เมื่อ นักวิทยาศาสตร์ เห็นแย้งกับ นายแพทย์ เรื่อง โรคฉี่หนู บนฝากระป๋องเครื่องดื่ม คุณจะเชื่อใคร ??

Jessada Denduangboripant https://www.facebook.com/jessada.denduangboripant
13 มิถุนายน เวลา 17:57 น. · กรุงเทพมหานคร, Bangkok Metropolis ·
มีเรื่องให้ได้ขัดแย้งกับ ก.สาธารณสุข อยู่เรื่อยๆ เฮะ ...คือ คุณหมอท่านบอกว่า เข้าหน้าฝนให้ระวังโรคฉี่หนู ซึ่งมันจะอยู่ตามเครื่องดื่มที่ดึงเปิดฝา แล้วกินโดยตรงจากกระป๋อง แนะนำให้ล้างกระป๋องทุกครั้งก่อนกิน
คือเรื่อง "ระวังโรคฉี่หนูระบาดติดมากับกระป๋องน้ำอัดลม" เนี่ยมันเป็นแค่ ฟอร์เวิร์ดเมล์ แชร์กันมาผิดๆ นานแล้วนะครับ ไม่ใช่เรื่องจริงให้ต้องระวังกัน
โรคเลปโตสไปโรซิส หรือ โรคฉี่หนู เนี่ย เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่เจอในฉี่ของสัตว์หลายชนิด ไม่ใช่แค่หนู เชื้อจะพบมากในดินและน้ำโดยการติดเชื้อนั้นมาจากการเดินลุยน้ำท่วมหรือย่ำโคลนเลน แล้วเชื้อเข้าไปตามแผลที่เท้า
ส่วนเรื่องหนูมาฉี่ไว้บนกระป๋อง แล้วปล่อยเชื้อไว้ ... ถ้าเกิดขึ้นจริง พอฉี่ของหนูมันแห้ง เชื้อก็ตายครับ ไม่ใช่ว่าจะติดจากการกินเข้าไปหรือปากสัมผัสกระป๋องต่ออีก
สามารถดูที่เค้าวิเคราะห์กันไว้แล้ว ว่าเป็นฟอร์เวิร์ดเมล์มั่ว ได้ที่ http://www.snopes.com/medical/toxins/raturine.asp
---------------------------------

เนื้อหาในข่าว จาก http://www.matichon.co.th/news/168501
เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ โฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนนี้มีความเป็นห่วงประชาชนป่วยเป็นโรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) ซึ่งปัจจุบันพบได้ทั้งในเขตเมืองและชนบท โดยในฤดูฝนประชาชนจะมีความเสี่ยงป่วยจากโรคนี้ง่าย เนื่องจากทั้งหนูบ้าน หนูนา หนูป่า หนูท่อ ที่เป็นตัวพาหะสำคัญของโรคนี้จะหนีน้ำเข้ามาอาศัยอยู่ตามอาคารบ้านเรือนรวมทั้งสำนักงานต่างๆ เชื้อโรคจะอยู่ในฉี่ของหนูที่ติดเชื้อได้เป็นเวลานานหลายเดือน และแพร่เชื้อโรคมาสู่คน เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายคนเราได้ 2 ทางคือ ทางปาก จากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อฉี่หนูเข้าไปและไชเข้าทางแผล เยื่อบุในปาก หรือตา หรือรอยถลอกของผิวหนัง รวมทั้งผิวหนังปกติที่แช่น้ำที่มีเชื้อโรคฉี่หนูปนเปื้อนเป็นเวลานานเชื้อก็สามารถไชผ่านเข้าไปได้ โดยไม่รู้สึกคันหรือเจ็บปวดแต่อย่างใด และไม่มีรอยแผลปรากฏให้เห็น
นพ.ภานุวัฒน์กล่าวว่า สำหรับโรคฉี่หนูนั้นยังมีกลุ่มที่น่าห่วงคือผู้นิยมดื่มเครื่องดื่มกระป๋องที่เปิดฝาแล้วเทน้ำใส่ปากโดยตรง จะมีความเสี่ยงได้รับเชื้อโรคฉี่หนู เนื่องจากลักษณะของการเก็บเครื่องดื่มโดยทั่วไปจะวางกระป๋องในแนวตั้ง ฝาเปิดจะอยู่ด้านบนอยู่แล้ว หากเก็บไม่มิดชิดอาจมีหนูไปฉี่รดบนฝากระป๋องไว้ ดังนั้น จึงขอแนะนำให้ล้างฝากระป๋องให้สะอาดก่อนเปิดทุกครั้ง


สธ.แจงข้อเท็จจริง “อ.เจษฎา” โพสต์โซเชียลฯติง “ฉี่หนู” เปื้อนเครื่องดื่มกระป๋องไม่จริง!
วันที่: 15 มิ.ย. 59 เวลา: 16:37 น.

