(หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) วิถีจิตสู่การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ลักษณะจิตพระอรหันต์

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
ลักษณะจิตพระอรหันต์
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ


แสดงธรรมที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย

วิถีจิตสู่การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

แสดงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๘
ณ สถานที่แห่งนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ภายหลังจากที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยามาทุกแบบทุกรูป และได้ไปศึกษาในสำนักอาจารย์ต่าง ๆ สำนักอาจารย์ใด ฤาษีตนใดที่มีชื่อเสียงโด่งดังและเก่งที่สุดในสมัยนั้น พระองค์ทรงไปศึกษาหมดทุกแห่ง จนจบหลักสูตรของคณาจารย์นั้น ๆ สมัยนั้นนิยมการบำเพ็ญสมาธิเพื่อให้ได้ฌาน ได้อภิญญา คือบำเพ็ญสมาธิแบบฌานสมาบัติมุ่งให้จิตสงบนิ่ง รู้ ตื่น เบิกบาน อยู่ภายในจิตเพียงอย่างเดียว แล้วจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติก็เพื่อสร้างชื่อเสียง เป็นอันว่าคณาจารย์หรือนัก ปฎิบัติในสมัยนั้นยังถูกโลกธรรมหรือเอาโลกธรรมเทิดไว้บนศีรษะเพราะยังติดอยู่ในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข การปฏิบัติก็มุ่งที่จะสร้างบารมีให้มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย เป็นที่นิยมนับถือของปวงชนในยุคสมัยนั้น จึงอยู่ในลักษณะการปฏิบัติเพื่อแสวงหาลาภ ผล แสวงหาบริวาร ไม่ได้มุ่งเพื่อความหลุดพ้นโดยตรง
แต่จะด้วยประการใดก็ตาม การปฏิบัติของท่านเหล่านั้นก็เป็นการสร้างบารมี เพราะความเข้าใจของคนในยุคนั้นความสำเร็จที่เขาพึงประสงค์อยู่ตรงที่ว่า ในเมื่อปฏิบัติเคร่งครัด บำเพ็ญตบะแก่กล้า พระพรหม พระศิวะ พระนารายณ์ หรือพระเจ้าที่เขานับถือจะประทานพรให้เขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งสุดแท้แต่เขาจะตั้งปณิธานความปรารถนาไว้อย่างไร ก็เป็นอันว่าการปฏิบัติก็เพื่อมุ่งลาภ ผล ชื่อเสียง ให้เป็นที่ประทับใจของคนในยุคนั้นสมัยนั้น การปฏิบัติของท่านเหล่านั้นจึงได้ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อสร้างกิเลส เขาเอาโลกธรรมเทิดไว้บนศีรษะ
แต่เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราได้ทรงศึกษาในสำนักของคณาจารย์นั้น ๆ เข้าไปศึกษาในสำนักอาจารย์ใด อาจารย์นั้นก็หมดภูมิ คือหมดภูมิที่จะสอนพระองค์อีกต่อไป เช่นอย่างไปศึกษาในสำนักของอาฬารดาบส อุทกดาบส ก็สอนพระองค์ได้เพียงฌาน ๔ คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เท่านั้น เมื่อถึงฌานขั้นนี้แล้ว อาจารย์ทั้งสองก็บอกว่าหมดภูมิแล้ว ไม่มีอะไรจะสอนท่านอีกต่อไป ขอให้ท่านอยู่ในสำนักเพื่อช่วยสั่งสอนประชาชนอบรมศิษยานุศิษย์ต่อไปเถิด
