สภาพอากาศเหวี่ยงสุดขั้ว มีแนวโน้มมากขึ้น เร็วขึ้น รุนแรงขึ้น ?

มารู้จัก “Climate Whiplash” สภาพอากาศเหวี่ยงสุดขั้ว  มีแนวโน้มมากขึ้น เร็วขึ้น รุนแรงขึ้น ?


รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และรองประธานฯ ที่มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ สภาพอากาศเหวี่ยงสุดขั้ว โดยระบุว่า

สภาพอากาศเหวี่ยงสุดขั้ว มีแนวโน้มมากขึ้น เร็วขึ้น รุนแรงขึ้น ?

- สภาพอากาศเหวี่ยงสุดขั้ว หรือ Climate whiplash เป็นเหตุการณ์ที่สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงจากร้อน แล้ง ไปสู่การมีฝนตกหนัก น้ำท่วมรุนแรง หรือเปลี่ยนแปลงในทางกลับกันจากเหตุการณ์ฝนตกหนัก น้ำท่วมรุนแรง ไปสู่ความแห้งแล้ง ในระยะเวลาจำกัด ซึ่งยากต่อการคาดการณ์ ดังนั้นเราจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมทุกปี ไม่ว่าจะเกิด หรือไม่เกิดสภาพอากาศแปรปรวนแบบ El Nino หรือ La Nina ทั้งนี้เนื่องจากอุณหภูมิโลกที่ยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง (ปี 2566 สูงที่สุดตั้งแต่มีการจดบันทึก) ทำให้อัตราการระเหยมากขึ้น ความชื้นสูงขึ้นในชั้นบรรยากาศ 
(โดยทฤษฎี ทุกๆ 1 oC ที่อุณหภูมิสูงขึ้น จะมีน้ำระเหยสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น 7%) เมื่อโลกเสียสมดุลวัฏจักรน้ำ ย่อมเกิดเหตุการณ์วิกฤตตามมา ?

- สภาพอากาศเหวี่ยงสุดขั้วกำลังเกิดขึ้นทั่วโลก (น้ำท่วมสเปน บริเวณภูมิภาคตะวันออกกลางหลายประเทศที่เป็นทะเลทราย และล่าสุดไฟป่าในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย รวมทั้งความหนาวเย็นทั่วโลก)  รวมทั้งประเทศไทยต้นปี 2566 เผชิญกับความร้อน แล้งส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมอย่างรุนแรง (GDP ภาคเกษตรกรรมติดลบ 6.4%) ต่อมาตั้งแต่ช่วงกลางปีจนถึงปลายปีกลับเกิดฝนตกหนักในรอบกว่า 100-1,000 ปี ในหลายพื้นที่ตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งรุนแรง สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 50,000 ล้านบาท โดยมีผู้เสียชีวิตกว่า 90 คน ?

- มีการประเมินสภาพอากาศเหวี่ยงสุดขั้วในอนาคตว่าจะเกิดบ่อยครั้งขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 170 % มีช่วงเวลาที่สั้นลง และมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะไทยเป็นหนึ่งในประเทศจะได้รับผลกระทบที่รุนแรง (เฉดสีแดงเข้ม) ดังนั้นการเตรียมความพร้อมทุกภาคส่วนจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก 

1) การประเมินความเสี่ยง และความรุนแรงจากสภาพอากาศเหวี่ยงสุดขั้วรายละเอียดเชิงพื้นที่ 
2) การสร้างความเข้าใจ และความตระหนักต่อความเสี่ยง และระดับความรุนแรงเชิงพื้นที่ 
3) การพัฒนาแผนงาน ฯ โครงการฯป้องกันลดผลกระทบ และการปรับตัว 
4) การออกแบบ และประเมินราคาแผนงาน และโครงการฯ 
5) การจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน และบรรจุแผนงานฯเพื่อขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล และหน่วยงานต่างๆ 
6) การติดตาม ประเมินสถานการณ์เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการจัดการ

โดยที่ทีมกู้วิกฤตน้ำ มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โดยความร่วมมือภาคเอกชนหลายแห่ง กำลังดำเนินตามภารกิจเร่งด่วนในหลายพื้นที่ ชุมชน เทศบาล หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดต้องการติดต่อ โปรดประสานได้ที่ คุณนพดล มากทอง โทร 099-0288333

ที่มา Facebook รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์
อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ https://www.tnnthailand.com/news/earth/186242/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่