หลังจากรศ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้ กรณีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกมาเป็นห่วงผู้ที่นิยมดื่มเครื่องดื่มกระป๋องที่เปิดฝาแล้วเทน้ำใส่ปากโดยตรง จะมีความเสี่ยงได้รับเชื้อโรคฉี่หนู เนื่องจากลักษณะของการเก็บเครื่องดื่มโดยทั่วไป จะวางกระป๋องในแนวตั้ง ฝาเปิดจะอยู่ด้านบนอยู่แล้วหากเก็บไม่มิดชิด อาจมีหนูไปฉี่รดบนฝากระป๋องไว้ โดยรศ.เจษฎา ระบุว่า ไม่เป็นความจริง เพราะโรคฉี่หนู เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่เจอในฉี่ของสัตว์หลายชนิด ไม่ใช่แค่หนู เชื้อจะพบมากในดินและน้ำโดยการติดเชื้อนั้นมาจากการเดินลุยน้ำท่วมหรือย่ำโคลนเลน แล้วเชื้อเข้าไปตามแผลที่เท้า ส่วนเรื่องหนูมาฉี่ไว้บนกระป๋อง แล้วปล่อยเชื้อไว้ … ถ้าเกิดขึ้นจริง พอฉี่ของหนูมันแห้ง เชื้อก็ตาย นั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ โฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.) กล่าวว่า ยังขอยืนยันในคำแนะนำ ซึ่งวัตถุประสงค์หลักต้องการให้ประชาชนลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อโรค ด้วยการมีพฤติกรรม การป้องกัน ซึ่งจะให้ผลดีต่อสุขภาพตนเองและครอบครัว

สพญ.เสาวพักตร์ ฮิ้นจ้อย หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบเฝ้าระวังระบาดวิทยาพิเศษ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า อายุของเชื้อโรคฉี่หนูขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อม โดยเชื้อชนิดนี้จะตายง่ายเมื่อถูกแสงแดด หากอยู่ในน้ำหรือในที่ร่มอาจจะมีชีวิตอยู่ได้นานเป็นเดือน และหากคนสัมผัสหรือกินน้ำหรืออาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคฉี่หนูที่ยังมีชีวิต ก็จะมีความเสี่ยงติดเชื้อได้ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีรายงานผู้ป่วยในไทยที่ติดเชื้อโรคฉี่หนูจากการปนเปื้อนฉี่ของหนูบนฝากระป๋องเครื่องดื่ม ดังนั้นประชาชนไม่ต้องตกใจหรือวิตกกังวล แต่เพื่อความสบายใจ หากจะดื่มเครื่องดื่มบรรจุกระป๋องพร้อมดื่ม ขอให้ล้างด้วยน้ำสะอาดก่อน

นายธนวรรธน์ อิ่มสมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขและพฤติกรรมสุขภาพ และคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ กล่าวว่า ธรรมชาติของหนูเป็นสัตว์ที่ออกหากินตลอดเวลา และมักจะออกมาหาอาหารกินตอนที่ปลอดคน ทั้งกลางวันและกลางคืน ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ว่าจะต้องออกมาเตือนเฉพาะบนฝากระป๋องเครื่องดื่มเท่านั้น ยังมีเรื่องของอาหารที่ค้างคืนและวางไว้ โดยไม่มีฝาปิดครอบ รวมทั้งจานชามที่สะอาดแต่วางไว้นอกตู้ก็ตาม ก็มีโอกาสสัมผัสเชื้อโรคเลปโตสไปโรซิส ซึ่งอยู่ในฉี่ของหนูได้เช่นกัน โดยเมื่อหนูฉี่ออกมา ฉี่ก็จะเปื้อนที่หางหนูเมื่อหนูเดินไปไหนก็จะลากหางไปเปื้อนหรือสัมผัสอาหารหรือภาชนะที่เดินผ่านด้วย ซึ่งการฉี่ของหนูนั้นไม่ได้เลือกเวลาและคนจะไม่มีโอกาสรู้ได้เลยว่าหนูฉี่ไว้เมื่อไร โดยเฉพาะตามร้านชำต่างๆ ที่เก็บวางสินค้ารอจำหน่ายจำนวนมาก หากระมัดระวังไม่ดีพอ ก็มีความเสี่ยงที่จะเปื้อนฉี่ของหนูได้เช่นกัน ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงเหล่านี้ ก่อนนำเครื่องดื่มบรรจุกระป๋องที่มีฝาเปิดพร้อมดื่มได้เก็บแช่ในตู้เย็น จึงขอให้ล้างด้วยน้ำสะอาดก่อน ส่วนอาหารที่ปรุงเสร็จแล้วจะต้องมีภาชนะปิดครอบให้มิดชิด

