กัมพูชา บูชากรรม ตอนที่ 8

อารัมภบท

ข้อมูลนี้เป็นการนำเอาเรื่องราวของความขัดเเย้งในการเมืองประเทศกัมพูชาและนำเสนอข้อมูลทางทหาร โดยมิได้มีเจตนาเพื่อการปลุกปั่นหรือยุยงให้เกิดความแตกแยกใดใด

ตอนที่ 8 ถล่มอินโดจีน



       เมื่อเงาแห่งกางเขนเหล็กและคมดาบซามูไรทาบผ่านยุโรปและเอเซียบูรพา เนื่องด้วยเหตุและปัจจัยบีบคั้นทางการเมืองระหว่างประเทศมหาอำนาจต่างๆในยุโรป และความใฝ่ฝันถึงรัฐชาติในอุดมคติ ยังผลให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อเยอรมนีได้เข้าโจมตีประเทศต่างๆในแถบยุโรป และในขณะเดียวกัน ที่สงครามใหญ่ฝั่งเอเชียแปซิฟิกปะทุขึ้นด้วยกองทัพจักรวรรดิ์ญี่ปุ่น ซึ่งมีความพยายามสร้างรัฐในอุดมคติวงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพาขึ้นมา
ประเทศฝรั่งเศสและรัฐอณานิคมต่างๆตกอยู่ภายใต้การครอบงำ ทั้งนี้ นาซีเยอรมันได้จัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลฝรั่งเศสขึ้นมาเพื่อบริหารกิจการต่างๆภายในประเทศและรัฐอณานิคม โดยจัดตั้งเป็นฝรั่งเศสเขตวีซี เป็นผลให้อำนาจรัฐบาลฝรั่งเศสในแถบภูมิภาคอินโดจีนนั้นเสื่อมลงตามไปด้วย

        ในขณะเดียวกันที่ฝั่งกรุงสยามเรา ซึ่งในขณะนั้นดำรงสถานะเป็นประเทศพันธมิตรแห่งญี่ปุ่นและเยอรมัน กลุ่มมวลชนในสยามจึงเริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลสยามซึ่งนำโดย พลตรี แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ทวงคืนดินแดนเขมรและลาวจากวีซีฝรั่งเศส ซึ่งในเวลานั้น การปกครองอาณานิคมของอินโดจีนฝรั่งเศสถูกตัดขาดจากความช่วยเหลือ และกำลังบำรุงจากภายนอก ภายหลังจากการบุกครองอินโดจีนของญี่ปุ่นเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2483 ฝ่ายนาซีได้บีบฝรั่งเศสให้ยินยอมให้ญี่ปุ่นสามารถตั้งฐานทัพในอาณานิคมได้ รัฐบาลสยามจึงได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลฝรั่งเศสให้ถือเอาร่องแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นพรมแดน และขอให้ฝรั่งเศสคืนดินแดนลาวและกัมพูชาให้แก่ไทย แต่รัฐบาลวีซีฝรั่งเศสไม่ยอมทำตามข้อบังคับของสยาม จึงนำไปสู่กรณีพิพาทอินโดจีนระหว่างรัฐไทยขึ้น



        ฝรั่งเศสได้เข้าล่วงล้ำอธิปไตยของไทยโดยส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนม ทำให้มีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ฝ่ายกองทัพไทยจึงได้ตอบโต้ทันที โดยส่งกองทัพบกและกองทัพอากาศบุกเข้าไปในอินโดจีนโดยทางลาวและกัมพูชา กองทัพอากาศไทยได้ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดโจมตีใส่ฐานที่มั่นของอินโดจีนของฝรั่งเศสเข้าไปเรื่อยๆ ในขณะที่กองทัพเรือไทยก็ส่งกองเรือออกไปสกัดกั้นกองเรือวิชีฝรั่งเศสที่ล่วงล้ำอ่าวไทยเข้ามาจนเกิดการปะทะกันที่เกาะช้าง การสู้รบดำเนินมาจนถึงวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2484 ฝ่ายญี่ปุ่นเกรงว่าการสู้รบครั้งนี้จะเป็นอุปสรรคต่อนโยบายของญี่ปุ่น จึงเสนอตัวเข้ามาไกล่เกลี่ยทั้งสองฝ่ายจำต้องยินยอม จนในที่สุดการไกล่เกลี่ย ผลปรากฏว่าไทยได้ดินแดนที่เป็นข้อพิพาทกลับคืนมา หลังสิ้นสุดกรณีพิพาทโดยมีญี่ปุ่นเป็นตัวกลางในการเจรจา ไทยกับฝรั่งเศส ลงนามในอนุสัญญาสันติภาพที่กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2484 ผลทำให้ไทยได้ดินแดนพิพาทมาอยู่ในปกครอง และจัดตั้งเป็นจังหวัดใหม่ขึ้น 4 จังหวัด คือ จังหวัดนครจัมปาศักดิ์ จังหวัดลานช้าง(จากมณฑลพายัพ ลาว) จังหวัดพิบูลสงครามเดิมคือเสียมราฐ จังหวัดพระตะบอง (จากมณฑลบูรพา เขมร) รวมเป็นพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 24,039 ตารางกิโลเมตร ซึ่งนั้นหมายความว่า เขมรและลาวต้องเสียดินแดนให้แก่สยามอีกครั้ง



