เราแยกได้ไง ว่าภัยไหนเกิดจากโลกร้อน/โลกรวน หรือเกิดจากภัยธรรมชาติปกติ??



ข่าวจาก Standard

ย้อนดูสถิติ 2 ทศวรรษ ประเทศใดเสี่ยงได้รับผลกระทบสูงสุดจากโลกรวน
.
ตลอดช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเชื่อว่าหลายคนคงจะสังเกตเห็นว่ามีเหตุภัยพิบัติต่างๆ เกิดถี่ขึ้นเรื่อยๆ รอบโลก อีกทั้งยังมีระดับความรุนแรงจนน่าหวาดหวั่น บางประเทศเจอกับภัยแล้งหนักจนแม่น้ำหลายสายแห้งขอด อีกทั้งยังมีปัญหาคลื่นความร้อนที่ทำให้เกิดไฟป่าลุกลามเร็วจนคร่าชีวิตทั้งผู้คนและสัตว์ป่าน้อยใหญ่ ขณะที่อีกหลายประเทศกลับเจอฝนตกหนักผิดปกติจนทำให้หลายพื้นที่จมอยู่ใต้บาดาล ซึ่งทั้งหมดนั้นล้วนเป็นภัยพิบัติที่เป็นผลพวงจาก ‘ภาวะโลกรวน’ ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather Events)
.
หากประเทศไหนร่ำรวยก็ยังพอโชคดีที่สามารถฟื้นตัวจากวิกฤตได้เร็ว อีกทั้งยังมีงบประมาณเหลือพอจะวางแผนรับมือ หรือปรับโครงสร้างพื้นฐานที่ทนทานต่อภัยธรรมชาติในอนาคต ทว่าธรรมชาติไม่เคยเลือกปฏิบัติ ฉะนั้นเคราะห์กรรมจึงตกอยู่ที่ประเทศกลุ่มกำลังพัฒนาและประเทศยากจน ซึ่งพอเจอวิกฤตการณ์แล้วก็ยากที่จะเยียวยาทั้งประชาชนและเศรษฐกิจ
.
ด้วยเหตุนี้ THE STANDARD จึงขอหยิบยกรายงาน ‘ดัชนีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศโลก’ (Global Climate Risk Index) จาก Germanwatch ที่จัดทำขึ้นเมื่อปี 2021 มากางกันให้ดูว่า 10 อันดับแรกของประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุดจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วซึ่งเป็นผลพวงจากภาวะโลกรวนมีประเทศใดบ้าง โดยประเมินจากเกณฑ์ 5 ด้านด้วยกัน ได้แก่ จำนวนผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติ, จำนวนผู้เสียชีวิตต่อประชากร 1 แสนคน, มูลค่าความเสียหาย, มูลค่าความเสียหายคิดเป็น % ต่อ GDP และจำนวนครั้งที่เกิดภัยพิบัติตลอดปี 2000-2019 โดยในช่วงปีดังกล่าว ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเพราะโลกรวนมากถึง 475,000 คน จากเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นกว่า 11,000 ครั้ง มูลค่าความเสียหายรวมอยู่ที่ 2.56 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (อิงจากราคาเสมอภาคตามอำนาจซื้อ หรือ PPP)
.
เมื่อคำนวณออกมาแล้วนั้น 10 อันดับแรกล้วนเป็นประเทศกำลังพัฒนา โดยมีเปอร์โตรีโก เมียนมา และเฮติ เป็น 3 ประเทศหัวตารางที่ได้รับผลกระทบจากเหตุสภาพอากาศสุดขั้วหนักที่สุดในช่วง 20 ปี ขณะที่ปากีสถาน ซึ่งขณะนี้พื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศกำลังจมอยู่ใต้น้ำ อยู่ที่อันดับ 8 และไทยเราก็ติดอันดับท็อป 10 กับเขาด้วย โดยอยู่ที่อันดับ 9 จากทั้งหมดราว 180 ประเทศ
.
บางคนอาจจะตกใจว่าประเทศไทยเราอยู่อันดับที่ 9 ของตารางได้อย่างไร เพราะนี่คือระดับที่ถัดมาจากปากีสถานแค่อันดับเดียว ทั้งที่ประเทศของเราก็ไม่ได้เห็นมีภัยพิบัติรุนแรงอย่างต่างแดนที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเยอะ หรือโครงสร้างพื้นฐานพังทลายในพริบตา เพื่อตอบข้อสงสัยนี้ THE STANDARD จึงได้ต่อสายตรงถึง ดร.วนัน เพิ่มพิบูลย์ จาก Climate Watch Thailand ซึ่งอธิบายให้เราฟังว่าตัวเลขที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนถึงอะไร
.
“ตัวเลขที่อันดับ 9 นั้นตีความได้อย่างง่ายๆ ว่า ไทยสุ่มเสี่ยงมากถึงมากที่สุดค่ะ” ดร.วนันกล่าว พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า จริงๆ แล้วประเทศไทยกำลังเผชิญกับ Slow Onset Events หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ซึ่งสะสมมาเรื่อยๆ จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่บรรยากาศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จนถึงจุดหนึ่งก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ และรูปแบบการตกของฝน โดย ดร.วนัน กล่าวว่า กลุ่มคนที่น่าห่วงว่าจะได้รับผลกระทบหนักสุดคือผู้ที่อยู่ในภาคการเกษตร เพราะกิจกรรมการเกษตรที่ต้องพึ่งพาลมฟ้าอากาศนั้นกลับไม่สามารถคาดการณ์ได้เลย ขณะที่ภัยพิบัติอย่างน้ำท่วม หรือฝนแล้ง ก็ทำพื้นที่การเกษตรเสียหายด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ซึ่งไม่มีเงินทุนมากพอที่จะแก้ไขปัญหา หรือเตรียมการรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต
.
“การปรับตัวต่อสภาพอากาศต้องใช้เงิน” นั่นคือสิ่งที่ ดร.วนันยืนยันกับเรา ฉะนั้นหนึ่งในแนวทางรับมือกับภัยพิบัติจากภาวะโลกรวนที่ ดร.วนันเสนอ คือการเรียกร้องเงินจากประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เพื่อให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีเงินทุนสำหรับวางแผนรับมือกับภัยพิบัติในอนาคต รวมถึงนำเงินที่ได้มาใช้ชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุสภาพอากาศแปรปรวน ซึ่งสร้างผลกระทบต่อทั้งภาคเศรษฐกิจและสังคม
.
นอกจากนี้ การสร้างความเข้าใจในสังคมเกี่ยวกับเรื่องโลกร้อน-โลกรวน ก็ถือเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเราไม่สามารถนำชุดความเชื่อในอดีตมาใช้คาดการณ์อนาคตได้อย่างเดียวอีกต่อไป เนื่องจากในปัจจุบันเราต้องคำนวณสมการความเสี่ยงใหม่ โดยนำเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากชาติต่างๆ เข้ามาประเมินด้วย เพื่อให้การคาดการณ์สภาพอากาศสุดขั้วในอนาคตครอบคลุมมากกว่าเดิม ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถออกแบบแนวทางรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ





"บางประเทศเจอกับภัยแล้งหนักจนแม่น้ำหลายสายแห้งขอด อีกทั้งยังมีปัญหาคลื่นความร้อนที่ทำให้เกิดไฟป่าลุกลามเร็วจนคร่าชีวิตทั้งผู้คนและสัตว์ป่าน้อยใหญ่ ขณะที่อีกหลายประเทศกลับเจอฝนตกหนักผิดปกติจนทำให้หลายพื้นที่จมอยู่ใต้บาดาล ซึ่งทั้งหมดนั้นล้วนเป็นภัยพิบัติที่เป็นผลพวงจาก ‘ภาวะโลกรวน’ ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather Events)"

จากข้อมความนี้ ผมสงสัยว่าในอดีตโลกของเราไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหรือครับ อย่างแล้งจัด น้ำท่วมหนัก ไฟป่าไรงี้อะ 
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่