เตือน! 4 กลุ่มโรคจาก ‘อากาศหนาว’ และ ไทยป่วยโควิดทั้งปีนอนโรงพยาบาล 4.9 หมื่นราย แนะฉีดวัคซีนปีละครั้ง

กระทรวงสาธารณสุขเตือนประชาชนระวัง 4 กลุ่มโรคและภัยสุขภาพจาก ‘อากาศหนาว’ รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตฉับพลัน ยันยังไม่มีพื้นที่ประกาศ ‘ภัยหนาว’

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยมีอากาศหนาวเย็นลง ทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงได้รับ 'ผลกระทบทางสุขภาพจากภัยหนาว' ซึ่งหมายถึง ภัยจากสภาพอากาศที่หนาวจัด อุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส และลดลงอย่างต่อเนื่องจนประชาชนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและกว้างขวาง โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังตามข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แก่ ทุกจังหวัดของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง รวมถึงปราจีนบุรี และสระแก้ว
 
 
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีพื้นที่ใดประกาศเป็นเขตประสบภัยหนาว แต่ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ดังกล่าวเฝ้าระวังติดตามผลกระทบต่อสุขภาพ พร้อมทั้งแจ้งเตือนและสื่อสารถึงประชาชนในการดูแลป้องกันสุขภาพแล้ว โดยเฉพาะโรคและภัยสุขภาพที่เกิดจากภัยหนาว 4 กลุ่ม ดังนี้
 
1.โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ ติดต่อจากการไอจามรดกัน หรือสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อร่วมกัน
ลักษณะอาการ : มีอาการไข้ ไอแห้งๆ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ เจ็บคอ และโรคปอดอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อราบางชนิดที่ถุงลมปอด จากการหายใจหรือสัมผัสละอองฝอยน้ำมูกน้ำลายที่ปนเปื้อนเชื้อ จะมีอาการไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย ซึ่งมักเป็นเฉียบพลัน
พบได้ทุกกลุ่มอายุ แต่อาการจะรุนแรงในผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่องและมีโรคประจำตัว
 
2.โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรค
ลักษณะอาการ : อาการถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งขึ้นไปใน 1 วัน อาจมีไข้หรืออาเจียนร่วมด้วย
 
3.โรคติดต่อที่สำคัญในช่วงฤดูหนาว ได้แก่ โรคหัด และโรคมือ เท้า ปาก โดยโรคหัดเกิดจากการหายใจเอาละอองอากาศที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสจากการไอ จามของผู้ป่วย หรือพูดคุยกันในระยะใกล้
ลักษณะอาการ : อาการจะคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา แต่จะมีไข้สูง ตาแดงและแฉะ มีผื่นนูนแดงขึ้นติดกันเป็นปื้นๆ
ปัจจุบันไม่มียารักษาจำเพาะ แต่มีวัคซีนป้องกันโดยฉีดเข็มแรกที่อายุ 9-12 เดือน และฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 2 ขวบครึ่ง 
 
4.ภัยสุขภาพหรือการเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากอากาศหนาวโดยไม่ทราบสาเหตุ ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เนื่องจากไม่มีเครื่องนุ่งห่มหรือเครื่องห่มกันหนาวที่เพียงพอ และมีประวัติการดื่มสุราเป็นประจำ
 
"ในช่วงอากาศหนาว ประชาชนสามารถป้องกันตนเองได้ ด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ปรุงสุก ดื่มน้ำสะอาด และดูแลอนามัยส่วนบุคคล หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น

หากมีอาการไอจาม มีน้ำมูก ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ และควรสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่ในสถานที่แออัดหรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก ซึ่งจะช่วยป้องกันได้ทั้งโรคติดต่อทางเดินหายใจและโรคโควิด 19

รวมทั้งดูแลความอบอุ่นของร่างกาย เตรียมเครื่องนุ่งห่มกันหนาวให้เพียงพอกับสภาพอากาศ และงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์" นพ.วีรวุฒิกล่าว