เมื่อพระองค์ได้พิจารณาดูโดยรอบคอบแล้ว คือพระองค์สังเกตอย่างนี้ ในขณะที่จิตของพระองค์อยู่ในสมาธิ ฌานขั้นที่ ๔ ร่างกายตัวตนหายไปหมด มีแต่จิตดวงเดียว นิ่ง สว่าง ลอยเด่นอยู่ในท่ามกลางแห่งความว่าง มีจิตอาศัยความสว่างเป็นอารมณ์ ความรู้สึกยินดีไม่มี ความรู้สึกยินร้ายไม่มี คณาจารย์เหล่านั้นจึงถือว่าเขาหมดกิเลสแล้ว แต่เมื่อพระพุทธองค์ได้ไปศึกษาจนจบหลักสูตรของอาจารย์ดังกล่าว ในขณะที่จิตอยู่ในสมาธิ มองหากิเลสตัวใดไม่มี เป็นจิตบริสุทธิ์สะอาดแท้จริง แต่ยังไม่เป็นอมตะ เพราะเมื่ออกจากสมาธิแล้ว เมื่อตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ได้สัมผัสกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ความยินดียินร้ายมันยังมีปรากฏอยู่ในจิต พระองค์จึงพิจารณาอย่างรอบคอบว่ามันยังไม่ถึงที่สุด ถ้าหากว่าเราหมดกิเลสอย่างแท้จริง อยู่ในสมาธิเป็นอย่างไร กิเลสไม่มี เมื่ออกจากสมาธิแล้ว กิเลสก็ต้องหมดไป สิ่งที่ส่อแสดงให้พระองค์รู้ว่าพระองค์ยังมีกิเลสอยู่ก็คือ พระองค์ยังมีความยินดียินร้ายพอใจ ไม่พอใจ แล้วก็ยังยึดมั่นอยู่ในสังขารร่างกายว่าเป็นเรา เป็นเขา เป็นของเรา ของเขา ดังนั้นพระองค์จึงตัดสินพระทัยอย่างแน่วแน่ว่ายังทรงไม่สำเร็จ
ภายหลังจากที่พระองค์ทรงรับหญ้าคา ๘ กำ ของโสตถิยพราหมณ์ กุสะ แปลว่า หญ้าคา คา แปลว่าข้อง ติด มาตอนนี้พระองค์ทรงเอาหญ้าคา ๘ กำ มาขดเป็นบรรลังก์ประทับนั่ง มุ่งหน้าประพฤติปฏิบัติโดยไม่มุ่งผลประโยชน์อันใดในด้านวัตถุธรรม มุ่งแต่เพียงจะดำเนินไปสู่การตรัสรู้ คือความหมดกิเลส สู่ความเป็นพระอรหันต์เท่านั้น จึงได้ชื่อว่าเอาโลกธรรม ๘ มารองนั่ง แทนที่จะเอาเทิดไว้บนศีรษะดังก่อน คราวนี้เอาโลกธรรมมารองนั่ง
พระองค์ประทับนั่งอย่างไร เราเคยเห็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิอย่างไร พระองค์ก็ประทับนั่งอย่างนั้น อันนี้ไม่ต้องอธิบาย ทีนี้เมื่อพระองค์ประทับนั่งขัดสมาธิเป็นที่เรียบร้อย พระองค์ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น คือกำหนดรู้ที่จิตของพระองค์เพียงถ่ายเดียว ไม่ได้สนใจกับสิ่งใด ๆ แต่ในช่วงขณะจิตนั้นเอง พอพระองค์มาวิตกว่าเราจะเริ่มกันที่จุดไหน อตีตารมณ์คืออารมณ์ในอดีตได้ผุดขึ้นมาในพระทัยของพระองค์ ทำให้พระองค์ทรงรำลึกถึงเมื่อสมัยยังเป็นพระกุมาร พระบิดาทำพิธีแรกนาขวัญ พระพี่เลี้ยงนางนมผูกพระอู่ให้บรรทมอยู่ใต้ต้นหว้า ในช่วงที่พี่เลี้ยงนางนมหรือคนทั้งหลายเขาเพลิดเพลินในการดูมหรสพ ดูพิธีแรกนาขวัญ พระองค์ถูกปล่อยให้บรรทมในพระอู่ใต้ต้นหว้าแต่เดียวดาย (มีต่อครับผม)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่