำท่าคล้ายดังตื่นตะลึง รับคำแล้วรีบเดินจากไป
หญิงคนแรกเชื้อเชิญให้ทั้งคู่เดินตามมายังอาคารหลังที่เธอเรียกว่าเรือนรับรอง ซึ่งสร้างเยื้องไปทางด้านซ้ายของอาคารตรงกลางเล็กน้อย เป็นหนึ่งในสองอาคารหลังย่อมลักษณะคล้ายกันที่สร้างขนาบซ้ายขวาอาคารหลังใหญ่ เรือนรับรองหลังนี้มีสองชั้น หน้าต่างเป็นแบบฝรั่งเศสยาวจดพื้นทุกบาน เมื่อเดินขึ้นบันไดหินอ่อนเตี้ยๆ สี่ขั้นเข้าไปชั้นล่าง ก็พบกับห้องรับแขกขนาดใหญ่ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์แบบยุโรป ด้านข้างมีประตูเปิดออกไปสู่เฉลียงหินอ่อนด้านนอก หญิงสาวชาวไทเขินเชิญให้ทั้งคู่นั่งรอบนเก้าอี้รับแขกไม้สักหุ้มเบาะหลุยส์ดูหรูหรา
“โปรดรอสักครู่ ท่านเจ้าของที่นี่จะเป็นผู้พาคุณเยี่ยมชมคุ้มเองจ้าว” พอนั่งลง หญิงสาวแต่งกายเช่นเดียวกับหญิงสองคนแรกก็นำน้ำต้นหรือคนโท พร้อมขันเงินใบเล็กๆ สองใบเข้ามาวางบนโต๊ะรับแขกก่อนถอยออกไป หญิงคนเดิมเชื้อเชิญแขกต่างถิ่นให้ดื่มน้ำอย่างมีไมตรี
“เชิญดื่มน้ำก่อนจ้าว ที่นี่ไม่ดื่มน้ำจากตู้เย็น เราดื่มน้ำฝนที่รองเอาไว้” เธอเล่าพลางรินน้ำจากในน้ำต้นใส่ขันเงินยื่นส่งให้ สองหนุ่มสาวรับมาถือไว้ แต่ยังไม่ทันได้ยกขึ้นดื่ม เสียงทักทายหวานใสราวระฆังเงินของหญิงสาวคนหนึ่งก็ดังขึ้น
“สวัสดีค่ะ”
ทั้งคู่หันไปทางต้นเสียงพร้อมกัน และเมื่อได้เห็นเจ้าของเสียงชัดเจน ต่างพากันมองตะลึงจนถือขันเงินค้าง
ริษยารักข้ามภพ (สาปเสน่หารีไร้ท์) ตอนที่ 1
ลิได้รับประสบการณ์มากมายจากกัลยาณมิตร ทั้งนักเขียนรุ่นพี่ที่เคารพนับถือเป็นครูบาอาจารย์ และเพื่อนนักเขียนมือสมัครเล่นมากมาย
วันนี้ ล. วิลิศมาหราเติบใหญ่ขึ้นมาอายุครบหนึ่งปีพอดี จึงได้มีโอกาสนำนิยายเรื่องยาวเรื่องแรกในชีวิตที่เขียนจบสมบูรณ์มารีไร้ท์ครั้งที่หนึ่ง และเปลี่ยนชื่อใหม่ทั้งชื่อเรื่องและตัวละคร
หากมีคำชี้แจงติชมใด ๆ ลิน้อมรับฟังเสมอ...ลิพาเจ้านางคำหยาดฟ้าและบริวารคู่ใจของเธอกลับมาอีกครั้งค่ะ
นิยายเรื่องริษยารักข้ามภพนี้ ตัวละครและเมืองต่าง ๆ ที่ใช้ดำเนินเรื่องผู้เขียนสมมุติขึ้นมาทั้งสิ้น นอกเหนือจาก 34 หัวเมืองใหญ่ที่มีอยู่จริง โดยอิงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของแคว้นไทใหญ่ก่อนถูกรวมเข้าเป็นประเทศพม่า
ริษยารักข้ามภพ
โดย ล. วิลิศมาหรา
ตอนที่ 1
กรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ. 2530
เจ้านางคำหยาดฟ้า หญิงสาวสูงศักดิ์จากแคว้นสิบสองปันนา เธอผู้มีชีวิตเหนือกาลเวลานั่งนิ่งอยู่บนเก้าอี้ข้างเตียงภายในห้องนอนของคอนโดมิเนียมหรูใจกลางกรุง มือสองข้างวางบนเท้าแขนเก้าอี้ ไหล่และคอตั้งตรง ใบหน้างามสงบเรียบเฉย ดวงตาวาวโรจน์ดุจตานางสิงห์จ้องตะครุบเหยื่อคู่นั้นอ่อนแสงลงแล้ว ขณะมองไปยังบัวตองบ่าวหญิงผู้ภักดี ที่กำลังคลี่ผ้าแพรเพลาะคลุมร่างจนถึงหน้าอกให้แก่ชายผู้เคยเป็นดังดวงใจของนายตนเอง ข้ารับใช้คนสนิทยกสองมือของเขาขึ้นวางประสานกันไว้เหนืออก เสร็จแล้วจึงหันมาหานายหญิงเพื่อรอคำสั่ง
