ความรู้ความเห็นของ "พระอริยบุคคล" : หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ



พระอาจารย์เหรียญ วรลาโภ
วัดอรัญญบรรพต
อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

...

เมื่อใจนี้มีกุศลความดีเป็นเครื่องอยู่แล้วน่ะมันสงบมันเย็น  
เมื่อใจสงบใจเย็นก็อย่างนี้แล้วปัญญามันก็เกิดขึ้นได้  

เมื่อปัญญาเกิดขึ้นแล้วก็อย่างว่ามันจึงมองเห็น "ขันธ์ห้า" นี้
เป็น "อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่ตัวตนเราเขาอะไรเลย"
อย่างนี้มันก็มองเห็นได้  

ถ้าอบรม "ปัญญา" นี้ให้แก่กล้ายิ่งๆขึ้นไป  
มันถึงเข้าขั้นแล้ว มันก็ละความเห็นผิดที่สำคัญว่า
ขันธ์ห้าเป็นตัวเป็นตนนี้ได้ขาดเด็ดไปเลย  

ความรู้ความเห็นว่า "ขันธ์ห้านี้ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนเราเขา"
มันก็เกิดขึ้นมาแทนแล้วบัดนี้   เมื่อความรู้ความเห็นอย่างนี้
เกิดขึ้นด้วย "อริยมรรค" แล้วก็ "ไม่มีเสื่อม" บัดนี้นะ  

ไม่มีเสื่อมแล้ว  มี "ปกติรู้ปกติเห็น"
ว่า  "ขันธ์ห้านี้ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน" อยู่อย่างนั้น

แต่เมื่อบุญกรรมของเก่ายังไม่หมด
มันก็ต้องอาศัยขันธ์ห้านี้เรื่อยไปก่อน  
ถึงแม้จะรู้ว่าขันธ์ห้าไม่ใช่ตัวตน จะละความเห็น
ที่ว่า ขันธ์ห้าไม่ใช่ตัวตนได้ก็ตามแต่เมื่อบุญกรรมยังอยู่
ก็ต้องอาศัยขันธ์ห้านี่ปฏิบัติธรรมเรื่อยไป

เพื่อให้บรรลุคุณธรรมขั้นสูงขึ้นไปเรื่อยๆ

นี่ "พระอริยบุคคล" ทั้งหลายนะ
เมื่อท่านได้บรรลุ "ปฐมมรรค"อันนี้ได้แล้ว
ท่านจะไม่เกียจคร้านในการทำความดีเลย

มีแต่ความหมั่นขยันเรื่อยไป
เพราะว่าท่านเห็นทุกข์เห็นภัยในสงสารอันนี้มาก
พระโสดาบันทั้งหลายนะท่านมองไม่เห็นว่า
โลกสันนิวาสอันนี้จะเป็นที่ตั้งแห่งความเพลิดเพลิน
แห่งความสุขสนุกสนานมั่นคงตลอดไป  .. ไม่มี  

มันเป็นสิ่งที่หลอกตาลวงใจให้ติดอยู่ในทุกข์ต่างหาก  

อันสิ่งที่ยั่วยวนชวนให้เพลิดเพลินทั้งหลายเหล่านี้นะ
พระโสดาบันท่านรู้แจ้งเลยท่านจึงไม่ลืมตัว
ไม่เพลิดเพลินเกินประมาณ ไม่มัวเมาเกินประมาณ  
ทำอะไรก็พอดิบพอดีไปเรื่อยๆ
พูดอะไรก็พูดพอดิบพอดี  ไม่เกินขอบเขต  
ไม่เลยขอบเขตแห่งศีลธรรม  อย่างนี้แหละ
จึงเรียกว่า "มัชฌิมาปฏิปทา"  ดำเนินตามทางสายกลาง

ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้  หมายความว่า "พระโสดาบันนั้น
ท่านเดินถูกทางแล้ว  ท่านไม่ได้เดินผิดทาง ไม่ได้ออกนอกทาง"


สำหรับ คนธรรมดาสามัญนี่บางทีก็เดินถูกทางไป
บางทีก็เดินผิดทางไปอยู่อย่างนั้น

เพราะฉะนั้นมันจึงมีความเป็นอยู่ลุ่มๆดอนๆ
ไม่สม่ำเสมอนั่นแหละ  บางคราวก็ดีชื่นอกชื่นใจ
จิตใจเบิกบานไป เอ้าบางคราวก็เศร้าหมองใจไปอยู่อย่างนั้น
คนธรรมดาสามัญที่ยังไม่ได้รู้แจ้งในขันธ์ห้านี้ตามเป็นจริง  

เพราะฉะนั้นน่ะให้พึงพากันสันนิษฐานดูให้ดี
ในชีวิตของคนเรานี้มันยุ่งเหยิงจริงๆน่ะ
สารพัดตั้งแต่มันจะมี  ดีก็มี ชั่วก็มี  สุขก็มี ทุกข์ก็มี  
อะไรๆก็มี อยู่ในนี้เอง  ดังนั้นน่ะ  ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย
ท่านจึงได้พากเพียรพยายามสั่งสมกุศลคุณงามความดี
ให้เกิดมีขึ้นในตน ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
เพื่อจะให้บุญกุศลอันนั้นยกตนให้พ้นจากคำว่า "คน" นี่ไป
ให้ได้เป็น "พระอริยบุคคล"  


"อริยะ" แปลว่า "ผู้ไกลจากข้าศึก คือ กิเลส"  นั่นแหละ
ผู้ใดที่ละกิเลสขาดจากสันดาน  
จะเป็นโดยเอกเทศก็ตาม โดยสิ้นเชิงก็ตาม  
ท่านก็พระพุทธเจ้าก็ทรงยกย่องว่า "พระอริยบุคคล"

นี่เพราะฉะนั้นควรพากันพยายามยกตนออกจากคำว่า คน
ให้ได้เป็นพระอริยบุคคลจึงจะพ้นจากความยุ่งเหยิง
ความวุ่นวายภายในจิตใจนี้ได้

แล้วความวุ่นวายของร่างกายนี้มันก็จะสั้นเข้า เช่น
เป็นพระโสดาบันอย่างนี้ก็จะได้วุ่นวาย
อยู่เพียงแค่เจ็ดชาติอย่างมากนะ  อย่างกลางก็สามชาติ
อย่างน้อยก็หนึ่งชาติ เท่านั้นเองนะก็จะพ้นจากความวุ่นวาย
ความยุ่งเหยิงจากการที่มีขันธ์ห้าอันนี้นะ  
จะพ้นจากขันธ์ห้าอันนี้โดยเด็ดขาดก็บรรลุถึงซึ่งพระนิพพาน
อันเป็นจุดหมายปลายทางของพระพุทธศาสนาโดยแท้จริง


...

ส่วนหนึ่งจากพระธรรมเทศนาหัวข้อ "ปุถุชนกับชนอริยะ"
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่