ทำใจหยุดเป็นก็จะเห็นธรรมกาย

กระทู้สนทนา
ความเข้าใจ คำว่า “หยุด” ๓ ระดับ เป็นอย่างไร

   ระดับที่ ๑  พระองคุลีมาล  ตอนเป็นโจรองคุลีมาล  เข้าใจคำว่า “หยุด”  ว่า  หมายถึง   อาการที่ไม่เคลื่อนไหว  เนื่องจากพระพุทธเจ้าทรงพระดำเนินอยู่  แต่พระองค์ตรัสว่า  “เราหยุดแล้ว”  เพื่อให้องคุลีมาลได้คิด  แต่ตอนนั้นองคุลีมาลเข้าใจความหมายของคำว่าหยุด คือ หยุดการเคลื่อนไหวเท่านั้น ไม่ได้เข้าใจ ความหมายในระดับลึกไปกว่านั้น
       ระดับที่ ๒ หยุด    ที่ครูบาอาจารย์ต่างๆ  สั่งสอนกันมา  มักพูดตรงกันว่า  “หยุดทำบาป  หยุดทำชั่ว”   ความเข้าใจระดับนี้กว้างเกินไป ยังไม่ตรงประเด็นที่จะหยุดแล้วเข้าถึงสรณะ
       ระดับที่ ๓  หลวงปู่วัดปากน้ำท่านพูดไว้ชัดเจนว่า  เป็นการหยุดที่จะเข้าถึงสรณะภายในได้  คือ  เอาใจหยุด  แล้วบอกตำแหน่งด้วยว่า  ที่ศูนย์กลางกายฐานที่  ๗  ที่เดียวเท่านั้น  จึงจะเข้าถึงสรณะภายใน


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ผู้ฉลาดในการเจริญสมาธิภาวนา มีสติตั้งมั่น มีจิตบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว พึงบรรลุนิรามิสสุข เสวยรสแห่งธรรมที่น้อมไปเพื่ออาสวักขยญาณทำให้จิตหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นก็มีญาณยังรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว ผู้นั้นย่อมถูกต้องญาณอันเป็นเครื่องตรัสรู้อย่างยอดเยี่ยมในอัตภาพนี้

     ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้ เพราะว่าการเจริญสมาธิภาวนาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต อาจจะถือว่า เป็นทั้งหมดของชีวิตทีเดียว และเป็นสิ่งที่จะทำให้เราได้บรรลุเป้าหมายอันสูงสุดของชีวิต คือ อายตนนิพพาน

     ดังนั้น ผู้รู้ ผู้มีปัญญาทั้งหลายก็จะใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิต เพื่อการเจริญภาวนา ฝึกฝนอบรมใจให้หยุดนิ่ง เพราะรู้คุณค่าของเวลาจึงสงวนเวลาทุกอณุวินาทีเอาไว้สำหรับการฝึกใจ มีสติตั้งมั่นไม่หวั่นไหวไปกับโลกธรรม 8 คือ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีสรรเสริญ มีนินทา มีสุข มีทุกข์ เพราะสิ่งเล่านี้เป็นธรรมประจำโลกที่บัณฑิตนักปราชญ์เห็นว่า เป็นเรื่องปกติธรรมดา มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่สาระที่แท้จริงของชีวิต จะมุ่งแสวงหาสาระ หรือของจริงที่มีอยู่ภายใน คือ พระธรรมกาย

     พระธรรมกายมีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุก ๆ คนในโลกไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนา หรือเผ่าพันธุ์ใด จะเป็นใครก็แล้วแต่ จะมีความเชื่ออย่างไร นับถือศาสนาอะไรก็ตามล้วนมีธรรมกายทั้งสิ้น เมื่อทุกๆ คน ทุกชาติ ทุกภาษา ฝึกใจให้หยุดนิ่งอย่างถูกวิธีในตำแหน่งที่ถูกต้องคือ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 เหมือน ๆ กัน เมื่อใจหยุดแล้วก็สามารถเข้าถึงพระธรรมกายได้ เมื่อเข้าถึงพระธรรมกายแล้วความเป็นนิจจัง เป็นสุขัง เป็นอัตตา จะเกิดขึ้น จะเป็นอิสระจากกิเลสอาสวะ เป็นสุขล้วน ๆ มีความสุขได้ด้วยตัวของตัวเอง เป็นนิรามิสสุข คือสุขที่ไม่เจือไปด้วยอามิส ไม่ต้องอาศัยวัตถุสิ่งของภายนอก ซึ่งผู้ที่ฉลาดหรือนักสร้างบารมีต้องแสวงหาความสุขอย่างนี้ แสวงหาความสุขที่เกิดจากการเข้าถึงธรรม สุขที่เกิดจากใจหยุดใจนิ่ง เพราะความสุขชนิดนี้เยี่ยมกว่าความสุขทั้งหลาย

     พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านถึงได้ตรัสว่า นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุข สุขอื่นนอกจากใจหยุดนิ่งแล้วไม่มี เป็นรสแห่งความสุข รสแห่งธรรมที่ชนะรสทั้งปวง แล้วยังเป็นวิมุตติสุขที่จะนำไปสู่อายตนนิพพาน เป็นรสแห่งธรรมที่น้อมไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะ ความสุขนี้เป็นรากฐานของชีวิต และเป็นสุดยอดแห่งความปรารถนาของมวลมนุษยชาติ ที่เราเกิดกันมาแต่ละภพแต่ละชาตินั้น ก็เพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์ให้เข้าถึงความสุขที่แท้จริง ให้เข้าถึงสิ่งที่คงที่ที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ซึ่งสิ่งเหล่านี้รวมประชุมอยู่ในธรรมกายทั้งหมด

     ฉะนั้นการเข้าถึงธรรมกาย จะทำให้ชีวิตที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขสดชื่นเบิกบานอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ความคิดคำพูด และการกระทำก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น จะเกิดปัญญาบริสุทธิ์สามารถขจัดปัญหาต่าง ๆ ให้หมดสิ้นไปได้ความบริสุทธิ์ ความผ่องแผ้วของจิตก็จะเกิดขึ้น สิ่งที่เป็นมลทินทั้งหลายก็จะหมดไป มหากรุณาก็จะเกิดขึ้น มีความปรารถนาดีซึ่งกันและกัน ปรารถนาให้ทุก ๆ คนในโลกได้เข้าถึงพระธรรมกาย ปรารถนาให้ทุกคนในโลกมีความบริสุทธิ์ ปรารถนาให้ทุกคนในโลกมีความสุข สดชื่น เบิกบานอย่างไม่มีวันสิ้นสุด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่