“ไปเก็บของที่ห้อง เราจะออกจากเมืองนี้ภายในยี่สิบนาที” ทันทีที่เจ้านางสาวลุกขึ้นจากเก้าอี้ งูเห่าสีดำมะเมื่อมตัวใหญ่ก็เลื้อยปราดกลับเข้าไปอยู่ในตะกร้าหวายข้างตัวเธอตามเดิม ราวกับมันรู้ภาษาคน หญิงสาวก้มลงปิดฝาตะกร้าหวายให้แน่นสนิทก่อนหิ้วมันขึ้นมาถือไว้ในมือ พร้อมพยักหน้าเป็นสัญญาณให้บ่าวคู่ใจลุกขึ้นตาม
ก่อนเดินออกจากห้องนั้นไป เธอหันมามองร่างไร้วิญญาณของชายคนรักอีกครั้ง แววอาดูรในดวงตาคู่งามทำให้บัวตองสะท้านในอก สงสารนายสาวจับใจ แต่เพียงครู่เดียวมันก็เลือนหาย กลับมาเปล่งประกายเจิดจ้าตามเดิม ไม่นานสองนายบ่าวก็ออกจากที่แห่งนั้น ตรงไปขึ้นรถแล้วขับจากไป
ณ ท่าอากาศยานเชียงใหม่
หนานอินเฟือนอดีตแม่ทัพผู้เกรียงไกรแห่งเมืองเวียงแถน ที่ปัจจุบันคือผู้จัดการหนุ่มของคุ้มคำหยาดฟ้ามีท่าทางดีใจ เมื่อเห็นสองสาวต่างฐานะปรากฏตัวขึ้นที่ประตูห้องผู้โดยสารขาออก เขาปรี่เข้ามารับกระเป๋าเดินทางจากมือบัวตอง เจ้านายสาวของเขายิ้มน้อยๆ ให้ บอกเสียงเรียบว่า
“กลับไปคุ้มคำหยาดฟ้า เราต้องเริ่มต้นรอใหม่อีกครั้ง”
เชียงใหม่ อีกยี่สิบเจ็ดปีต่อมา
ในเช้าวันหนึ่งของต้นเดือนเมษายน รถสองแถวสีแดงสัญลักษณ์ของรถที่วิ่งรับผู้โดยสารรอบเวียงเชียงใหม่ วิ่งเข้ามาในหมู่บ้านไทลื้อ-ไทเขินแห่งหนึ่งในอำเภอดอยสะเก็ด หมู่บ้านนี้ตั้งอยู่บนยอดดอยสูงชื่อดอยก้อม ซึ่งอยู่ห่างออกไปนอกตัวเมืองเชียงใหม่ไกลจนเกือบติดอาณาเขตของจังหวัดเชียงราย ที่นี่เป็นชุมชนของคนเชื้อสายไทลื้อและไทเขิน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่
ไทลื้อ-ไทเขินมีภาษาและศิลปวัฒนธรรมใกล้เคียงกับไทยวน ซึ่งเป็นกลุ่มชนส่วนใหญ่ของจังหวัดในล้านนาไทย คนเชื้อสายไทเหล่านี้อาศัยอยู่ที่นี่มานานตั้งแต่สมัยพระเจ้ากาวิละ“เทโค”หรือเทครัวมา และที่ทยอยอพยพหนีภัยสงครามมาจากแคว้นสิบสองปันนา นับตั้งแต่เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาในปี พ.ศ. 2484-2488 จนกระทั่งถึงอาณาจักรใหญ่ที่เคยปกครองหัวเมืองไทใหญ่ทั้งปวงอย่างพม่าและจีน เข้าสู่ระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์
รถโดยสารคันนี้วิ่งเข้ามาจอดหน้าซุ้มประตูคุ้มที่ทำด้วยแผ่นไม้หนาใหญ่สองบานซึ่งเปิดอ้าอยู่ คนในรถเห็นภายในบริเวณขอบรั้วสูงใหญ่มีอาคารสร้างด้วยอิฐสูงสองชั้นทรงยุโรปสามหลัง ปลูกเรียงติดกันตั้งตระหง่านห่างจากซุ้มประตูพอสมควร อาคารตรงกลางมีหลังคาทรงปั้นหยาผสมจั่ว ชายคาด้านหน้ายื่นยาวออกมาคลุมบันไดไม้ ซึ่งทอดลงจากระเบียงชั้นบนมาพักที่ชานพักกว้าง ก่อนหักหันข้างลงสู่พื้นทั้งสองด้านอีกที โดยมีเสาอิฐขนาดใหญ่สี่ต้นรับน้ำหนักโครงหลังคาด้านหน้าเอาไว้ และยังมีอาคารหลังย่อมกว่าอีกสองหลังสร้างประกบซ้ายขวา