พิธีลงนามในอนุสัญญาสันติภาพโตเกียว 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ณ.กรุงโตเกียว


หลักปักปันเขตแดนสยาม

        ในขณะที่ภัยสงครามโลกยังคงโหมไปทั่วทุกภูมิภาค ในเวลานั้นราชสำนักกัมพูชาได้เข้าสู่การผลัดแผ่นดินอีกครั้ง เมื่อนักองค์สีสุวัตถิ์เสด็จสวรรคต ฝรั่งเศสจึงเริ่มมองหาตัวเลือกเชื้อพระวงศ์จากราชสกุลต่างๆเพื่อสถาปนาเป็นกษัตริย์ เนื่องจากฝรั่งเศสต้องการใช้สถาบันกษัตริย์เพื่อเป็นเครื่องมือต่อการธำรงอำนาจของตนต่อไปในกัมพูชา และตัวเลือกที่ดีที่สุด คือ นโรดม สีหนุ เชื้อพระวงศ์หนุ่มจากราชวงศ์วรมันทร์ ซึ่งสืบเชื้อสายโดยตรงจากนักองค์ด้วงอดีตบรรพกษัตริย์กัมพูชา



# ปัญญาชนหัวปฏิกิริยา


        ภายหลังจากที่นักองค์สีหนุขึ้นครองราชย์ท่ามกลางกระแสชาตินิยมที่ค่อยๆก่อตัวมากขึ้นเรื่อยๆ โดยญี่ปุ่นเป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลัง เพื่อต่อต้านอิทธิพลของฝรั่งเศสที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในกัมพูชา โดยการนี้ ญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนอยู่อย่างลับๆเพื่อให้ชาวกัมพูชานั้นเป็นกำลังส่วนหนึ่งในการต้านทานอำนาจของฝ่ายฝรั่งเศส และสัมพันธมิตรที่คาดว่าจะเข้าโจมตีญี่ปุ่นภายในปี 1941

        ในช่วงกระแสชาตินิยมเริ่มก่อตัวนั้น ผู้ที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเคลื่อนไหวภายในประเทศนั้นมีอยู่ด้วยกันสองกลุ่ม คือ กลุ่มปัญญาชนของ "เซิง ง็อกทัญ"และ"ปัช เชือน" ทั้งสองเป็นสมาชิกสมาคมเขมรอิสระ ซึ่งก่อตั้งโดย "ปก พอลกุณ" (ส.ส. จังหวัดพระตระบอง) กลุ่มชาตินิยมเขมรนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2488 โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย จุดประสงค์เพื่อต่อต้านการเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส มีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ในเขตพระตระบอง โดยได้รับการสนับสนุนอาวุธจากไทยในการเคลื่อนไหวต่อต้านฝรั่งเศสตามแนวชายแดนเรื่อยมา


เซิง ง็อกทัญ


กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มปัญาชนฝ่ายภิกษุ คือ"พระอาจารย์เมียน"และ"พระอาจารย์สก"ซึ่งมีสายสัมพันธ์อันดีต่อสมาคมเขมรอิสระ
ในส่วนของกลุ่มต่อต้านที่เคลื่อนไหวอยู่ในต่างประเทศอันได้แก่ กลุ่มปัญญาชนนักศึกกัมพูชาในเวียดนาม กลุ่มนี้คือกลุ่มเขมรต่ำ เป็นชนกลุ่มน้อยในกัมพูชาและส่วนใหญ่เป็นพวกเขมรเลือดผสมจีน หรือเวียดนาม และกลุ่มที่สองคือกลุ่มปัญญาชนหัวก้าวหน้านักศึกษากัมพูชาในประเทศฝรั่งเศส กลุ่มนี้คือกลุ่มเขมรบน เป็นกลุ่มคนที่มีเชื้อสายเขมรบริสุทธิ์ และส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาหัวเอียงซ้ายเลื่อมใสแนวคิดลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างมาก จึงถูกทางการฝรั่งเศสคอยจับตามองเป็นพิเศษ