“ในทางสาธารณสุข เราไม่ได้เน้นให้ประชาชนรู้แค่พฤติกรรมการป้องกันโรคหรือรู้แค่วิธีการป้องกันโรคเท่านั้น แต่จะต้องให้ประชาชน มีพฤติกรรมในระดับที่เป็นเจตคติจนสร้างให้เป็นทักษะ คือรู้ เข้าใจและนำไปปฎิบัติทุกครั้ง จนเกิดเป็นสุขนิสัยการรักความสะอาด จึงจะมีผลในการป้องกันโรค ลดการเจ็บป่วยได้ทุกโรค”นายธนวรรธน์กล่าว

รศ.สมจิตต์ สุพรรณทัสน์ นายกสมาคมวิชาชีพสุขศึกษาอดีตคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในการบริโภคเครื่องดื่มกระป๋องก่อนเปิดฝาดื่ม ควรจะล้างให้สะอาดก่อนทุกครั้ง จะปลอดภัยที่สุด หากเป็นเครื่องดื่มที่บรรจุในกล่องกระดาษที่ไม่มีพลาสติกหุ้ม ก็มีโอกาสสัมผัสฝุ่นละออง เชื้อโรคต่างๆ ขณะที่หยิบจับหรือขนส่ง ดังนั้นจึงควรล้างเช็ดบริเวณที่ใช้ดื่มด้วยทุกครั้ง ขณะเดียวกัน หน่วยงานองค์กรต่างๆ ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีพฤติกรรมในการป้องกันโรคที่เกิดจากการบริโภคโดยเฉพาะโรคระบบทางเดินอาหารที่ปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนมาก
http://www.matichon.co.th/news/175210
แก้ไขข้อความเมื่อ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 25
ผมพูดในฐานะของแพทย์ที่ทำเวชปฏิบัติ และพูดในเรื่องของความน่าจะเป็นน่ะ
มีคำพูดสำหรับแพทย์ที่ต้องยึดถือเสมอว่า ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ทางการแพทย์
แม้ว่าโอกาสจะน้อยมากๆก็ตาม กรณีนี้ก็เช่นกัน
แม้ดูเหมือนว่าไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าเกิดกรณีที่ผู้ป่วยติดเชื้อจากการดื่มน้ำจากกระป๋อง
(ซึ่งอาจจะมี แต่ไม่ถูกเผยแพร่)
แต่ถ้าถามความเป็นไปได้ก็บอกว่าเป็นไปได้เพียงแต่น่าจะน้อยได้มากๆ โดยควรมีสิ่งต่อไปนี้
กระป๋องน้ำดื่มนั้นต้องมีหนูมาฉี่เอาไว้
ฉี่หนูนั้นต้องมีเชื้อฉี่หนูอยู่ด้วย(ถ้ามีแต่ฉี่ ไม่มีเชื้อก็ไม่เกิดโรค)
ฉี่ของหนูนั้นต้องฉี่ไม่นานเกินไปที่กระป๋อง ที่จะทำให้แห้ง จนเชื้อที่มีอยู่ตาย(เกินวันเชื้อน่าจะตายหมดไม่น่าจะเกินหกชั่วโมงด้วยซ้ำ)
ผู้ดื่มต้องดื่มบริเวณที่มีเชื้ออยู่ในจำนวนมากพอที่จะเกิดการติดเชื้อ
ผู้ดื่มต้องมีภาวะที่เหมาะสม โดยเฉพาะภูมิต้านทานที่ไม่ดีเพียงพอที่จะป้องกันการเกิดโรค
จะเห็นได้ว่าการที่จะมีข้อต่างๆเหล่านี้ทั้งหมดเป็นเรื่องยากมากๆ แต่ไม่ใช่ไม่มีโอกาสครับ
แต่จุดที่สำคัญที่ทางสาธารณสุขที่ออกมาประกาศเรื่องดังกล่าว คงอยากให้มีการเน้นในเรื่องอนามัย
การดูแลรักษาความสะอาด เพื่อป้องกันการเกิดโรคที่เกิดจากสุขอนามัยที่ไม่ดี
ซึ่งไม่ใช่มีแต่โรคฉี่หนูน่ะครับ ยังมีอีกหลายๆโรคครับที่อาจเกิดได้ จากการที่มีอยามัยที่ไม่ดี
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่