Cr. https://www.posttoday.com/smart-life/718171



ไทยป่วยโควิดทั้งปีนอนโรงพยาบาล 4.9 หมื่นราย แนะฉีดวัคซีนปีละครั้ง

“โฆษกกรมควบคุมโรค” ระบุสัปดาห์แรกปี 68 “โควิด 19 -ไข้หวัดใหญ่” ยังสูง กลุ่มเสี่ยงต้องระวัง เผยปี 67 ไทยป่วย “โควิดฯ” ทั้งปีนอนรพ. 4.9 หมื่นราย เสียชีวิต 221 ราย ขณะที่ “ไข้หวัดใหญ่” ป่วยกว่า 6.6 แสนราย เสียชีวิต 51 ราย ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ A แนะกลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนป้องกันอาการรุนแรง ขออย่าห่วงดรามาผลข้างเคียง มีการติดตามผลต่อเนื่อง ยังไม่พบผิดปกติ ย้ำล้างมือด้วยน้ำสะอาด สวมหน้ากากอนามัย เลี่ยงพื้นที่คนเยอะ

เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2568 นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นพ.ทรงคุณวุฒิ ในฐานะโฆษกกรมควบคุมโรค เปิดเผยสถานการณ์โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจในประเทศไทย ว่า สถานการณ์โดยรวมย้อนหลัง 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 -28 ธ.ค. 2567 เกี่ยวกับ“โรคโควิด 19” ซึ่งจะดูที่สถานการณ์ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในรพ. ข้อมูลตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567 -28 ธ.ค. 2567 จำนวน 49,055 ราย เสียชีวิต 221 ราย อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 0.00 5% ของผู้ป่วยที่นอนรพ.ขณะที่สัปดาห์แรกของปี 2568 ตั้งแต่วันที่ 1-4 ม.ค. 2568 มีผู้ป่วยเข้ารักษาในรพ. ประมาณ 1,400 ราย เพราะอาการรุนแรง มีปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบต้องให้ยาต้านไวรัสชนิดฉีด หรือกลุ่มที่ต้องให้ยาลดการอักเสบกลุ่มสเตียรอยด์เพิ่มขึ้น ออกซิเจนในเลือดต่ำ ซึ่งกลุ่มที่อาการรุนแรงถึงขั้นต้องนอนรพ.จะเป็นกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ มีโรคร่วม กลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนมานานแล้ว

จากตัวเลขดังกล่าว ถือว่าค่อนข้างสูง เพราะเป็นช่วงที่คนเดินทางและรวมตัวช่วงเทศกาลปีใหม่ ทั้งนี้สายพันธุ์ที่พบในปัจจุบันยังเป็น JN1 (26 ต.ค. 2567-22 ธ.ค. 2567 เป็นสายพันธุ์ JN1 อยู่ที่ 64% ) ส่วนคนอายุน้อย แข็งแรง คนที่ไม่มีโรคประจำตัวนั้นส่วนใหญ่ติดเชื้อแล้วก็หายได้เอง โดยที่เราไม่ต้องให้ยา เพราะอย่างที่ทราบว่าปัจจุบันอัตราความรุนแรงของโรคลดลง แต่คนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงยังมีโอกาสติดเชื้อและอาการรุนแรงได้

ในส่วนของ “โรคไข้หวัดใหญ่” มีผู้ป่วย 663,173 ราย อัตราป่วยคิดเป็น 1,027 คน ต่อประชากร 100,000 คน ส่วนใหญ่แล้วเป็นการป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ส่วนผู้เสียชีวิตทั้งปีมีจำนวน 51 ราย ในจำนวนนี้มี 45 รายเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่

สายพันธุ์ A ส่วนสถานการณ์ 1 สัปดาห์ ต้นปี 2568 ถือว่าสถานการณ์คงที่ แต่ถ้าเทียบกับสถานการณ์ย้อนหลัง 5 ปี ก็ถือว่าตอนนี้ยังสูงกว่าเล็กน้อย และตอนนี้ยังเป็นการติดเชื้อสายพันธุ์ A เป็นหลักอยู่ โดยเฉพาะที่สังเกตเห็นคือคนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศจะมีการป่วยไข้หวัดใหญ่เยอะ

นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับมาตรการควบคุมป้องกันโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ ทั้ง 2 โรค ส่วนแรกคือการดูแลตัวเอง คือล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่อย่างน้อย 15-20 วินาที หรือใช้เจล หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ ถ้าต้องเข้าไปในที่ที่มีคนเยอะก็ขอให้สวมหน้ากากอนามัย หากมีอาการป่วยควรหยุดงาน เลี่ยงออกไปในที่ชุมชน หากจำเป็นต้องออกไปข้างนอกขอให้สวมหน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่างกับผู้อื่น หรือกรณีกลับจากต่างประเทศแนะนำให้สังเกตอาการราว ๆ 1 สัปดาห์ หากมีอาการสงสัย เช่น มีไข้ ไอ แน่นหน้าอกก็ให้รีบไปพบแพทย์ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง คนสูงอายุ คนมีโรคประจำตัว คนไข้ที่มีภูมิคุ้มกันโรคต่ำ เช่น คนไข้มะเร็ง คนที่รับเคมีบำบัด ยากดภูมิ กลุ่มโรคข้อ ผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตนเอง เป็นต้น ต้องรีบมาพบแพทย์ให้เร็ว เพราะมีความเสี่ยงที่จะป่วยหนัก หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ

ส่วนที่ 2 คือการฉีดวัคซีน ป้องกันโรคเพื่อช่วยในเรื่องของการลดอัตราการป่วยหนักได้ ทั้งวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะรณรงค์ให้ฉีดตั้งแต่ช่วงฤดูฝนราว ๆ 5 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กันยายน ส่วนหญิงตั้งครรภ์จะรณรงค์ให้ฉีดได้ทั้งปี ขณะที่แนวทางการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 จะเป็นไปตามคำแนะนำของคณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันของประเทศ แนะทำฉีดวัคซีนปีละ 1 ครั้ง ในกลุ่มเสี่ยง อาทิ ผู้สูงอายุ คนป่วยโรคเรื้อรัง บุคลากรการแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขด่านหน้าที่ต้องปฏิบัติงานสัมผัสคนไข้

เมื่อถามถึงกรณีมีคำวิพากษ์วิจารณ์ วัคซีนชนิด mRNA กระทบกับแผนการฉีดวัคซีนหรือไม่ หรือมีแนวทางอย่างไร

นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก รวมถึงคณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันฯ ของไทย และสมาคมวิชาชีพต่าง ๆ อาทิ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ยังคงแนะนำให้ฉีดปีละ 1 เข็ม โดยเรามีการติดตามผลกระทบจากการฉีดวัคซีนอยู่แล้ว ซึ่งจริง ๆ เราไม่ได้ติดตามผลข้างเคียงเฉพาะวัคซีน mRNA เท่านั้น แต่ติดตามผลกระทบ และภาวะแทรกซ้อนจากการฉีดวัคซีนทุกชนิด ซึ่งจะมีการรายงานเข้ามาที่กรมควบคุมโรค และมีคณะผู้เชี่ยวชาญจากทั้งในกระทรวงสาธารณสุข และโรงเรียนแพทย์ต่าง เข้ามาช่วยกันประเมินภาวะแทรกซ้อน วิเคราะห์ข้อมูลว่ามีความสัมพันธ์กับวัคซีนหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันยังไม่พบความสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยรุนแรง รวมถึงสิ่งที่เราทราบกันดีว่า mRNA มีโอกาสทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ แต่เป็นความเสี่ยงที่น้อยมากเมื่อเทียบกับประสิทธิภาพในการป้องกันอาการรุนแรง จึงมีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีน

“อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง จริง ๆ วัคซีนทุกตัวแม้กระทั่งวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ก็มีผลข้างเคียงได้ เช่น เส้นประสาทอักเสบ ไม่เฉพาะวัคซีน mRNA เท่านั้น แต่รวมถึงตัวเก่าที่มีการยกเลิกไปอย่างไวรัลเวคเตอร์ที่ทำให้เส้นเลือดอุดตันได้ ซึ่งตัว mRNA ก็ยังมีการติดตามอยู่ทั้งผลกระทบระยะสั้นและระยะยาว ก็ดูว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคำแนะนำไหม แต่ปัจจุบันนี้องค์การอนามัยโลกเองก็ยังแนะนำอยู่ในกลุ่มเสี่ยง และบุคลากรด่านหน้าที่ดูแลคนไข้ เพราะยังช่วยลดอัตราการป่วยหนักและลดอัตราการเสียชีวิตได้อยู่”