กลับมายังประเทศกัมพูชา
        ฝ่ายนักองค์สีหนุนั้น พระองค์เองก็เป็นอีกบุคคลหนึ่งซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการปลดแอกกัมพูชาจากเจ้าอณานิคม พระองค์ทรงหันไปร่วมมือกับฝ่ายญี่ปุ่นมากขึ้น แต่สมาคมเขมรอิสระกลับมองว่าพระองค์นั้นยังคงโอนอ่อนให้ฝรั่งเศสมากเกินไป ทั้งนี้พระองค์ได้ยื่นเจรจากับวีซีฝรั่งเศสให้มอบอำนาจปกครองตนเองคืน ฝรั่งเศสปฏิเสธทุกเงื่อนไข กลับใช้กำลังปราบมวลชนต่างๆที่ก่อการกำเริบอย่างหนัก โดยคาดว่ามีผู้เสียชีวิตจากการสลายมวลชนนี้กว่า 1,000 คน ในขณะที่การกวาดล้างกลุ่มกบฏยังดำเนินการอยู่นั้น ฝ่าย เซิง ง็อกทัญ และ ปัช เชือน ซึ่งได้พยายามหนีออกจากกัมพูชา โดย เซิง ง็อกทัญ ได้หนีไปญี่ปุ่น ในขณะที่ ปัช เชือน นั้นถูกจับในที่สุด

เมื่อเป็นเช่นนี้ นักองค์เจ้าสีหนุจึงยื่นคำขาด และลุกขึ้นต่อต้านเจ้าอาณานิคมอย่างเปิดเผย โดยพระองค์ทรงประกาศเอกราชด้วยการตัดขาดสัมพันธกรณีและยกเลิกสนธิสัญญาต่างๆ ที่เคยทำไว้กับฝรั่งเศส ทั้งนี้โดยร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่น ซึ่งได้เข้าสลายอำนาจฝรั่งเศสทันที โดยปลดอาวุธทหารฝรั่งเศส และ ปลดตำแหน่งปกครองต่างๆในกัมพูชา และญี่ปุ่นยังติดอาวุธให้แก่ประชาชนชาวกัมพูชาเพื่อไว้ต้านทานฝ่ายสัมพันธมิตรอีกด้วย

ในขณะที่กลุ่มสมาคมเขมรอิสระซึ่งแตกกำลังออกไปนั้น แบ่งออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายแรกคือ กลุ่มของพระอาจารย์เมียน ซึ่งได้ลาสิกขาบท และชาวกัมพูชาได้ตั้งสมญานามว่า"เซิง ง็อกมิญ"เพื่อระลึกถึงเซิง ง็อกทัญ ที่ลี้ภัยอยู่ญี่ปุ่น ในขณะที่ชาวเวียดนามเรียกเขาว่า"ฟาม วัน ฮัว" เขาได้หนีไปยังจังหวัด กำปงชนัง โดยร่วมกับพระอาจารย์สก ซึ่งลาสิกขาบท มีชื่อว่า"ตู ซามุต" ทั้งสองได้จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธเขมรอิสระฝ่ายซ้าย โดยได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม
กลุ่มที่สองคือ กลุ่ม ของ"ดาบ ชวน"สมาชิกเขมรอิสระที่นิยมขวา ได้หนีเข้าไปยังพระตระบองโดยได้รับการอุปถัมภ์จาก ปก พอลกุณ และรัฐบาลไทย กลุ่มนี้อ่อนกำลังลงอย่างมากภายหลังจากที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างการรัฐประหารเมื่อ พ.ศ.2490 โดยกลุ่มทหารนอกราชการ แต่ไทยก็ยังคงให้การสนับสนุน "ดาบ ชวน และ เจ้านโรดม จันทรรังสี"อยู่เรื่อยมา


พระอาจารย์สก ซึ่งลาสิกขาบท มีชื่อว่า"ตู ซามุต"

อาจารย์เมียน ซึ่งได้ลาสิกขาบท และชาวกัมพูชาได้ตั้งสมญานามว่า"เซิง ง็อกมิญ"


ในขณะที่ความร้อนจากไฟสงครามโลก ค่อยๆบรรเทาลง ในขณะที่ประเทศมหาอำนาจสองขั้วได้เกิดใหม่และทรงอิทธิพลต่อโลกมากที่สุด และในระหว่างนั้นเองที่นักศึกษาธรรมดาๆคนหนึ่ง กำลังเดินทางกลับกัมพูชา ประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของเขา นักศึกษาผู้มีความฝันว่า กัมพูชาคือประเทศที่สมควรกลับมาเป็น.....

ประเทศที่มีอารยธรรมอันรุ่งไสวอีกครั้ง


เครดิต ไทยวิกิพีเดีย /en.wikipedia / picturesfromhistory.com / snipview.com

ติดตามต่อตอนไปครับ..
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่