รอบคุ้มก่อกำแพงอิฐเป็นแนวยาวล้อมอาณาบริเวณนับสิบไร่ บนตัวกำแพงข้างซุ้มประตูทางด้านซ้ายมีป้ายไม้ทาสีแดงชาด แกะสลักเป็นตัวอักษรฉาบด้วยสีทองขนาดใหญ่อ่านว่า“คุ้มคำหยาดฟ้า”ติดอยู่ คนขับจอดรถดูท่าทีอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนขับพาผู้โดยสารผ่านซุ้มประตูเข้าไปจอดหน้าอาคารหลังใหญ่สุดตรงกลาง
นพคุณ อรุณโรจน์ ก้าวลงจากรถรับจ้าง ชายหนุ่มปล่อยผมหยักศกยาวระต้นคอ สวมกางเกงและเสื้อยีนส์คลุมทับเสื้อยืดสีเขียวขี้ม้าตัวใน แบะอกโชว์ข้อความสีขาวบนอกเสื้อหราว่า“โสด จีบได้” รูปร่างสูงใหญ่ตึงแน่นไปด้วยมัดกล้ามอย่างคนชอบออกกำลังกาย แววตาสีน้ำตาลเข้มใต้สันคิ้วหนาใสจนเป็นประกาย จมูกโด่งเป็นสันรับกับริมฝีปากค่อนข้างหนาเป็นรอยหยักลึกที่มักเผยอเหมือนยิ้มนิดๆ อย่างคนอารมณ์ดี ทำให้ใบหน้าคมคายนั้นยิ่งชวนมอง
ส่วนหญิงสาวหน้าตาจิ้มลิ้มน่ารักที่ตามลงมาด้วยคือพวงชมพู สุขสมปอง เธอตัวเล็กแค่ครึ่งอกของชายหนุ่มข้างๆ เรือนผมสีน้ำตาลอ่อนถักเปียเดียวเผยใบหน้านวลผ่อง แก้มป่องสองข้างแดงระเรื่ออมเลือดฝาด ริมฝีปากอิ่มเต็มสีชมพูตามธรรมชาติ ดวงตากลมโตสุกใสคู่นั้นแฝงแววกระตือรือร้น หญิงสาวแต่งกายทะมัดทะแมงด้วยชุดยีนส์ทั้งชุดและรองเท้าผ้าใบ คนทั้งสองสะพายเป้สนามไว้บนบ่าเหมือนเตรียมพร้อมสำหรับการพักแรม
สองหนุ่มสาวเป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ของสถานศึกษาแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ซึ่งชวนกันเดินทางมาท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ หรือที่คนท้องถิ่นเรียกตัวเองว่า“คนไต”แถบจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน ในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนนี้ พอจ่ายค่าโดยสารเสร็จ ทั้งคู่ก็เดินมาหยุดเมียงมองเข้าไปภายในตัวอาคารตรงกลางที่ประตูด้านหน้าเปิดอยู่
“ทำไมมันเงียบเชียบอย่างนี้ล่ะนพ ไม่เห็นมีนักท่องเที่ยวสักคน”
พวงชมพูหันมองซ้ายขวา ส่ายสายตามองไปโดยรอบ แต่ทั่วทั้งบริเวณคุ้มเงียบสงบปราศจากผู้คน มีเพียงเธอกับเพื่อนชายเท่านั้นที่ยืนเก้ๆ กังๆ อยู่หน้าประตูอาคาร ซึ่งมันดูผิดปกติมาก เพราะในแผ่นพับแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่บอกเอาไว้ว่า คุ้มคำหยาดฟ้าแห่งนี้เป็นอาคารโบราณ สร้างเลียนแบบหอหลวงของเมืองเวียงแถน เมืองสำคัญเมืองหนึ่งของแคว้นสิบสองปันนา ตัวอาคารในคุ้มมีสถาปัตยกรรมศิลปะแบบมัณฑะเลย์ และเปิดให้บุคคลภายนอกเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการหรือวันหยุดนักขัตฤกษ์