ต่อข้อถามว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีการใช้วัคซีนป้องกันโควิด 19 อย่างไรบ้าง และแผนทางด้านวัคซีนของไทยเป็นอย่างไร

นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า ตัวหลัก ๆ คือ mRNA มีอย่างเดียว แต่ในต่างประเทศจะมีหลายยี่ห้อ ทั้งนี้ ย้ำว่าการจัดหาวัคซีนในประเทศไทยตอนนี้ต้องบอกว่ายังเป็นวัคซีนทางเลือกอยู่ ดังนั้นคนที่ต้องการฉีดจึงอาจจะต้องจ่ายเงินเองจากผู้นำเข้ามาจากต่างประเทศ

เมื่อถามย้ำว่า ในส่วนของการฉีดตามแผนส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคตามสิทธิการรักษาภาครัฐ เช่น กรณีกลุ่มเสี่ยง ยังคงมีการฉีดหรือไม่ นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงการพิจารณาเพิ่มเติม จึงยังไม่มีการฉีดฟรีเหมือนช่วงที่แล้ว ในโปรแกรมของประเทศที่ฉีดโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
เมื่อถามถึงความคุ้มค่าจากการป้องกันโรคด้วยวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กับการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า อันนี้ค่อนข้างชัดเจนถึงความคุ้มค่าในการฉีดในกลุ่มเสี่ยง ถึงแนะนำให้ฉีดในกลุ่มเสี่ยง เพราะหากเกิดการติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยง ป่วยจะลงปอด อาการรุนแรง ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ แน่นอนว่าหากมีอัตราการนอนรพ.มากขึ้น ต้องเข้าห้องไอซียู ค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วย ค่ายารักษาที่จะตามมาถือว่าสูงมาก รวมถึงค่าเสียเวลาต่าง ๆ ของคนไข้ ของญาติที่เราไม่ได้นำมาคิด ตลอดจนค่าเดินทางต่าง ๆ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งนั้นเมื่อเทียบกับวัคซีนคิดว่าคุ้มค่ามากกว่าให้มการติดเชื้ออาการรุนแรง เกิดโรคแทรกซ้อนแล้วมารักษาทีหลัง

เมื่อถามถึงไวรัส HMPV ที่ระบาดหนักในจีนและอินเดีย นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า ไวรัส HMPV เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดการติดต่อทางการไอ จาม สัมผัสละอองฝอย เหมือนไข้หวัด คนไข้จะมาด้วยอาการไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หลอดลมอักเสบ ผู้สูงอายุอาจจะมีหลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบได้ แต่ส่วนใหญ่อาการคล้ายไปทางไข้หวัดมากกว่า ความรุนแรงไม่ได้เพิ่มขึ้นจากสมัยก่อน ซึ่งเป็นไวรัสที่พบมานานเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว ไม่ใช่ไวรัสใหม่ ที่ผ่านมาก็ตรวจเจอ อาจจะมีการาระบาดเป็นช่วง ๆ พบได้ฤดูฝนและหนาว ตอนนี้ยังไม่มีวัคซีนจำหน่าย อยู่ในช่วงที่เขากำลังมีการวิจัย

“ใกล้ตรุษจีน คนเดินทางมาเยอะ จริง ๆ ตั้งแต่ช่วงนี้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในไทยเยอะมาก จึงต้องระวังกรณีมีการเข้าไปพื้นที่ที่มีคนเยอะ ยิ่งเป็นคนกลุ่มเสี่ยงควรหลีกเลี่ยง หรือสวมหน้ากากอนามัย หากกลับจากต่างประเทศ ควรเฝ้าระวังอาการตัวเอง 7 วัน หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์” นพ.วีรวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย... 

สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/articles/4289393/
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่