“ไม่รู้เหมือนกันแฮะ อ้อ นั่น มีคนเดินมา เดี๋ยวฉันจะลองถามเขาดู” ชายหนุ่มบอกเพื่อนหญิง ก่อนสาวเท้าเข้าไปหาสตรีนางหนึ่งที่กำลังเดินออกจากอาคารหลังใหญ่ตรงมาหาเช่นกัน หล่อนยกมือไหว้สวัสดีก่อน ทำเอาแขกทั้งคู่รีบยกมือไหว้ตอบแทบไม่ทัน จากนั้นนพคุณจึงเอ่ยปากสอบถาม
“เราปิดซ่อมแซมเรือนหลวงค่ะ เพราะเมื่ออาทิตย์ก่อนพายุมันพัดเอาหลังคากระเบื้องดินขอหลุดไปหลายแผ่น เราประกาศไว้ในเว็บไซต์ พวกคุณคงไม่ได้เข้าไปอ่านกัน”
หญิงวัยกลางคนหน้าตาหมดจด ท่าทางเรียบร้อย เกล้าผมสูงกลางศีรษะและทัดดอกจำปีไว้ที่หูตอบคำถามเป็นภาษากลางสำเนียงชาวเหนือ เธออยู่ในชุดเสื้อป้ายข้างหรือที่เรียกว่าเสื้อปั้ด นุ่งซิ่นตีนเขียว ซึ่งทั้งคู่รู้จักดีว่าเป็นชุดแต่งกายพื้นเมืองของหญิงชาวไทเขิน ขณะที่เธอผู้นั้นพูด พวงชมพูสังเกตเห็นเธอมองใบหน้าหล่อเหลาของนพคุณอย่างปิติยินดี
“แต่ในเมื่อพวกคุณมากันแล้ว ก็ขอเชิญเข้าไปข้างในก่อนเถิดจ้าว มีส่วนอื่นของตัวเรือนที่ไม่ได้รับความเสียหายให้พวกคุณเยี่ยมชม” หญิงที่มาจากในอาคารผู้นั้น กวักมือเรียกหญิงสาวในชุดไทเขินอีกคนที่เดินผ่านหน้าให้เข้ามาหา
“จันทร์ตาไปเรียนเจ้าท่านว่าตะวันได้ขึ้นแล้ว พี่กำลังจะพาแขกแก้วไปที่เรือนรับรอง” หญิงคนมาใหม่เมื่อเข้ามาใกล้จึงเหลือบมองใบหน้าของสองหนุ่มสาว ครั้นเห็นหน้าชัด หล่อนก็ทำท่าคล้ายดังตื่นตะลึง รับคำแล้วรีบเดินจากไป
หญิงคนแรกเชื้อเชิญให้ทั้งคู่เดินตามมายังอาคารหลังที่เธอเรียกว่าเรือนรับรอง ซึ่งสร้างเยื้องไปทางด้านซ้ายของอาคารตรงกลางเล็กน้อย เป็นหนึ่งในสองอาคารหลังย่อมลักษณะคล้ายกันที่สร้างขนาบซ้ายขวาอาคารหลังใหญ่ เรือนรับรองหลังนี้มีสองชั้น หน้าต่างเป็นแบบฝรั่งเศสยาวจดพื้นทุกบาน เมื่อเดินขึ้นบันไดหินอ่อนเตี้ยๆ สี่ขั้นเข้าไปชั้นล่าง ก็พบกับห้องรับแขกขนาดใหญ่ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์แบบยุโรป ด้านข้างมีประตูเปิดออกไปสู่เฉลียงหินอ่อนด้านนอก หญิงสาวชาวไทเขินเชิญให้ทั้งคู่นั่งรอบนเก้าอี้รับแขกไม้สักหุ้มเบาะหลุยส์ดูหรูหรา
“โปรดรอสักครู่ ท่านเจ้าของที่นี่จะเป็นผู้พาคุณเยี่ยมชมคุ้มเองจ้าว” พอนั่งลง หญิงสาวแต่งกายเช่นเดียวกับหญิงสองคนแรกก็นำน้ำต้นหรือคนโท พร้อมขันเงินใบเล็กๆ สองใบเข้ามาวางบนโต๊ะรับแขกก่อนถอยออกไป หญิงคนเดิมเชื้อเชิญแขกต่างถิ่นให้ดื่มน้ำอย่างมีไมตรี
“เชิญดื่มน้ำก่อนจ้าว ที่นี่ไม่ดื่มน้ำจากตู้เย็น เราดื่มน้ำฝนที่รองเอาไว้” เธอเล่าพลางรินน้ำจากในน้ำต้นใส่ขันเงินยื่นส่งให้ สองหนุ่มสาวรับมาถือไว้ แต่ยังไม่ทันได้ยกขึ้นดื่ม เสียงทักทายหวานใสราวระฆังเงินของหญิงสาวคนหนึ่งก็ดังขึ้น
“สวัสดีค่ะ”
ทั้งคู่หันไปทางต้นเสียงพร้อมกัน และเมื่อได้เห็นเจ้าของเสียงชัดเจน ต่างพากันมองตะลึงจนถือขันเงินค้าง